โรส สลัดภาพวิดีโอเกรดบี ขอผงาดคับตลาดหลักทรัพย์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กางแผนเส้นทางสู่ผู้นำธุรกิจโฮมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ของ โรส วิดีโอ จัดทัพใหม่ ล้างภาพเดิม ๆ ชูถือลิขสิทธิ์แนวกว้างรองรับความต้องการของทุกคนในครอบครัว พร้อมบริหารสิทธิ์แนวลึก ขายเรียบทั้งโรงหนัง วีซีดี เคเบิลทีวี ฟรีทีวี บรอดแบนด์ และเมอร์เชนไดส์ พร้อมประกาศความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ทันทีเมื่อมั่นใจว่าจะสามารถต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะส่งให้บริษัทเติบโตไม่หยุดนิ่งได้

ชื่อของโรส วิดีโอ ในใจผู้บริโภคอาจไม่ใช่ภาพที่สวยงามนัก โรสวิดีโอ คือผู้จำหน่ายวีซีดีหนังฮอลลีวู้ดเกรดบี และหนังสารพัดเจ้าพ่อจากฮ่องกง โรสวิดีโอ คือ ผู้ผลิตวีซีดีคาราโอเกะ ตลก ลิเก ที่รองรับตลาดล่าง โรสวิดีโอ คือ กะบะขายแผ่นวีซีดีการ์ตูน ราคาถูก 19 บาท 25 บาท ที่มีอยู่ตามดิสเคาท์สโตร์

แต่แล้วพีรพล มนต์พิชิต หัวเรือใหญ่ที่เป็นผู้ก่อกำเนิดโรส วิดีโอ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ก็ประกาศก้าวใหม่ปิดท้ายทศวรรษที่ 2 ด้วยการพาโรส ขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจโฮมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ครบวงจร ในประเทศไทย และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลายคนอาจไม่เชื่อ เพราะยังไม่เคยเห็นโรดแมปสู่ปลายดอกกุหลาบที่สุดหอมหวนของโรสวิดีโอ

กลุ่มบริษัทโรส มีโครงสร้างที่ขยับขยายใหญ่ขึ้นในรูปบริษัทลูกหลายบริษัทในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากโรส วิดีโอ ซึ่งทำธุรกิจวีซีดี และดีวีดี แล้ว ยังประกอบด้วย ดับบลิวพีเอ็ม ฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทำธุรกิจถือสิทธิ และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ เชอร์รี่เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ เครือข่ายร้านค้าปลีกที่มีกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ มิวสิค เอ็กเพรส ดูแลลิขสิทธิ์คาราโอเกะ และคัลเลอร์โซน ผู้ให้บริการเช่าห้องบันทึกเสียง ห้องตัดต่อระบบดิจิตอลเบต้า และอุปกรณ์ถ่ายทำ

แต่ภายใต้แผนงาน Re-Positioning Rose 2006 ทุกบริษัทจะถูกรวมเข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัท ให้คงเหลือคำว่า โรส ส่วนวิดีโอถูกสลัดทิ้ง เพราะไม่ต้องการให้ภาพองค์กรผูกติดอยู่กับธุรกิจวิดีโอ หรือแผ่นวีซีดี ดีวีดีเท่านั้น เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่อาจสรุปคำต่อท้ายที่จะนิยามถึงธุรกิจบริษัทโดยรวมได้

พีรพล กวาดตามองหาปัจจัยสู่การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในธุรกิจโฮม เอ็นเทอร์เทนเมนท์ พบคำว่า ครบวงจร อันเป็นคำที่ยังไม่มีผู้ประกอบการโฮมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ในเมืองไทยรายใดจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการครบวงจรในด้านคอนเทนท์ หรือการครบวงจรในด้านการถือสิทธิ์

เปิดคอนเซปต์ "แฟมิลี่เอ็นเทอร์เทนเม้นท์"

จิรัฐ บวรวัฒนะ อดีตมือการตลาดจากอีจีวี ที่มานั่งตำแหน่งรองประธานกรรมการ สายงานการตลาด โรส วิดีโอ เรียกความครบวงจรด้านคอนเทนท์ ว่า โรสวิดีโอ คือ "แฟมิลี่ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์"

โรส วิดีโอ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแบ่งการบริหารองค์กรออกเป็น 4 สายงานหลักเพื่อเป็นฟันเฟืองในการเคลื่อนธุรกิจ ได้แก่ สายงานภาพยนตร์(Movie) สายงานเพลงอมตะและคาราโอเกะ(Music) สายงานแอนิเมชั่น (Animation) และสายงานสินค้าพิเศษ อาทิ เทเลมูฟวี่, ออกกำลังกาย, คอนเสิร์ต, ลิเก ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 4 สายงาน จะสามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่ผู้สูงอายุ จนถึงเด็กเล็ก

ตลอดปี 2548 ที่ผ่านมา โรสวิดีโอ ประเดิมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสายงานแอนิเมชั่นเป็นลำดับแรก ด้วยเป็นเพราะเป็นสายงานที่มีความชำนาญจากประสบการณ์ในการทำตลาดมานานกว่า 7 ปี โรส กวาดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์การ์ตูนคลาสสิคและการ์ตูนร่วมสมัยจากประเทศญี่ปุ่น โดราเอมอน เดอะ มูฟวี่ และซีรีส์ รวมถึงการ์ตูนปาร์แมน และกัปตันซึบาสะที่แฟนการ์ตูนรุ่นเก่ารู้จักดี โซนิค เอ็กซ์ นินจานารูโต๊ะ อาบะเรนเจอร์ มาร์คไรเดอร์ และสารพัดขบวนการยอดมนุษย์แปลงร่าง เข้ามาอยู่ในพอร์ตของโรส วิดีโอ นอกจากนี้ยังมีแอนิเมชั่นไทย ๆ อย่าง ศรีธนนชัย สังข์ทอง และนิทานอีสป

ในปี 2549 โรสวิดีโอจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ในการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดแอนิเมชั่นที่มีส่วนแบ่งอยู่ราว 40% ของตลาด โดยจะมีการ์ตูนแอมิเมชั่นออกสู่ตลาดมากกว่า 20 เรื่องต่อเดือน

เมื่อประกาศตัวยึดตลาดเด็กได้ โรส ขยับขึ้นรุกตลาดภาพยนตร์ ปีที่ผ่านมา โรสซึ่งยังไม่สามารถเจาะเข้าไปถือครองสิทธิ์ค่ายหนังในเครือเมเจอร์ที่กระจายอยู่ใน 3 บริษัทใหญ่ ซีวีดี แคททาลิสต์ และแปซิฟิกฯ ได้ จึงหันไปจับค่ายหนังอิสระ ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อสามารถซื้อลิขสิทธิ์หนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่มาที่ไม่ได้ถูกผูกมัดโดยค่ายหนังเมเจอร์มาอยู่ในมือได้บ้าง อาทิ Alexander, Sahara และ Oliver Twist และในปีหน้า โรส ยังมีหนังน่าสนใจอยู่ในสต็อคอีกหลายเรื่อง อาทิ Bable ของ แบรด พิตต์, Keeping Mum ของโรแวน แอทคินสัน(มิสเตอร์บีน) หรือ Lonesome Jim ของ ลิฟ ไทเลอร์ ก็น่าจะยกระดับภาพของหนังเกรดบีที่ติดตัวโรสวิดีโอให้ดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตามจิรัฐ ยังตั้งความหวังว่า หากโอกาสดี ราคาเหมาะ ก็ไม่แน่ว่าค่ายหนังเมเจอร์สักค่าย 2 ค่าย อาจเปลี่ยนมือมาอยู่กับโรส วิดีโอก็เป็นได้ อีกมุมของการรุกตลาดภาพยนตร์ โรสวิดีโอ หันไปจับตลาดหนังเอเชีย โดยมีเป้าหมายการยึดครองตลาดหนังเกาหลี อันเป็นเทรนใหม่ที่ส่งกระแสแรงไปทั่วเอเชีย แต่ในเมืองไทยกลับยังไม่มีบริษัทใดยึดครองได้ชัดเจน

อีก 100 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในการทำตลาดหนังเกาหลี ปี 2549 โรสวิดีโอจะเปิดตัวด้วยหนังฟอร์มใหญ่ 3 เรื่องในช่วงต้นปี Daisy ผลงานของจวน จี ฮุน, Typhoon หนังลงทุนสูงแห่งปีของเกาหลี และ Duelist หนังจอมยุทธกำลังภายในเรื่องเยี่ยม สร้างกระแสอันมั่นคงให้กับหนังเกาหลีในประเทศไทยอีกครั้ง หลังแฟชั่นหนังเกาหลีเคยพังครืนลงมา ด้วยเหตุคนไทยแห่ซื้อหนังเกาหลีโดยไม่สนใจคุณภาพ จิรัฐมั่นใจว่า ปีนี้ โรส จะคัดหนังคุณภาพจากเกาหลีได้ราว 10 เรื่องมานำเสนอ สร้างภาพผู้นำในตลาดนี้ให้กับโรส เป็นลำดับต่อจากผู้นำในตลาดแอนิเมชั่น

เมื่อผนวกกับคอนเทนท์สนับสนุนทั้ง เทเลมูฟวี่ คอนเสิร์ต คาราโอเกะ ลิเก ตลก และการออกกำลังกาย ที่ครบถ้วนกระบวนความมากกว่าค่ายวิดีโอใด ๆ จะมี ชื่อของโรส จะเข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือนได้อย่างแน่นอน

ชูถือสิทธิ์หนังครบวงจร

จุดเด่นอีกประการในการยกระดับองค์กรจากบริษัทผู้ซื้อหนังธรรมดา ให้เป็นบริษัทผู้ทำธุรกิจเอ็นเทอร์เทนเมนท์สมบูรณ์แบบของโรส วิดีโอ ซึ่งผู้ประกอบการโฮมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ตลอดจนค่ายหนังต่างประเทศในเมืองไทยยังไม่เคยมี คือ การเป็นผู้ถือสิทธิ์การจัดจำหน่ายครบวงจร

กลุ่มโรส มี ดับบลิวพีเอ็ม ฟิล์ม ทำหน้าที่ในการถือสิทธิ์หนังที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ หลังจากนั้น 3-6 เดือน โรสวิดีโอ จะนำมาผลิตจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี และวีซีดี อีกราว 6 เดือน - 1 ปี ลิขสิทธิ์จะถูกจำหน่ายให้กับเคเบิลทีวี และสุดท้ายหลัง 1 ปี ก็จะขายสิทธิ์ให้กับฟรีทีวี สิทธิทั้งหมดนี้ โรส เป็นผู้ถือสิทธิ์ทั้งสิ้น

แต่เมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์เติบโตขึ้น จิรัฐพบว่า ลิขสิทธิ์ของหนังที่เขาถือครองอยู่ มีค่าเพิ่มขึ้น สามารถหาลูกค้าได้อีก 1 ช่องทาง เมื่อทั้งชิน คอร์ปอเรชั่น ทรู คอร์ปอเรชั่น และสามารถ คอร์ปอเรชั่น ต่างวิ่งเข้าหา ขอซื้อลิขสิทธิ์หนังที่โรส ถืออยู่ เพื่อนำไปออกอากาศผ่านบรอดแบนด์

"บริษัทสื่อสารเหล่านี้หาคนถือสิทธิ์คอนเทนท์หนังแบบนี้ในเมืองไทยมานาน แต่ไม่มีใครมี เพราะค่ายหนังอย่างเมเจอร์ ฝ่ายที่ถือลิขสิทธิ์ฉายในโรงเขาก็ถืออยู่แค่ตรงนั้น ฝ่ายผู้จัดจำหน่ายทางดีวีดี วีซีดี ก็ถือแค่ตรงนี้ อยากได้สิทธิ์เผยแพร่ลงบรอดแบนด์ ต้องติดต่อกลับไปที่ประเทศผู้ผลิต ซึ่งยุ่งยากสำหรับเขา จุดนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิทธิ์ของหนังที่เราถืออยู่ และเป็นเทรนที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตด้วย" จิรัฐกล่าว

Merchendise เป็นอีกหนึ่งสิทธิ์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในเมืองไทย โรส วิดีโอ ถือเป็นบริษัทแรก ๆ ในเมืองไทยที่สนใจเอาแคแรคเตอร์สินค้าที่ตัวเองถืออยู่มาต่อยอดขายสิทธิ์เพื่อผลิตเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ นารูโต๊ะ โซนิกเอ็กซ์ อาบะเรนเจอร์ เฮอร์ริเคนเรนเจอร์ และการ์โอเรนเจอร์ ถูกเจ้าของสินค้าต่าง ๆ ซื้อไปใช้ในการกระตุ้นยอดขาย ทั้งขนมขบเคี้ยว ลูกอม เสื้อผ้า เครื่องนอน นาฬิกา อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน โปสเตอร์

"วันนี้มีคนสนใจให้ผมไปพูดเรื่องเมอร์เชนไดส์ ไลเซนซิ่ง นี่คือสะพานของเอสเอ็มอีไทย เขารู้จักการผลิตสินค้าที่ดี แต่เขาไม่รู้จักการตลาดที่ได้ เขาอยากทำขนมขึ้นมา แพ็คเกจจิ้งจะทำอย่างไร ใส่การ์ตูนเข้าไปสิ จะขายได้ดีขึ้น ทุกวันนี้เอสเอ็มอีหลายรายมาคุยกับผม มีขนมเป็นแบรนด์ใหม่ ผมใส่คาแรคเตอร์การ์ตูนแปลงร่างเข้าไป กลายเป็นขนมขบเคี้ยวรายหนึ่งที่อยู่ในตลาดได้สบาย ๆ โดยใช้งบประมาณที่มีจำกัด" จิรัฐ ฉายความสำเร็จของธุรกิจเมอร์เชนไดส์ ไลเซนซิ่ง ที่โรส เริ่มเคลื่อนไหวนำหน้าค่ายวิดีโออื่น ๆ

โดยรวมของการกวาดซื้อหนังจากทั่วโลก และการบริหารสิทธิ์ที่ครบวงจรเช่นนี้ จิรัฐเชื่อว่า รายได้ของบริษัทในปีหน้า โรส วิดีโอ จะสามารถทำได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และเชื่อว่า ผลประกอบการในระดับนี้ ผนวกกับการปรับโครงสร้างบริษัทที่สามารถรองรับการเติบโตได้อย่างเต็มที่ ก็เพียงพอที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเชื้อเชิญเข้าจดทะเบียน แต่จิรัฐ กลับเห็นว่า แค่นี้ยังไม่พอ

New Story กุญแจสู่ตลาดหลักทรัพย์

อรพรรณ มนต์พิชิต กรรมการผู้จัดการ ดับบลิวพีเอ็ม ฟิล์ม ฯ เคยกล่าวถึงการนำโรสวิดีโอเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีวัตถุประสงค์หลักมุ่งหวังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ที่จะทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าในราคาที่ต่ำลง สามารถแข่งขันในตลาด รวมถึงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้ นอกจากนี้การนำบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ออกไปเจรจาค้าขายธุรกิจกับนานาประเทศ สามารถสร้างความเชื่อถือได้ดีกว่า

จิรัฐ บวรวัฒนะ มองเส้นทางก่อนจะก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า โรส ต้องมีความแข็งแกร่ง และชัดเจนในตัวเองเสียก่อน การลงทุนในการทุ่มซื้อลิขสิทธิ์หนังทั่วโลกกว่า 100 เรื่อง โดยใช้เงินลงทุน 400 - 500 ล้านบาท รวมถึงรายได้ที่เก็บเข้ากระเป๋าถึงปีละพันล้าน คงไม่มีประโยชน์อะไร หากแบรนด์ โพสิชั่นนิ่ง ของโรส ในตลาดไม่ชัดเจน โรส คือบริษัทอะไร ?

ในฐานะโรส เป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ส่งฉายตามโรงภาพยนตร์ จิรัฐ พยายามวางตัวให้โรสเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ชั้นดี ที่ไม่เคยมีปัญหากับใคร สร้างการยอมรับในความตั้งใจที่จะทำตลาดอย่างจริงจัง ดังเช่น การควักกระเป๋าถึงกว่า 3 ล้านบาท ร่วมกับเครือเอสเอฟ จัดโปรโมชั่นปลุกตลาดหนังเกาหลีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยก่อนหน้า โดราเอมอน เดอะ มูฟวี่ ก็เคยจัดโปรโมชั่นกลับฝั่งเมเจอร์-อีจีวีมาก่อนแล้ว

จิรัฐมองว่า ปัญหาของความขัดแย้งระหว่างเจ้าของหนังกับโรงหนังที่ผ่านมาเกิดจากค่ายหนังบางรายที่ชอบสร้างปัญหา หรือค่ายหนังที่นาน ๆ จะมีหนังเข้าโรงสักเรื่อง จะเป็นตัวสร้างความไม่พอใจให้โรงหนัง แต่โรส พยายามสร้างบาลานซ์ ออฟ พาวเวอร์ ทำงานอย่างจริงจังและกระจายไปในทุกค่ายโรงหนัง พร้อมตั้งตัวเป็นด่านแรกในการคัดเลือกหนัง ถ้าเห็นว่าหนังเรื่องใดไม่ดีพอจะเข้าฉายในโรงหนัง ก็จะไม่มีการร้องขอโรงหนังอย่างแน่นอน ส่งหนังเรื่องหนังลงแผ่นทันที เป็นที่มาของความมั่นใจในภาพพจน์ของโรส รวมถึงดับบลิวพีเอ็ม ฟิล์ม ที่ค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งเมเจอร์ อีจีวี และเอสเอฟ ให้การยอมรับ ถึงขนาดจิรัฐเชื่อว่า ถ้าโรสจะส่งหนังใหญ่สักเรื่องเข้าโรง ก็สามารถร้องขอเพิ่มโรง หรือเพิ่มรอบบ้าง ก็ทำได้

แต่ในด้านของผู้บริโภค การจะลบภาพโรสวิดีโอที่เคยรู้จัก ให้ปรับเปลี่ยนมาเป็น Family Entertainment ที่ครัวเรือนให้การยอมรับ ก็คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

อีกปัจจัยที่จิรัฐมองว่า โรส จำต้องเสาะหาให้เจอก่อนผันตัวเองเป็นบริษัทมหาชน คือ การมองหา New Story หรือแขนขาทางธุรกิจเอ็นเตอร์เทนใหม่ ๆ ที่จะสามารถทำกำไร นอกเหนือไปจากธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

จิรัฐยกตัวอย่าง New Story จากเมื่อครั้งอาร์เอสโปรโมชั่น เดินเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนั้นค่ายเพลงชั้นนำ เสนอแผนเทเลมูฟวี่ เป็น New Story ที่จะสร้างความสนใจให้กับนักลงทุน แม้สุดท้าย New Story ของอาร์เอส จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังถือเป็นแนวคิดที่โรส จะยึดเป็นแบบอย่าง ไม่ต้องการที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วหยุดนิ่งเหมือนเช่นค่ายหนังรุ่นพี่ในตลาดอย่างซีวีดี หรือแมงป่อง

"แมงป่องเขาไม่มี New Story อะไรเลย นอกจากการเปิดสาขาใหม่ เปิดสาขาใหม่ใช้เงินเท่าไหร่ 5 แสน 1 ล้าน หรือ 3 ล้าน เปิดให้เต็มที่ 10 สาขา ร้อยสาขา แล้วได้เท่าไหร่ ตลาดหลักทรัพย์เขาไม่ได้มองมูลค่าแค่ 100-200 ล้าน เขามองเป็นพัน ๆ ล้าน คุณจะขยายธุรกิจยังไงให้ได้เป็นพัน ๆ ล้าน นี่แหละคือ New Story ที่โรสต้องมองหาให้เจอก่อนเข้าตลาดฯ และต้องหาต่อไปเมื่อเข้าตลาดแล้ว เป็นก๊อกสอง ก๊อกสาม และก๊อกต่อ ๆ ไปในการบริหารธุรกิจของโรส"

New Story เป็นประเด็นสำคัญที่เชื่อแน่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็เห็นดี หากทุกบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แม้ผลประกอบการจะมีกำไร แต่ไม่มีการเติบโตที่จะดึงดูดนักลงทุน

จิรัฐ เองก็ไม่ได้รีบร้อนที่จะต้องนำโรส เข้าตลาดหลักทรัพย์หากเขายังไม่พบ New Story ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่กลางปีหน้า ตามที่อรพรรณ เคยคาดการณ์ไว้ เพราะด้วยคอนเทนท์ของภาพยนตร์นับร้อยนับพันที่มีอยู่ในมือ รวมมูลค่าหลายพันล้านบาท เชื่อแน่ว่า หากโรส บรรลุความเป็น Family Entertainment ที่ผู้บริโภคยอมรับได้ New Story อาจวิ่งเข้ามาหาเอง หรือโรสจะกล้าสร้าง New Story ที่ดูเหมือนไกลเกินเอื้อมได้อย่างการจะเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่จะใช้เป็นช่องทางเผยแพร่คอนเทนท์ที่มีอยู่ ก็อาจเป็น New Story หนึ่ง ที่โรส มองหาอยู่ รอเพียง กสช. จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

นักการตลาดหนุ่ม จิรัฐ บวรวัฒนะ ตอบรับ ผมคิดอยู่เหมือนกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.