"โต้ง"วอนช้างทบทวน ชี้ไทยสูญหลายพันล้าน


ผู้จัดการรายวัน(10 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"กิตติรัตน์" วอนบอร์ดเบียร์ช้างทบทวนแผนเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ใหม่ ชี้ตลาดรองสูญรายได้ เฉพาะค่าคอมมิชชันผ่านโบรกฯ 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนนักลงทุนสูญเสียโอกาสที่จะได้เงินปันผลปีละหลายพันล้านบาท สมาคมโบรกฯถกด่วนประเมินความเสียหายช้างไปสิงคโปร์ไทย เสียโอกาสพัฒนาตลาดหุ้น สูญรายได้ภาษี นำเรื่องเข้าสภาธุรกิจตลาดทุนไทยหารือวันนี้ (10 ม.ค.)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนองกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีที่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ เบียร์ช้าง จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า ทำให้ตลาดทุนของไทยต้องเสียโอกาส โดยเฉพาะในส่วนของตลาดรองเพราะบมจ.ไทยเบฟเวอเรจนั้น ถือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่

ดังนั้น อาจจะส่งผลทำให้บริษัทหลักทรัพย์จะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นปีละประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี และการที่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ถือเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีและเป็นหุ้นขนาดใหญ่มีฟรีโฟลต มาก ทำให้ผู้ลงทุนไทยก็อาจจะสูญเสียไม่ได้รับเงินปันผลอีกหลาย พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ มีความหมายและจะกลับคืนมาในรูปภาษีที่จะนำมาพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ จึงต้องการขอให้คณะกรรมการ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ พิจารณาทบทวนมติการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ใหม่ เพราะยังเชื่อมั่นว่า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ยังมีเจตนาที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยอยู่ เนื่องจากเป็นบริษัทของคนไทย

"ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รู้ว่า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เป็นบริษัทที่มีกำไรสูง และมีมูลค่าตลาด รวมสูงมาก จึงขอให้ทางบอร์ดไทย เบฟเวอเรจได้ทบทวนและให้โอกาส กับตลาดทุนไทย" นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การที่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ประกาศว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์นั้น ไม่ได้มีเจตนา ที่จะกดดันการทำงานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเร่ง ให้พิจารณาให้เร็วขึ้นอาจเป็นสาเหตุ จากอุปสรรคและปัญหาที่ติดขัดทำให้ บมจ.ไทยเบฟฯ ยังไม่สามารถ จดทะเบียนใน ตลท.ได้ จึงต้องหาทางออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น อื่น
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อมั่นการทำงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ว่าจะพิจารณาอย่างมีมาตรฐาน และมีเหตุผล

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าการที่คณะกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจตัดสินใจนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ นั้นถือว่าทำให้ตลาดหลักทรัพย์เสียโอกาส โดยเฉพาะการที่บริษัทนำเข้าจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงก็ยิ่งทำให้เงินลงทุนของต่างประเทศไปสู่ตลาดหุ้นสิงคโปร์มากยิ่งขึ้นเพราะปัจจุบันนี้ถือได้ว่าตลาด หลักทรัพย์สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ อยู่แล้ว

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ ที่บริษัทหลักทรัพย์ของไทยจะสูญรายได้ 500 ล้านบาทในกรณีที่ บมจ.ไทยเบฟฯไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพราะบมจ.ไทยเบฟฯเป็นบริษัทใหญ่มีมาร์เกตแคปประมาณ 2-3 แสนล้านบาท

ดังนั้น ถ้าหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และถ้ามีการซื้อขายหนึ่งรอบบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขายในอัตรา 0.25% ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะสูญเสียในระดับดังกล่าว หรืออาจจะสูญเสียถึงระดับ 1 พันล้านบาทได้เช่นกันและจะเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย

นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายในปี 2549 มาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปีซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 2 ที่กำหนดไว้โดยคาดว่าจะมีหุ้น ที่มีขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียน ได้แก่บมจ.กฟผ. และ บมจ.ไทยเบฟฯ ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีมาร์เกต แคปใหญ่

นอกจากนี้ สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยลบและเกิดขึ้นในช่วงปี 2548 เช่นความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้,ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น, การแพร่ระบาดไข้หวัดนก เริ่มคลี่คลายลง ซึ่งสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาจากปัจจัยเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์ที่สามารถ ช่วยเพิ่มการลงทุนและจะช่วยทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวจากโครงการเมกะโปรเจกต์ปีละ 1% ซึ่งอย่างน้อยจะเกิดขึ้นภายใน 4-5 ปีข้างหน้า

ดังนั้น จีดีพีของประเทศน่าจะขยายตัวในระดับปีละประมาณ 5-7% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในปี 2548 นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดหุ้นมากนักจะเห็นได้จากความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ที่มีกำไรสุทธิ 4 แสนล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียว กันของปีก่อนประมาณ 13% ด้านมาร์เกตแคปปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเกินกว่า 5 ล้านล้านบาท

แหล่งข่าวจากฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินบริษัทไทยเบฟฯ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการ บมจ.ไทยเบฟฯได้มีมติที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลที่จะยื่นขออนุญาตกับสำนักงาน ก.ล.ต.ซึ่งการที่บริษัทตัดสินใจเข้าจดทะเบียนทั้ง 2 ตลาดก็อาจจะทำให้มีการแผน การระดมทุนบ้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างบริษัทกับที่ปรึกษาทางการเงิน

นายจงรัก ระรวยทรง กรรมการผู้อำนวยการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมได้จัดประชุมวาระพิเศษ ในกรณีที่ บมจ.ไทยเบฟฯจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยจะยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศนั้น คณะกรรมการบริหารเห็นว่าการอนุญาตให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยไปกระจายหุ้นในตลาดหุ้นต่างประเทศ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ผลกระทบที่จะได้รับประกอบด้วยประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จากภาษีอากร, ตลาดทุนไทยจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดทุนอื่นๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะการไหลเข้าของเงินจากนักลงทุนต่างประเทศ,นักลงทุนไทยจะเสียโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่และตลาดทุนไทยจะเสียโอกาสในการพัฒนาให้เป็นตลาดทุนหลักตลาดหนึ่งในภูมิภาค

นายจงรักกล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมจะได้นำมติในเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การหารือในที่ประชุมสภาธุรกิจตลาดทุนไทยต่อไป

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัดในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะมีการหารือในวันนี้ (10 ม.ค.) ในช่วงบ่ายที่ตลาดหลักทรัพย์หลังจากที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์มองว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดทุนไทยในกรณีที่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เข้าจดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์แล้วก็ต้องการรับฟังความคิดเห็นของสมาคมอีก 4 แห่งที่อยู่ในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยว่ามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร

ส่วนจะมีการนำเสนอแนวความคิดเห็นจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทยไปยังหน่วยงานของภาครัฐหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.