บลจ.กสิกรไทยฉวยจังหวะวิกฤต เสนอแนวคิดกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพ

โดย กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน สัจธรรมที่คนในแวดวงตลาดหุ้นซาบซึ้ง เมื่อมืออาชีพและมือสมัครเล่น ณ วันนี้บอบช้ำไม่แพ้กัน บลจ.กสิกรไทยปรับนโยบายการลงทุนดูความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ผลตอบแทนค่อยตามมา พร้อมหนุนกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพให้เกิดขึ้น ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่ผู้คนต้องการออมระยะยาวเสริมความมั่นใจใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีปีละ 3 แสนเป็นแรงดึงดูด

ในภาวะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลงมาป้วนเปี้ยนอยู่ในระดับ 460 จนเป็นที่หวาดเสียวหัวใจของบรรดานักลงทุนทั้งหลายแหล่ ทุกคนกำลังขาดความเชื่อมั่นอย่างหนักต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เสียหายเชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ นับตั้งแต่ปัญหาจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ก่อให้เกิดหนี้เสียในสถาบันการเงินอย่างมโหฬาร ปัญหาการส่งออกตกต่ำ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท และส่งผลทำให้ไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ เมื่อดอกเบี้ยสูง ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนก็พุ่งทะยานขึ้นไปด้วย ประกอบกับยอดขายที่ลดน้อยลง ทำให้ผลประกอบการที่ออกมาไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้ การทยอยขายหุ้นจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในสถานการณ์เช่นนี้ ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการบลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า "นโยบายของเรา ก็คือการปรับพอร์ตเพื่อให้รับกับเศรษฐกิจปัจจุบัน เราจะดูบริษัทที่มีสถานะมั่นคงมากๆ โดยดูจากภาระหนี้สินของบริษัท ความสามารถในการชำระหนี้ ยอดขายจะขยายตัวได้หรือไม่ และได้รับผลจากภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ดูบริษัทที่มีการบริหารความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนว่ามีการทำประกันความเสี่ยงหรือไม่ เราเน้นประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้นไปอีก"

ทางด้านตราสารหนี้ บลจ.กสิกรไทยจะระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น โดยดูทั้งความมั่นคงของสถาบันที่จะเข้าไปฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ โดยพิจารณาเรื่องความเสี่ยงเป็นอันดับแรก แล้วจึงพิจารณาที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้นั้นๆ

ดัยนา เชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ กำลังมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น แต่กว่าที่จะฟื้นตัวได้นั้นยังต้องอาศัยเวลา และถึงแม้หลายๆ อุตสาหกรรมจะได้รับความเสียหายแต่ก็ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ยังสามารถลงทุนได้

หากพิจารณาจากพอร์ตการลงทุนในหุ้นทุนของ บลจ.กสิกรไทยแล้วจะพบว่า หมวดที่กองทุนรวงข้าวให้น้ำหนักในการลงทุนค่อนข้างสูงคือ หมวดพลังงาน ธนาคาร และสื่อสาร ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงหมวดเงินทุนหลักทรัพย์ เคมีภัณฑ์และพลาสติก กับหมวดอสังหาริมทรัพย์มากเป็นพิเศษ

ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย บริหารกองทุนรวมทั้งสิ้น 16 กองทุน แบ่งออกเป็นกองทุนหุ้นทุน 9 กอง กองทุนตราสารหนี้ 4 กอง และกองทุนผสม (Balance Fund) อีก 3 กอง

ขณะนี้กำลังเตรียมการออกขายหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้อีก 2 กอง ดัยนาเล่าถึงเหตุผลในการเปิดกองทุนเพิ่มในช่วงใกล้ๆ นี้ว่า "เรากำลังจะออกอีก 2 กอง เป็นกองทุนรวงข้าวตราสารหนี้ปันผล และรวงข้าวบริหารเงินปันผล แต่เป็นกองที่ 2 เพราะนักลงทุนได้ขอมาว่า ถ้าเราจ่ายปันผลทุก 6 เดือน จะมีช่วงหนึ่งที่เขาไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพราะเขาต้องซื้อ 3 เดือนก่อนเงินปันผลจ่าย เราจึงจะมี 2 กองนี้ขึ้นมา เพื่อที่จ่ายเงินปันผลได้ทั้ง 4 งวดต่อปี มันจะสลับไตรมาสกันพอดี 2 กองเดิมที่มีอยู่จะปิดงวดปันผลเมื่อสิ้นเมษายนและตุลาคม ส่วน 2 กองใหม่ที่จะจัดตั้งจะปิดสิ้นกรกฎาคมกับมกราคม"

ในขณะที่องค์กรต่างๆ เริ่มสั่นคลอนไปตามภาวะของเศรษฐกิจ ตัวเลขการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.5% เป็น 2.6%เศษ ทั้งยังมีการประมาณการกันอีกว่าในปีนี้จะมีคนตกงานถึง 40,000 คน พนักงานในบริษัทที่ประสบปัญหาการขาดทุนจำนวนมาก ถูกบริษัทเลิกจ้าง โรงงานทอผ้าหลายแห่งปิดกิจการลง สถาบันการเงินบางแห่งเสนอให้พนักงานทำงานแบบเดือนเว้นเดือนเพื่อที่บริษัทจะได้จ่ายเงินเดือนแบบเดือนเว้นเดือนเช่นกัน บางแห่งให้ลดเวลาการทำงานลงพร้อมๆ กับปรับลดเงินเดือนตามสัดส่วนของเวลาที่ลดลงด้วย ขณะที่อีกหลายแห่งก็ขอปรับลดอัตราเงินเดือนพนักงานลงไปโดยที่ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม นับเป็นการบีบบังคับให้พนักงานลาออกโดยที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานนั่นเอง

ความไม่มั่นคงเหล่านี้ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการเก็บออกมากขึ้น ภาครัฐเองก็สนับสนุนในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะต้องการแก้ปัญหาดุลการชำระเงิน โดยจะช่วยลดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศลงได้ ปัจจุบันเงินออมของไทยส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ และกำไรจากภาคธุรกิจ ในขณะที่ภาคครัวเรือนมีการเก็บออมน้อยมาก

การผลักดันให้เกิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจึงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับการให้แรงจูงใจแก่ผู้ออมเงินระยะยาวโดยการลดหน่อยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถึง 3 แสนบาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

อย่างไรก็ตามในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น รัฐบาลมีเงื่อนไขสำคัญคือนายจ้างและลูกจ้างจะต้องร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา โดยลูกจ้างสะสมเงินเข้ามาเท่าไหร่ นายจ้างจะต้องสมทบเข้ามาเท่ากับลูกจ้างหรือมากกว่า ลูกจ้างจะสะสมเข้ามามากกว่านายจ้างไม่ได้

ดัยนา อธิบายว่า "ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นายจ้างอาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและการทำกำไร ดังนั้นการที่จะยอมจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นมีแต่จะลดลง ขณะที่ภาวะอย่างนี้ลูกจ้างอาจจะอยากออมเงินมากขึ้น ฉะนั้นความต้องการมันสวนทางกันอยู่ เราจึงควรจะมีช่องทางใหม่ให้ลูกจ้างได้ออมเอง"

นอกจากนี้การที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องมีการจัดตั้งร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมไม่สามารถมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ และไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในรูปของเงินออมระยะยาวเพื่อไปลดหย่อนเงินได้บุคคลธรรมดา

นั่นเองคือที่มาของแนวคิดใหม่ในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนบุคคล (Individual retirement account) ซึ่ง ธีระ ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.บริหารทุนไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมร่วมระหว่างสมาคมจัดการลงทุน สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

"เราขอไปว่า หนึ่ง รัฐควรแก้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ลูกจ้างสามารถสะสมเข้ากองทุนได้มากกว่านายจ้าง และสอง ให้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบขาเดียวได้ ถ้าเขาต้องการออมในระยะยาว ในลักษณะที่เงินออมนั้นต้องมีการผูกพันในระยะยาวว่าต้องอยู่จนครบเกษียณหรือจนไม่มีงานทำ ตกงาน จึงสามารถเอาออกมาใช้ได้" ดัยนากล่าว

อย่างไรก็ตามการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจะต้องอาศัยเวลา ดัยนา จึงได้มีการเสนอความคิดให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมในลักษณะพิเศษขึ้นมา โดยที่กองทุนรวมนี้ต้องกำหนดว่าผู้ออมเงินต้องลงนามในข้อผูกพันกับบลจ.ว่าจะจ่ายเงินเข้ามาไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งงวด และเงินนี้มีวัตถุประสงค์เก็บไว้จนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้แล้ว เช่น เมื่อเกษียณอายุ ซึ่งรัฐอาจจะกำหนดไว้ว่า 55 ปี 60 ปี หรือ 65 ปี เป็นต้น

หากผู้ออมเงินจะถอนออกก่อนกำหนดก็สามารถทำได้ แต่ก็จำเป็นต้องจ่ายภาษีที่รัฐได้ลดหย่อนให้นั้นคืนกลับมาด้วย กล่าวคือคนที่จะได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา 3 แสนบาทต่อคนต่อปีนั้น จะต้องออมเงินระยะยาวจนกว่าจะครบกำหนดตามเงื่อนไขของรัฐบาลเท่านั้น

การจัดตั้งกองทุนรวมในลักษณะพิเศษเช่นนี้ จะทำได้อย่างรวดเร็วโดยมีขั้นตอนคือนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาประกาศกฎเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมา จากนั้นกระทรวงการคลังและสรรพากรก็จะออกกฎกระทรวงมาเพื่อที่จะให้กองทุนรวมนี้นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้

"ลักษณะสำคัญของกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพนี้คือ จะไม่มีเงินปันผล ผู้ถือหน่วยจะได้รับครั้งเดียวเป็นเงินก้อนเมื่อเกษียณอายุ และต่อไปคงจะเหมือนกับต่างประเทศที่ยอมให้เอาเงินนี้มากู้เพื่อซื้อบ้าน เพื่อรักษาพยาบาล เพื่อการศึกษาบุตร คล้ายว่ามีเงินฝากอยู่แล้วก็สามารถกู้กลับได้ อันนี้มีแนวโน้มว่าจะทำได้ เพราะมีการประชุมและคิดกันในเรื่องพวกนี้บ้างเหมือนกัน" ดัยนากล่าว

กองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพจัดเป็นกองทุนเปิด เนื่องจากจะมีเงินไหลเข้าอยู่ตลอดเวลา หากผู้ถือหน่วยจะถอนออกก่อนกำหนด ทางบลจ.จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เพื่อให้สรรพากรทราบว่าเมื่อถึงปลายปี ผู้ถือหน่วยรายนั้นจะต้องไปคืนภาษี

สำหรับวิธีการลงทุนในกองทุนนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้บลจ.นำเงินออมเหล่านั้นไปลงทุนในกองทุนประเภทใด เช่น ลงทุนในหุ้นทุน 60% ในตราสารการเงินและตราสารหนี้ 40% โดยสัดส่วนเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนเปลงได้โดยการมาเปลี่ยนข้อผูกพันใหม่กับทาง บลจ. เช่น เปลี่ยนเป็นลงทุนในหุ้นทุน 50% ตราสารการเงินและตราสารหนี้ 50% เป็นต้น

นอกจากนี้จำนวนเงินที่นำมาออมในแต่ละงวดก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน เช่นในปีแรกๆ ผู้ลงทุนผูกพันไว้ว่าจะออมเงินปีละ 10,000 บาท ต่อมาเมื่อฐานะดีขึ้นก็สามารถเปลี่ยนข้อผูกพันโดยออมเงินเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 20,000 บาท หรือต้องการลดลงเหลือปีละ 5,000 บาทก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุนเอง โดยทางบลจ.อาจจะให้คำแนะนำในเรื่องการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละคนได้

ดัยนายกตัวอย่างว่า "ในต่างประเทศเขาจะให้ผู้ลงทุนเลือกเอง เช่น คนที่อายุน้อย เพิ่งเริ่มทำงาน ยังสามารถเสี่ยงได้มาก คนเหล่านี้อาจจะต้องการลงทุนในหุ้นทุนมากๆ อาจจะสัก 70% ขณะที่คนในวัยใกล้เกษียณเสี่ยงไม่ได้แล้ว เงินก้อนนี้ต้องนำไปใช้หลังเกษียณ เขาก็อาจจะเน้นลงทุนในตราสารการเงินและตราสารหนี้มากกว่า ข้อผูกพันต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้และผู้ลงทุนคือคนเลือกเอง"

อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวยังมิได้ออกมาเป็นรูปธรรม หลังจากได้มีการเสนอในที่ประชุมแล้ว ทุกฝ่ายค่อนข้างเห็นด้วย ยังเหลือในเรื่องรายละเอียดคือ ทาง ก.ล.ต. ต้องไปหารือกับทางสรรพากร ถ้าสรรพากรเห็นด้วยและลดหย่อนภาษีให้ตามที่เสนอไป กองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพก็จะสามารถเกิดขึ้นได้เร็ว

ในภาวการณ์ที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างนี้ ธุรกิจจัดการกองทุนรวมนับเป็นธุรกิจที่ยังไปได้ดี มีใบอนุญาตใหม่ๆ หรือสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้ลูกค้าได้เลือกลงทุนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับบลจ.กสิกรไทยเอง ได้เตรียมความพร้อมที่จะทำกองทุนเพิ่มขึ้นอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ระดมเงินจากนักลงทุนต่างประเทศล้วนๆ (Country Fund) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ซึ่งทั้งหมดนี้มีกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมารองรับหมดแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดตั้งทั้งสิ้น

ธุรกรรมใหม่ๆ ที่ออกมาแล้ว และกำลังจะออกมาได้กลายเป็นขนมหวานที่ดึงดูดผู้ประกอบการจำนวนมากให้เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้ ผู้ประกอบการใหม่ๆ หลายรายได้เปิดตัวขึ้น บ้างเริ่มรุกตลาดแล้ว บ้างยังอยู่ระหว่างเตรียมการ และบ้างยังรอใบอนุญาตจากทางการ อย่างไรก็ดีแนวโน้มเช่นนี้ส่อแววถึงการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งผลดีจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคโดยตรงในแง่ที่ว่าจะมีสินค้าคุณภาพดี ราคาย่อมเยามาให้เลือกลงทุนได้มากขึ้นนั่นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.