|
SCBเตือนปัจจัยเสี่ยง49 ดบ.ขึ้น-บาทผันผวน-ศก.สหรัฐฯขาดดุล
ผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้อีก 0.25% เผยครึ่งปีแรกดอกเบี้ยทยอยปรับต่อเนื่องถึง 1% ส่วนเงินบาทผันผวน คาดภายใน 3 เดือนแข็งค่าถึง 38.75 บาทต่อดอลลาร์ แนะลูกค้าวางแผนรับมือดอกเบี้ยด้วยการบริหารต้นทุน ระบุโครงการเมกะโปรเจกต์ทำไม่ทันตามกำหนด เผยปัจจัยเสี่ยงปี 2549 ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐฯขาดดุล ราคาน้ำมันแพง ดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อยังไม่ลดลง ย้ำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯกระทบระบบแบงก์และอัตราแลกเปลี่ยน
วานนี้ (10 ม.ค.) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "2006 Economics and Financial Markets Overview" เพื่อสร้างมุมมองทางเศรษฐกิจรับศักราชใหม่ให้ลูกค้าเพื่อให้สามารถเตรียมวางแผนกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ พร้อมท้าทายสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นรับปี 2549
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารฯได้จัดสัมมนาขึ้นเพื่อเป็นการให้ข้อมูล ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2549 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของของธนาคารไทยพาณิชย์เข้าร่วมบรรยายเรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทย แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ นายภากร ปิปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และนายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า ผู้จัดการบริหารการเงิน
ปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25%
คุณหญิงชฎากล่าวว่า เร็วๆ นี้ ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากประจำทุกประเภทอีก 0.25% และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกของปีนี้ ดอกเบี้ยน่าจะปรับอีกประมาณ 1% หลังจากนั้นจะมีการทรงตัวเพื่อดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีทิศทางอย่างไร
"เฟดมีแนวโน้มว่าจะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในกลางปีนี้ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายหรืออาร์พี 14 วัน"
คุณหญิงชฎากล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องการที่จะกำหนดต้นทุนตายตัวในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ รวมทั้งยังมีการเตรียมพร้อมสำหรับสภาพคล่องในอนาคตที่กำลังลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคเอกชนจะต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมรับกับช่วงดอกเบี้ยขึ้น บริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่รับได้
สำหรับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลัก- ทรัพย์ไทย ซึ่งในระยะสั้นค่าเงินบาทยังคงมีความ ผันผวนอยู่ โดยในระยะยาว จะต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน
"การแข็งค่าขึ้นของเงินบาททางการคงจะเข้ามาดูแลไม่ให้ผิดปกติ เพราะทางการไม่อยากเห็นอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนและเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเกินไปก็จะไม่ส่งผลดี" กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว
ปี 2549 ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเอ็นพีแอลที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่แก้ไขยาก โดยประมาณ 70% ของเอ็นพีแอล เป็นหนี้ที่แก้ไขไม่ได้ ดังนั้น ในปีนี้ธนาคารจะเน้นเร่งดำเนินการแก้ไขทั้งในเรื่องการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ เอ็นพีแอลให้เหลือน้อยกว่า 6% จากปี 2548 ที่คาดว่าจะมีอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 10% และในอีก 3 ปีข้างหน้ามีนโยบายที่จะลดเหลือไม่เกิน 3%
อีก 6 เดือนค่าเงิน 39.25 บาทต่อดอลลาร์
นายภากรกล่าวว่า แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักรวมถึงค่าเงินบาทของไทย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯชะลอตัวลง และการไหลออกของเงินทุนจะลดลงจากราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และคาดว่าโครงการ เมกะโปรเจกต์ จะไม่สามารถเริ่มตามกำหนด ซึ่งจะทำให้การขาดดุลการค้าไม่สูงมากนัก ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป คือ ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น ส่วนดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะประเภทต่ำกว่า 3 เดือน ประกอบกับสภาพคล่องในระบบ ธนาคารที่ลดลงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นทั้งเงินฝากและสินเชื่อ ขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยไม่เกิน 0.5%
ด้านนายอภิศักดิ์กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกใน 1-2 เดือนข้างหน้า โดยเป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าเป็นสำคัญ โดยแนวโน้มอีก 1 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะได้เห็นเงินบาท แตะระดับ 39.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และอีก 3 เดือนจะเห็นที่ 38.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า เงินบาทจะปรับมาอยู่ในระดับ 39.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
"ปีนี้ความผันผวนของค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับ 4% ดังนั้น เมื่อรวมค่าความผันผวนและปัจจัยพื้นฐานแล้ว ค่าเงินบาททั้งปีน่าจะเคลื่อน ไหวอยู่ในระดับ 39-40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ" นายอภิศักดิ์กล่าว
ปี 49 ปัจจัยเสี่ยงใน-นอกรุมเร้า
นายวิรไทกล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ การชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯและยุโรป การทรงตัวในระดับสูงของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของเอกชนขยายตัวได้
สำหรับไทยคาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5% การส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันเศรษฐกิจ โดยการส่งออกขยายตัวประมาณ 7.5-10% การนำเข้าเติบโตประมาณ 6-8.5% ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลประมาณ 2.5-4.5 พันล้าน เหรียญสหรัฐ ส่วนดอกเบี้ยปีนี้ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้อีก 1.5-2.0% โดยอัตราเงินฝากประจำ 3 เดือนจะปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 1.75% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ MLR จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1.25-2.25%
ด้านค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูง เนื่องจากตลาดค่อนข้างอ่อนไหว ซึ่งขณะนี้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี
ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยง คือ ทิศทางเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงมาจากที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในขาขึ้น ฐานะการคลังของประเทศที่ยังมีปัญหาและการทำ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ
ย้ำเอฟทีเอกระทบแบงก์
นายวีรไท ยังกล่าวถึงการทำ FTA ว่า การเปิดเสรีทางการเงินตามกรอบ FTA โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.โดยอาจจะเพิ่มโอกาสการไหลออกของเงินออมไปยังนอกประเทศ ซึ่งจะกระทบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การเปิดเสรีทางการเงินบางธุรกิจก็อาจได้ประโยชน์ ขณะที่บางธุรกิจก็เสียประโยชน์ เพราะจะมีการแข่งขันมากขึ้น เช่น ในกรณีของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งควรจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม และมองว่าแบงก์เล็กอาจมีช่องทางการปรับตัวที่ดีกว่าแบงก์ใหญ่ โดยเฉพาะการเน้นไปในธุรกิจเช่าซื้อ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|