39 ปี Habitat

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

Habitat เป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์เกิดขึ้นครั้งแรกในกรุงลอนดอน เมื่อปี ค.ศ.1963 หรือประมาณ 39 ปีมาแล้ว โดยผู้ชายชาวอังกฤษ คนหนึ่ง ชื่อ Terence Conran ซึ่งได้รวบรวม ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ที่ทันสมัย แตกต่างไปจากร้านอื่นๆ ในอังกฤษในสมัยนั้น

ต่อมา Conran ผู้นี้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น Sir Terence Conran

เมื่อ 40 ปีก่อนร้านค้าขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในประเทศอังกฤษ มักจะเป็นสไตล์เลียนแบบเครื่องเรือนยุคเก่าที่หรูหรา ในขณะที่วิถีชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มรับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ได้มากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพชีวิต และสิ่งของเครื่องใช้ ที่มีดีไซน์สวยงามแปลกใหม่ไปจากเดิม

ร้านของ Conran จึงเกิดขึ้นจากแนวความคิดหลักที่ว่า 1. ต้องเป็นสินค้าที่มีดีไซน์ ทันสมัย 2. ต้องเป็นของมีคุณภาพ และใช้สอยได้จริง และ 3. ราคาต้องไม่สูงเกินไปนัก กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง คือ กลุ่มเป้าหมายหลัก

Habitat ร้านแรก มีพื้นที่กว้างขวางถึง 1,000 ตารางเมตร เพราะต้องการให้เป็นที่รวมสินค้าให้ได้มากที่สุด โดยไปเสาะแสวงหาสินค้าซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มาจากทั่วโลก ส่วนพนักงานขายก็เป็นหนุ่มสาววัยรุ่น หน้าตาสดใส เป็นการเปิดตลาดแนวใหม่ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นชัดเจน และเขาก็ได้ยึดหลักการนี้มาโดยตลอด จนประสบความสำเร็จ และแฮบิแทต ก็ได้ขยายสาขาไป อีกหลายแห่ง กลายเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ

หลังจากนั้น Conran ก็เริ่มเปิดตลาดเข้าไปยัง กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงเวลาประมาณ 30 ปี เขาสามารถขยายสาขาใน 2 ประเทศนี้ได้ถึง 80 สาขา

Habitat เข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อได้ไปรวมกับกลุ่มเสื้อผ้า เน็กซ์ และมาเตอร์แคร์ กลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น โดยที่ Conran เจ้าของเดิมได้ลดบทบาทลง และในที่สุดก็ถอนตัวออกไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานบริหารโดยสิ้นเชิง

หลังจากนั้น กลุ่ม Ingvar Kamprad เจ้าของ ไอเคีย (Ikea) ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายขายเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน รายใหญ่ของโลกจากประเทศสวีเดน ได้มาซื้อแฮบิแทตไปบริหารเอง สำหรับ ไอเคียนั้น ปัจจุบันมีสาขาทั่วโลกประมาณ 150 สาขา แต่ละสาขามีพื้นที่กว้างใหญ่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร หรือขนาดเท่าๆ กับห้างโลตัส คอนเซ็ปต์ของไอเคียก็คือ เป็นร้านขนาดใหญ่ เน้นการขายของเป็นจำนวนมากๆ โดยมีกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่างเป็นกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริหารของกลุ่มนี้จึงเห็นว่าแฮบิแทตจะเป็นตัวช่วยเพิ่มฐานลูกค้าของผู้มีรายได้กลางถึงสูงให้กับกลุ่มของเขาได้ และที่สำคัญชื่อเสียงของแฮบิแทต ที่มีจุดเด่นเรื่องการดีไซน์ที่ทันสมัยจะสามารถทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว โดยผ่านการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบของไอเคีย

ผู้บริหารกลุ่มใหม่ภายใต้การนำของ Mr.Kamprad (เจ้าของ Ikea) ได้ใช้ช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา ปรับปรุง ในเรื่องระบบการจัดซื้อ การจัดจำหน่าย และปรับปรุงระบบแฟรนไชส์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และกลับมายอมรับแนวคิดหลัก 3 ข้อของ Conran ว่าถูกต้อง และ มีเหตุผลที่สุด หลังจากเคยเกิดเหตุการณ์ทผู้บริหารกลุ่มเดิม มองการตลาดไม่ออกไปทำการตลาดแข่งกับไอเคียลดราคาและคุณภาพของแฮบิแทตลง จนทำให้สินค้าของแฮบิแทต หลงทางไปพักใหญ่และยอดขายลดลงจนเห็นได้ชัด

ถึงแม้วันนี้ไอเคียกับแฮบิแทต เป็นเสมือนบริษัทพี่บริษัทน้อง แต่มีกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน และแยกการบริหารออกจากกันชัดเจน สินค้าของไอเคียจะเน้นในเรื่องการขายจำนวนมาก ราคาไม่แพง โดยที่ลูกค้าสามารถ เอาไปประกอบเอง แต่สินค้าของแฮบิแทตจะประกอบไว้ ให้สมบูรณ์แบบและจับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงกว่าไอเคีย

การวางตำแหน่งของสินค้าที่ชัดเจน และการจัดการเรื่องระบบของการบริหารแฟรนไชส์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้แฮบิแทตมีแนวโน้มในการเติบโตเพิ่มขึ้นมาตลอด ในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.