ศึกชิงอำนาจบริหาร'บลูแคนยอน'ยืดเยื้อ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กลายเป็นเรื่องฟ้องร้องกันไม่จบไม่สิ้น สำหรับกรณีของสนามกอล์ฟ บลู แคนยอน คันทรี่คลับ จ.ภูเก็ต สนามกอล์ฟ ขนาด 18 หลุม 2 สนาม บนพื้นที่กว่า 1,800 ไร่ ที่มีชื่อเสียงติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย มูลค่า 8,000 ล้านบาท และมีนักกอล์ฟจากทั่วโลก มาออกรอบกันจนสนามแน่นเกือบทุกวัน

ปัจจุบันปัญหาต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ ในทางตรงกันข้ามกลับลุกลามใหญ่โต กับคดีการฟ้องร้องระหว่างผู้บริหารชุดเดิมที่มีหัวเรือใหญ่คือ เรวัต จินดาพลผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท มิวเร็กซ์ จำกัด เจ้าของสนามกอล์ฟ บลูแคนยอน คันทรี่ คลับ ภูเก็ต กับผู้บริหารชุดใหม่ นำโดยเซีย เลง เยิน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและประธานกรรมการบริหาร ยังไม่จบสิ้น

อยู่ๆ ดอยซ์แบงก์ธนาคารสัญชาติเยอรมัน โดยมอร์แกน เอ.ลอแลงก์ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายภูมิภาคเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่น ดีบี เรียลเอสเตท-เอเชีย ในส่วนธุรกิจบริหารเงินทุนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ของดอยช์แบงก์ ก็ออกมาประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะลงทุนร่วมกับเซีย เลง เยิน ซึ่งจะนำเงินมาลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้ให้กับรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) เจ้าหนี้รายใหญ่

อีกส่วนหนึ่งจะลงทุนพัฒนาสนามกอล์ฟ ปรับปรุงคลับเฮ้าส์ สปา พื้นที่ส่วนกลาง และวิลล่าหรูหรา ริมสนามกอล์ฟบลู แคนยอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะสรปุผลได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ หลังจากที่ดอยช์แบงก์ใส่เม็ดเงินเข้าไปในสนามกอล์ฟ จะทำให้ดอยช์แบงก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทันที ขณะที่กลุ่มเซีย เลง เยิน จะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 2 เท่านั้น

"ก่อนหน้านี้ดอยช์แบงก์ได้เจรจากับกลุ่มเซีย เลง เยินมาตลอดในช่วง 2 -3 ปีก่อน และก็สรุปผลการเจรจาลงตัวที่ดอยช์แบงก์จะนำเงินมาร่วมลงทุน 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์เคยมาลงทุนในเอวาซอล ผ่านอาร์อาร์อีอีเอฟ โกลบอล ออพพอทูนิตี้ส์ ฟัน ทู แล้ว โดยดอยช์แบงก์ถือหุ้น 60% นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในเอวาซอล หัวหิน ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 49%"

คดียังไม่สิ้นสุด

สำหรับความคืบหน้าของการฟ้องร้องเรื่องดังกล่าว เรวัต จินดพล ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหาร บริษัท มิวเร็กซ์ กล่าวว่า ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด อยู่ในกระบวนการของศาลรวม 8 คดี โดยอยู่ที่ศาลภูเก็ต 3 คดี ได้แก่

1.ฟ้องเซีย เลง เยิน เป็นจำเลย ข้อหา กระทำความผิดพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

2. ฟ้องเซีย เลง เยิน ,บริษัท บี ซี กอฟล์ รีสอร์ท เมเนจเมนท์ กับพวก ข้อหา สนับสนุนปลอมเอกสารราชการ ยักยอก และผู้บริหารแผนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และ 3 ฟ้องเซีย เลง เยิน บริษัท บลูแคนยอน โฮลดิ้งส์ (ไทยแลนด์) ข้อหา เพิกถอนหุ้นในบริษัทจำกัด และมอบหุ้นคืน ซึ่งศาลได้รับฟ้อง เพราะคดีมีมูล คาดว่าจะเริ่มพิจารณาคดีได้ในปี 2550 เนื่องจากมีคดีในศาลจ.ภูเก็ตจำนวนมาก ทำให้การตัดสินใจต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่จะพิจารณาในปีนี้

ส่วนคดีที่อยู่ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มี 2 คดี ได้แก่ 1. ฟ้องบริษัท บี ซี กอฟล์ รีสอร์ท เมเนจเมนท์ จำกัด เซีย เลง เยิน กับพวก ข้อหาผู้บริหารแผนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และยักยอกทรัพย์ และ2.ฟ้องบริษัท มิวเร็กซ์ กับพวก ข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร ,ใช้เอกสารปลอม กระทำผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน ซึ่งคาดว่าคดีที่ 2 จะจบในเดือนม.ค. นี้

นอกจากนี้ยังมีคดีอยู่ที่ศาลล้มละลายกลางอีก 2 คดี ได้แก่ 1.โฮ แรม แฮค ลุง ผู้บริหาร บลูแคนยอน พร็อพเพอร์ที่ จำกัด อุทธรณ์คำสั่งชั้น พิพากษาขอให้บริษัทบี ซี กอฟล์ รีสอร์ท เมเนจเมนท์ พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารแผน 2 .ขออนุญาติอุทธรณ์ คำสั่ง ชั้นพิจารณา ขอให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งศาล ได้ตัดสินยกฟ้องเมื่อประมาณเดือนส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา แต่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม จึงได้ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาอีกครั้งเมื่อประมาณเดือนพ.ย.48 และ 3.คดีการแก้ไขแผนฟื้นฟู

เตือนนักลงทุนเสียเงินฟรี

ดังนั้น เรวัต จึงเกรงว่ากลุ่มผู้ร่วมทุนรายใหม่ และรายที่กำลังจะเข้ามา รวมถึงผู้ที่จะเข้ามาซื้อวิลล่า และอาจจะไม่รู้ว่า ยังมีการฟ้องร้องกันอยู่ และหากกลุ่มเรวัต ชนะคดี นิติกรรมทุกอย่างที่เกิดในช่วงที่มีการฟ้องร้องเป็นโมฆะ ทำให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนไม่มีสิทธิ์ตามที่เข้ามาลงทุน

สำหรับเรวัต ในอดีตเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 65% แต่หลังจากที่มีการเพิ่มทุน ทำให้มีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 4% ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องร้องเพื่อทวงสิทธิ์การกลับเข้าไปเป็นผู้บริหารเหมือนเดิม เพราะมีหลักฐานว่าการเพิ่มทุนครั้งที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มทุนปลอม

ส่วนความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการนั้น เซีย เลง เยิน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผน คาดว่าในราวไตรมาสแรกปี 2549 จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้

ด้านไฮ แรม แฮค ฮุง กรรมการ บริษัท เซ้าท์ อีเกิ้ล โฮลดิ้ง จำกัด และผู้บริหารบริษัท บลู แคนยอน พร็อพเพอร์ที่ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากเกาหลีที่เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท มิวเร็กซ์ ในช่วงก่อนเพิ่มทุน กล่าวว่า เซีย เลง เยิน ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้บริหารแผนที่แท้จริง เพราะไม่มีการดูแลผลประโยชน์ให้กับเจ้าหนี้ ทางตรงกันข้างกับทำให้ผลประโยชน์ของเจ้าหนี้หายไป และสร้างผลประโยชน์ให้กับเซีย เลง เยิน เอง

ทั้งนี้จากการกระทำดังกล่าวของเซีย เลง เยิน หากไม่มีการเมืองเข้าแทรก เชื่อว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจะชนะคดีแน่นอน และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจะส่งหนังสือชี้แจงข้อมูลเตือนไปยังกลุ่มผู้ร่วมทุนใหม่ คือ ดอยซ์แบงก์ให้ทราบถึงการเพิ่มทุนที่เป็นเท็จ และคดีต่างๆ ที่พัวพันกับบริษัทที่ดอยซ์แบงก์กำลังจะเข้ามาลงทุนด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.