ปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหม่ในจีนฤาจะเกิดจากชนชั้นกลาง


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ชนชั้นกลางของจีน ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว คือผู้ยึดกุมอนาคตของประเทศ

Charley Qian ไม่ใช่คนร่ำรวย ในฐานะผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มของเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์สุดหรูแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ หน้าที่ ของเขาคือ สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าผู้ร่ำรวยที่อาศัยในอพาร์ตเมนต์นั้น ไม่ว่าพวกเขาจะต้องการลิ้มลองอาหารอร่อยอะไรก็ตาม Qian ก็มีหน้าที่จะต้องเสาะแสวงหาสิ่งนั้นมาปรนเปรอให้จงได้

Qian เดินทางมาทำงานด้วยรถไฟใต้ดินโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง มาถึงที่ทำงานในเวลา 7 โมง เช้าทุกวัน หลังจากเปลี่ยนมาใส่เครื่องแบบอันประกอบด้วยเสื้อนอกสีดำ กางเกงลายทางสีเทาแก่ เสื้อกั๊กสีเทา และเนกไทไหมสีเทาแล้ว วันทั้งวันเขาก็จะยุ่งอยู่กับการตัดสินใจเรื่องงบประมาณและการสั่งซื้อวัตถุดิบเครื่องปรุง การดูแลตรวจตราความเรียบร้อยของอาหารกลางวันและงานจัดเลี้ยงต่างๆ รวมไปถึงการจัดส่งอาหารจาก ภัตตาคารใกล้ๆ ขึ้นไปยังห้องพักของลูกค้าตามที่ลูกค้าต้องการ และการตอบสนองความต้องการ พิเศษต่างๆ ของลูกค้า กว่าจะจับรถไฟกลับบ้านซึ่งเป็นห้องอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ก็ตกเข้าไปถึง 3 ทุ่มหรือ 4 ทุ่ม

ถึง Charley Qian จะไม่รวย แต่ก็ห่างไกล จากความยากจน ไม่ว่าจะวัดด้วยมาตรฐานไหนๆ ที่มีอยู่ในประเทศจีน Qian ก็มีรายได้ที่สูงมาก ทั้งนี้เมื่อรวมค่าล่วงเวลาแล้ว Qian มีรายได้ทั้งหมด 7,500-9,000 ดอลลาร์ตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งมากกว่าอัตรารายได้เฉลี่ยต่อปีของคนจีนทั่วไปมากนัก ในแถบชนบทซึ่งมีประชากรชาวจีนอาศัยอยู่มากกว่า 60% รายได้เฉลี่ยของพวกเขาน้อยกว่า 300 ดอลลาร์ต่อปี และแม้แต่ในเมืองที่คนรวยกว่า ก็ยังมีรายได้เฉลี่ยเพียง 850 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น

Charley Qian จึงเป็นคนจีนชนชั้นใหม่ที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้น นั่นคือชนชั้นกลาง แม้ Qian วัย 36 จะไม่ร่ำไม่รวยถึงขนาดมีเงิน ซื้อเสื้อผ้าของ Armani, Prada หรือ Gucci มาใส่ได้ แต่ในตู้เสื้อผ้าของเขาก็ไม่แล้งเสื้อกอล์ฟสวยๆ และกางเกงเท่ๆ ที่แสดงถึงความมีรสนิยม เขาพกโทรศัพท์มือถือ Nokia แม้จะไม่ใช่รุ่นล่าสุด เขายังไม่อาจบรรลุความฝันที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่เขาก็ได้เดินทางไปพักผ่อนอย่างหรูหรากับแฟนสาว ซึ่งเป็นครูสอนแอโรบิกอยู่ในโรงแรม Radisson และลูกชายคนเดียววัย 10 ขวบที่เกิดจากภรรยาเก่า ในสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ อย่าง Hainan Island ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้

เขาเมินตลาดหุ้นด้วยเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการพนัน ไม่ยอมเป็นหนี้ และเก็บงำทุกบาททุกสตางค์ที่เขาหาได้ไว้อย่างดีในธนาคาร สิ่งที่ดูจะเป็นความวิตกกังวลอย่างเดียวของ Qian คือเรื่องการศึกษาของลูก เขามีความหวังเต็มเปี่ยมว่า จะสามารถซื้อรถสักคันหรือบ้านสักหลังได้ในเวลาไม่นาน สรุปแล้ว Qian มองอนาคตสดใสมาก ไม่ว่าจะเป็นอนาคตของตัวเอง ของบุตรชาย หรือของประเทศ "กว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ลำบากมาเยอะ" Qian กล่าวพลางสูบบุหรี่ Double Happiness "ผมเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 18 เป็นเด็กยกกระเป๋า ทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน" มาถึงวันนี้ เขายอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจมากที่ประเทศของเขากำลังเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็วจากเมื่อ 20 ปีก่อน "จีนกำลังไล่ทันฮ่องกง และญี่ปุ่น" เขาคิดว่าประเทศของเขาจะยิ่งดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้อีกหรือไม่ในอีก 20 ปีข้างหน้า "แน่นอน" Qian ตอบพร้อมพยักหน้าอย่างหนักแน่น "ต้องดีกว่านี้แน่ๆ"

24 ปีหลังจาก Deng Xiaoping เริ่มการปฏิรูปทางการเงินเป็นครั้งแรก อนาคตของจีนได้ตกมาอยู่ในมือของคนอย่าง Qian ผู้เป็นสมาชิกของภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งทำงานที่ต้องใช้ทักษะและอุทิศตัวให้แก่การทำงานหนัก และการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งต่อไปของจีนอาจเกิดจากการก่อกำเนิดขึ้นของชนชั้นกลางหรือชนชั้นนายทุนนี้ ที่ตลกร้ายก็คือชนชั้นนายทุนรุ่นใหม่เหล่านี้ กลับเป็นรุ่นลูกของผู้ที่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างทนทุกข์ทรมานจากการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งแรก อันเนื่องมาจากการที่พวกเขามีความคิดแบบทุนนิยม

ชนชั้นกลางที่เพิ่งเกิดใหม่นี้ เป็นชนชั้นทางสังคมที่อยู่ระหว่างพวกเศรษฐีใหม่กับชาวนา คนงานในโรงงานและคนตกงานที่ยากจนจำนวนหลายร้อยล้านคน ที่มีสภาพชีวิตที่ตกต่ำลงอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในจีน แม้กลุ่มของพวกเขายังมีขนาดเล็กแต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่ๆ อย่างนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครกวางเจา และเมือง Shenzhen และในขณะที่จีนกำลังพุ่งถลาเข้าใส่ความทันสมัยอย่างไม่ยั้งในยามนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จีนต้องมีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นอีกนับร้อยๆ ล้านคน หากจีน ปรารถนาจะทะยานขึ้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก

แต่การจะสถาปนาชนชั้นกลางให้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง ในประเทศที่ก่อตั้งประเทศขึ้นมาด้วยการยึดมั่นในหลักการ กำจัดความแตกต่างทางชนชั้นอย่างจีน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ปัญหา คอร์รัปชั่น ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่ถ่างกว้างขึ้น และอิสรภาพทางการเมืองที่ล้วนแต่ยังล้าหลังพัฒนาการทางเศรษฐกิจอยู่มาก รวมถึงปัญหาความสับสนของสังคม อันเกิดจากการพยายามเปลี่ยนความคิดของประชาชนที่เคยถูกฝังหัวให้เกลียดชังทุนนิยมและต่อต้านวัตถุนิยมไปในทิศทางตรงข้าม เหล่านี้ยิ่งเป็นอุปสรรคใหญ่

ชนชั้นกลางที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้นในจีน จะสามารถเป็นผู้นำในการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมจีนอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ไปสู่การเป็นสังคมพลเรือนหรือถึงขั้นเป็นสังคม ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หรือจะยอมกลายเป็นเพียงข้ารับใช้ที่ไม่มีปากมีเสียง ผู้เต็มใจจะเข้าร่วมกับระบอบทุนนิยมที่พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ควบคุม อันเป็นระบอบที่พวกเขาสามารถไขว่คว้า ทุกสิ่งทุกอย่างมาครอบครองได้ ยกเว้นแต่เพียงอำนาจในการปกครอง

เนื่องจากนัยสำคัญทางการเมืองที่แฝงอยู่ในคำว่า "ชนชั้นกลาง" ทำให้คำนี้เกือบจะกลายเป็นคำต้องห้ามในจีน ทุกคนต่างก็เลี่ยงไปใช้คำว่า white-collar บ้าง ผู้ประกอบการบ้าง นักธุรกิจ บ้าง หรือผู้มีรายได้ระดับกลางบ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา Chinese Academy of Social Science (CASS) ของทางการจีน ได้เปิดเผยผลการศึกษาการแบ่งชนชั้นทางเศรษฐกิจในจีน ซึ่งใช้เวลาศึกษานานถึง 3 ปี อันนับเป็นการเปิดเผยมุมมอง ที่มีต่อชนชั้นทางสังคมในจีนที่เป็นทางการที่สุดเท่าที่จะหาได้ในปัจจุบัน

นักสังคมวิทยาคนหนึ่งของ CASS ซึ่งให้สัมภาษณ์โดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อได้ประเมินว่า ชนชั้นกลางอันได้แก่ ผู้จัดการ นักวิชาชีพ ช่างเทคนิค และพนักงานในภาคบริการ ซึ่งมีรายได้ระหว่าง 2,500-10,000 ดอลลาร์ต่อปี มีจำนวนน้อยกว่า 5% ของประชากร ทั้งหมดของจีนเท่านั้น หรือน้อยกว่า 65 ล้านคน

ถ้าวัดตามมาตรฐานของจีน นับว่าชนชั้นกลางในจีนยังเป็น กลุ่มที่มีขนาดเล็กมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากการที่ชนชั้นกลางของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเป็นชนชั้น ที่ได้รับประโยชน์มากมายจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ การมองอนาคตของประเทศอย่างมีความหวัง และการมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและสังคมของจีน ความสำคัญของชนชั้นกลางจึงมีมากกว่าจำนวนอันน้อยนิดของพวกเขามากนัก รายงานการศึกษา ดังกล่าวของ CASS เองยังยอมรับว่า ชนชั้นกลางกำลังเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของประเทศจีน "โครงสร้างชนชั้นทางสังคมของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ชนชั้นกลางจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดจะกลายเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นพลัง ที่มั่นคงที่สุดในโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ของจีน"

แต่ในขณะที่ Qian และชนชั้นกลางคนอื่นๆ มีความสุขความพอใจกับชีวิตวันนี้ พ่อแม่ของพวกเขากลับยังคงปวดร้าวกับการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งแรก อย่างเช่น Zhu Ancheng บิดาของ Charley Qian เอง Zhu กับภรรยาอาศัยอยู่ในห้องอพาร์ตเมนต์ แคบๆ ทึบทึมใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ เขาเคยเป็นคนงานในโรงงานในขณะที่ภรรยาเป็นครู ก่อนที่ทั้งคู่จะเกษียณและมีชีวิตอยู่ด้วยเงิน บำนาญที่รวมกันแล้วก็เป็นจำนวนมากโขถึง 3,600 ดอลลาร์ต่อปี

แม้จะมีชีวิตที่สุขสบายด้วยวัตถุพอสมควร แต่ Zhu ก็ยังคงคิดด้วยความเศร้าหมองอยู่เสมอว่า เขามีชีวิตที่ต้องพลาดโอกาส ดีๆ ในชีวิตไปหมด และไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เขาคิดว่า เขามีชีวิตที่ห่างไกลจากที่เขาเคยฝันไว้ลิบลับ จากการที่มาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ Zhu ในวัยเด็กจึงมีชีวิตที่ร่ำรวยสุขสบาย แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ครอบครัวของเขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกนายทุน Zhu ซึ่งขณะนี้อายุ 66 ปี แม้จะไม่เคยถูกเนรเทศไปชนบทแต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 35 ปี ย้ายจากโรงงานหนึ่งไปยังอีกโรงงานหนึ่งครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามทำงานหนักและที่สำคัญคือพยายามหลบเลี่ยงจากพวก Red Guard การมีมลทินว่าเป็นพวกนายทุนทำให้ Zhu ไม่กล้าให้ ลูกชายทั้งสองคือ Charley Qian และ Yong ใช้แซ่ของตน แต่ให้ใช้แซ่ของมารดาแทน

"พวกเขาเป็นคนรุ่นที่หายไป" Jonathan Chu หุ้นส่วนของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้กล่าวถึงคนรุ่น Zhu พ่อของเขาเองถูกเนรเทศไปยังถิ่นทุรกันดารในมณฑล Guangxi เพราะเป็นพวกขวา ส่วนปู่ของเขา ซึ่งเคยเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลในเซี่ยงไฮ้ ถูกจับขังคุกถึง 24 ปี "พวกเขาทำงานหนักมาตลอดชีวิต เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของระบอบสังคมนิยม ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม แล้ววันหนึ่ง Deng ก็เข้ามาและพูดว่า ขอบคุณ ขอบคุณที่พวกคุณทำเพื่อประเทศชาติ แต่ว่าตอนนี้ คุณ ต้องหยุดทำสิ่งที่คุณเคยทำ แล้วไปทำอย่างอื่นที่ตรงข้ามž ลองนึก ดูว่า พวกเขาจะสับสนมากแค่ไหน" Chu กล่าว

ทุกวันนี้ การแสวงหาความร่ำรวยกลายเป็นการกระทำที่มีเกียรติอีกครั้ง ตัว Chu เองเป็นนายทุนเต็มตัวและกำลังมีชีวิตที่หอมหวาน

ส่วน Zhu พ่อของ Qian ไม่อาจลืมเลือนความทุกข์ ทรมานที่เคยได้รับในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมได้ตลอดชีวิตนี้ การได้เคย ประจักษ์ด้วยตัวเองว่า ชะตากรรม-หรือก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่อย่างเช่นการปฏิวัติวัฒนธรรม สามารถทำให้เขาหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างได้ภายในพริบตา ทำให้ Zhu กลาย เป็นคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างระแวงระวังอยู่เสมอ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ไม่มีอยู่ในตัวบุตรชายและคนรุ่นลูกของเขา ผู้ไม่เคยประจักษ์ ในพิษสงของชะตากรรมอันโหดร้ายมาก่อน

Zhu ยินดีที่ Qian สุขสบาย แต่เขายังคงระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศของเขา ที่ใครๆ ทั้งโลกต่างกำลังบอกเขาว่า กำลังรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อถามว่า เขามีความหวังอะไรในอนาคตอีกบ้าง Zhu ยิ้มกว้าง ชอบใจในคำถาม "ไม่หวังอะไรมาก ขอแค่ได้อยู่อย่างสงบๆ ไปวันๆ ไม่มีปัญหาอะไรมารบกวนมาก แค่นี้ก็พอแล้ว"

การมองโลกที่แตกต่างกันของพ่อลูก Zhu กับ Qian ไม่ใช่ เรื่องแปลก Stanley Rosen ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจาก University of Southern California อธิบายว่า เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับหัวกลับหางไปหมด "เมื่อก่อนความร่ำรวยเป็นความเลว แต่ตอนนี้ความจนกลายเป็นความเลว" และเมื่อต้องแสวงหาความถูกต้องชอบธรรมในการเปลี่ยนหลักการของตน รัฐบาลจีนจึงดำเนินกลยุทธ์ที่จะทำให้ชนชั้นกลางเกิดความสำนึกในบุญคุณของพรรค ที่ยอมให้ชนชั้นกลางก่อกำเนิดขึ้นได้

ดังนั้น นับตั้งแต่ Deng Xiaoping ปฏิรูประบบตลาดครั้งแรกในปี 1978 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนจึงได้โอนอ่อนให้แก่อดีตศัตรูหมายเลขหนึ่งอย่างนายทุนมาโดยตลอด เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่ม พุ่งทะยานขึ้น ทายาทของ Deng คือประธานาธิบดี Jiang Zemin ซึ่งตระหนักดีถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น หากชนชั้นกลางมีอำนาจทางการเมือง จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะปัดเป่าอันตรายนั้น ด้วยการเอาอกเอาใจชนชั้นกลางต่อไป เริ่มตั้งแต่ในปี 1988 รัฐบาลจีนประกาศยอมรับว่า การให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนับเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ต่อมาในปี 2000 Jiang ประกาศทฤษฎี "3 ตัวแทน" (Three Represents) ซึ่งระบุว่า รัฐบาลจะต้องเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของ "กลุ่มที่เป็นพลังการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดของจีน" อันเป็นศัพท์ที่รู้กันในจีนว่าหมายถึงพวกเศรษฐีใหม่และชนชั้นกลางนั่นเอง และในการปราศรัยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2001 Jiang กล่าวว่า นายทุน และผู้ประกอบการควรได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคได้

แต่ก็มีคนเตือนว่ามาตรการบำรุงขวัญชนชั้นกลางดังกล่าวข้างต้นนั้น อาจเป็นดาบสองคมที่หวนมาทำร้ายพรรคเอง ฝ่ายอนุรักษนิยมเตือนว่า การที่รัฐบาลเอาอกเอาใจพวกนายทุนอย่างนั้น แทนที่จะสามารถผูกใจชนชั้นกลางได้ อาจกลับกลายเป็นการนำไปสู่การเปิดเสรีทางการเมือง อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนเกลียดกลัวที่สุด

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ค้านว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทั้งรัฐบาลจีนและชนชั้นกลางมีความต้องการร่วมกันที่สำคัญที่สุดอยู่ประการหนึ่งนั่นคือ ต่างก็ปรารถนาให้ประเทศมีเสถียรภาพ "ภาพ การนองเลือดที่จัตุรัส Tiananmen ยังคงสดใหม่อยู่ในความทรงจำ ของชนชั้นกลาง พวกเขาจึงเห็นว่าการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย เช่นนั้น มีแต่นำไปสู่ทางตัน เป็นการปฏิวัติที่ไร้ประโยชน์" Cheng Li แห่ง Woodrow Wilson Center ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และศาสตราจารย์แห่ง Hamilton College ในนิวยอร์ก กล่าวและสรุปว่า "ชนชั้นกลางจีนได้เลือกที่จะอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลแล้ว"

สิ่งที่น่าวิตกกลับเป็นชนชั้นคนงานในโรงงานที่ตกงานและชาวนาที่ไม่ได้รับการเหลียวแลมากกว่า พวกเขากำลังออกมาเดินขบวนและก่อการจลาจลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ชนชั้นกลางในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ กำลังระเริงอยู่กับความสุขสบายทางวัตถุที่เพิ่งได้ลิ้มลอง นักสังคมวิทยาคนเดิมแห่ง CASS กล่าวถึงชนชั้นกลางที่เพิ่งเกิดใหม่นี้ว่า พวกเขากำลังมีความสุขและมักจะแสดงออกว่าไม่สนใจเรื่องการเมือง พวกเขาจะไม่ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชนเป็นแน่

เป็นความจริงที่ว่า ในขณะนี้ ชนชั้นกลางอย่าง Qian ดูเหมือนจะมีความเข้าอกเข้าใจกับบรรดาผู้นำพรรคเป็นอย่างดี ตั้งแต่ระบอบคอมมิวนิสต์เกือบพาประเทศจีนล่มจม รัฐบาลจีนจึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะรักษา "อาณัติสวรรค์"- ความถูกต้องชอบธรรมที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศจีนต่อไปเอาไว้ให้ได้ ด้วยวิธีการเดียวที่พวกเขารู้จัก นั่นคือการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน แม้ว่าจะต้องหมายถึงการยอมละทิ้งระบบความเชื่อที่ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาก็ตาม ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งกำลังถูกยั่วยวนใจด้วยความสุขสบายและความสมบูรณ์พูนสุขตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็เต็มใจที่จะให้อภัยความผิดพลาดที่ผ่านมาของพรรค และรับรองความถูกต้องชอบธรรรมของพรรคที่จะปกครองประเทศต่อไป แม้ว่าจะต้องยอมเก็บกดความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปฏิรูปการเมืองของตนเอาไว้ก็ตาม

หลายคนยังไม่ค่อยเชื่อว่า ชนชั้นกลางของจีนจะขยายจำนวนเพิ่มมากกว่านี้ได้สำเร็จ พวกเขาเห็นว่าปรากฏการณ์การก่อกำเนิดขึ้นของชนชั้นใหม่นี้ เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองและภาคตะวัน ออกของประเทศเท่านั้น และจะไม่ขยายไปสู่ภาคกลางและภาคตะวันตกที่เติบโตช้ากว่าและถูกทอดทิ้งละเลยมาตลอดได้ นอกจาก นี้ยังพบว่า แทนที่การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางจะกลายเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น กลับกลายเป็นว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกลับถ่างกว้างขึ้น

รายงานการศึกษาของ CASS ระบุว่า การปฏิรูประบบตลาดยิ่งถ่างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้กว้างขึ้น แทนที่จะช่วยอุดช่องว่างนั้นอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้รายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 1978 คนรวยซึ่งมีสัดส่วน 20% ของประชากรจีนร่ำรวยกว่าคนจนเพียง 4 เท่า แต่วันนี้ช่องว่างนั้นกลับถ่างกว้างขึ้นเป็น 13 เท่า

แม้ชนชั้นกลางของจีนจะแสดงออกอย่างชัดเจนในขณะนี้ว่า ไม่สนใจการเมือง แต่ลึกๆ แล้วพวกเขาก็มีความไม่พอใจและความคลางแคลงบางอย่างอยู่ในใจเหมือนกัน การคอร์รัปชั่นและระบบเส้นสายที่เรียกในภาษาจีนว่า guanxi เป็นเครื่องยืนยันต่อพวกเขาว่า พวกเขาหาได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับคนอื่นไม่ การพึ่งแต่ความสามารถของตัวเองล้วนๆ ไม่เพียงพอที่จะนำพาพวกเขาไปไกลกว่านี้ ขณะนั่งดื่มกาแฟคุยกันที่บาร์ Soho ใน Xintiandi ที่ทำงานของ Qian เขาได้ระบายความขุ่นข้องหมองใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่เขาไม่ชอบระบบเล่นเส้นเล่นสาย ทำให้เขาไม่สามารถก้าวหน้าไปมากกว่านี้ "ด้วยนิสัยของผม ผมไม่ชอบเรื่องการใช้เส้นสาย ถ้าผมชอบเล่นเส้นเล่นสายล่ะก็" เขาพูดพร้อมกับชี้ที่เครื่องแบบของตัวเอง "คงไม่ได้เป็นแค่ผู้จัดการแค่นี้ แต่คงได้ทำงานดีกว่านี้" บางทีเขาก็สงสัยว่า ชาตินี้จะมีโอกาสมีธุรกิจเป็นของตัวเองบ้างมั้ย "มันยากมาก ยากมากๆ" ถ้าคุณไม่มีเส้นสายพรรคพวก เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องที่สองพ่อลูก Zhu กับ Qian เห็นตรงกัน Zhu เองก็เกรงว่า Qian คงจะมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพการงานของเขาแต่เพียงนี้เท่านั้น แม้ว่า Qian จะเพิ่งอายุแค่ 36 ปี ก็ตาม "จะเริ่มธุรกิจของตัวเองต้องมีเงินหรือมีเส้น" Zhu บอก "แต่ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างก็อย่าหวังว่าจะเป็นไปได้"

ไม่ว่ารัฐบาลจีนจะประโคมโหมโอ่ความใจกว้างในการปลดปล่อยกลไกตลาดเสรีของตนอย่างไรก็ตาม แต่รัฐบาลจีนยังคงมีอิทธิพลมหาศาลที่จะชี้เป็นชี้ตายบริษัทไหนก็ได้ ผู้ประกอบการเอกชนที่สามารถทำกำไรอย่างงดงามคือ ผู้ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล และเศรษฐีใหม่ของจีนถ้าไม่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นอดีตนายทหาร หรือไม่ก็ลูกสาวลูกชายของพวกเขา

ชนชั้นกลางยังบ่นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ ชาวเซี่ยงไฮ้คนหนึ่งบอกว่า ถ้าคนธรรมดามีเรื่องกับคนธรรมดา กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าเมื่อไรคนธรรมดามีเรื่องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่บริษัท กฎหมายก็จะไร้น้ำยาทันที Andy Xie นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Morgan Stanley ในฮ่องกงทำนายว่า ชนชั้นกลางของจีนจะพยายามผลักดันให้มีการปรับปรุง เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการเป็นชนชั้นกลาง หมายถึงการ เป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ พวกเขาย่อมจะต้องการ ได้รับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ

การบ่นเรื่องคอร์รัปชั่นความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียม ของชนชั้นกลางชาวจีนผู้สงบปากสงบคำ แท้จริงแล้วนับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีจิตสำนึกทางการเมือง ซึ่งเป็นรากฐานที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างถาวรในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ใครที่คาดว่าจีนจะมีพรรคการเมืองหลายพรรคถือกำเนิดขึ้น หรือมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เป็นการคาดหวังที่สูงและเร็วเกินไป กระนั้นก็ตาม ในความเห็นของ Elizabeth Economy ผู้อำนวยการเอเชียศึกษาแห่ง U.S.Council on Foreign Relations ชนชั้นกลางของจีนได้เริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองของจีนไปแล้ว เห็นได้จากการที่องค์กรเอกชนต่างๆ ในจีนต่างเริ่มเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง แม้จะยังเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก

นอกจากนี้ ชนชั้นกลางในเมืองก็เริ่มออกมาประท้วงที่ถนน บ่อยขึ้น ในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ เช่น คุณภาพบ้านของการเคหะ คุณภาพการบริการเก็บขยะ หลักสูตรการเรียนการสอน ในโรงเรียน และการรื้อสวนสาธารณะใกล้บ้าน

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ Economy ถูกค้านโดยนักสังคมวิทยาจาก CASS ว่า จริงอยู่ที่ชนชั้นกลางของจีนนั้น "ไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะหากเป็นเรื่องอย่างการคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานในเมืองและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมที่พวกเขาทำงานอยู่ แต่ถ้าเป็นประเด็นใหญ่กว่านั้น พวกเขาจะปิดปากสนิททันที พวกเขาจะ ส่งเสียงก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่กระทบชีวิตของพวกเขาโดยตรงเท่านั้น"

ชนชั้นกลางของจีนจะรู้สึกยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากพอที่จะเปลี่ยนจากการประท้วงให้รถเมล์วิ่งรับผู้โดยสารให้ตรงเวลา ไป สู่การประท้วงในเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เช่น การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผย การคอร์รัปชั่น และสิทธิในการปกครอง ได้หรือไม่ คงไม่มีใครสามารถจะให้คำตอบที่แน่นอนได้ แม้ว่าคำตอบนั้นจะมีความสำคัญถึงขนาดตัดสินอนาคตของประเทศจีนว่าจะเป็นเช่นใด

แต่สำหรับวันนี้ ชนชั้นกลางอย่าง Charley Qian กำลังยุ่งอยู่กับการทำมาหากินตัวเป็นเกลียว และการแสวงหาความก้าวหน้าให้ชีวิต จนไม่มีเวลาจะไปนั่งคิดเรื่องอะไรอย่างอื่น Qian เอ่ยปากขอตัวหลังจากก้มลงดูนาฬิกาเมื่อจบอาหารมื้อค่ำ บอกว่า พรุ่งนี้เขายังต้องตื่นไปทำงานแต่เช้า

แปลและเรียบเรียงจาก TIME, November 11, 2002 โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ linpeishan@excite.com



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.