ในที่สุด 'บันเทิง จึงสงวนพรสุข' ก็ประกาศวางมือ
หมดยุคเถ้าแก่อย่างเขาแล้ว
ธวัชชัย จะเป็นคนรุ่นที่สองที่จะเข้ามาสืบสานธุรกิจของบรรเทิง
แต่การสืบทอดครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อุปสรรคมีทั้งเบื้องหน้าและอนาคต
ฮุนได ที่กลายเป็นธุรกิจหลัก
ธวัชชัย จะรักษาไว้ได้อย่างไร ต้องฝีมือเพียงเท่านั้น
แต่ยังไม่ทันไร แนวนโยบายเมื่อครั้งรุ่นพ่อ กำลังจะถูกนำมาใช้อีกแล้ว
นี่ ธวัชชัย จะเข้ามาสืบสานธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์ คนรุ่นใหม่ หรืออะไรกันแน่
สับสนเหลือเกิน
เสมือนคราวเคราะห์ครั้งใหญ่ ของ "บันเทิง จึงสงวนพรสุข" เพราะดูเหมือนเคราะห์กรรมต่างๆ
กำลังถาโถมเข้าสู่องค์กรของเขาอย่างรอบด้านทีเดียว
11 มิถุนายน 2539 หรือประมาณ 1 ปีมาแล้ว เมื่อ เจเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม
ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย ถึงการเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์โอเปิลในไทย
องค์กรพระนครยนตรการก็สั่นคลอนทันที ด้วยกระแสข่าวที่ว่า จีเอ็มจะยกเลิกการให้สิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายแก่พระนครยนตรการ
และสิ่งที่ตอกย้ำกระแสข่าวนั้น ก็คือในวันแถลงข่าวไม่เห็นเงาของ "จึงสงวนพรสุข"
แม้แต่คนเดียว ซึ่งผิดวิสัยเกินไป
จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาประเด็นในเรื่องสิทธิ์การจำหน่ายรถยนต์โอเปิลก็ได้บทสรุป
พระนครยนตรการ เหลือเพียงแค่สิทธิ์ในการจำหน่ายรถยนต์โอเปิลในเขตกรุงเทพมหานคร
ไม่มีสิทธิ์ในการกำหนดแผนงานตลาดในระดับภาพรวม ไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย
ไม่มีสิทธิ์ดำเนินการอะไรหลายๆ อย่างเหมือนที่ตนเองเคยกระทำมาเมื่อหลายปีก่อนเมื่อครั้งที่นำรถยนต์โอเปิลกลับมาปัดฝุ่นใหม่ในตลาดเมืองไทยอีกครั้ง
ทุกวันนี้ พระนครยนตรการ ด้วยจำนวนโชว์รูมเพียง 3 สาขา (อีก 3 สาขาที่ยังจำหน่ายอยู่ด้วยนั้นอยู่ระหว่างรอรถยนต์ยี่ห้อใหม่ที่
"บันเทิง" กำลังเจรจา ขอสิทธิ์เข้ามาเสียก่อน 3 สาขาที่ว่าจึงจะเลิกจำหน่ายรถยนต์โอเปิล)
จึงดูเหมือนว่า อะไรๆ มันเงียบเหงาเสียเหลือเกิน
ผลแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีการพูดกันว่า จีเอ็มยอมชดเชยค่าความเสียหายและค่าเสียโอกาสทางธุรกิจให้
ซึ่งแน่นอนว่าคุ้มกับ 500 ล้านบาทที่ บรรเทิงตีเป็นมูลค่าออกมา ซึ่งใครหลายคนบอกว่า
"คุ้ม" แม้แต่บรรเทิงเองก็ยอมรับว่า เพียงพอ
แต่ถ้าใจจริงแล้ว ถามว่า บรรเทิงอยากให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ แน่นอนว่า คำตอบก็คือ
ไม่
ไม่มีทางหรอกที่บรรเทิง อยากจะปล่อยโอเปิล ซึ่งประคบประหงมมากว่า 10 ปี
ต้องหลุดมือไป
ต้นปีที่ผ่านมา บันเทิง เปรยออกมาถึงแนวทางที่ตนเองจะเริ่มวางมือจากธุรกิจที่มีอยู่
ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า เหตุผลใดบรรเทิงจึงคิดตัดใจที่จะวางมือจากกลุ่มธุรกิจที่ตนเองสร้างสมมานับสิบปี
ทั้งที่อดีตนั้นผจญมรสุมมามากมายหลายหน แต่บรรเทิงก็กัดฟันฝ่าฟันมาได้ตลอด
การตัดเยื่อใยของจีเอ็ม เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้บรรเทิงได้คิดและตัดสินใจในที่สุด
"เป็นธรรมดาที่กลุ่มทุนต่างชาติจะต้องเข้ามาเปิดตลาดด้วยการลงทุนของตนเอง
เพราะตลาดของไทยได้เปิดสู่ระดับโลกแล้ว ศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจยังมีอีกมาก
ทุกรายจึงต้องการที่จะเข้ามาแข่งขันได้อย่างเต็มที่ สำหรับกิจการที่ยังคงอยู่
อย่างการจำหน่ายฮุนไดนั้น คงไม่ห่วงว่าเกาหลีจะเข้ามา เพราะคงหลีกเลี่ยงไม่ได้"
ความรู้สึกนึกคิดของบรรเทิงที่ถ่ายทอดออกมา
แน่นอน บันเทิง อกหักจากจีเอ็ม
การเดินทางขององค์กรธุรกิจในยุคต่อไปโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
อย่างแต่ก่อนเสียแล้ว บรรเทิงรู้ดีว่าห้วงเวลานับจากนี้ คงไม่อาจอาศัยสายสัมพันธ์เมื่อครั้งเก่าก่อน
ไม่อาจอาศัยบุคลิกของเจ้าสัวหรือเถ้าแก่ในการเจรจา เพื่อที่จะรักษาสถานภาพของตนเองได้อีกต่อไป
การเดินเกมธุรกิจจะต้องถึงกันทันกัน การเจรจาต่อรองจะต้องชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ได้เสียที่เข้มข้นขึ้น
กาประกาศวางมือเพื่อดันทายาทคนสำคัญ "ธวัชชัย จึงสงวนพรสุข" เข้าดูแลกิจการที่มีอยู่
โดยเฉพาะการนำพาในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับยานยนต์ให้ดำรงสถานะอยู่ต่อไป นับเป็นข้อต่อสำคัญของเครือข่ายแห่งนี้ทีเดียว
บันเทิง ยอมรับว่าถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ หรือพ้นยุคของตนเองไปแล้ว
บันเทิง มองว่าหลังจากตนเองวางมือแล้ว ซึ่งคงภายในปีนี้ การบริหารงานต่างๆ
คงต้องเปลี่ยนแปลงอีกมาก การดึงผู้บริหารจากบริษัทรถยนต์อื่นๆ จะต้องมีอีกหลายตำแหน่งงาน
การกระจายอำนาจและวิสัยทัศน์เป็นเรื่องสำคัญในยุคต่อไป ดังนั้น ธวัชชัย คงต้องเข้ามามีบทบาทในส่วนงานของฮุนไดมากขึ้น
เพราะในส่วนของโอเปิลนั้น แทบจะไม่มีความสำคัญแล้ว
การวางตำแหน่งงานและโครงสร้างต่างๆ เสียใหม่จึงลงตัวกับการที่ศิริชัย สายพัฒนา
ลาออก เพื่อเปิดทางให้กับทายาทคนสำคัญของจึงสงวนพรสุข ได้เข้ามาดูแลงานเสียเอง
ส่วนวันชัย น้องชายของธวัชชัย ซึ่งเข้ามาเรียนรู้งานการทำตลาดฮุนไดจากศิริชัยในช่วง
1-2 ปีมานี้นั้น บรรเทิงได้ส่งไปเรียนต่อ ทั้งนี้มีการพูดกันวงในว่า วันชัย
ไม่ค่อยพอใจนักที่ตนเองต้องเปิดทางให้กับพี่ชายที่ไม่มีงานจะต้องบริหารหลังจากจีเอ็มยึดโอเปิลคืนไป
อย่างไรก็ดี แม้การมาของธวัชชัย จะเป็นจังหวะเดียวกับที่ บริษัท ยูไนเต็ดโอโตเซลส์
ซึ่งทำตลาดฮุนไดนั้น ต้องขาดหัวแรงหลักอย่างศิริชัยไปก็จริง แต่ก็มีการยืนยันว่า
บรรเทิงนั้น ต้องการที่จะผลักดันให้ธวัชชัยขึ้นมาสานกิจการในเครือก่อนหน้านั้นแล้ว
มาถึงวันนี้การทำตลาดรถยนต์ฮุนไดในประเทศไทย จึงกลายเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม
และเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่ธวัชชัยจะต้องประคับประคองให้คงอยู่ต่อไปให้ได้
"สำหรับฮุนได เชื่อว่าอีกไม่เกิน 3 ปี ทางเกาหลีจะต้องเข้ามาร่วมทุนอย่างแน่นอน
ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะไม่ปฏิเสธแต่ประการใด แต่กลับจะยินดีที่จะทำให้เราสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น"
คำกล่าวของบรรเทิง
การที่ฮุนไดจากเกาหลีใต้จะเข้ามาด้วยตนเองนั้น ยังเป็นข้อกังขาอยู่ว่า จะซ้ำรอยเดิมอย่างจีเอ็มหรือไม่
และเวลา 3 ปีที่บรรเทิงคาดการณ์ไว้นั้น จะไม่นานเกินไปหรือ
เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตัวแทนของฮุนได มอเตอร์ แห่งเกาหลีใต้ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย
ซึ่งแม้ภายหลังการเข้าพบ ตัวแทนจากฮุนไดกล่าวว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ฮุนไดยังไม่พร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอย่างเต็มรูปแบบ
เนื่องจากติดขัดในเรื่องของการป้อนชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมเกื้อหนุนอื่นๆ
แต่ในความเป็นจริง ไม่อาจมั่นใจได้ว่าฮุนไดกำลังเตรียมแผนอย่างไร
สำหรับการลงทุนในประเทศไทยของบริษัทรถยนต์ต่างชาตินั้น ผู้อยู่ในวงการมักกล่าวว่ารายใดที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนและมองว่า
ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอ แน่ใจได้เลยว่า ปี 2540 จะต้องเริ่มวางแผนแล้ว
และปี 2541 ก็จะได้เห็นการประกาศตัวอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ฮุนได มอเตอร์ ได้มีการสำรวจและศึกษาถึงรายละเอียดในการที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหลายรอบแล้ว
และคาดการณ์ว่าภายในปีหน้า (2541) จะชัดเจนว่าจะเป็นการลงทุนลักษณะใด หรือจะร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด
ที่สำคัญบรรเทิงจะถูกเลือกอีกหรือไม่
ไม่อาจปฏิเสธว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ฮุนไดในไทยเริ่มตกต่ำลง
ปัญหาสำคัญก็คือ เรื่องภาพพจน์และคุณภาพของงานบริการทั้งของบริษัท ยูไนเต็ด
โอโตเซลส์ เอง ไม่เว้นแม้แต่ศูนย์บริการของสำนักงานใหญ่ ยิ่งเหล่าดีลเลอร์ที่แต่งตั้งขึ้นมาด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่างานบริการเป็นเช่นใด
การละเลยในส่วนงานบริการนับเป็นนโยบายที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ และอาจกล่าวได้ว่ายอดจำหน่ายฮุนไดที่มีอยู่ปีละ
6-7 พันคันใน 3 ปีหลังนั้นมาจากความน่าสนใจของตัวผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ที่โดดเด่นพร้อมกับราคาที่ได้เปรียบคู่แข่งค่ายญี่ปุ่น
แต่เมื่อมองถึงงานบริการ กับภาพพจน์ของสินค้าที่ถูกตีตราว่าเป็นรถยนต์เกาหลีใต้
ซึ่งด้อยค่ากว่ารถยนต์ญี่ปุ่น ลูกค้าจึงขยาดที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวฮุนได
ยิ่งโตโยต้า และฮอนด้า สองค่ายยักษ์รถยนต์นั่งเมืองไทยต่างห้ำหั่นกันด้วยสงครามราคาเช่นทุกวันนี้
ผู้ที่จะเข้ามาซื้อจึงนับหัวได้เลยในแต่ละวันของแต่ละโชว์รูม
ยอดจำหน่ายรถยนต์ฮุนได 5 เดือนล่าสุดคือตั้งแต่มกราคมจนถึงพฤษภาคมปีนี้
(2540) มีเพียง 1,978 คันเท่านั้น
ไม่อยากนึกภาพเลยว่าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งของไทยนั้นในตอนสิ้นปี ฮุนไดจะเหลือเท่าใด
จากทุกวันนี้เหลือไม่ถึง 1% ทั้งๆ ที่ปีแรกของการเข้าสู่เมืองไทยนั้นแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ถึงเกือบ
5% ซึ่งนับว่าไม่ธรรมดาสำหรับรายใหม่ และเป็นน้องใหม่ที่คนไทยไม่เคยได้ยลโฉมเสียด้วย
ผลงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างบรรเทิง
กับทางฮุนไดจะออกมาในรูปใด เมื่อถึงคราวที่ฮุนไดจะเข้ามาเอง
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีผู้ท้วงติงบรรเทิง
เมื่อราว 4 ปีก่อนผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งซึ่งทำงานกับบรรเทิงมานับสิบปี
ได้วางแผนงานด้านงานบริการและการสร้างภาพพจน์ไว้อย่างสวยหรู แต่ที่สุดแผนงานนั้นถูกตัดทอนจนเรียกได้ว่าไม่มีชิ้นดี
ผู้ที่ตัดทอนจะเป็นคนอื่นไปไม่ได้ เหตุผลก็เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงเกินไป
ซึ่งผิดวิสัยของเถ้าแก่ผู้นี้
นักบริหารที่มองการณ์ไกลหลายคนมองว่า นี่จะเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้ในอนาคตของการทำตลาดรถยนต์ฮุนไดในไทย
ที่สำคัญกว่านั้นแผนงานที่ร่างขึ้นนั้นถูกใจทางฮุนได มอเตอร์ ไม่น้อยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่นการสต็อกอะไหล่ ในแผนงานมองว่าจำเป็น แต่ก็ถูกตัดทอนลงไป
การคุมมาตรฐานของศูนย์บริการ ซึ่งต้องมีทั้งภาพลักษณ์ และฝีมือของช่าง แต่เนื่องจากต้องลงทุนสูง
คืนทุนช้า ประกอบกับยุ่งยาก ในขณะที่ต้องการสร้างจำนวนดีลเลอร์ให้พึ่บพั่บในเวลาอันรวดเร็ว
นโยบายตรงนี้จึงมองว่าไม่จำเป็น ที่สุดเมื่อโตเร็ว ก็ย่อมตายเร็ว
ทั้งนี้ผู้บริหารในยุคร่างแผนงานที่เด่นมากในยุคนั้นมีเพียงไม่กี่คนที่ยังอยู่กับองค์กรแห่งนี้
สำหรับ ธวัชชัย เขากล่าวถึงองค์กรของเขา ที่เขาจะต้องเป็นผู้รับภาระอันหนักหนาสาหัสนี้ว่า
เขาได้รับมอบหมายจากบิดาให้เข้ามาดูแลการลงทุนของกลุ่มในอนาคต เป็นลักษณะของการมองระยะยาวมากกว่า
ซึ่งแนวโยบายหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ จะเน้นการพัฒนาธุรกิจที่เป็นธุรกิจใหม่ๆ
แต่ก็ยังคงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่
"ในช่วง 3-5 ปีจากนี้เรามีโครงการที่จะลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด"
ธวัชชัย ได้ยกตัวอย่างของธุรกิจที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตในยุคที่เขาเข้ามาดูแล
เช่น การรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายแห่งนี้ได้มองข้ามไป
เพราะแม้จะมีโรงงานประกอบรถยนต์ที่ทันสมัย แต่กลับไม่มีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของตนเองเป็นเครือข่ายเลย
ซึ่งอาจนับว่าเป็นจุดด้อยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ว่าได้
"กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทปั๊มตัวถัง
จัดทำโมชิ้นส่วนต่างๆ นอกจากนี้กำลังเจรจากับทางไต้หวันเพื่อร่วมกันก่อตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ในไทย
โดยทางไต้หวันเขาสนใจตลาดไทยมาก"
แต่ยังมีส่วนงานหนึ่งที่เครือข่ายแห่งนี้ตั้งความหวังไว้มาก
"ทางกลุ่มของเราพร้อมที่จะทำตลาดรถยนต์ยี่ห้อนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นรถที่มีคุณภาพยิ่งรุ่นใหม่ๆ
ที่พัฒนาออกสู่ตลาด ไม่ได้เป็นรองใครเลย แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่สรุป
ต้องรอทางฝรั่งเศสอย่างเดียว ว่าจะเอาอย่างไร"
รถยนต์ที่ธวัชชัยพูดถึงก็คือ เรโนลต์
เครือข่ายแห่งนี้ได้เข้าเจรจาขอสิทธิ์การจำหน่ายรถยนต์เรโนลต์จากฝรั่งเศส
ในราวหนึ่งปีมาแล้ว และไม่ใช่รายเดียวที่ต้องการจะนำรถยนต์เรโนลต์กลับมาจำหน่ายในไทยอีกครั้ง
ยังมีอีกหลายรายที่ขอสิทธิ์จากฝรั่งเศสด้วย
หลายปีมาแล้วที่เรโนลต์ยุติการจำหน่ายในไทย และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าเรโนลต์
ฝรั่งเศส จะตัดสินใจเรื่องนี้ มีเหตุผลเพียงสองประการ
ประการแรก เป็นธรรมดาที่เรโนลต์ ฝรั่งเศส มักตัดสินใจในแต่ละเรื่องล่าช้าผิดปกติ
ซึ่งคู่ค้ารายเดิมได้เคยสัมผัสกับพิษสงแห่งความล่าช้านี้แล้ว
ประการที่สอง สถานการณ์ของเรโนลต์ ฝรั่งเศส เองย่ำแย่เอามากๆ ถึงขั้นปิดโรงงานหลายแห่ง
ยังไม่รวมถึงคนงานในแต่ละฐานผลิตเริ่มส่อเค้ามีปัญหา ดังนั้นการที่จะพิจารณาในเรื่องการเปิดตลาดในประเทศต่างๆ
นั้นจึงเป็นเรื่องที่คงเก็บเอาไว้ก่อน เพราะลำพังแค่รับสถานการณ์ภายในก็แย่อยู่แล้ว
ถ้าขืนให้บุกออกตลาดโลกอีกคงขาดใจตายแน่ๆ
ความหวังของบรรเทิงและธวัชชัย ในเรื่องการได้สิทธิ์เรโนลต์เข้าทำตลาด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว
แต่ถ้าได้มาจริง ก็ใช่ว่าจะสามารถสร้างตลาดได้โดยง่าย ดูเหมือนจะยากยิ่งกว่าค้าขายฮุนไดด้วยซ้ำไป
ลำพังสิ่งที่มีอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะรักษาได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ กลับจะบุก
เปิดฉากใหม่อีกแล้ว
นี่ บันเทิง ส่ง ธวัชชัย มาสืบสานธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่
หรือว่าส่ง ธวัชชัย มาสืบสานยุทธศาสตร์เก่าๆ ที่บรรเทิงเคยใช้แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างลมๆ
แล้งๆ กันแน่
ขึ้นอยู่กับว่า ธวัชชัย จะได้คิดเหมือนที่ บันเทิง ได้ฉุกคิดหรือไม่