จับเทรนด์เอ็มบีเอ 2006 ผ่านสายตา 6 สถาบันดัง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับนี้ ถือฤกษ์สวัสดีปีใหม่ ชวนจับเข่าคุยกับ 6 สถาบันดังถึงทิศทางของตลาดการศึกษาระดับปริญญาขั้นสูงด้านบริหารธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ตลาดเอ็มบีเอในปี 2549 จากความเห็นของทั้ง 6 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงสะท้อนให้เห็นดีกรีความร้อนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นทุกปี

'จุฬาฯ' ชี้ให้ระวังต่างชาติ

ผศ.ดร.ดนุชา คุณพนิชกิจ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้การแข่งขันสูงขึ้น ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยไทยเท่านั้น ยังมีมหาวิทยาลัยต่างชาติที่เข้ามาจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์หลักสูตร (Open House) มากขึ้น

แนวรุกนี้ต่างจากอดีต ที่จะเห็นการเข้ามาทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย หรือเข้ามาตั้งแคมปัสในประเทศ แต่ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาเจาะตลาดไทยเอง โดยเน้นจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยรายละเอียดการไปศึกษาต่อมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลเท่านั้น

ประกอบกับเทคโนโลยีปัจจุบันเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนทางไกล ค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อจึงถูกลง และไม่จำเป็นต้องเรียนในต่างประเทศตลอดหลักสูตร จึงกลายเป็นจุดขายของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และจะเป็นตัวกระตุ้นให้การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจุฬาฯ มองเป็นคู่แข่งรายสำคัญ

สำหรับตลาดในประเทศ ผศ.ดร.ดนุชา มองว่า จะเห็นหลักสูตรเอ็มบีเอที่เจาะเฉพาะไปในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น และขึ้นอยู่กับลักษณะพิเศษของอุตสาหกรรมนั้นๆเช่น สาขาการจัดการการบิน

ขณะที่หลักสูตรระดับปริญญาเอก น่าจะได้รับความนิยมสูงขึ้น และจำนวนของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนน่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ยังน่าห่วงเรื่องของความพร้อมของสถาบันที่เปิด

"การเปิดปริญญาเอก ที่รับกันมากๆ มันผิดคอนเซ็ปต์ แม้จะบอกว่ามีอาจารย์จากต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาให้ แต่น่าจะมีภาระสอนปริญญาเอกของเขาที่โน่นเช่นกัน จึงไม่ง่ายที่จะหาอาจารย์มาคุมวิทยานิพนธ์ได้ เพราะเป็นวิจัยเชิงลึก"

สำหรับแผนพัฒนาหลักสูตร เพื่อปรับตัวให้ทันการแข่งขัน ผศ.ดร.ดนุชา มองว่าขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง และสิงคโปร์ ดึงดูดเด็กไทยให้ไปศึกษาต่อแหมือนไปสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษได้แล้ว จึงหันกลับมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาในภูมิภาคสนใจมาเรียนที่จุฬาฯ บ้าง

ในปีการศึกษาหน้า จุฬาฯ จึงได้นำโปรแกรม Young Executive มาพัฒนาเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกของเอ็มบีเอด้วย ส่วนแนวทางของการพัฒนาหลักสูตรอื่นๆ จะเป็นไปตามทิศทางการแข่งขัน เชื่อว่าการเจาะเซกเมนต์ตลาดหลักสูตรเฉพาะทางจะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งล่าสุดเปิดตัวไป 4 หลักสูตรใหม่

ผศ.ดร.ดนุชา กล่าวอีกว่า การบูรณาการข้ามศาสตร์จะมีให้เห็นมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางในภาพใหญ่ของจุฬาฯ ทั้งมหาวิทยาลัยด้วย ตัวอย่างหลักสูตรบูรณาการ ซึ่งแม้จะไม่ได้เปิดโดยคณะ แต่ก็เข้าไปมีบทบาท คือ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สหสาขาวิชาธุรกิจแฟชั่น นอกจากนี้ยังมองหลักสูตรด้าน Hospitality Management ไว้ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ไทยเป็นฮับด้านสุขภาพ

อีกแนวโน้มที่น่าสนใจ เป็นประเด็นด้านเนื้อหาหลักสูตร ซึ่งเดิมภาษาและไอทีสำคัญ แต่อนาคตทักษะการคำนวณจะมาแรง เพราะการดำเนินธุรกิจปัจจุบันพยายามสร้างเครื่องมือต่างๆ ที่ต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ผศ.ดร.ดนุชา ทิ้งท้ายว่า หลักสูตรประเภทควบปริญญาตรี-โท และปริญญาโท-เอก ก็อยู่ในความสนใจ แต่คงจะคืบหน้าชัดเจนช่วงปี 2550

'ธรรมศาสตร์' เผย 3 ชนวนแข่งขัน

ขณะที่ รศ. เกศินี วิฑูรชาติ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า แนวโน้มของเอ็มบีเอจะมีการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านที่สำคัญ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ

ด้าน 1. คือ มีการเจาะลึกมากขึ้น มากกว่าจะสอนหลักการกว้างๆ อย่างในอดีต เพราะการแข่งขันของธุรกิจรุนแรงขึ้น คุณสมบัติของคนที่เป็นที่ต้องการ ต้องรู้มุมมองกว้าง เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และต้องเชี่ยวชาญเชิงลึก เพื่อใช้องค์ความรู้นั้นได้ เช่น การเรียนเจาะลึกด้านการเงิน เรียนกรณีศึกษาจากต่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ และปัญหาร่วมที่เกิดขึ้นทั่วโลก

2. เนื้อหาเชิงวิชาการจะถูกโฟกัสมากขึ้น คือองค์ความรู้ที่เจาะทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค และประเด็นของการสร้างผู้ประกอบการ ที่ไม่ใช่แค่การขายชื่อหลักสูตร แต่อยู่ที่การจัดการเรียนการสอน ต้องฝังรากลึกความเป็นเจ้าของธุรกิจ อีกทั้ง ให้ความสำคัญกับวิชาที่เน้นสร้างคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม อดีตอาจไม่ใช่วิชาบังคับ แต่ต่อไปอาจเป็น

"ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ให้เงินธรรมศาสตร์มา 2 ล้านบาท เพื่อวิจัย และพัฒนาหนังสือวิชานี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ"

และ 3. ระยะเวลาที่เรียนจะลดลง ด้วยจำนวนหน่วยกิตที่ลดลง รูปแบบการเรียนการสอนจะยืดหยุ่นมากขึ้น ที่เคยเป็นภาคการศึกษาจะเปลี่ยนเป็นแบบโมดูล อาจใช้เวลามาเรียน 2 เดือน และกลับไปทำงานต่อ 3 เดือน ระหว่างนี้ต้องทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้นๆ ด้วย จุดเด่นการจัดแบบโมดูล คือ ส่วนใหญ่เน้นบูรณาการ นักศึกษานำไปใช้ในการทำงานจริงได้ทันที ต่างจากอดีตที่เน้นเรียนตามลักษณะงาน (function)

ด้านการแข่งขัน ธรรมศาสตร์มองว่าอาจจะรุนแรงขึ้น เพราะมีทั้งมหาวิทยาลัยที่สอนเฉพาะทาง ซึ่งขณะนี้เปิดสอนด้านเอ็มบีเอแล้ว อีกส่วน เป็นมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในลักษณะความร่วมมือ ซึ่งจะทำให้หลักสูตรโดดเด่นเพิ่มขึ้น รวมถึงหลักสูตรที่เป็นปริญญาจาก 2 สถาบันจะมีมากขึ้น

การพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางจะเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างให้กับแต่ละสถาบันได้ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแห่งจะเจาะเฉพาะไปที่อุตสาหกรรมใด ซึ่งขณะนี้มีหลายอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เช่น ในต่างประเทศ เริ่มมีเอ็มบีเอสำหรับธุรกิจบันเทิง

ประกอบกับแนวโน้มการผสมผสานระหว่างศาสตร์ ทั้งระหว่างศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง เช่น การบัญชีกับการเงิน และศาสตร์ระหว่างคณะซึ่งเป็นทิศทางที่มีมานานแล้วในต่างประเทศ เช่น ปริญญาควบด้านนิติศาสตร์และบริหารธุรกิจ รวมถึง หลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท ซึ่งล่าสุด ม.ธรรมศาสตร์เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรนี้บ้างแล้ว และเชื่อว่าในปี 2550 จะมีมากขึ้น

สำหรับแผนการพัฒนาหลักสูตร ปี 2549 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่มีการยกเครื่องหลักสูตรเอ็มบีเอทั้ง 3 โปรแกรม คือ XMBA, MBA, MBA-HRM เพื่อสร้างหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เพิ่มการศึกษาดูงานในต่างประเทศ การเปิดหลักสูตรใหม่ด้าน Management Information System จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 30% และภาษาไทย 70%

Global Entrepreneurial MBA (GEMBA) เป็นอีกหลักสูตรที่กำลังพัฒนา จะเป็นครั้งแรกที่ธรรมศาสตร์สอนเอ็มบีเอภาคภาษาอังกฤษ และยังเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง Standford University ที่พัฒนาหลักสูตรนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในอินเดียและเยอรมนี จุดเด่นของ GEMBA คือเน้นสร้างผู้ประกอบการอย่างเด่นชัด คาดว่าจะเปิดตัวปี 2550

'นิด้า' จี้พันธมิตรวัดมาตรฐาน

ด้าน รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นว่า การแข่งขันของเอ็มบีเอจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา แต่อยากให้มีหน่วยงานประเมินคุณภาพของหลักสูตรเอ็มบีเอ เพราะขณะนี้เปิดกันมาก บางแห่งผลิตหลักสูตรในเชิงพาณิชย์ และไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร

"เราคุยกับ 4-5 มหาวิทยาลัยของรัฐมา 2 ปีแล้วว่าอยากจะตั้งหน่วยงานประเมินคุณภาพ ถ้าหน่วยงานที่เราฟอร์มทีมขึ้นมา สร้างความน่าเชื่อถือกับบริษัทต่างๆ ได้ ต่อไปมหาบัณฑิตที่จบจากสถาบันที่ไม่ได้รับใบรับรอง เขาจะรู้ว่าคุณภาพอาจจะไม่ดีนัก"

ปัจจัยที่จะทำให้หน่วยงานนี้เป็นจริงขึ้นมา รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ต้องอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีคณาจารย์ที่มีคุณภาพ ตั้งเป็นหน่วยงานอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบ และประเมินผล ถ้าจัดตั้งได้ เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพในภาพรวม ถ้ามีความร่วมมือเกิดขึ้น จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีพัฒนาเกณฑ์วัดคุณภาพต่างๆ ขึ้นมา และหาคณะกรรมการ

ส่วนการแข่งขัน รศ.ดร.ประดิษฐ์ ให้ความเห็นต่อหลักสูตรลูกผสมต่างๆ ว่า ทิศทางความร่วมมือกับเอกชนจะมีมากขึ้น และความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ เพื่อสร้างจุดแข็งให้หลักสูตรเดิมเป็นที่สนใจมากขึ้น จะยังเป็นที่นิยมเช่นกัน ไม่ใช่เพื่อสร้างหลักสูตรใหม่

แต่ปริญญาควบรวมศาสตร์ระหว่างคณะ ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในมหาวิทยาลัยของรัฐ และหลักสูตรควบระหว่างปริญญาตรี-โท และปริญญาโท-เอก ไม่คิดว่าจะเป็นที่นิยมมากนัก เพราะคนที่เรียนระดับปริญญาตรี บางคนยังไม่ได้คิดเรื่องปริญญาโท เช่นเดียวกับบางคนที่เรียนปริญญาโทยังไม่คิดถึงการเรียนระดับปริญญาเอก

สำหรับทิศทางของหลักสูตรที่เจาะตามอุตสาหกรรม มองว่าการบริหารธุรกิจสุขภาพน่าจะเป็นที่นิยม เพราะประเทศไทยได้เปรียบในการดึงดูดชาวต่างชาติในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เพราะบุคลากรที่มีความรู้ธุรกิจยังขาดแคลนอยู่ แต่นิด้ามีแต่คณะด้านสังคมศาสตร์ หลักสูตรที่จะเปิดปีหน้า คือ Financial Engineering จะมีทั้งระดับปริญญาโทและเอก

'เอแบค' คาดนานาชาติมาแรง

ดร. กิตติ โพธิกิตติ ผู้อำนวยการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) วิเคราะห์ว่า ทิศทางการพัฒนาเอ็มบีเอจะเป็นไปตามการแข่งขันของธุรกิจ และนโยบายภาครัฐ เห็นได้จากปีที่ผ่านมาภาครัฐกระตุ้นการสร้างสังคมผู้ประกอบการ ทำให้มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องออกมามาก

ดังนั้นในปี 2549 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ บริษัทต่างประเทศมาร่วมลงทุนในลักษณะ Joint venture มากขึ้น น่าจะทำให้เอ็มบีเอปรับตัวสู่หลักสูตรนานาชาติมากขึ้น

"โปรแกรมนานาชาติ ไม่ได้หมายถึงโปรแกรมที่สอนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ตัวหลักสูตรต้องศึกษาประเด็นระหว่างประเทศ และอาจต้องสอนภาษาจีนด้วย"

ส่วนโปรแกรมที่เป็นภาษาไทย ต้องปรับตัวเช่นกัน ให้เตรียมพร้อมเรื่องความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นการตลาดระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น

นอกจากด้านบริหารธุรกิจ ในปีที่ผ่านมาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอทีก็เปิดมากขึ้น ด้วยนโยบายรัฐสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ นำไอทีมาใช้บริหารจัดการ เชื่อว่าปีนี้จะเห็นพัฒนาการของหลักสูตรที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ไอทีเข้ากับธุรกิจด้วย

สำหรับเอแบคพัฒนาหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ และด้านการประยุกต์ใช้ไอทีกับการบริหารจัดการอยู่แล้ว อีกทั้ง กลางปีนี้มีแผนจะเปิด การบริหารองค์กร และการเปลี่ยนแปลง ภาวะความเป็นผู้นำ ระดับปริญญาเอก

"ปริญญาโท เรามีมา 9 ปีแล้ว เดิมภาพรวมมองเป็นเรื่องของงานบริหารบุคคล ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ตอนนี้คนเข้าใจมากขึ้น เพราะบริษัทอินเตอร์ใช้ และมีการปรับองค์กรมากขึ้น เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการรวมเรื่องเอ็มบีเอ และไอที โดยมีทิศทางขององค์กรและคนเป็นหลัก"

ดร.กิตติ วิเคราะห์กลยุทธ์การจับมือของมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจว่า จะมากขึ้น เพราะตลาดแข่งขันสูง เพราะภาคธุรกิจจะตอบได้ว่านักศึกษามีคุณภาพและใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

แต่อีกสิ่งที่น่าจับตาในปี 2549 คือ การแข่งขันในตลาดเอ็มบีเอค่อนข้างสูงมาก เมื่อใกล้จบเป็นบัณฑิต ตลาดจะบอกเองว่านักศึกษาจากแต่ละสถาบันจะเป็นอย่างไร และการจะออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยรัฐ อาจมีผลกระทบต่อการปรับค่าเรียนขึ้นในอนาคตด้วย

'กรุงเทพ' ฮิตปริญญาควบ

ดร.ลักขณา วรศิลป์ชัย คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การแข่งขันระดับปริญญาโทจะสูงขึ้น เพราะจำนวนมหาวิทยาลัย และหลักสูตรจะมากขึ้น แนวโน้มของผู้สนใจเรียนปริญญาโทใบที่ 2 จะเป็นไปได้สูง แต่อาจจะยังไม่ใช่ปี 2549 นี้ โดยใบแรกอาจเป็นปริญญาเอ็มบีเอทั่วๆ ไป และใบที่ 2 อาจจะเจาะเฉพาะทาง

แต่ถ้าหลักสูตรด้านปริญญาเอกเปิดมากขึ้นไม่ต้องไปต่างประเทศ แนวโน้มคนจะสนใจมากกว่าปริญญาโทใบที่ 2 แต่ขึ้นกับระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และทัศนคติ เพราะคนมองว่าปริญญาเอกใช้เวลา และค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่การแข่งขันมักก่อให้เกิดสถานการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค น่าจะทำให้เอ็มบีเอกระจายมากขึ้น แนวโน้มคนต่างจังหวัดจะเข้ามาเรียนที่กรุงเทพอย่างที่เคยเป็นน่าจะลดลง จึงจะมีการปรับหลักสูตรเก่า และการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ให้โดดเด่นตลอด

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยอาจใช้กลยุทธ์เรื่องการปรับเวลาให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น รวมถึงจำนวนหน่วยกิตที่อาจจะน้อยลง ทำให้เกิดหลักสูตรที่สอนเสาร์-อาทิตย์มากขึ้น

ดร.ลักขณา ให้ความเห็นต่อกลยุทธ์ตลาดเฉพาะทางไว้ 2 แนวทางที่น่าสนใจ คือ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียง เห็นว่า หลักสูตรเฉพาะทางเพื่อสร้างนักวิชาชีพจะมีมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนจะเน้นไปที่ตลาดหลักสูตรเฉพาะทาง ที่เจาะเป็นอุตสาหกรรม เพราะเอกชนมีฐานกลุ่มเป้าหมายกว้างกว่ารัฐ

สำหรับหลักสูตรควบ สิ่งที่น่าสนใจน่าจะเป็นหลักสูตรปริญญาควบระหว่างคณะ อย่างเช่นนม.กรุงเทพ มีวิศวกรรมควบเอ็มบีเอ ซึ่งเปิดมา 2 ปีแล้ว นักศึกษาจะเรียนระดับปริญญาตรีของวิศวะ และมาเรียนต่อเอ็มบีเอจบภายใน 5 ปี คิดว่าอนาคตจะมีปริญญาตรีที่มาควบอีก ความเป็นไปได้ขณะนี้ คือหลักสูตรบัญชีควบเอ็มบีเอ และหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ควบเอ็มบีเอ ซึ่งคิดว่าเร็วๆ นี้ น่าจะเริ่มพัฒนาหลักสูตรมากขึ้น

ด้านการพัฒนาอื่นๆ นั้น ดร.ลักขณา กล่าวว่าจุดแข็งของเอ็มบีเอ คือ มีการพัฒนาวิชาเลือกใหม่ๆ ที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา วิชาใหม่ๆ ที่จะเพิ่ม เช่น การตลาดบนอินเทอร์เน็ต การวางแผนผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้ภารกิจที่ต้องทำมากขึ้น คือ การสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ เพราะขณะนี้เห็นโอกาสที่จะนำโนว์ฮาวของต่างประเทศมาสร้างความโดดเด่นให้หลักสูตรได้อีกมาก เชื่อว่าเป็นทิศทางที่หลายสถาบันดำเนินการอยู่เช่นกัน แต่ขึ้นอยู่ว่าสถาบันใดจะเห็นโอกาสก่อน และสามารถพัฒนาให้มีจุดที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น

หอการค้าฯ ระบุดอกเตอร์จะเฟ้อ

รศ.ดร. ฌานธิกา พรพิทักษ์พันธุ์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นคล้ายๆ กับอีกหลายสถาบันที่มองว่า การแข่งขันของเอ็มบีเอยังรุนแรงขึ้นทุกปี เพราะซัพพลายในตลาดมีมาก และเริ่มมีมหาวิทยาลัยต่างชาติที่สอนผ่าน eLearning เข้ามาเจาะตลาดในไทยด้วย แต่ เนื่องจากข้อกำหนดของสกอ. ที่ออกมากำหนดจำนวนอาจารย์ประจำต่อหลักสูตร และกรรมการหลักสูตร จึงทำให้การเปิดเอ็มบีเอไม่ได้ง่ายอย่างในอดีต

อย่างไรก็ดี การที่มหาวิทยาลัยรัฐเตรียมออกนอกระบบ ทำให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐน้อยลง จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยรัฐอาจเพิ่มจำนวนหลักสูตร เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ และผลิตหลักสูตรเฉพาะทาง มาตอบสนองความต้องการเฉพาะเหมือนที่มหาวิทยาลัยเอกชนทำ ซึ่งการแข่งขันจึงยิ่งสูงขึ้น

ในส่วนของหลักสูตรระดับปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจ ที่เปิดกันมากขึ้น มองว่า หลักสูตรที่เน้นวิจัยในระดับนานาชาติได้ยังมีน้อย ส่วนใหญ่เปิดเพื่อรองรับนักธุรกิจที่ต้องการเป็นด๊อกเตอร์ เพื่อสถานภาพและความน่าเชื่อถือทางสังคม แต่ไม่ได้มุ่งหวังจะเป็นนักวิชาการและนักวิจัย ซึ่งตอนนี้มีดีมานต์จำนวนมาก คาดว่าหลักสูตรเพื่อสนองกลุ่มนี้จะทยอยเปิดออกมาเรื่อยๆ จนในที่สุดการแข่งขันจะสูงเช่นเดียวกับตลาดเอ็มบีเอ

สำหรับแนวโน้มของเอ็มบีเอ เชื่อว่าหลักสูตรเฉพาะวงการจะมากขึ้น และจะเป็นหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างชาติโดยได้รับปริญญาจากสองสถาบัน การเปิดหลักสูตรปริญญาควบ เช่น ตรีควบโท โทควบเอก ตรีควบเอก วิศวกรรมศาสตร์ควบบริหารธุรกิจ และการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปเรียนในต่างประเทศกับสถาบันพันธมิตร จะเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านๆ มา

ในส่วนของ ม.หอการค้าไทย โปรแกรมที่จะเปิดเพิ่มขึ้นยังคงเจาะตลาดเฉพาะเช่นเคย โดยจะเพิ่มสาขาวิชาเอกในหลักสูตร CEO MBA อีก 2 สาขา คือ การจัดการธุรกิจจีน และการจัดการธุรกิจที่เป็นไฮเทค ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิดสอนระดับปริญญาเอก คาดว่าจะเป็นหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ที่จะเน้นสร้างนักวิชาการ และนักวิจัยทางด้านบริหารธุรกิจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.