"สรรพากร"เดินหน้ารีดภาษีส่องเรดาร์จับซัพพลายเออร์รายใหญ่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บทบาทของศุลกากรต่อการจัดเก็บภาษีจะถูกลดลงไปเพราะการคืบคลานเข้ามาของ FTA ในขณะที่สรรพสามิตก็สร้างผลงานออกมาไม่ดีนักเมื่อไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้า ทำให้รายได้รัฐที่จัดเก็บภาษีเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ไม่สดดุลกัน งานนี้สรรพากรจึงเสมือนหัวหอกหลักในการเก็บรายได้ และในตอนนี้ เรด้า สรรพากร เริ่มทำงานมากขึ้น และจับจ้องไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นซัพพลายเออรายใหญ่ เพื่อเติมเงินในกระเป๋ารัฐให้เต็มตามที่ตั้งไว้

การโฟกัสกลุ่มเป้าหมายไปที่ซัพพลายเออรายใหญ่เป็นอีกหนึ่งยุทธการของ สรรพากร ในการจัดเก็บภาษี ไม่เพียงเพื่อเติมเงินในกระเป๋ารัฐให้เต็มเท่านั้นแต่ยังหวังว่าจะสอดส่องดูแลการชำระภาษีของกลุ่มดังกล่าวให้เป้นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วนด้วย

สาธิต รังคสิริ รองอธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า การจัดเก็บภาษีของศุลกากรนั้นที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมาย และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เกินเป้าด้วยซ้ำ แต่การขยายฐานการจัดเก็บก็ยังเป็นหน้าที่หลักต้องทำต่อไปเพื่อดึงผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปเข้ามาอยู่ในระบบภาษีที่ถูกต้องมากขึ้น

เรด้าของสรรพากรตอนนี้ถูกส่องไปที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ กลุ่มที่ถูกเพ็งเล็งมากสุดเห็นจะเป็น ซัพพลายเออที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ติดต่อเพื่อสั่งซื้อสินค้า โดยสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบการชำระภาษีจากซัพลายเออว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าที่ผ่านมาไม่มีการหลบเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด

และเมื่อแน่ใจว่าซัพพลายเออรายใหญ่เข้าสู่ระบบการเสียภ๊าอย่างถูกต้องแล้วก็จะดำเนินนโยบายต่อเนื่องด้วยขยายลงสู่ซัพพลายเออรายย่อย และไร่ลงมาสู่ระดับประชาชนทั่วไปที่เป็นร้ายยิบย่อยจริง ๆ

แต่ตอนนี้ในส่วนรายย่อย สรรพากรยังไม่เข้าไปล้วงลึกหรือจู่โจมเข้าไปมากนัก อยากดำเนินการอย่างค่อย เป็นค่อยไป เพื่อให้รายย่อยได้รับรู้ที่ละนิดและปรับตัวให้ทันก่อนถูกดึงเข้าสู่ระบบ

สาธิต ให้เหตุผลว่า ตอนนี้สรรพากรยังไม่เน้นเรื่องยุทธการเหรียญบาท เพราะเหรียญบาท และเหรียญสิบนั้นเวลาตกพื้นแล้วมีเสียง แต่พวกแบงก์ 1,000 ตกแล้วเงียบ สรรพากรจึงขอเข้าไปรีดแบงก์พันก่อน อย่างไรก็ตามในท้ายสุดแล้วทุกคนก็ต้องเข้าสู่ระบบภาษีไม่ว่า แบงก์ 1,000 แบงก์ 100 เหรียญสิบหรือเหรียญบาทเพื่อความยุติธรรมและอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวในการกำกับดูแล

แต่ถึง ณ วันนี้ แค่อยากให้รู้ว่าเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ที่ยังไม่อยู่ในระบบต้องเร่งปรับตัว เพราะในท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีใครรอดพ้นจากเรด้าสรรพากร

นี่คือยุทธการที่สรรพากรนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีเพื่อทำรายได้เข้ากระเป๋ารัฐความจริงแล้วเรื่องการจัดเก็บภาษีของสรรพากรนี้นดูไม่น่าห่วงแต่อย่างใด เพราะผลงานที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สรรพากรไม่ใช่แค่จัดเก็บได้ตามเป้า แต่เป็นการจัดเก็บที่เกินเป้าด้วยซ้ำ ดังนั้นเรื่องการจัดเก็บให้เข้าเป้าจึงไม่ใช่ประเด็นต้องกังวล

แต่ข้อที่น่ากังวลคือ รายได้ที่จัดเก็บแม้จะเพิ่มขึ้นก็ตาม จะเพียงพอแล้วหรือยังสำหรับการใช้จ่ายของรัฐในโครงการขนาดใหญ่ที่จากนี้ไปอีก 4ปี จะต้องใช้เงินมากขึ้น และรายได้นั้นคลอบคลุมหรือทดแทนในส่วนที่สูญไปจาก ศุลกากร และสรรพาสามิต แล้วหรือยัง

สาธิต บอกว่า ในเรื่องนี้กระทรวงคลังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมในอนาคต ในเมื่อบทบาทการจัดเก็บภาษีของศุลกากรจะเปลี่ยนไป จำเป็นต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อภาพรวม ควรต้องมีภาษีตัวใหม่เข้ามาทดแทนหรือไม่เพื่อให้มั่นใจว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน

"บทบาทในการจัดเก็บภาษีของศุลกากรต้องน้อยลงไปตามกระแสของโลกอยู่แล้ว เป็นผลจากการเปิดเสรีทางการค้ากับหลายประเทศ แต่ถ้าพิจารณาเทียบกับประเทศอื่น ๆ ของเราถือว่ายังมีบทบาทสูงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่การพัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนภาษีจากศุลกากรไม่ถึง 1%"

ทุกวันนี้ศุลกากรยังมีบทบาทมากในการจัดเก็บภาษีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนา แต่ในอนาคตเมื่อพัฒนาถึงระดับหนึ่งแล้วก็ต้องยอมรับในสภาพใหม่ที่เปลี่ยนไป เพราะบทบาทการจัดเก็บภาษีจะไม่ใช่งานหลักของศุลกากรอีกต่อไป

แต่เป็นหน้าที่ของกรมจัดเก็บอีก 2 แห่งจะต้องมาทบทวนบทบาทและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้มากขึ้น โดยที่หัวหอกหลักก็คงหนีไม่พ้นสรรพากร และที่ผ่านมาก็ถือได้ว่าทำหน้าที่ได้สมบทบาท ขยันจัดเก็บจนภาษีเกินเป้า

สาธิต บอกว่า สรรพากรได้นำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นรับงานที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าหมายทั้ง ๆ ที่กรมไม่ได้เพิ่มภาษีตัวใหม่ขึ้นมา มีแต่จะลดและให้สิทธิประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปด้วยซ้ำ

การจัดเก็บภาษีได้มากและเกินกว่าเป้านั้น แสดงให้เห็นว่ามีการดึงฐานประชากรที่อยู่นอกระบบภาษีให้มาเข้าในระบบมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยกัน อย่างกระทรวงมหาดไทย สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ทำให้สรรพากรสามารถตรวจสอบและล้วงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งทุกวันนี้ฐานประชากรที่ต้องเข้าระบบภาษีก็แคบลงมาเรื่อย ๆ ด้วยกลไกที่ถูกพัฒนาเพื่อกาลนี้โดยเฉพาะที่ไม่เพียงแต่ทำให้สรรพากรจะบอกได้ว่าใครบ้างที่ยังไม่เข้ามาในระบบ แต่ยังบอกได้อีกว่าคนที่อยู่ในระบบชำระภาษีได้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมสรรพากรถึงจัดเก็บภาษีได้มากกว่าปีก่อนหน้าที่ผ่านมา ติดต่อกันเป็น 3-4 ปี โตปีละประมาณ 20%อย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตเพียง 5-6 % เงินเฟ้อในระดับ 2-3% แต่ไม่มีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่เพิ่ม

มีแต่ละลดเพราะต้องการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างล่าสุดมีมาตรการภาษีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่กระตุ้นให้เกิดการลงทุน โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินที่ได้รับจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องใหม่

"เราก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง เป็นมาตรการที่ให้ไปและเห็นผลตอบแทนกลับมา เพราะ ไม่เพียงผู้ประกอบการได้รับยกเว้นภาษีจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อของใหม่ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การส่งออก การขายและที่สำคัญคือมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น"

ถึงตอนนี้ สาธิต จึงบอกว่าสรรพากรยังไม่มีนโยบายเพิ่มหรือออกมาตรการภาษีใหม่ ๆ แต่จะเน้นการดึงทั้งบุคคลและนิติบุคคลเข้ามาอยู่ในระบบภาษีให้ถูกต้องมากกว่าผลงานของสรรพากรในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงว่าจัดเก็บไม่เข้าเป้า เพียงแต่ต้องลุ่นนิดหน่อยเท่านั้นเองว่ารายได้จะครอบคลุมในส่วนที่หายไป และการใช้จ่ายจากภาครัฐหรือไม่สรรพาสามิตอีกกรมหนึ่งที่ต้องเหนื่อยทั้งแรงกายและแรงใจ ด้วยผลงานการจัดเก็บที่ไม่เข้าเป้า ยิ่งทำให้ทำงานของสรรพาสามิตเต็มไปด้วยแรงดกดัน

แม้ อธิบดีกรมสรรพสามิต อุทิศ ธรรมวาทิน จะออกมาอธิบายถึงเหตุผลของการจัดเก็บที่ต่ำกว่าเป้านั้นเป็นเพราะการรณรงค์งดบริโภคสุราและบุหรี่ การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ผลกระทบเหล่านี้มีผลต่อการจัดเก็บที่ต่ำกว่าเป้า

กระนั้นก็ตาม ด้วยศักยภาพที่สรรพสามิตสามารถจัดเก็บเพิ่มได้มากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระทรวงการคลังจึงสั่งให้ศึกษาปรับปรุงใหม่โครงสร้างภาษีสรรพสามิตทั้งระบบใหม่ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ศึกษา และได้เสนอแนะว่า ควรให้สรรพสามิตปรับเพิ่มอัตราภาษีบาปขึ้นอีก ทั้งสุรา เบียร์ บุหรี่ อาบอบนวด และดิสโก้เธก รวมถึงการเพิ่มภาษีตัวใหม่ ที่มีผลต่อสุขภาพ และสังคม อย่างภาษีสิ่งแวดล้อม หรือภาษีเกมหวยออนไลน์

ส่วนงบประมาณปี 49 สรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป่าอย่างที่คาดไว้หรือไม่นั้น อุทิศ บอกว่ายังเร็วไปที่จะตัดสินใจ เพราะสรรพาสามิตเองก็พยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บแต่ผลงานสรรพสามิตในการจัดเก็บภาษีงบประมาณปี 2549 ตั้งแต่ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2548 ทำได้ 40,328 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการถึง 16.5 % ขณะที่ สรรพากร จัดเก็บได้ 134,100 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11.1% และศุลกากร 17,819 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11.3%

ขณะที่เป้าหมายการจัดเก็บภาษีที่แต่ละกรมได้รับในงบประมาณปี2549นั้น สำหรับสรรพากรตั้งเป้าไว้ที่ 1,009,000 ล้านบาท สรรพสามิต 312,500 ล้านบาท ละศุลกากร 120,000 ล้านบาท

จะว่าไปหัวใจของรัฐตอนนี้ก็คงเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ลุ้นอยู่เหมือนกันว่า มือเก็บเงินทั้ง 3 กรมจะกำสตางค์เข้ากระเป๋ารัฐได้ครบอย่างหวังหรือไม่ ก็อย่างที่รู้ค่าใช้จ่ายของรัฐจะเพิ่มมากขึ้น และต้องนำส่วนหนึ่งมาใช้ในโรงการเมกะโปรเจกต์ที่สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท โดยในปี 2549 วงเงินลงทุนจะเริ่มสูงขึ้นโดยอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2548 ลงทุนเพียง 40,000ล้านบาทงานนี้จึงเป็นหน้าที่หนักของ 3 กรมจัดเก็บ แต่เห็นทีกรมที่รับภาระหน้าที่หนักสุดคงหนีไม่พ้นหัวหอกหลักอย่าง สรรพากร นั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.