ซานมิเกลลั่นกลองรบไลท์เบียร์ชนช้าง วางตลาดตัดหน้า-ไทยเบฟฯเย้ยอยู่ที่ฝีมือทำตลาด


ผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ซานมิเกล"ได้ฤกษ์เปิดเบียร์ยี่ห้อซานมิเกลสองตัวใหม่ ไลท์เบียร์โลว์แคลอรี-พาล พิลเซน ลงสมรภูมิเซกเมนต์ใหม่แข่งช้างไลท์ ชูราคากระป๋อง 30 บาทเท่าเบียร์สิงห์หวังเจาะคนรุ่นใหม่ "ไทยเบฟฯ"ลั่นช้างไลท์ลงตลาดตามแผน เย้ยมีความได้เปรียบด้านเอเยนต์ ระบุปีนี้เทรนด์ตลาดเบียร์เซกเมนต์ใหม่เกิดขึ้นเพียบ

แหล่งข่าวจากบริษัท ซานมิเกล เบียร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ บลู ไอซ์ และเรด ฮอต เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน"ว่าขณะนี้บริษัทได้เปิดตัวเบียร์ใหม่ 2 ตัว เบียร์ซานมิเกล ไลท์ เป็นเบียร์โลว์ แคลอรี มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5% และเบียร์ซานมิเกล พาล พิลเซน (PALE PILSEN) ปริมาณแอลกอฮอล์ 5% ลงสู่ตลาดเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ โดยเริ่มวางจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรดและร้านค้าปลีกทั่วไป ทั้งบรรจุภัณฑ์กระป๋องและชนิดขวด

สำหรับเบียร์ทั้งสองตัวนี้ ถือว่าเป็นเบียร์เซกเมนต์ใหม่ในประเทศไทย บริษัทฯตั้งราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับเบียร์เซกเมนต์สแตนดาร์ด อย่างบรรจุภัณฑ์กระป๋องจำหน่ายในราคาเดียวกับเบียร์สิงห์คือราว 30 บาท อย่างไรก็ตามการเปิดตัวเบียร์ใหม่ภายใต้แบรนด์ "ซานมิเกล" ในปีนี้ ถือว่าเป็นการประกาศรุกตลาดเบียร์อย่าง จริงจัง เพราะเป็นการนำชื่อแบรนด์ "ซานมิเกลฎมาทำตลาด หลังจากในปีที่ผ่านมาซานมิเกลได้เปิดตัวเบียร์บลูไอซ์และเรด ฮอต เบียร์นำร่องเพื่อทดลองตลาดไทยในช่วงแรกก่อนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การทำตลาดเบียร์อีก 2 ตัวในเครือ คือ บลู ไอซ์ ในเซกเมนต์สแตนดาร์ด และเรด ฮอตในเซกเมนต์อีโคโนมีนั้น บริษัทฯยังคงทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ได้รับการตอบรับมากนัก โดยบริษัทฯยังผลิตเบียร์ป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างพอร์ตเบียร์ให้มีความหลากหลายครอบคลุมมากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันตลาดเบียร์ที่ต้องมีให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์

สำหรับเบียร์ "ซานมิเกล" เป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยม และเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่วงการน้ำเมาในประเทศฟิลิปปินส์ โดยซานมิเกลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ด้วยการทุ่มงบกว่า 4,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานในไทย เพื่อผลิตอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่นิคมอุตฯ อมตะนคร ต่อมาเข้ามาซื้อกิจการบริษัท ไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด

เบียร์ช้างข่มขวัญได้เปรียบเรื่องเอเยนต์

ด้านนายสมชัย สุทธิกุลพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ช้าง เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" กรณีที่คู่แข่งวางตลาดเบียร์ใหม่ก่อน ว่า สำหรับช้างไลท์จะเปิดตัวลงสู่ตลาดตามแผนที่วางไว้คือในไตรมาสแรกของปีนี้ การที่เปิดตัวก่อนหรือหลังนั้นไม่สำคัญอยู่ที่คุณภาพของสินค้าและการทำตลาด ซึ่งเบียร์ช้างถือว่ามีความได้เปรียบในด้านเอเยนต์ที่มีมากกว่า 2,000 ราย ส่วนในเรื่องราคาขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะสูงกว่าคู่แข่ง ที่ตั้งราคาไว้ที่ 30 บาทต่อกระป๋องหรือไม่

"การที่คู่แข่งลงมาเล่นในเซกเมนต์เดียวกับช้างไลท์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยสร้างตลาดให้เติบโตได้เร็วขึ้น เพราะเซกเมนต์นี้ เป็นเซกเมนต์ใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าแนวโน้มตลาดจะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน โดยขณะนี้ เราไม่สามารถคาดเดาว่าเซกเมนต์ใหม่ปีนี้ จะเติบโตเท่าไร และมีมูลค่าเท่าไรด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแข่งขันไลท์เบียร์ปีนี้ จะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงทุกช่องทางทั้งออนพรีมิสและออฟพรีมิส"

แนวโน้มตลาดเบียร์ในปีนี้จะมีเบียร์ใหม่ออกมาเรื่อยๆ ทำให้เกิดเซกเมนต์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเบียร์ปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ อย่าง ไลท์ เบียร์ ถือว่าเป็นเซกเมนต์ที่มีมานานแล้วในต่างประเทศ ทั้งนี้การเปิดตัวไลท์ เบียร์ในไทย ก็เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้ดื่มที่หันมาดื่มเบียร์ดีกรีต่ำลง รวมทั้งตอบรับกับกระแสสังคม ขณะเดียวกันยังเป็นการขยายตลาดเบียร์ เพื่อหากลุ่มผู้ดื่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งหลักๆ เบียร์กลุ่มนี้เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน และคนรุ่นใหม่ที่เริ่มหัดดื่มเบียร์

ทั้งนี้ เหตุผลที่มีเซกเมนต์ใหม่เกิดขึ้นเป็นเพราะภาวะการแข่งขันตลาดมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ละค่ายจะต้องมีเบียร์ที่ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเซกเมนต์ ใหม่ๆ เพื่อสร้างอัตราการเติบโตให้กับตลาดเบียร์โดยรวมมูลค่า 82,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ประมาณการว่าสภาพตลาดน่าจะทรงตัวหรือเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณ 2-3% เพราะมาตรการของภาครัฐ ขณะที่ตลาดเบียร์อีโคโนมี มูลค่า 69,700 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตน้อยมาก ส่วนพรีเมียมมูลค่า 7,380 ล้านบาท โตถึง 3% เป็นหลัก ส่วนตลาดสแตนดาร์ดมูลค่า 4,920 ล้านบาท หดตัว 3%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.