“ไทยแอร์เอเชีย”ปรับทัพรับศึกปีจอ ขอเป็นผู้นำเพิ่มเครื่อง...เส้นทาง...บริการบันเทิงเพียบ!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ในยุคที่ใครๆก็บินได้ทำให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์)สร้างความโดดเด่นและมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่องในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา จนก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆของวงการบินในเมืองไทย แน่นอนกรณีศึกษาของ “ไทยแอร์เอเชีย”ที่สร้างเสน่ห์เย้ายวนใจมากกว่าสายการบินอื่นด้วยราคาตั๋วที่แข่งกันลดและโหมโปรโมชั่นตลอดทั้งปีที่ผ่านมาสร้างความฮือฮาและประสบความสำเร็จไม่น้อย

ใครเลยจะรู้ว่าเพียงระยะเวลาปีกว่าๆ ของสายการบินอย่าง ไทยแอร์เอเชียภายใต้การบริหารจัดการของ CEO ทัศพล แบเลเว็ลด์ จะมีอิทธิพลต่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจให้ถึงที่หมายโดยไม่ใส่ใจกับการบริการภายในเครื่องบิน และที่สำคัญ จ่ายน้อยกว่าสายการบินปกติจนทำให้ยอดตัวเลขผู้ใช้บริการตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงสิ้นปี 48 ที่ผ่านมามีสูงถึงกว่า 3 ล้านคน

จึงเป็นเรื่องไม่แปลกนักที่ตลอดทั้งปี 49 ตัวเลขจะถูกกำหนดวางไว้สูงถึง 3 ล้านคนที่จะเข้าไปใช้บริการสายการบินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม และหลังจากนี้ไปจับตาดูการเปลี่ยนแปลงปรับโฉมครั้งใหญ่ของไทยแอร์เอเชีย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทบนภาคพื้นดินและบนอากาศในปี 49 นี้ ซึ่ง ทัศพล ประกาศว่าจะไม่มีใครเหมือนและจะไม่เหมือนใคร…

สอดคล้องกับกรณีแผนการจัดซื้อเครื่องบินจากเดิมมีเพียง 8 ลำเพิ่มขึ้นเป็น 12 ลำและทุกลำยังคงเป็นโบอิ้ง 737-300 เหมือนเดิมรองรับผู้โดยสารได้ 148 ที่นั่ง บ่งบอกถึงการพัฒนาขนาดของสายการบินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการมีเครื่องบินมากขึ้น นั่นย่อมหมายถึงศักยภาพในการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและจุดหมายปลายทางใหม่ๆย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นตัวช่วยส่งเสริมเครือข่ายการบินเพื่อให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความล้าช้า(ดีเลย์)ก็จะถูกแก้ไขให้เบาบางลงไปเช่นกัน

สิ่งแรกที่ CEO ไทยแอร์เอเชียยอมรับในปัจจุบันก็คือต้องการเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้น และจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งจะแตกต่างจากสายการบินนกแอร์และสายการบินโอเรียนต์ไทยที่มักจับกลุ่มลูกค้าที่ใกล้เคียงกันด้วยราคาที่สูงกว่า กอปรการเปิดให้บริการ 7 เส้นทางในประเทศไทยและ8 เส้นทางในต่างประเทศที่ยังคงมีแผนเปิดให้บริการเพิ่มเที่ยวบินอีกในอนาคต

หลังจากที่ได้เครื่องบินครบ12 ลำตามแผน แน่นอนทัศพลย่อมไม่ขยายการลงทุนเพิ่มหรืออาจต้องชะลอเวลาสักพักเพื่อมองดูทิศทางการตลาดของธุรกิจขณะที่เครื่องบินรุ่นแอร์บัส เอ320 คือยุทธศาสตร์ใหม่ในปี 2007 ที่จะสร้างสีสันของการแข่งขันในธุรกิจการบินได้ไม่น้อย และกลยุทธ์นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศคือ ไทย,อินโดนีเซียและมาเลเซีย หลังจากนั้นจะค่อยๆ ปลดละวางเครื่องบินลำเก่าทิ้งไป

การนำเข้าเครื่องบินรุ่นแอร์บัสเอ 320 ที่มีทั้งขนาดใหญ่กว่าที่นั่งมากกว่าและมีความปลอดภัยสูงมาเปิดให้บริการในอีกปีกว่าๆที่จะถึง ทำให้ไทยแอร์เอเชียมั่นใจเหลือเกินว่าจะสามารถดึงกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ตามมาคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหากัปตันนักบิน ช่างซ่อม และลูกเรือ ที่ทัศพล บอกว่าจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ถ้าหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอาจส่งผลถึงคุณภาพมาตรฐานที่วางไว้ก็ต้องลดลงไปเช่นกัน

“ปัจจุบันปัญหากัปตันนักบินยังคงขาดแคลน ระหว่างที่เราได้เครื่องบินครบ 12 ลำก็จะหยุดโตสักพักและเร่งพัฒนาสิ่งที่ขาดแคลนให้มีเพียงพอต่อธุรกิจ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ควบคู่กันไปจนกว่าจะได้เครื่องรุ่นแอร์บัสเอ 320 “ทัศพล กล่าว

หัวใจสำคัญของไทยแอร์เอเชีย ที่ก้าวเดินบนเส้นทางธุรกิจการบินตั้งแต่เปิดให้บริการถึงปัจจุบันคือขายตั๋วราคาถูก เรื่องนี้ ทัศพล ยังคงยืนยันว่าจะคงราคาเดิมไว้ หากเว้นแต่ว่าราคาน้ำมันขึ้นเพียง 10-15%เท่านั้น ซึ่งถ้าสูงกว่านี้คือประมาณ 20%คงต้องมีการปรับราคาตั๋วแน่นอน

“ปี 49 แผนการตลาดยังคงทำแบบเดิมแน่คือราคาประหยัดเหมือนเดิม ขณะเดียวกันก็จะออกโปรโมชั่นทุกๆ 2 อาทิตย์ และคาดว่าจะใช้วันหยุดในปี 49 เป็นกลยุทธ์ ซึ่งถ้าตรวจเช็คดูแล้วมีจำนวนวันหยุดเยอะมากนำมาใช้จัดแคมเปญนำเที่ยวได้ดี พร้อมกับสรรหาสิ่งแปลกใหม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะความบันเทิงบนเครื่องบิน อาจจะมีทอล์คโชว์ก็ได้ใครจะรู้”ทัศพล กล่าวถึงแผนการตลาดที่วางไว้พร้อมหัวเราะ

ช่องทางการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินที่มีการแข่งขันหลากหลายรูปแบบส่งผลทำให้ไทยแอร์เอเชียมีการปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายโดยเฉพาะอาศัยเครือข่ายของกลุ่มชินคอร์ปและภายในปีนี้จะเริ่มมีการขายทั้งในร้านเทเลวิช และห้างเทสโก้โลตัส หรือโทรศัพท์จองตั๋วในระบบของ AIS ที่ทัศพล การันตีว่าใช้เวลาเพียง 2 นาทีเท่านั้นเป็นจุดขาย

ในปี49สถานการณ์ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจการบินยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากนโยบายการเปิดเสรีของภาครัฐ ดังนั้นกลยุทธในการดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดจึงต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่อง พร้อมกันนี้จะต้องพยายามลดต้นทุนค่าใช้จ่ายบางส่วนลงควบคู่ไปด้วย เช่น ต้นทุนค่าล้างเครื่องบิน จากเดิมจะล้างสัปดาห์ละครั้ง เปลี่ยนมาล้าง 2 สัปดาห์ต่อครั้ง และปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำยาล้างเครื่องบิน ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาใช้แทน รวมถึงการสั่งซื้ออะไหล่เครื่องบินเป็นล็อตใหญ่ๆ แทนการสั่งซื้อปลีกย่อย และการซื้อโฆษณาลงสื่อแบบเหมารวมเป็นรายปีแทนการซื้อเป็นครั้งคราวแทน

ขณะที่การหารายได้อื่นๆ เข้ามาเสริม อย่างในปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีการขายพื้นที่โฆษณาบนเครื่องบินไปแล้ว ในปีนี้ก็จะเริ่มหารายได้จากการเปิดให้บริการขนส่งสินค้า(คาร์โก้) บนเครื่องบิน เป็นต้น

"ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในปีหน้า คาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตได้อีก 15-20% ตามตลาด โดยในรอบปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศทั้งสิ้น 4 ล้านคน ดังนั้นในปีนี้คาดน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.6-4.8ล้านคน ส่วนปีต่อๆไปคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องได้อีกปีละ 10%" ทัศพลกล่าว

แม้ว่าปัจจุบันสิ้นปี 48ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียจะได้รับรายได้เพียง 2 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ทัศพลเองยอมรับว่าธุรกิจมีผลกำไรเช่นกันและนั่นหมายถึงโบนัสประจำปีที่มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้พนักงานของไทยแอร์เอเชีย

การปรับตัวครั้งใหญ่ของไทยแอร์เอเชียครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเพราะหากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ นั่นก็หมายถึงยอดรายได้ที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 4 พันล้านบาทต้องตกเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของไทยแอร์เอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

เส้นทางการบินของแอร์เอเซียประจำปี 2549
เส้นทางบินภายในประเทศ
1. เชียงใหม่
2. เชียงราย
3. อุบลราชธานี
4. อุดรธานี
5. ภูเก็ต
6. หาดใหญ่
7. นราธิวาส

เส้นทางการบินระหว่างประเทศ
1. กัวลาลัมเปอร์
2. ปีนัง
3. โคตาคินาบาลู
4. สิงคโปร์
5. มาเก๊า
6. เซี๊ยะเหมิน
7. ฮานอย
8. พนมเปญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.