นอร์ธบริดจ์ฯ มองไกล บุกสร้างคอมเพล็กซ์ในกัมพูชา

โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

การที่ธุรกิจจะขยายเข้าไปในพื้นที่ใด ย่อมแสดงว่าพื้นที่นั้นมีศักยภาพต่อการลงทุน ภูมิภาคอินโดจีนดูเหมือนจะถูกพูดถึงในเรื่องนี้มานานแล้ว และในความเป็นจริงกลุ่มทุนต่างๆ ก็เริ่มทยอยเดินพาเหรดเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดว่าใครเข้าไปก่อนก็มีโอกาสก่อน

การเข้าไปในกัมพูชาของบริษัท นอร์ธบริดจ์ คอมมิวนิเคชั่น ก็เช่นเดียวกัน ธุรกิจที่บริษัทคาดว่าจะเติบโตได้ในอนาคต คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของคอมเพล็กซ์ที่มีทั้งโรงเรียนนานาชาติ ที่พักอาศัย และพื้นที่การพาณิชย์ไว้ในบริเวณเดียวกันอย่างครบวงจร

ด้วยมองเห็นว่าพนมเปญเป็นเมืองหลวงที่กำลังเข้าสู่ช่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมที่รวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนของต่างชาติที่มาพร้อมๆ กับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี

ความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งจากภาคธุรกิจ และกลุ่มปัญญาชนที่จะเข้ามาผลักดันให้สังคมก้าวไปตามความต้องการของภาคธุรกิจได้ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งที่จะถูกส่งตัวเข้ามาในกัมพูชาโดยบริษัทเอกชน หรือองค์กรนานาชาติ เพื่อเข้ามาทำงานต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว คนกลุ่มนี้ก็คือ พวกที่เรียกว่า expatriate

ขณะที่ปัจจัยต่างๆ ในประเทศยังไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ที่เข้ามาทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของกัมพูชาเอง การเดินทางที่ไม่สะดวกนักในถนนหนทาง และความปลอดภัย รวมถึงการขาดแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ดีสำหรับครอบครัวในยามค่ำคืน

นอร์ธบริดจ์ฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสตรงนี้จึงเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในพนมเปญ ด้วยการผุดโครงการเพื่อสร้างคอมเพล็กซ์ดังกล่าว ด้วยความมั่นใจจากศักยภาพของพื้นที่และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี บริษัทนอร์ธบริดจ์ฯ ถูกก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทชัยพัฒน์ กรุ๊ป เจ้าของโครงการ "เมืองประชา" ถือหุ้น 20% กลุ่มฟินันซ่า 50% และกองทุนต่างประเทศอีก 30% เพื่อสร้างแหล่งชุมชนในลักษณะคอมเพล็กซ์ที่มีทั้งโรงเรียนและที่พักอาศัยในบริเวณเดียวกัน

โดยร่วมกับบูรพากอล์ฟคลับและร.ร.นานาชาติกรุงเทพ ก่อตั้งร.ร.นานาชาติอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งดำเนินการไปแล้วในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น เริ่มจากมีนักเรียน 70 คน จนเพิ่มขึ้นเป็น 250 คน และเปิดเทอมเดือนสิงหาคมนี้จะเพิ่มเป็น 350 คน

ส่วนพื้นที่พักอาศัยนั้นสร้างไว้รองรับบุคลากรที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ขยายเพิ่มตามลำดับ ล่าสุดในส่วนของที่พักจะขยายจาก 20 ยูนิตเป็น 100 ยูนิต ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของทำเลที่ตั้งได้เป็นอย่างดี

จากความสำเร็จในเมืองไทยทำให้นอร์ธบริดจ์ฯ มีความมั่นใจและกล้าที่จะมาขุดทองในกัมพูชาเช่นกัน แต่เนื่องจากกฎหมายใหม่ของกัมพูชาที่ออกมาในปี'37 ประกาศให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศได้นั้นต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวกัมพูชาเกินครึ่งหนึ่ง

นอร์ธบริดจ์-เคซี ดีเวลอปเม้นท์ (NKD) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในกัมพูชาจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวโดยการร่วมลงทุนกับมร.Khaou Chuly นักลงทุนชาวกัมพูชา เพื่อพัฒนาที่ดินในพื้นที่ 518,900 ตร.ม. ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 4 ระหว่างทางไปสนามบิน และห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร

ร.ร. นานาชาติระบบอเมริกันแห่งแรกในกัมพูชา

ร.ร. นานาชาติกัมพูชา (International School Cambodia) ดำเนินงานภายใต้การดูแลของมร.เดวิด ดีตัน นักการศึกษานานาชาติที่มีประสบการณ์ ซึ่งเข้ามาร่วมงานตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ในตำแหน่ง Super-intendent เพื่อดูแลงานบริหารของโรงเรียน ทั้งทางด้านนโยบายบุคลากร และการจัดการภายใน

การเรียนการสอนเป็นระบบอเมริกัน ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในพนมเปญ โดยระบบดังกล่าวจะเน้นให้นักเรียนมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการเรียนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยอิสระ

"สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนนี้แตกต่างจากที่มีอยู่แล้วในพนมเปญคือขนาดของโครงการที่ดูมั่นคงและมีการก่อสร้างอาคารอย่างเป็นสัดส่วน เทียบกับโรงเรียนนานาชาติที่มีอยู่แล้ว ซึ่งคล้ายกับสถานที่รับดูแลเด็กมากกว่าที่จะเป็นโรงเรียน "อัมพร ศิริจินดากุล ผู้จัดการธุรกิจกล่าว

2 ปีก่อนมีโรงเรียนที่เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษตั้งขึ้นในพนมเปญเช่นกัน โดยใช้ระบบการเรียนของออสเตรเลีย 1 แห่ง และระบบอังกฤษอีก 1 แห่ง แต่โรงเรียนเหล่านี้ไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลกัมพูชา และยังมีนักเรียนไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาวกัมพูชาทั้งสิ้น การเปิด ร.ร.นานาชาติกัมพูชาจึงถือว่ายังเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ เพราะนับวันบุตรหลานของชาวต่างชาติที่เข้ามาและครอบครัวชาวกัมพูชาเองก็จะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

มาตรฐาน WASC ให้ความมั่นใจ

การสร้างโรงเรียนนานาชาตินั้น หลักสำคัญต้องได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียนได้ โรงเรียนนานาชาติกัมพูชาจึงได้ขอการรับรองมาตรฐานจาก The Western Association of Schools and Colleges (WASC) จาก Burlingame, California ซึ่งเป็นองค์กรในสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทในเรื่องนี้

โดยเริ่มตั้งแต่การดำเนินงานปีแรกทาง WASC จะส่งกรรมการ 2 คนมาตรวจเยี่ยม เพื่อดูประสิทธิภาพของการจัดเตรียมอุปกรณ์การสอนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ควบคู่ไปกับคณะครูที่ทำการสอน ซึ่งการเยี่ยมชมครั้งนี้จะมีผลต่อการให้คำรับรองจาก WASC ว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็น "Candidate for Accreditation"

และในปีที่ 3 โรงเรียนต้องพัฒนามาตรฐานให้ได้ตามโปรแกรม Self-Study ซึ่งเป็นแนวทางของ WASC ประกอบด้วยนโยบายการเรียนการสอน การเงิน การจัดการ สิ่งอำนวยความสะดวก โปรแกรมการศึกษา พฤติกรรมนักเรียนและคุณภาพของคณาจารย์

ผลการพิจารณาตามโปรแกรม Self-Study จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นด้วย นักการศึกษาจากอเมริกาและจากโรงเรียนนานาชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกซึ่งตั้งโดย WASC และคณะกรรมการเหล่านี้จะกลับมาตรวจเยี่ยมที่โรงเรียนอีกครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่ออภิปรายถึงผลการรายงานและพูดคุยกับคณะผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากรแผนกต่าง ๆ ผู้ปกครองและนักเรียน

หลังจากพิจารณารายงานดังกล่าวและได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในโรงเรียนตลอด 1 สัปดาห์ คณะกรรมการชุดนี้จะทำความเห็นเพื่อรับรอง (หรือไม่รับรอง)แล้วส่งไปยังบอร์ดกรรมการบริหารของ WASC จากนั้นบอร์ดซึ่งประชุมกันทุกๆ 3 ครั้ง ในหนึ่งปี จะพิจารณาตามความเห็นนั้นและรับรองโดยกำหนดเป็นเทอม มีระยะเวลา 1 ปี, 3 ปี หรือ เต็มที่ 6 ปี

หลังจากนั้นโรงเรียนจะต้องดำนินงานในแต่ละปีให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้มีการแสดงความเห็นของคณะกรรมการตรวจเยี่ยมและรายงานกลับไปยัง WASC ซึ่งทุกครึ่งเทอมของการรับรองทางคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจาก WASC จะมาเยี่ยมชมโรงเรียนเพื่อประเมินผลงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ และเมื่อครบเทอมการรับรองและโปรแกรม Self-Study เสร็จสมบูรณ์ คณะกรรมการใหญ่ทั้งหมดก็จะมาเยี่ยมชมโรงเรียนอีกครั้ง

เฟ้นหลักสูตร-ระดมครู

ด้านหลักสูตรทุกโปรแกรมจะออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะกับสภาพการเรียนที่มีนักเรียนจากหลายชาติภายในหนึ่งห้อง และทางโรงเรียนยืนยันว่า หลักสูตรของที่นี่สามารถนำไปเทียบโอนรายวิชาเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติอื่นได้ในกรณีนักเรียนย้ายที่เรียน

โปรแกรมหนึ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมากคือ โปรแกรมการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองหรือ English as a Second Language (ESL) ด้วยเข้าใจถึงความแตกต่างของนักเรียนภายในห้องเรียนหนึ่ง ๆ ว่า จะมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม โปรแกรมนี้จะให้นักเรียนได้พัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการพัฒนาพฤติกรรม และทักษะการเรียนภายในห้องด้วย ซึ่งจะมีครูรับผิดชอบ 3 คน

ทั้งโรงเรียนจะมีครูทั้งหมดที่รับผิดชอบการสอนประมาณ 15 คน ครูทุกคนจะได้รับการรับรองหรือผ่านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งครูเหล่านี้มีทั้งมาจากต่างประเทศและครูที่อยู่ในพนมเปญมาก่อนแล้วและแน่นอนอัตราค่าจ้างต้องเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

แอนดี้ ฮอลโลเวย์ ครูสอนเกรด 5 ชาวออสเตรเลียอยู่พนมเปญมาก่อนที่จะร่วมงานกับนอดร์ธบริดจ์ โดยเป็นครูสอน ESL ในศูนย์ออสเตรเลียเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์สอนในระดับเกรด 4-6 ในออสเตรเลียมาแล้วกล่าวว่า "ค่าตอบแทนสำหรับโรงเรียนนานาชาติอย่างนี้เป็นตัวเลขที่น่าพอใจทีเดียวเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนในออสเตรเลีย" ด้วยอัตราที่สูงกว่าถึง 2.5 เท่าเป็นอย่างน้อยจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขามาที่นี่

การรับครูในพื้นที่จะผ่านการสัมภาษณ์จากผู้บริหารของโรงเรียนโดยตรง ส่วนครูจากต่างประเทศจะมีบริษัทตัวแทนรับสมัครทั้งในเอเชียอาคเนย์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ลอนดอน และอีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา

"เราพยายามรับครูให้มีความแตกต่างจากหลายพื้นที่เพื่อความหลากหลาย แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของการสอนแบบอเมริกัน" ผู้บริหารโรงเรียนกล่าว

ด้านบุคลากรสนับสนุนส่วนใหญ่จะจ้างคนในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่ธุรการ เลขา ผู้ช่วยครู พนักงานดูแลความสะอาดและความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานให้คนในพื้นที่มากพอสมควร

ปีแรกตั้งเป้าหมายรับนักเรียน 300 คน

ในปีแรกคาดว่าจะสามารถรับนักเรียนได้ประมาณ 250-300 คน และพร้อมสำหรับการขยายไปสู่ระดับ 800-1,000 คน โดยขนาดของห้องเรียนออกแบบให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนประมาณ 18-28 คน เพื่อให้ครูสามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง

ส่วนค่าเล่าเรียนนั้นแยกอัตราตามระดับเตรียมอนุบาล, อนุบาล - เกรด 5, เกรด 6-8, เกรด 9-12 โดยค่าลงทะเบียนคิดในอัตรา 37,500 บาท เท่ากันทุกระดับชั้นยกเว้นชั้นเตรียมอนุบาลยังไม่ได้กำหนด ส่วนค่าเล่าเรียนระดับเตรียมอนุบาลคิดปีละ 112,500 บาท, อนุบาล-เกรด 5 คิดปีละ 155,000 บาท, ส่วนเกรด 6-12 คิดปีละ 184,000 บาท ทั้งนี้ในส่วนของค่าเล่าเรียนสามารถแยกจ่ายเป็นรายปีหรือเป็นเทอมการศึกษาก็ได้

นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณารวมกับโรงเรียน และจะเป็นบางระดับการเรียนเท่านั้น อาทิการเรียนโปรแกรม ESL จะเปิดสอนเฉพาะเกรด 2-8 เท่านั้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับหนึ่งค่าเรียน 45,000 บาท และระดับสองค่าเรียน 30,000 บาท

โรงเรียนเป็นหลักที่พักเป็นรอง

สำหรับพื้นที่โครงการ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากสนามบินนานาชาติโปเชนตงนัก (Pouchentong) และห่างจากถนนทางหลวงหมายเลข 3 ไปทางทิศใต้ระยะ 1 กิโลเมตร จะถูกวางแผนผังโดยเน้นให้ร.ร. นานาชาติกัมพูชาเป็นศูนย์กลางหลักของพื้นที่ชุมชน และแวดล้อมด้วยพื้นที่อยู่อาศัย ศูนย์กีฬาและสันทนาการ รวมทั้งศูนย์การแพทย์และพื้นที่การพาณิชย์

สิ่งแรกที่จะเจอเมื่อเข้าไปในพื้นที่โครงการคืออาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้กับพื้นที่อาคารพาณิชย์จะเป็นที่ตั้งของโรงเรียน

โดยจุดเด่นของโครงการอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างน้ำและไฟฟ้านั้นทางโครงการจะผลิตขึ้นใช้เองรวมถึงโรงบำบัดน้ำเสีย และการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งในพื้นที่และต่างประเทศที่จะให้บริการด้วยระบบไมโครเวฟ เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

แบบของอาคารสถานที่ทั้งหมดเป็นผลงานของบริษัทสัญชาติอเมริกัน Moission Design Group จากประเทศสิงคโปร์ และมีบริษัท MAEDA Construction Cambodia (MKK) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีประสบการณ์ในกัมพูชามากที่สุดบริษัทหนึ่ง เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างทั้งตัวอาคาร และโครงสร้างภายในของเฟสหนึ่งทั้งหมด

งานก่อสร้างเฟสแรกเริ่มแล้ว

สำหรับเฟสแรกลงทุนไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาทคิดเป็น 10% ของเงินทุนที่จะใช้ทั้งโครงการ โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ทำการสร้างกำแพงรั้วและปรับถมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ส่วนงานก่อสร้างอาคารเรียน และเสาเข็มฐานรากของอาคารอพาร์ตเม้นต์ 9 หลังนั้นจะเรียบร้อยภายในเดือนกรกฎาคม

รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งถนนหนทางภายในพื้นที่โครงการจะสร้างขึ้นไว้เลยในช่วงแรก สำหรับอพาร์ตเม้นต์ขนาด 3 ชั้นจำนวน 9 หลัง คิดเป็น 108 ยูนิต และบ้านเดี่ยว 29 หลัง

สำหรับศูนย์สันทนาการของครอบครัวจะจัดให้มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพสอดคล้องกับชุมชน มีภัตตาคารสำหรับการทานอาหารมื้อค่ำ ห้องสมุดและห้องประชุม อุปกรณ์และสถานที่ในการออกกำลังกายและการใช้สนามและอุปกรณ์กีฬาเทนนิสรวมกับทางโรงเรียน และมีสระน้ำอยู่หน้าภัตตาคารด้วยติดกับแอ่งน้ำ

ส่วนอพาร์ตเม้นต์ขนาด 3 ชั้นหรืออาจจะเป็นบ้านจัดสรรและบ้านเดี่ยวที่จะสร้างในแต่ละเฟสนั้นขึ้นกับความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ ส่วนบ้านเดี่ยวติดแอ่งน้ำจะสร้างในเฟสต่อไป

โรงเรียนเตรียมเปิดเดือนสิงหาคม'40

ส่วนของพื้นที่โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเดือนตุลาคมปี'38 โดยเจ้านโรดม รณฤทธิ์ มาเป็นประธาน และจะทำการเปิดตัวโครงการที่สร้างเสร็จในเฟสแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 สิงหาคม 2540 โดยสมเด็จ ฮุนเซนจะมาเป็นประธานในพิธี

แบบแปลนจะออกมาให้สะดวกต่อสิ่งก่อสร้างที่มีขึ้นมาก่อนและง่ายต่อการต่อเติมเมื่อมีการขยายงาน เนื่องจากแผนงานก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 เฟส คือเฟสแรกจะสร้างอาคารเรียน 2 หลังขนาด 2 ชั้น และ 3 ชั้น จะมีห้องเรียนทั้งหมด 42 ห้อง ซึ่งรวมถึงห้องเรียนศิลปะ ดนตรี คอมพิวเตอร์ ห้องแล็บ ภาษาต่างประเทศ และห้องสมุด

เฟส 1 จะแบ่งงานย่อยอีกเป็น 2 ส่วน ในส่วนเฟส 1A จะประกอบด้วย อาคารบริหารทั่วไป, อาคาร 3 ชั้น 1 หลัง, โรงอาหาร, โรงยิมเนเซียมพร้อมอุปกรณ์ ส่วนนี้จะสามารถรองรับนักเรียนได้ถึง 420 คน

เมื่อยอดนักเรียนถึง 400 คน จะเริ่มก่อสร้างเฟส 1B เป็นอาคารเรียน 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง ซึ่งจะทำให้โรงเรียนขยายเพิ่มอีก 16 ห้องเรียน รองรับนักเรียนได้อีก 200 คน

ส่วนเฟสสองนั้นจะเป็นอาคารเรียนอีก 3 หลังประกอบด้วย อาคารขนาด 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง และอาคาร 3 ชั้นจำนวน 1 หลัง ซึ่งจะมีห้องเรียนเพิ่มขึ้นมาอีก 58 ห้อง ในจำนวนนี้จะได้ห้องแล็บวิทยาศาสตร์และห้องแล็บคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอีกอย่างละหนึ่งห้อง รวมทั้งโรงภาพยนตร์ โรงยิมเนเซียมในร่ม ห้องศิลปะและห้องดนตรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ (Total Educational Institutional) ตามที่วางเป้าหมายไว้

ในพื้นที่เฟสแรก 3,500 ตร.ม.ได้ออกแบบไว้สำหรับอาคารเรียน 5 หลัง, อาคารสำนักงานบริหาร, โรงภาพยนตร์, โรงอาหาร 2 แห่ง และโรงยิมเนเซียม 3 แห่ง โดยแต่ละอาคารจะเว้นพื้นที่เป็นโถงตรงกลางไว้ เพื่อให้แสงส่องลงมาถึงพื้นดินและช่วยระบายอากาศของทางเดินภายในตึก รวมทั้งให้นักเรียนแต่ละชั้นมีกิจกรรมร่วมกัน และมีทางเดินแบบมีหลังคาเชื่อมต่อให้สามารถเดินถึงกันได้ทุกจุด

ด้านการออกกำลังกายทางโรงเรียนได้เตรียมพื้นที่สำหรับลู่วิ่ง, สนามเบสบอลล์-ซอล์ฟบอล์ ในพื้นที่เดียวกัน, สนามซอกเกอร์-ฟุตบอล-รักบี้ในพื้นที่เดียวกัน, คอร์ตเทนนิส 6 คอร์ต, สระว่ายน้ำที่ใช้สำหรับแข่งขัน ขนาด 25 เมตร 6 ลู่ รวมทั้งมีพื้นที่ว่างสำหรับเป็นที่จอดรถของบุคลากรโรงเรียน ผู้ปกครอง และแขกที่มาเยือนด้วย

พื้นที่อาศัยเฟสแรก 14 บ้านเดี่ยว-54 ห้องพัก

ส่วนของที่พักอาศัยจะเป็นพื้นที่หลังโรงเรียนสามารถเดินทะลุถึงกันได้ทางด้านหลังของโรงเรียน ในการพัฒนาจะแยกเป็นเฟสเช่นกัน เฟสแรกหรือเฟส 1A จะประกอบด้วย อพาร์ตเม้นต์ 54 ยูนิต และบ้านเดี่ยว 29 หลัง เฟส 1B จะตามด้วยอพาร์ตเมนต์อีก 54 ยูนิต นอร์ธบริดจ์-เคซีตั้งเป้าว่าจะให้เช่าอพาร์ตเม้นต์ 54 ยูนิตแรก และบ้านเดี่ยว 14 หลัง และขายสำหรับ 15 หลังที่เหลือ

อพาร์ตเม้นต์ขนาด 3 ชั้นแต่ละอาคารจะประกอบด้วย ห้องขนาด 200 ตร.ม. 6 ยูนิต แต่ละยูนิตประกอบด้วย 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ห้องครัว ห้องพักของแม่บ้าน และพื้นที่จอดรถ 1 คันแบบมีหลังคา พื้นที่ภายในอาร์ตเม้นต์จะได้รับการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องครัว อ่างล้างและเครื่องเป่าลมร้อน เตียงนอน โต๊ะอาหารพร้อมเก้าอี้ โซฟา ม่านหน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่จำเป็นภายในบ้าน

ส่วนในบ้านแบบครอบครัวเดี่ยวจะตกแต่งด้วยเครื่องครัว อ่างล้าง เครื่องเป่าลมร้อน และม่านหน้าต่าง บ้านเดี่ยวจะมีอย่างน้อย 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ห้องสำหรับครอบครัว ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ห้องครัว ห้องพักของแม่บ้าน และที่จอดรถ 2 คัน ในช่วงต้นบริษัทมีบ้าน 3 แบบให้เลือกในขนาด 340, 375, และ 420 ตร.ม.

โดยเงินลงทุนสำหรับที่อยู่อาศัยในเฟสแรกนี้ตั้งไว้ประมาณ 325 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาจากทุนของบริษัท 91.25 ล้านบาท (28.03%) เงินของลูกค้า 6.51 ล้านบาท (9.99%) รายได้จากค่าเช่าระหว่างก่อสร้าง 3.53 ล้านบาท (1.08%) และเงินกู้ 198.20 ล้านบาท (60.89%)

เงินกู้จำนวนนี้คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน 2 แห่งคือ IFC ของเวิลด์แบงก์ และ Commondwell Development Corp.(CDC) สถาบันการเงินของอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะได้เงินกู้ระยะยาว 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 9% หรือ Libor+3.5%

โดยมีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายคืนหนี้เท่ากับ 1.25 เท่า เนื่องจากคาดว่าภายในปี'42 จะมีรายได้จากค่าเช่าอพาร์ตเม้นต์ 54 ยูนิตและบ้านเดี่ยว 14 หลัง (คาดว่าอัตราเข้าพัก90%) รวมแล้วประมาณ 61.475 ล้านบาท เมื่อหักจากค่าใช้จ่ายในส่วนค่าดำเนินงาน ค่านายหน้า ค่าการตลาด ค่าการจัดการ รวมแล้วประมาณ 11.825 ล้านบาท

ทำให้บริษัทมีรายได้สุทธิเพื่อนำไปหักค่าหนี้ 49.65 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้ที่ต้องจ่ายคืนปีละ 39.775 ล้านบาทแล้ว บริษัทจะเหลือเงินรายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยปีละไม่ต่ำกว่า 9.875 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

ธุรกิจในอินโดจีนมีแต่ดีวันดีคืน

พนมเปญในวันนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สงบ แต่สำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้วไม่มีผลกระทบถึงแน่นอน แม้ว่าในอดีตชุมชนและความเจริญของพนมเปญจะกระจุกตัวอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประกาศอิสระภาพ รอบถนนนโรดม บุลเลอวาด แต่ปัจจุบันความเจริญเริ่มแผ่ขยายไปสู่ถนนระหว่างเมืองสายอื่น โครงการของนอร์ธบริดจ์เป็นตัวอย่างได้ดี

วันเปิดตัวแนะนำโครงการนอร์ธบริดจ์เมื่อวันที่ 24 พ.ค.นั้นมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาชมทั้งในส่วนของโรงเรียนนานาชาติสำหรับบุตรหลานและที่พักอาศัยไม่ต่ำกว่า 50 ราย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่การตลาดที่ดูแลส่วนของที่พักกล่าวว่าแม้จะไม่มีการทำโปรโมชั่นอย่างจริงจังเพียงแต่นำแบบ และรายละเอียดของอพาร์ตเม้นต์และที่พักมาแสดงเท่านั้น ก็มีผู้แสดงความสนใจเข้ามาถึง 15 ราย

นอกจากโครงการในพนมเปญแล้ว นอร์ธบริดจ์ยังมีโครงการต่อในเวียดนาม ซึ่งขณะนี้ได้รับใบอนุญาตให้เริ่มดำเนินงานได้แล้ว ในไม่ช้าก็คงมีให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก่อนที่จะสยายปีกอันแข็งแกร่งไปจีน ซึ่งเป็นที่หมายต่อไป

การตอบสนองความเจริญของนอร์ธบริดจ์นอกจากเป็นการเติมช่องว่างระหว่างความเป็นท้องถิ่นและความเจริญที่เข้ามาแล้ว ยังเป็นการแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวได้เป็นอย่างดีทีเดียว โดยลงทุนในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่มีความคุ้นเคยทางด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่

ใครสนใจไปขุดทองที่อินโดจีนในขณะที่โครงการในไทยยังชะลอตัวก็รีบๆ หน่อย ถ้ามัวแต่กล้าๆ กลัวๆกับสถานการณ์ตามข่าว โดยไม่ไปสัมผัสกับความเป็นจริงอาจตกรถไฟเที่ยวแรกก็ได้ และถ้าจะรอไปเที่ยวใหม่ก็ถือว่าช้าไปแล้วสำหรับโลกธุรกิจทุกวันนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.