สปายฯเสียศูนย์อาร์ทีดีปีจอสุดซบส่งลูกฮึดชูธุรกิจไวน์บาลานช์ยอด


ผู้จัดการรายวัน(9 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สยาม ไวน์เนอรี่ ประกาศแผนปี 49 ปักธงปั้นธุรกิจไวน์โกยรายได้เพิ่ม ระบุปัจจัยบวกหนุนโอกาสตลาดไวน์โตพรวด ส่วนอาร์ทีดีส่อเค้าโตน้อย เจียดงบ 6 ล้านบาทผุดสื่อโฆษณาคอร์ปอเรตสร้างแบรนด์ครั้งแรกรอบหลายปี พร้อมเร่งขยายช่องทางจำหน่ายเต็มสูบ ปี 49ตั้งเป้ายอดขายไวน์โต 30%

แหล่งข่าวจาก บริษัท สยาม ไวน์เนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไวน์ยี่ห้อ"มอนซูน แวลลี่ย์" และสปาย ไวน์คูลเลอร์ เปิดเผยกับ"ผู้จัดการรายวัน"ว่า แนวทางการตลาดปี2549 บริษัทได้เตรียมรุกธุรกิจไวน์มากขึ้น โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจไวน์จาก 20% เป็น 30% ส่วนสปาย ไวน์คูลเลอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ปรับสัดส่วนลดลงจาก 80% เหลือเป็น 70% ทั้งนี้เป็นเพราะแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์พร้อมดื่มโดยรวมหรืออาร์ทีดี ซึ่งแบ่งเป็น ตลาดไวน์คูลเลอร์มูลค่า 2,000 ล้านบาท และตลาดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม 1,000 ล้านบาท ในปี2549มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวใกล้เคียงกับปี 2548

เมื่อเทียบกับทิศทางตลาดไวน์นำเข้าและภายในประเทศตัวเลขในเชิงปริมาณ 16 ล้านลิตรในปี2549 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดี เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สอดรับกับกระแสสุขภาพ อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกที่เป็นตัวบ่งชี้ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองเริ่มหันมาดื่มไวน์เพิ่มขึ้น และกลายเป็นสินค้าที่ไม่ได้ไกลตัวเกินไปสำหรับคนไทย เพราะด้วยโครงสร้างราคาที่ถูก ทำให้หาซื้อได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งสินค้านำเข้ายังมีให้เลือกหลากหลาย ไวน์จึงเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเซกเมนต์หนึ่ง ที่กลายเป็นทางเลือกสำหรับคนไทย และเริ่มขยายฐานจากกลุ่มเป้าหมายหลัก 35 ปีขึ้นไป สู่กลุ่มที่เริ่มทำงานอายุ 27 ปีขึ้นไป

ล่าสุดบริษัททุ่มงบ 6 ล้านบาท เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาในเชิงคอร์ปอเรตในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นการนำร่องก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างแบรนด์ครั้งแรกในรอบหลายปีของธุรกิจไวน์ จากก่อนหน้านี้การทำตลาดไวน์จะเป็นลักษณะเงียบๆ โดยไม่มีการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ แม้ว่าเนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณา จะเน้นในเรื่องการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นหลัก แต่ในทางอ้อมสยามไวน์เนอรี่จะได้ในแง่ภาพลักษณ์ รวมทั้งถือโอกาสสร้างตราสินค้าไปในตัว

แผนการตลาด บริษัทจะเริ่มให้ความสำคัญกับทำตลาดไวน์ภายในประเทศมากขึ้นในปี2549 ควบคู่กับการทำตลาดต่างประเทศ จากที่ผ่านมาการทำตลาดไวน์จะเน้นส่งออก 60% ส่วนตลาดภายในประเทศ 40% ภายใต้ไวน์ทั้งหมด 8-10 ตัว ในเบื้องต้นภายในประเทศได้เตรียมขยายช่องทางจำหน่ายทุกช่องทาง ทั้งในส่วนร้านอาหาร โรงแรม และโมเดิร์นเทรด รวมทั้งเพิ่มฐานลูกค้าที่เป็นไพรเวทมากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศจะเน้นรักษาฐานลูกค้า ควบคู่กับการทยอยขยายฐานลูกค้าใหม่ จากปัจจุบันมีทั้งหมด 13 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ฯลฯ

ด้านการแข่งขันตลาดไวน์ภายในประเทศ ไวน์นำเข้ายังคงเป็นคู่แข่งรายหลัก ประกอบด้วย ไวน์ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และไวน์โลกใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ดื่มคนไทยยังคงยึดติดกับการดื่มไวน์นำเข้ามากกว่าที่จะดื่มไวน์จากผู้ผลิตไทย ขณะที่ผู้ผลิตไวน์ในประเทศมีเพียง 7 รายใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มชาละวันของสนั่น ขจรประศาสน์,ชาโต เดอ เลย ฯลฯโดยบริษัทไม่ได้มองว่าผู้ผลิตในประเทศเป็นคู่แข่ง แต่กลับถือว่าเป็นกลุ่มที่ช่วยสร้างตลาดและผลักดันไวน์ไทยให้มีอัตราการเติบโตมากกว่า

ผลประกอบในปี 2549 ธุรกิจไวน์ตั้งเป้ามีอัตราการเติบโต 30% เมื่อเทียบกับปี 2548 บริษัทมีอัตราการเติบโต 20%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.