|
ปฏิบัติการยึดน่านฟ้า “โลว์คอส”ปี'49...ใครคือจุดอ่อน?
ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ใครจะรู้ว่าเพียงระยะเวลาแค่ปีกว่าๆ สายการบินโลว์คอสจะมีอิทธิพลมากเสียจนกระทั่งสามารถขึ้นมาผงาดต่อกรกับสายการบินยักษ์ใหญ่อย่างการบินไทยได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่สายการบินราคาถูกยังคงมัวแต่มุ่งห้ำหั่นกันเฉพาะเรื่องของราคาถูกเพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะมาถึงจุดอิ่มตัวแล้วก็เป็นได้ การเปิดเส้นทางบินใหม่ ให้ครอบคลุมทุกจุดหมายปลายทางคือหนทางหนึ่งที่จะทำกำไรให้กับสายการบินได้ในอนาคต เพื่อสร้างความจงรักภักดีลูกค้าให้เกิดขึ้นกับธุรกิจการบินของตัวเอง ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่เหล่าบรรดาโลว์คอสต์หันมาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ความชัดเจนเริ่มเห็นกันมากยิ่งขึ้น เมื่อสองสายการบินอย่าง นกแอร์ และไทยแอร์เอเชียต่างหาช่องทางเพื่อเปิดบินเส้นทางใหม่ โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคอินโดจีน เป็นจุดหมายปลายทางระยะสั้นมีความโดดเด่นและน่าสนใจในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับสมรรถนะของเครื่องบินที่ใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง
การแข่งขันแม้จะมีการเพิ่มเส้นทางบินในประเทศแต่สำหรับต่างประเทศแถบอินโดจีนก็ยังคงรักษารูปลักษณ์ในเรื่องของราคาถูกไว้ สอดคล้องกับการเปิดเส้นทางบินกรุงเทพ – มาเก๊า ของไทยแอร์เอเชียที่เริ่มต้นด้วยราคา 1,499 บาท ขยายไปยังเส้นทางบินกรุงเทพ – ฮานอย และพนมเปญ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 999 บาท เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสายการบินไทยแอร์เอเชีย หันไปกระจายความเสี่ยงในการธุรกิจการบินด้วยการเปิดตลาดเส้นทางนอกประเทศควบคู่ไปกับการขยายเส้นทางบินภายในประเทศให้ครอบคลุม
นกแอร์การตลาดของ TG
หากดูเส้นทางบินภายในประเทศยังมีอยู่อีกหลายเส้นทางที่การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งยังคงเข้าไปไม่ถึงสำหรับบางสายการบิน ทั้งๆที่มีศักยภาพความพร้อมที่จะรุกตลาดภายในประเทศเต็มที่ แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างและเป็นธุรกิจที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทำให้ธุรกิจการบินโลว์คอสจึงต้องร้องเพลงรอต่อไป
การเข้ามาของไทยแอร์เอเชีย เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยเฉพาะมีบริษัท ชินคอร์เปอร์เรชั่น (จำกัด) มหาชนถือหุ้นด้วยแต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่มากนัก ขณะที่สายการบินคู่แข่งอย่างนกแอร์กลับได้รับอาณิสงค์ของการบินไทยอยู่เนืองๆเพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คอยหนุนหลังเรื่องของการให้เส้นทางบินภายในประเทศ
สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า“เพื่อการพัฒนาสายการบินนกแอร์ ให้ประชานชนในพื้นที่ยอมรับนั้น ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ว่านกแอร์คือบริษัทลูกของการบินไทยที่มีมาตรฐานเรื่องเครื่องบิน การซ่อมบำรุง ไม่ต่างจากการบินไทย เพราะเครื่องบินที่ใช้เป็นของการบินไทยทั้งหมด และเรื่องการดูแลก็ใช้ฝ่ายช่างของการบินไทยดูแลเช่นกัน” วันชัย ศาลทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนามคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
แต่เผอิญช่วงที่ผ่านมาการเปิดให้บริการของนกแอร์ในเส้นทางบินเดิมที่การบินไทยเคยบินอยู่ ยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยว และคนในพื้นที่นั้น ๆเท่าไรนัก ดูได้จากกรณีที่ทางการบินไทยจะยกเลิกเที่ยวบินเชียงใหม่ –แม่ฮ่องสอน ปล่อยให้นกแอร์เข้าไปบินแทน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่าออกไปและเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะขาดทุนของ ทีจี
ขณะที่นกแอร์ยังคงถูกต่อต้านจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน ด้วยการอ้างอิงว่าดีเลย์บ่อยเป็นการบีบทีจีทางอ้อมเพื่อไม่ให้นกแอร์ได้เส้นทางนี้ไป และล่าสุด ทีจี ก็ยอมแพ้และยังคงเปิดให้บริการเที่ยวบินเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน จำนวน 3 เที่ยวต่อวัน
ในขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงภายในสายการบินนกแอร์ ได้เคยฟันธงไว้ว่า เส้นทางการบินภายในประเทศทั้งหมดที่การบินไทยเคยให้บริการอยู่ จะส่งมอบต่อให้สายการบินนกแอร์เข้ามาดำเนินการแทนในอนาคต โดยจะค่อย ๆ เป็นไปและเมื่อทุกลงตัว ทีจีก็พร้อมที่จะถอยออกมาเพื่อไปเล่นตลาดในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลแทน ขณะเดียวกัน ทีจี ก็จะยังคงมีเครื่องบินสำรองไว้อำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางด้วยสายการบินโลว์คอสด้วยเช่นกัน
A320 ภาพลักษณ์ใหม่ของแอร์เอเชีย
การบริหารจัดการของธุรกิจสายการบินเพื่อลดต้นทุนในการบินแต่ละครั้งให้มีรายจ่ายน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะนิยมเช่าเครื่องบินจากสายการบิน Conventional ที่ปลดระวางแล้วมาใช้งานต่อ และนั่นหมายถึงวิธีการลดต้นทุนในธุรกิจการบินอีกวิธีหนึ่ง
สายการบินนกแอร์ แม้ว่าจะเป็นสายการบินน้องใหม่ที่เกิดหลังสุด แต่ก็ยังคงเช่าเหมาเครื่องบินของการบินไทยมาทำธุรกิจ ส่งผลให้ในช่วงเปิดตัวของสายการบินนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความไม่ปลอดภัย เพราะใช้เครื่องบินเก่าจากการบินไทยมาให้บริการ แม้จะช่วยลดต้นทุนการบินแต่การใช้เครื่องเก่ามาให้เปิดบริการก็คือทางเลือกเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
ในที่สุดแอร์เอเชีย หันมาปรับภาพลักษณ์ใหม่ของวงการบินราคาถูก ด้วยการซื้อฝูงบินนกเหล็กใหม่ทั้งชุด เป็นเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ตามโครงการแล้วจะมีทั้งหมด 100 ลำ คิดเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและให้บริการของสายการบินแอร์เอเชียทั้งหมด
“การนำเครื่องบินใหม่มาเสริมในครั้งนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษา ที่ตอนนี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 17-20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับเบื้องต้นคาดว่าการซื้อฝูงบินแอร์บัส 320 ใหม่นี้จะช่วยลดค่าซ่อมบำรุงรักษาได้ 3-5 %” นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทางสายการบินแอร์เอเชียเลือกที่จะซื้อเครื่องบินใหม่มาให้บริการ ทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด กล่าว
การซื้อฝูงบินแอร์บัส 320 ใหม่ทั้งหมด 100 ลำครั้งนี้ จะแบ่งให้ประเทศไทย 20 ลำ โดยเครื่องบินใหม่นี้จะสามารถเริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยได้จริงอีก 12 เดือนและเพื่อความปลอดภัยต้องใช้เวลาในการฝึกนักบินและพนักงานบริการบนเครื่องบินให้เกิดความคุ้นเคยกับเครื่องบินใหม่ก่อน
การซื้อเครื่องบินใหม่มาให้บริการในเส้นทางบินยังช่วยลดต้นทุนในเรื่องการซ่อมบำรุงได้อีก แต่ด้วยความที่เครื่องบินแอร์บัส 320 มีที่นั่งถึง 180 ที่นั่งซึ่งมากกว่าที่นั่งของเครื่องบินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีแค่เพียง 148 ที่นั่ง ดังนั้นเครื่องบินใหม่นี้จะช่วยเพิ่มยอดผู้โดยสารต่อเที่ยวบินได้มากขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวลดลง ในขณะที่เครื่องบินที่ทางสายการบินนกแอร์ยังคงใช้เครื่องโบอิ้ง B737-400 มี 150 ที่นั่งทำการบินอยู่
ภาพลักษณ์ใหม่ที่ได้จากการซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 มาให้บริการของสายการบินแอร์ เอเชีย ครั้งนี้ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่บินกับสายการบินแอร์ เอเชีย รู้สึกมั่นใจในความปลอดภัย อย่างน้อยเครื่องบินใหม่ในการรับรู้ของนักท่องเที่ยวย่อมปลอดภัยกว่าเครื่องบินเก่าแน่นอน
ปฏิบัติการใช้เครื่องบินใหม่จะหมายถึงการยัดเยียดตำแหน่ง รวมถึงภาพลักษณ์ของสายการบินนกแอร์ให้จมอยู่กับ ‘ความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากใช้เครื่องบินแบบเก่า’หรือไม่?...ถึงแม้ทุกครั้งที่นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยเครื่องบินของสายการบิน นกแอร์ และมักจะถูกให้ข่าวว่ามาตรฐานดูแลบนเครื่องนกแอร์เทียบเท่าการบินไทยก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นยังคงต้องใช้เวลาเป็นบทพิสูจน์และให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปกับสายการบินเหล่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจกันเองว่าจะไปกับใคร?....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|