ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับ"พันธมิตร"แบงก์-ประกันชีวิตแลกหมัดชิงเงินออม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยนอนแน่นิ่งสลบเหมือดต่ำแตะพื้นอยู่นานหลายปี ธุรกิจประกันชีวิตดูเหมือนจะเบ่งบาน ผลิดอกออกผล เพราะเม็ดเงินออมที่ถูกผลักไสจากธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่งต่างก็ไหลมากองรวมกันจนเบี้ยประกันของบริษัทหลายแห่งทะลุชนเพดาน ก่อนหน้านี้อาจเป็นชั่วโมงทองของประกันชีวิต แต่หลังจากนี้เม็ดเงินกำลังจะเปลี่ยนเส้นทางเดิน ไหลคืนกลับไปกองในตู้เซฟธนาคาร ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยหมุนกลับทิศไปในแดนบวก พื้นที่ว่างสำหรับพันธมิตร "แบงก์-ประกันชีวิต" จึงเหลือน้อยเต็มที....

แบงก์และประกันชีวิตที่เคยประกาศความเป็นพันธมิตรในรูปแบบ "แบงแอสชัวรันส์" หรือขายกรมธรรม์ผ่านสาขาแบงก์ ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยปักหัวดิ่งเหว มาวันนี้ความสัมพันธ์ที่เคยกลมเกลียวเหนียวแน่นก็กำลังคลายตัวลง เพราะผลของการเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วของอัตราดอกเบี้ย

ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยด้อยค่า นายแบงก์ส่วนใหญ่เลือกที่จะผลักเงินฝากก้อนโต ที่กลายมาเป็นภาระต้นทุนออกไปแบบไม่ใส่ใจใยดี และช่องทางที่ดีที่สุดก็คือ ใส่พานประเคนให้กับพันธมิตรร่วมทางเดินอย่างประกันชีวิต ระหว่างนั้นก็จะเห็นสินค้าประกันชีวิต ประเภทออมทรัพย์ระยะสั้นฮิตติดตลาด และมีหน้าตาไม่ต่างจากบัญชีเงินฝากเท่าใดนัก

แต่ความเป็นเพื่อนร่วมเดินทางก็ต้องสิ้นสุดลงเมื่อ ดอกเบี้ยวิ่งไต่ระดับขึ้นเร็วเพราะแรงกดดันจากหลายทิศทาง แบงก์เริ่มเรียกกลับเงินก้อนโตที่เคยอพยพออกจากตู้เซฟจากทั่วทุกสารทิศ โดยเริ่มจากการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะๆ โดยเริ่มจากดอกเบี้ยเงินก้อนโตสำหรับลูกค้ารายใหญ่

ไล่เรียงมาจนถึงเงินก้อนสำหรับเงินฝากประจำ ปลายปีก่อนแทบทุกแบงก์ฉวยจังหวะระดมเงินฝากในทุกรูปแบบ ยกเว้นเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่มีทีท่าจะขยับในเร็ววันนี้

กสิกรไทยขยับขึ้นเงินฝากอีก 0.25-1% ตั้งแต่เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามวงเงิน พร้อมออกบริการเงินฝากประจำฟิกส์-พลัสสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ประเภทฝากประจำ 3 เดือน วงเงินไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท และมีวงเงินคงเหลือในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ณ สิ้นวันทำการไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท จะได้รับดอกเบี้ย 3%

นอกจากนั้น ยังมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แบบฝากต่อเนื่องลูกค้านิติบุคคลพิเศษระยะเวลาฝากตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป วงเงินฝาก 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับดอกเบี้ย 2.75%

ค่ายบัวหลวงก็ไม่ต่างกันมากนักเริ่มทยอยปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกระยะ แต่วงเงินต้องไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ดอกเบี้ยจึงแยกประเภทตามระยะเวลา วงเงินและประเภทลูกค้า

แบงก์กรุงศรีอยุธยา ก็ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำไล่หลังมาติดๆ โดยปรับตั้งแต่ 0.25-0.75% กำหนดวงเงินน้อยกว่า 1 ล้านบาทไปจนถึง 30 ล้านบาทขึ้นไป

แบงก์กรุงไทยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.75% ต่อปีในเวลาเดียวกับแบงก์กรุงศรีฯ กำหนดวงเงินน้อยกว่า 1 ล้านบาท ถึง 10 ล้านบาทขึ้นไป

โดยมีเงินฝากกรุงไทยทวีคูณ ซึ่งเป็นเงินฝากปลอดภาษี ที่ผู้ฝากต้องฝากเท่ากันทุกเดือนเป็นเวลา 24 เดือน อัตราผลตอบแทนอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนสุงสุดบวก 1% ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 4.25% ต่อปี เพิ่มขึ้น 0.75% ต่อปี

แบงก์นครหลวงไทย ถึงจะปรับไปก่อน 2 แบงก์ข้างต้น กลับขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทเพียง 0.25%

เมื่อรวมกันแบงก์ขนาดใหญ่ดูจะเลือกจะดูแลลูกค้ารายใหญ่ กระเป๋าหนักมากกว่าเงินออมรายย่อยทั่วไป ซึ่งไม่ต่างจากแบงก์ต่างชาติอย่าง ยูโอบี ที่ออกโปรโมชั่นไปก่อนหน้านี้ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำรายใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ ต่ำกว่า 1 ล้าน 3 ล้านและ 10 ล้านบาทขึ้นไป

ซิตี้แบงก์ขยับตัวในช่วงปลายปีก่อนบ่อยครั้ง ด้วยการรุกตลาดบัญชีเงินฝากประจำแบบคล่องตัว ลูกค้าสามารถเบิกถอนได้บ่อยเท่าที่ต้องการ และเงินที่ถอนก็สูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ โดยยอดคงเหลือในบัญชีจะได้รับดอกเบี้ย 3.5% เมื่อครบระยะเวลาฝาก

โดยลูกค้าจะถูกกำหนดยอดถอนเงินแต่ละครั้ง 10,000 บาทและผู้ฝากต้องเริ่มฝากเงินในบัญชีชนิดใหม่ 5 แสนบาท และได้รับดอกเบี้ยในช่วงแนะนำสูงถึง 3.5%

ขณะที่สแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ดนครธน ดูจะเป็นแบงก์ที่เคลื่อนตัวอย่างว่องไว มีการปล่อยโปรโมชั่นสำหรับรูปแบบบัญชีเงินฝาก "แม็กซ์เซฟเวอร์" ที่จูงใจลูกค้าให้เปิดบัญชีออมทรัพย์คู่ฝากประจำ โดยให้ดอกเบี้ยตามระยะเวลาและวงเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ กำหนดวงเงินตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท โดยเงินฝากประจำ 48 เดือนดอกเบี้ยสูงถึง 5%

แต่รายที่เพิ่งจะปล่อยสินค้าเป็นรายล่าสุด คือธนาคาร HSBC ประเทศไทย ที่ใช้แคมเปญ "บัญชีเงินฝากทันใจ" จูงใจเจ้าของเงินออมเปิดบัญชีฝากประจำ 3 เดือนถึง 24 เดือน โดยกำหนดวงเงินฝากตั้งแต่ 3 แสนบาท ลูกค้าที่เปิดบัญชีภายในวันที่ 31 มีนาคม จะได้รับดอกเบี้ยสูงสุด 4% ต่อปีขึ้นกับระยะเวลาฝากและจำนวนเงินฝาก

ความต่อเนื่องของการค่อยๆปรับดอกเบี้ยอยู่เป็นระลอกของบรรดาแบงก์ทั้งใหญ่และเล็ก ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเริ่มเรียนรู้ถึงการเผชิญชะตากรรมที่ต่างออกไปจากช่วงที่ดอกเบี้ยถูกแช่แข็งให้นอนแช่อยู่กับพื้น

ว่ากันว่าดอกเบี้ยวิ่งขึ้นมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนจากการลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตก็เริ่มเห็นท้องฟ้าสว่างสดใส แต่อีกมุมหนึ่งที่คาดไม่ถึงก็คือ สินค้าหรือกรมธรรม์ถ้าให้ผลตอบแทนไม่สูงพอ เจ้าของเงินก็อาจเบือนหน้าหนี

ผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตถึงกับบ่นว่า เว้นแต่ว่า ต้องมีกรมธรรม์หรูเลิศ อลังการให้ความคุ้มครองสูงๆ แต่เบี้ยเท่าเดิมเท่านั้นที่จะใช้เป็นแม่เหล็กดึงเม็ดเงินเข้ามาในระบบได้ แต่ที่ว่าก็ทำไม่ได้เพราะติดหลักเกณฑ์ข้อบังคับ

มีธุรกิจประกันชีวิตบางรายที่ยังดันทุรังปล่อยสินค้าที่มีหน้าตาคลับคล้ายคลากับเงินฝากคือให้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน แต่การการันตีผลตอบแทนสูงๆก็ไม่ต่างจากการทำร้ายตัวเอง เพราะตัวเลขเบี้ยที่ดูสวยหรูแต่ผลประกอบการบริษัทอาจสั่นคลอนได้ในที่สุด

ตรงกันข้ามธุรกิจประกันชีวิตหลายรายเลือกจะหันมาจับธุรกิจขั้นพื้นฐานคือความคุ้มครองชีวิต หรืออาจผสมผสานกับการออมทรัพย์ระยะยาว ที่มีเงินคืนตามเงื่อนไขพร้อมผลประโยชน์

กรมธรรม์ที่คลอดออกมาในระยะหลัง มีค่อนข้างมากที่เลือกขายผ่านช่องทางตัวแทน โดยไม่ขายผ่านแขนขาหรือช่องทางขายของแบงก์พันธมิตร พร้อมกับอัดฉีดผลประโยชน์ให้กับทีมขายเป็นพิเศษ

ในสมัยหนึ่ง แบงก์อาจจะมีฐานลูกค้า มีช่องทางสำหรับผู้ผลิตสินค้าให้กับพันธมิตรประกันชีวิต กลายเป็นสูตรสำเร็จที่ค่อนข้างลงตัว แต่เมื่อถึงวันที่เกิดสงครามช่วงชิงเงินออม ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ คู่พันธมิตรที่เคยปรองดองกันก็ต้องหาทางออกให้กับตัวเอง

ทางที่ว่าก็คือ การเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า จากที่เคยขายสินค้าตัวเดียวในร้านเดียว ก็หันมาขายสินค้าของใครมัน คนละร้าน เพราะชั่วโมงสงครามไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับพันธมิตร...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.