สิทธิการเข้ารับการรักษา ความหวังที่เห็นอยู่รำไร

โดย ฐิติเมธ โภคชัย จารุสุดา เรืองสุวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าบรรดาผู้ประกอบการที่มีเงินทุนหนาๆ ทั้งหลายจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลกันมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะความเจ็บป่วยไม่สามารถห้ามกันได้ ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้มีหน้าใหม่ๆ เปิดร.พ.กันอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งทางหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรงคือกองประกอบโรคศิลป์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องเหนื่อยหนักขึ้นไปอีกในการเข้าตรวจตราและสอดส่องให้สถานพยาบาลนั้นมีความเหมาะสมต่อการดูแลผู้ป่วยมากที่สุด ปัจจุบันกองกำกับโรคศิลป์อยู่ภายใต้การดูแลของ น.พ.ทรงยศ ชัยชนะ ในฐานะผู้อำนวยการ

"หน้าที่หลักคือออกใบอนุญาต ดูแลและกำหนดมาตรฐานซึ่งเรามี พ.ร.บ.สถานพยาบาล ปี 2504 เป็นมาตรฐานในการดูแลข้อกำหนดในพ.ร.บ.นี้จะเน้นเพียงสิ่งแวดล้อม ความสะอาด และกำหนดอย่างกว้างๆ ว่าเหมาะสำหรับการดูแล รักษาผู้ป่วยหรือไม่

เพื่อป้องกันให้ผู้ป่วยได้รับการบริการในสถานที่ที่เหมาะสมและถูกต้องตามข้อกำหนด หน่วยงานนี้จะมีหน้าที่ในการออกพื้นที่ไปตรวจตามร.พ.ต่างๆ ด้วย แต่เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนร.พ.มีเป็นจำนวนมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ของทางราชการมีไม่เพียงพอ จึงทำให้ในระยะหลังนี้การออกตรวจสถานพยาบาลเริ่มซาน้อยลง และไม่ทั่วถึง ซึ่งในเรื่องนี้ ทางกองประกอบโรคศิลป์เองก็ตระหนักดีจึงได้มีการแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจออกไปในส่วนที่เป็นพื้นที่ต่างจังหวัด

"เนื่องจากต้องไปตรวจโรงพยาบาลแห่งใหม่อยู่เรื่อยๆ เราได้แก้ไขด้วยวิธีการกระจายอำนาจออกไป เช่น ในต่างจังหวัดก็ให้สาธารณสุขจังหวัดรับผิดชอบ ซึ่งจะครอบคลุมมากขึ้น"

โดยทีมงานที่จะออกไปตรวจนั้นจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ แพทย์ เภสัชกรและพยาบาล โดยแพทย์จะเข้าไปดูระบบวิธีการรักษา เภสัชกรจะดูทางด้านข้อกฎหมาย ด้านข้อมูลต่างๆ ส่วนพยาบาลจะเข้าไปตรวจตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล ที่เป็นเช่นนั้น น.พ.ทรงยศได้ให้เหตุผลว่า

"เพราะพยาบาลถือว่าเป็นผู้ที่ต้องดูแลคนไข้และประจำอยู่ในโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนลักษณะการเข้าไปตรวจนั้นเราจะดูในแง่พื้นฐานเท่านั้น เพราะในการปฏิบัติงานจริงๆ ต้องขึ้นอยู่กับคนที่ทำงานด้วย แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ไปดู"

ปัจจุบัน ทางกองประกอบโรคศิลป์ ได้เริ่มที่จะเอาจริงเอาจังมากขึ้น โดยได้มีการจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ภาคสนาม เพื่ออกตรวจตามร.พ.ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 10 ทีมๆ ละ 3 คน ซึ่งก่อนที่จะออกตรวจนั้นจะต้องมีการแจ้งให้ร.พ.นั้นๆ รับทราบก่อน

อย่างไรก็ตาม ตามสถิติเท่าที่ผ่านมา พบว่าการกระทำผิดของสถานพยาบาลตามพ.ร.บ.นั้น มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบของข้อกฎหมาย แม้ว่าในบางแห่งยังมีจำนวนบุคลากรไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนเตียง แต่ก็ได้รับการยืดหยุ่น เพราะทางกองฯตระหนักดีถึงเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในเรื่องนี้ทางภาคเอกชนก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับอย่างเช่นพญาไท ก็ได้ใช้มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นฐานในการผลิตบุคลากร ขณะที่ร.พ.อีกหลายแห่งก็มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพนักงานขึ้นมาภายใน และมีการส่งพนักงานไปดูงานและศึกษาต่อต่างประเทศ

"เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวทางการแก้ปัญหาของเราคือ ต้องเข้าไปดูที่ระบบของแต่ละโรงพยาบาลประกอบด้วย เช่น ความปลอดภัยและความสามารถของเขาว่า เมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจะหาบุคลากรเพิ่มได้หรือไม่ เพราะข้อกฎหมายบางอย่างเราไม่มี เช่น ห้องฉุกเฉินเราไม่มีข้อกำหนดว่าต้องมีบุคลากรประจำกี่คน ดังนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและตามสภาพของแต่ละโรงพยาบาล" น.พ.ทรงยศ เล่า

สำหรับมาตรฐานของราคา น.พ.ทรงยศ กล่าวว่า มาตรฐานการควบคุมด้านราคายังไม่มีกฎหมายที่แน่ชัด เพียงแต่ได้เข้าไปให้คำแนะนำเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นเรื่องจรรยาบรรณ

"เราเข้าไปในลักษณะที่ว่าเขาเก็บค่ารักษาเหมาะกับโรคนั้นเพียงไร รักษาดีและปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาการร้องเรียนเรื่องราคามีน้อยมาก"

ในเรื่องของบทลงโทษผู้กระทำผิด จะเป็นการลงโทษทางวิชาชีพ คือพักใบอนุญาต และลงโทษทางอาญาและทางแพ่ง แต่การลงโทษโดยยึดใบอนุญาตคืนนั้น ปัจจุบันไทยยังยืดหยุ่นกว่าต่างประเทศ เพราะบุคลกรยังขาดแคลน

"เอกชนในบ้านเรามีสิทธ์ตามรัฐธรรมนูญ การที่จะทำอะไรกับเอกชนเราต้องมีอำนาจ แต่ขณะนี้เราไม่มีเพราะไม่มีกฎหมาย จะไปทำอะไรเขาได้"

ความล้าสมัยของกฎหมาย และการไม่มีอำนาจของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ได้กลายเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาโรคของผู้บริโภค ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เล็งเห็นและได้มีการผลักดันให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.สถานพยาบาล ปี 2504 ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่แล้ว โดยพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ เนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินกิจการสถานพยาบาล การเลิก การย้าย การเปิดสถานพยาบาล การเพิกถอนในอนุญาตและการโฆษณากิจการของสถานพยาบาล

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานพยาบาลประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่รัฐมนตรี หรือผู้อนุญาตในเรื่องการออกกฎกระทรวง การอนุญาต การปิดและเพิกถอนใบอนุญาต การพัฒนาคุณภาพในสถานบริการ การควบคุมหรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการสถานพยาบาล

3. กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

4. กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุมดูแลสถานพยาบาล

5. กำหนดเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้ครอบคลุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น

6. ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินกิจการการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

"กฎหมายใหม่นี้ค่อนข้างดี เราจะให้อำนาจกับกรรมการในการออกประกาศข้อกำหนดซึ่งประกาศข้อกำหนดไม่ต้องแก้กฎหมาย ดังนั้นเราสามารถออกได้ทันทีและทันสมัยได้ตลอดเวลา แต่ว่าตัวแม่ต้องออกมาก่อน" น.พ.ทรงยศ กล่าว

ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ในระหว่างการนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา เพื่อลงมติประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ก็ได้แต่หวังว่าพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะออกมาใช้ได้ในเวลาอันใกล้นี้ เพราะนี่คืออาวุธสำคัญในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน และสามารถควบคุมจรรยาบรรณของสถานพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย ก็ขอฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดนี้อย่าให้

กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.