UK-School Intellectual Womb?

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

คงไม่มีสินค้าและบริการชนิดใดจากประเทศอังกฤษ ที่สามารถส่งผ่านอิทธิพลทางความคิดในระดับนานาชาติได้มากเท่ากับระบบการศึกษาของ ราชอาณาจักรอันเก่าแก่แห่งนี้ และด้วยคุณค่ามาตรฐานของสังคมไทยในปัจจุบัน นี่อาจเป็น ห้วงเวลาของการ reproduction ผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้กรอบความคิดเดิมที่น่าสนใจยิ่ง

การเปิดตัวโรงเรียน Shrewsbury International School ในฐานะโรงเรียน จากอังกฤษแห่งที่ 3 ที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคมปี 2545 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มดำเนินการเรียนการสอนได้ในช่วงกลางปี 2546 อาจได้รับการประเมินว่าเป็นเพียงรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ของนักพัฒนาที่ดินที่พยายาม พลิกฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ

เนื่องเพราะการเปิดโรงเรียน Shrewsbury International School ขึ้นในประเทศไทย ในครั้งนี้ มีชาลี โสภณพานิช แห่ง City Realty เป็นผู้แถลงถึงการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

หากในอีกมิติหนึ่งกรณีดังกล่าว นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากในแวดวงการศึกษาไทยและเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะการเข้ามาตั้งโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ภายใต้ชื่อสถานศึกษาชั้นนำของอังกฤษ 3 แห่ง ล้วนแต่มีรากฐานความสัมพันธ์กับสังคมไทยมานานกว่า 100 ปี และเป็นภาพสะท้อนอิทธิพลทางความคิดที่ระบบการศึกษาอังกฤษมีต่อสังคมไทยที่ชัดเจนอย่างยิ่ง

ในปี 2537 Dulwich International College-DIC เริ่มเปิดดำเนินการในจังหวัดภูเก็ต ท่ามกลางการออกแบบที่จำลองภาพตัวอาคารและอาณาบริเวณ โดยรอบให้มีความละม้ายกับบรรยากาศการศึกษาในประเทศอังกฤษ โดยมีกลุ่มประสิทธิ์พัฒนาของตระกูลอุไรรัตน์ เป็น ผู้ซื้อสิทธิในชื่อมาจาก Dulwich College

หลังจาก Dulwich International College-DIC เปิดดำเนินการได้เพียง 4 ปี ในปี 2541 โรงเรียนนานาชาติจากอังกฤษแห่งที่สองในนาม Harrow International School ก็เริ่มเข้ามาดำเนินการในไทยบ้าง โดยใช้พื้นที่ของโครงการ Bangkok Garden บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่ตั้งโรงเรียนในช่วงเริ่มต้น ก่อนที่จะย้ายไปสู่ที่ตั้งใหม่ย่านดอนเมืองในไม่ช้า

การเข้ามาของ Dulwich, Harrow และ Shrewsbury มองอีกด้านหนึ่งมิได้มีความแตกต่างไปจากการขยายฐานการ ผลิตเข้าสู่พื้นที่ที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นกระแส นิยมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นการ access to the market ที่มีกลุ่มชนชั้นนำไทยร่วมเป็น presenter และตัวแทน การจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ไปพร้อมกันอย่างได้ผล

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถานศึกษาจากอังกฤษ ได้รับการวางตำแหน่งไว้เป็นประหนึ่งสินค้าระดับบนสุด และเป็นแหล่งบ่มเพาะรูปการจิตสำนึก ที่มีอิทธิพลในเชิงความคิดและวัฒนธรรมที่ฝังรากซึมลึกลงไปในระดับจิตวิญญาณ โดยมีชนชั้นนำไทยร่วมเป็นองค์อุปถัมภ์ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

การเปิดประเทศเพื่อรับเอาวิทยาการและวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาสู่สยามประเทศในช่วง 100 ปีเศษที่ผ่านมา ติดตามมาด้วยการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และการเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศอังกฤษ ทำให้สายสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาเหล่านี้มีความแนบแน่นกับชนชั้นนำของสังคมไทยยิ่งขึ้นไปอีก

กระบวนทัศน์ที่ชนชั้นนำไทยได้รับจากการศึกษาดังกล่าว ถูกถ่ายทอดและส่งผ่าน เข้าสู่สังคมไทยอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาประเทศ ที่เกี่ยวเนื่องกับการวางรากฐานด้านระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การจัดวางระบบการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงคุณค่าในเชิงนามธรรมว่าด้วยความเป็นไพร่-ผู้ดี ที่ประเมินผ่านการศึกษาด้วย

และดูเหมือนว่าคุณค่าในเชิงนามธรรมที่อังกฤษได้รับจากการกำหนดนิยามใน ฐานะ "เมืองผู้ดี" ดังกล่าวจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ สถานศึกษาจากอังกฤษ ได้รับความสนใจและเป็นจุดหมายสำหรับการส่งบุตรหลานไปร่ำเรียน นอกเหนือจาก การเป็นแผ่นดินเจ้าของภาษา การไปศึกษา ต่อยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษ จึงเป็นกระบวนการที่ไม่แตกต่างไปจากการ "ชุบตัว" ของกลุ่มชนชั้นนำให้มีความก้าว หน้าและตามทันวิทยาการจากตะวันตกมากขึ้น ขณะที่กลุ่มชนชั้นอื่นๆ ก็พยายาม จะก้าวเดินตามร่องรอย ด้วยหวังว่าวิธีการดังกล่าวจะส่งผลให้ได้มาซึ่งสถานะความเป็นผู้ดี และขยับสถานะจากการเป็นมวล ชนพื้นฐานไปสู่การเป็นกลุ่มชนชั้นนำในอนาคต

นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย และคลี่คลายไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้นนับตั้งยุคอาณา นิคม ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงสงครามโลกอีก 2 ครั้ง ที่ทำให้ ฐานของการเป็นชนชั้นนำถ่างกว้างออก โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะพระบรม วงศานุวงศ์ หรือขุนนางราชสำนักชั้นสูงเท่านั้น หากแต่ข้าราชบริพารในระดับรองลงมา หรือกระทั่งพ่อค้า วานิช และกลุ่มชนชั้นเศรษฐีใหม่ก็ร่วมอยู่ในกระบวนการเหล่านี้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เป็นกระบวนการของความพยายามที่จะสานต่อความสัมพันธ์ในระบบเครือข่าย และยกฐานะจากการเป็นสามัญชน ไปสู่ลำดับชั้นที่สูงกว่าที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ภายใต้ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ได้ส่งผลให้อังกฤษ มิใช่คำตอบเดียวที่มีอยู่สำหรับการไปศึกษาวิทยาการจากโลกตะวันตก เพราะการปรากฏตัวขึ้นของสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจจากโลกใหม่ ก็ดี รวมถึงเหตุผลทางด้าน เศรษฐกิจในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ความสนใจศึกษาต่อในต่างประเทศมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือแคนาดา ซึ่งล้วน แต่เป็นทางเลือกที่แทรกตัวเข้ามาสู่การรับรู้ของสังคมไทยมากขึ้นเป็นลำดับ พร้อม กับทางเลือกว่าด้วยโรงเรียนนานาชาติภายในประเทศอีกด้วย

แต่ สถานศึกษาจากอังกฤษก็ยังอยู่ในฐานะ prestigious product ที่มีความเหนือกว่าทางเลือกอื่นๆ จากเหตุผลของมิติทางประวัติศาสตร์ และการดำรงสถานะเป็น exclusive choice ที่มิใช่ว่าทุกคนจะสามารถเลือกได้

แนวทางการประชาสัมพันธ์การมีอยู่ของโรงเรียนทั้ง 3 แห่งนี้เน้นไปที่การ นำเสนอประวัติความเป็นมาของสถาบัน ควบคู่กับศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงในอดีต มา เป็นจุดสนใจ พร้อมกับนำเสนอภาพของศิษย์เก่านักเรียนไทยจากตระกูลที่มีชื่อเสียงในสังคมทั้งที่เป็นราชนิกุล และสายตระกูลชั้นนำไม่ว่าจะเป็นปันยารชุน และเกษมศรี มาเป็นตัวแบบในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งการอ้างอิงเหล่านี้ดูจะเป็นสิ่งที่จับต้องและสัมผัสได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่ามาตรฐานการศึกษาที่มีความเป็นนามธรรมและอาจจะวัดได้ยาก

การอ้างอิงบุคคลหรือกลุ่มตระกูลที่มี ชื่อเสียงในสังคมในลักษณะดังกล่าวดูจะ เป็นเรื่องราวปกติในการ "ทำตลาด" ของสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะสืบทอดต่อกันไปอีกในอนาคต

ตราบเท่าที่ปัญญาที่แท้จริงของสังคมไทยยังต้องพึ่งระบบการศึกษาจากต่างประเทศมาเป็น "มดลูก" ช่วยทำคลอด เช่นนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.