สถานีเพลงออนไลน์คลิก...คลิก พลิกโฉมวงการเพลงไทย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- “สถานีเพลงออนไลน์” เครื่องมือเพื่อความอยู่รอด ที่กำลังจะพลิกโฉมวงการเพลงครั้งใหญ่
- อาร์.เอส. นำร่องผุดระบบดาวน์โหลดเพลงรูปแบบ Prepaid สร้างพฤติกรรมผู้บริโภคจ่ายตังก่อนฟังเพลง ขณะที่ค่ายเล็กๆกำลังดูลู่ทางก่อนกระโดดตามเป็นรายต่อไป

“สถานีเพลงออนไลน์ ช่องทางการจำหน่ายเพลงรูปแบบใหม่ จะเป็นทางเลือกที่ทุกค่ายเพลงต้องมีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แม้อาจไม่ใช่เทรนด์ แต่จะเป็นเครื่องมือช่วยสร้างรายได้ ที่ทุกค่ายเพลงจำเป็นต้องมีเพื่อความอยู่รอด นอกจากนี้มันจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพลิกโฉมวงการเพลงอีกด้วย ซึ่งทั่วโลกก็หันมาใช้วิธีนี้กันหมดแล้ว” วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรช แอร์ จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ รายสัปดาห์”

ที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงต้องเจอแบบไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด นั่นคือ การลักลอบขายซีดีเถื่อนในเชิงพาณิชย์ และการกอปปี้โดยผู้บริโภค โดยเฉพาะเพลงดังติดหู หรือขึ้นชาร์ทท็อป 10 ตามคลื่นวิทยุต่างๆ ที่ทำให้ศิลปินหลายรายหมดแรง เมื่อรู้ว่าจำนวนผู้กอปปี้โดยไม่ได้รับอนุญาตพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายเทปไม่กระเตื้องขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ค่ายเพลง ศิลปินจะร่วมรณรงค์และหาทางปราบปรามอย่างจริงจังก็ตาม

ส่งผลให้หลายค่ายจึงพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการลงทุนติดตั้งระบบป้องกันการดาวน์โหลด หรือการกอปปี้ โดยอนุญาตให้ฟังได้เพียงอย่างเดียว แต่ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะยังมีเว็บไซต์ใต้ดินจำนวนมากที่ยังเอื้อต่อการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ ดังนั้น หลายค่ายที่เคยต่อต้านจึงปรับแผนหันมาหาทางออกที่สอดคล้องกับสถารณการณ์ดังกล่าว ด้วยการให้บริการสถานีเพลงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่นับเป็นค่ายแรกที่ริเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ดังกล่าว ภายใต้ชื่อ eotoday.com เมื่อราว 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อเปิดให้บริการซื้อหาเพลง และสร้างอัลบั้มเพลงส่วนตัวตามความชอบ ตามลิขสิทธิ์เพลงของแกรมมี่มากกว่า 1,000 เพลง แต่จากความไม่ต่อเนื่องและพัฒนาอย่างจริงจังของแกรมมี่ ส่งผลให้เว็บไซต์ดังกล่าวต้องปิดตัวลงโดยปริยาย

ทว่า ปัจจุบัน “สถานีเพลงออนไลน์” กลับเป็นช่องทางจำหน่ายเพลงรูปแบบใหม่ ที่เป็นทางเลือกสำคัญที่ทุกค่ายเพลงจะต้องมี คล้ายกับบังคับเลือกเพื่อความอยู่รอดและชดเชยรายได้ที่เสียไป โดยตอนนี้อาร์.เอส.เป็นค่ายที่มีความชัดเจนและคืบหน้ามากสุดในช่องทางดังกล่าว ขณะที่ค่ายเพลงเล็กๆส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะโดดเข้าร่วมด้วยหรือไม่

เป็นไปได้ว่า สถานีเพลงออนไลน์จะเป็นตัวพลิกโฉมวงการเพลงของไทย โดยเฉพาะการผลิตผลงานที่จะมีความอิสระมากขึ้น ศิลปิน เจ้าของลิขสิทธิ์มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากยอดขายเทปเพียงอย่างเดียว รวมทั้งนักร้องหน้าใหม่ก็มีโอกาสนำเสนอผลงานได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรอค่ายใหญ่เหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดของเทปหรือซีดีอาจจะมีขนาดเล็กลงในช่องทางจำหน่ายเดิมแต่จะเติบโตขึ้นในช่องทางนี้แทน แต่ไม่ได้อยู่ในรูปของอัลบั้มเหมือนที่ผ่านมา

วินิจ กล่าวต่อว่า อันที่จริงวงการเพลงบ้านเราควรจะนำเครื่องมือนี้มาใช้นานแล้ว ตอนนี้ถือว่าเราช้าไปแล้วประมาณ 2 – 3ปี เพราะเทียบกับประเทศอื่นไทยถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาช่องทางสถานีออนไลน์ได้มาก เพราะค่าติดตั้ง หรือการจับมือกับเว็บไซต์ดังๆเป็นพันธมิตรไม่ใช่เรื่องยาก และมีราคาไม่สูงมากนัก รวมทั้งจำนวนผู้บริโภคที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด ซึ่งหากค่ายเพลงหันมาพัฒนาช่องทางนี้อย่างจริงจัง คาดว่าจะช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้มากขึ้น ดังนั้นตอนนี้ทุกคน ทุกค่ายต้องปรับตัวให้เร็วอย่างน้อยไม่เกิน 2 ปีนี้ทุกอย่างต้องมีความชัดเจนเต็มรูปแบบ นั่นคือ ผู้บริโภคต้องยอมรับ เป็นที่แพร่หลาย และมีการเปลี่ยนแปลงต่อยอดพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้ขึ้นอยู่กับความไวในการตัดสินใจและลงมือทำของค่ายเพลง เหมือนว่าใครทำก่อน ได้ก่อน เพราะเชื่อว่าอนาคตทุกค่ายเพลงต้องมีสถานีเพลงออนไลน์เป็นช่องทางจำหน่ายเพลงเหมือนกัน”

R.S. ชูสถานีเพลงเป็นช่องทางไหลของธุรกิจ

ในบรรดาค่ายเพลงที่พบว่า ถูกสถานีเพลงบนอินเทอร์เน็ต นำผลงานเพลงออกเผยแพร่ให้มวลหมู่นักท่องเน็ตได้ดาวน์โหลดฟังกันมากที่สุด ไม่มีค่ายไหนเกิน อาร์.เอส.โปรโมชั่น เพราะไม่ว่าจะเป็นเพลงอัลบั้มชุดล่าสุด ของศิลปินอย่าง หนุ่มบาวสาวปาน , ไอน้ำ , ดัง-พันกร , โฟร์-มด หรือจะเป็นเพลงรุ่นเก่า อย่าง รวมดาว คีรีบูน อิทธิ พลางกูร เว็บดัง ๆ ที่มีสถานีเพลงเปิดให้บริการ ต่างมีเพลงของอาร์.เอส.ไว้คอยบริการถ้วนหน้า

ประสงค์ รุ่งสมัยทอง รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งดูแลงานด้าน Asset Management บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น จำกัด(มหาชน) ชี้แจงว่า ถือเป็นการทำธุรกิจขายเพลงบนช่องทางใหม่ ที่อาร์.เอส.มองว่ากระแสของตลาดกำลังมุ่งไปทางนั้น ก็คงไม่ควรต่อต้านกระแส

ทั้งนี้ หลังจากซุ่มวางแผนมานานก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่เก็บลิขสิทธิ์เพลงสำหรับผู้เปิดบริการสถานีเพลงออนไลน์ เพื่อกระชับสัมพันธ์เป็นพันธมิตรช่วยเหลือกันในการดำเนินธุรกิจ โดยอาร์.เอส.เห็นว่า ทิศทางของการบริโภคความบันเทิงด้านเพลงของผู้บริโภคกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกไซเบอร์ การที่ค่ายเพลงจะยึดติดอยู่กับรูปแบบการขายเทป และซีดี และคอยไล่จับการดาวน์โหลดเพลงบนเว็บไซต์ลงบนเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ของผู้บริโภค จะคล้ายกับเกมแมวไล่จับหนูที่ไม่มีวันสิ้นสุด คิดได้เช่นนั้น อาร์.เอส.จึงเปิดตลาดขายเพลงบนเว็บไซต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเปิดเว็บไซต์ Mixiclub.com

“เรามองการกอปปี้เพลงผิดกฎหมายที่มีอยู่ขณะนี้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกกอปปี้วางขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่วนนี้เราใช้การกวาดจับ ก็คิดว่าสามารถควบคุมได้ แต่อีกกลุ่มเป็นการกอปปี้ของผู้บริโภค จริง ๆ คนกลุ่มนี้ไม่อยากทำผิดกฎหมาย แต่มองว่า การซื้อที่ต้องซื้อ CD เพลงอัลบั้มของศิลปินที่มีเพลงชอบอยู่แค่ 2-3 เพลง เหมือนไม่มีทางเลือก หากมีทางที่จะเลือกซื้ออัลบั้มที่มีแต่เพลงที่ชอบ จากศิลปินหลากหลายได้ก็ยินดีสนับสนุน แต่ที่ผ่านมาไม่มีจึงต้องดาวน์โหลดแบบผิดกฎหมาย ส่วนนี้ไม่รู้จะจับยังไง อาร์.เอส.จึงเห็นว่าเมื่อความต้องการตรงนี้มีก็ทำให้เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายไปเลย ประสงค์กล่าว

การซื้อหาเพลงบน Mixiclub.com เริ่มต้นจากหาซื้อบัตรเติมเพลง RTD (Ready to Download) ซึ่งเป็นบัตร Prepaid สินค้าใหม่ที่อาร์.เอส. นำออกทำตลาด วางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านหนังสือ หรือเว็บขายสินค้าชั้นนำ โดยบัตรมีมูลค่า 90 บาท แล้วเข้าไปดาวน์โหลดเพลงใน www.mixclub.com สามารถดาวโหลดเพลงมาเก็บไว้ได้ 1 อัลบั้ม 10 เพลง หรือหากจะเลือกบางเพลง ก็สามารถดาวน์โหลดได้ในราคาเพลงละ 15 บาท โดย Mixiclub.com จะมีเพลงของอาร์.เอส.ทั้งใหม่และเก่า รวมถึงมีเพลงของค่ายอินดี้พันธมิตรคอยให้บริการ

ส่วนการที่เพลงของอาร์.เอส.ไปเผยแพร่อยู่ตามเว็บไซต์ชั้นนำต่าง ๆ ให้นักท่องเน็ตได้โหลดฟังนั้น ถือเป็นการโฆษณา และโชว์สินค้าตัวอย่างเพื่อเชื้อเชิญให้ใช้บริการดาวน์โหลดเพลง โดยคุณภาพของเพลงจากอาร์.เอส.ที่อยู่ตามเว็บต่าง ๆ จะมีคุณภาพต่ำที่ใช้เพื่อการฟังบนเว็บเพียงอย่างเดียว และไม่สามารถโหลดมาเก็บบนเครื่องเอ็มพี 3 ได้ เพราะอาร์.เอส.ก็มีการลงทุนเพื่อป้องกันการดาวน์โหลดอย่างจริงจัง หากต้องการโหลดเก็บไว้ก็ต้องซื้อหาบัตร RTD (Ready to Download) และเข้าสู่ระบบการซื้อขายเพลงของอาร์.เอส.

เว็บต่าง ๆ ที่นำเพลงของอาร์.เอส. ไปเป็นคอนเทนท์ให้บริการ เหมือนเป็นการช่วยโปรโมตเพลง คล้าย ๆ กับที่สถานีวิทยุเปิดเพลง เมื่อเพลงเป็นที่รู้จักก็จะช่วยเพิ่มยอดขายอัลบั้มนั้น ๆ แต่ก็จะมีบางเว็บไซต์ที่เป็นการทำสัญญาธุรกิจร่วมกันกับอาร์.เอส. อาทิ sanook.com หรือ kapook.com โดยเว็บเหล่านี้จะทำหน้าที่ขายเพลงเช่นเดียวกับ Mixiclub.com เป็นเหมือนร้านค้าอีกร้านของอาร์.เอส. เมื่อขายได้ก็มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้กันไป นอกจากนี้ยังจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างจุดดึงดูดให้มีผู้เข้าใช้บริการเว็บพันธมิตรเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นด้วย อาทิ การนำศิลปินอาร์.เอส.เข้ามาร่วมสนุกกับสมาชิกเว็บนั้น ๆ

ผลตอบรับของ บัตร RTD น่าพอใจ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อผู้บริโภคหันมาซื้อหาเพลงผ่านทางอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบให้เทป และซีดี ซึ่งเคยเป็นเส้นเลือดหลักของธุรกิจเพลงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนนั้น ประสงค์ ยอมรับว่า ก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะครั้งหนึ่งเทปเพลงก็มียอดขายลดลงเมื่อซีดีเข้ามาแทนที่ เมื่อวันนี้สื่ออินเทอร์เน็ตจะเข้ามาแทนที่ อาร์.เอส.ก็ควรเดินไปกับกระแส เพราะเป็นกระแสที่เชื่อว่าเป็นของจริง ต้นทุนของการซื้อหาเพียง 90 บาท ต่อหนึ่งอัลบั้ม ที่ถูกกว่าการซื้อหาซีดีแผ่นละกว่า 100 บาท เนื่องจากไม่มีต้นทุนปก กล่อง รวมถึงส่วนแบ่งร้านค้า น่าจะทำให้ยอดขายของแต่ละอัลบั้มเพิ่มมากขึ้นด้วย สุดท้ายศิลปินก็ได้รับส่วนแบ่งจากเพลงที่ขายได้เท่ากันไม่ว่าจะขายผ่านช่องทางใด และอาร์.เอส. ก็มีรายได้มากขึ้น

วินิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรช แอร์ ให้ทัศนคติว่า การผุดระบบดาวน์โหลดเพลงแบบ Prepaid หรือ จ่ายก่อนใช้ทีหลัง จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนพฤติกรรมการดาวน์โหลดเพลงของผู้บริโภค ซึ่งคล้ายยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่มีระบบ Prepaid เป็นครั้งแรก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกในตอนนั้น แต่สุดท้ายก็เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

สำหรับ การนำระบบ Prepaid มาใช้ในวงการเพลง แม้จะเป็นไปได้ยากแต่หากเป็นที่ยอมรับในหมู่นักฟังเพลงที่นิยมการดาวน์โหลดเพื่อสร้างอัลบั้มส่วนตัว ย่อมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเพลงอย่างมาก เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการเก็บค่าบริการ หรือค่าลิขสิทธ์ได้โดยปริยาย

แกรมมี่เยื้องย่างธุรกรรมออนไลน์

อีกฝากของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับเลือกที่จะใช้เว็บไซต์ของตนเอง gmember.com สร้างสถานีเพลง และเกือบจะเป็นสถานีเพลงบนอินเทอร์เน็ตสถานีเดียวที่สามารถโหลดเพลงจากค่ายอากู๋มาฟังได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกสินค้าหรือบริการอะไร

ขณะที่อาร์.เอส. เลือกที่จะเดินตามน้ำไหล โดดเข้าสู่กระแสไซเบอร์ทันทีที่พร้อม จีเอ็มเอ็มแกรมมี่กลับตั้งท่าเตรียมพร้อมอยู่นานจนถึงวันนี้ไม่มีความเคลื่อนไหว

ย้อนกลับไปราว 4-5 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก่อตั้งเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในชื่อ eotoday.com มอบหมายให้มือดีในวงการไอที วราวิช กำภู ณ อยุธยา มาเป็นผู้ดูแล พร้อมประกาศเปิดบริการซื้อหา สร้างอัลบั้มเพลงส่วนตัว จากลิขสิทธิ์เพลงของแกรมมี่ที่มีกว่า 1,000 เพลง เปิดรายชื่อเพลงให้ผู้เข้าชมได้เตรียมควักกระเป๋าดาวน์โหลด แต่จนแล้วจนรอด กลายเป็น วราวิช กำภู ณ อยุธยา เก็บข้าวของลาออกไป เว็บไซต์ eotoday.com ปิดตัวลง แปลงโฉมกลายเป็น gmember.com ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดเมน ที่ถูกตั้งขึ้นใหม่เพื่อดูแลธุรกิจคอนเทนท์ออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยลงทุนวางระบบไอทีไปกว่า 1,000 ล้านบาท มอบหมายให้ สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม หลานชายมือขวาของอากู๋ มาเป็นผู้กำกับ

สุวัฒน์ เคยกล่าวไว้ว่า โลกของออนไลน์จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกลุ่มคนในสังคมใหญ่ ที่ต้องการความสะดวกสบาย และไลฟ์สไตล์ในชีวิต ดังนั้นเว็บไซต์ gmember.com จะเป็นทำหน้าที่เป็นเหมือนห้างออนไลน์ที่รวมเพลง และคอนเทนต์ต่างๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด”

แต่ถึงวันนี้ gmember.com ก็ทำหน้าที่เหมือนเว็บวัยรุ่นที่มีข่าวสารศิลปิน มีกิจกรรมดึงดูด มีเว็บบอร์ด มีภาพให้ดาวน์โหลด และอาจจะพิเศษที่เป็นไซต์สถานีเพลงเอกซ์คลูซีฟ ที่ผู้ท่องเน็ตทุกคนจะสามารถโหลดเพลงของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่มาฟังได้อย่างถูกกฎหมาย เว็บเดียวในประเทศไทยเท่านั้น

เลิฟอีส - รถไฟดนตรี สนใจแต่คอยตลาดก่อน

ในฟากของค่ายเพลงอย่าง “เลิฟอีส-มิวสิค” เองก็ยอมรับว่า การดาวน์โหลดเพลงผ่านเว็บไซต์ของนักฟังเพลงที่นิยมท่องเว็บไซต์ ก็ส่งผลกระทบต่อค่ายเพลงของตนเช่นกัน ซึ่งเป็นผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ยอมรับว่ามีแน่นอน

เหตุที่ผลกระทบของการดาวน์โหลดเพลงผ่านเวปไซต์ส่งผลกระทบต่อค่ายเพลง “เลิฟอีส-มิวสิค” ไม่มากนัก เป็นเพราะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพลงของค่ายนี้จัดเข้าประเภท “แฟนพันธุ์แท้” ของเพลงอย่างแท้จริง เพราะกลุ่มลูกค้าของค่ายเพลงนี้ไม่ได้ต้องการฟังแค่เพลงอย่างเดียว แต่ยังมองว่าทั้งเทป ซีดีเพลง เป็นของสะสมอย่างหนึ่งด้วย ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นของกระแสการโหลดเพลงจากเวปไซต์ยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก

“แม้ว่าในขณะนี้ทาง “เลิฟอีส-มิวสิค” จะยังไม่มีบริการที่ตอบสนองคนฟังเพลงในลักษณะนี้ มีแค่เพียงการดาวน์โหลดเพลงของศิลปินในค่าย เพื่อเป็นการตอบแทนคนฟังก็ตาม แต่เราก็ให้ความสนใจกับพฤติกรรมการฟังเพลงในรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน” แหล่งข่าวระดับสูงภายใน กล่าวถึงกระแสการฟังเพลงรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงภายในค่ายเพลง ยังเชื่ออีกว่า พฤติกรรมการดาวน์โหลดเพลงในลักษณะนี้จะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของการทำตลาดค่ายเพลงในอนาคต เพราะปริมาณของผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีอัตราการก้าวกระโดดที่รวดเร็วมาก ดังนั้นตลาดตรงนี้น่าจะใหญ่เป็นเงาตามตัวด้วย

ขณะที่ ค่ายเพลงรถไฟดนตรี ก็ให้ความสนใจช่องทางดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาและศึกษาตลาดอยู่ โดยแหล่งข่าวภายในค่ายเพลง กล่าวกับ “ผู้จัดการ รายสัปดาห์” ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะเข้ามาใช้ช่องทางดังกล่าวด้วย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและมากขึ้น

เพลงออนไลน์ เพิ่มจำนวนเข้าเว็บ

เพลงออนไลน์ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความนิยมและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเว็บไซต์ที่จะขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เพราะหน้าเว็บเพลงออนไลน์จะเป็นส่วนหนึ่งในลิงค์บันเทิง วาไรตี้ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในการดึงดูดให้คนเข้ามาในเว็บไซด์ได้จำนวนมาก

ในทางเดียวกันสิ่งที่เว็บไซต์จะได้รับจากเพลงออนไลน์คือ สามารถนำประโยชน์ของตัวเลขจำนวนครั้งของผู้ที่เข้าท่องในเว็บไซต์ไปนำเสนอให้ลูกค้าได้เห็นถึงปริมาณคนที่เข้ามาในเว็บไซต์ ซึ่งก็จะทำให้ได้รับโอกาสในการลงโฆษณาจากทุกๆแวดวงธุรกิจ

กษมาช นีรปัทมะ รองบริหารฝ่ายการตลาดเอ็มเว็บ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไว้ว่า “ข้อดีที่เว็บสนุกดอทคอมมีเพลงออนไลน์ไว้บริการ จะมีประโยชน์ทางอ้อม ส่งผลทำให้พนักงานขายโฆษณาของเอ็มเว็บหาสปอนเซอร์ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้คนมาใช้บริการของเว็บเพิ่มขึ้น”

ส่วนเว็บไซด์ที่ติดอันดับท็อปไฟว์ ความนิยมส่วนหนึ่งจะได้จากการนำเอาเพลงออนไลน์มาใส่ไว้ในเว็บไซด์นั้น โดยข้อมูลจากทรูฮิตดอทเน็ท ซึ่งเป็นศูนย์รวมสถิติเวบไทย ในวันที 10 มกราคม 2549 รายงานว่าแค็ตตาล็อคยอดนิยม 5 อันดับแรกคือธุรกิจ อินเทอร์เน็ต ช๊อปปิ้ง บันเทิงและท่องเที่ยว

สำหรับพฤติกรรมของการเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับความบันเทิงนั้น ส่วนใหญ่จะเข้ามาใช้บริการต่างๆมากมายอาทิเช่น ดูทีวีผ่านอินเตอร์เน็ต ส่ง sms ฟรี ฟังวิทยุผ่านอินเตอร์เน็ต ฟังเพลงออนไลน์ เล่นเกมส์ผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บบอร์ด และห้องสนทนาเป็นต้น

นอกจากนั้น ในวันที่ 9 มกราคม 2549 ท็อปไฟว์เว็บไซต์ ที่มีปริมาณจำนวนผู้เยี่ยมชมมากเป็นอันดับ1 และ2 ของประเทศไทยคือ สนุกดอทคอม ผู้เข้าชมเว็บไซต์ 184077 IP เพิ่มขึ้น 14.76 %และกระปุกดอทคอม 123154 IP เพิ่มขึ้น 4.37 %

โดยทั้งสองเว็บไซต์เป็น เว็บบันเทิง วาไรตี้ ที่นักฟังเพลงออนไลน์เปิดเข้าไปใช้บริการมากที่สุด ส่วนอันดับ3คือ เว็บข่าว-สื่อ ผู้จัดการออนไลน์ อันดับ4 เว็บบุคคล สังคม กระดานข่าว เอ็มไทยดอทคอม และอันดับห้า พันทิปดอทคอม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ได้เปิดลิงค์เพลงออนไลน์มาให้บริการในเว็บไซด์ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันถ้าแบ่งตามประเภท 6 กลุ่ม หน้าเว็บไซต์บันเทิงจะเป็นหน้าเวบที่คนนิยมเข้ามาใช้บริการมากที่สุดด้35.29 % หน้าเวบบุคคลและสังคม10.01 % หน้าข่าวและสื่อ 7.60 % อินเทอร์เน็ต 6.58 % ธุรกิจ 6.16 % และชอปปิ้ง 4.84 %


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.