ฮ่องกงใหม่ อนาคตยังกำหนดได้

โดย รัศมี หาญวจนวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ความหวั่นไหวต่ออนาคตคือความรู้สึกที่อื้ออึงอยู่บนทุกตารางนิ้วของฮ่องกง เป็นบรรยากาศที่ไม่ลงตัวระหว่างความคาดหวังกับความวิตกกังวล สะสมนานปีมานับแต่ก่อนวันดีเดย์ 1 กรกฎาคม 2540-วันส่งมอบฮ่องกงคืนสู่การปกครองของจีน ตอกย้ำอยู่จนทุกโมงยามของปัจจุบัน ความคาดหวังที่จะฉกฉวยโอกาสใหม่ๆ มูลค่ามหาศาลจากแผ่นดินใหญ่ของจีน ต่อสู้อยู่กับความหวาดระแวงตัวตนอันแท้จริงของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมอิงตลาดโลก

ผู้คนทั่วไป นักลงทุน นักวิชาการ ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกแอบซ่อนความหวั่นใจว่า จีนอาจไม่สามารถสัมผัสหยั่งเข้าไปถึงปัจจัยที่สร้างความเป็นฮ่องกงได้จริง ในขณะเดียวกันทุกฝ่ายก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ฮ่องกงภายใต้อธิปไตยจีนสามารถนำมาซึ่งความรุ่งเรือง อีกเฟสหนึ่งแก่ดินแดนอดีตอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้

วิชั่นหลากหลายกระแสผุดขึ้นในมโนภาพของผู้ที่มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เฝ้าดูเอาใจช่วย

บ้างมองเห็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลรองรับการขยายตัวของฮ่องกงผืนแผ่นดินเหยียดลึกไม่เฉพาะแค่ในมณฑลกวางตุ้ง แต่ยังสยายไปยังมณฑลอื่นๆ ทางตอนในของแผ่นดินจีน ซึ่งมีทรัพยากรราคาถูกเหมือนได้เปล่ามาช่วยบำรุง บำเรอชีวิตและการประกอบการของผู้คนชาวฮ่องกง

บ้างหวังเม็ดเงินจากบริษัทยักษ์ของจีนที่จะหลั่งไหลเข้าตลาดทุนของฮ่องกง อันจะนำพาให้ฮ่องกงเป็นแหล่งเงินทุนใหญ่ที่สุดของเอเชียยุคศตวรรษที่ 21

บ้างมั่นใจว่าฮ่องกงในฐานะสะพานเชื่อมดวงดาวสู่แผ่นดินของผู้บริโภคเรือนพันล้านปากท้อง จะยึดเหนี่ยวบริษัทข้ามชาติจากโลกตะวันตกให้ต้องยึดพื้นที่ในฮ่องกงไว้ให้มั่น พร้อมกับเร่งระดมเม็ดเงินจากทั่วโลกมาลงทุนกับบริษัทชั้นนำจากจีนบนผืนดินของฮ่องกง

แต่บ้างหวั่นวิตกต่อกระแสเผด็จการ ซึ่งแม้จะแฝงเร้นไว้แนบเนียน ก็อาจไม่แคล้วจะยื่นมือเข้าแทรกแซงและควบคุม อันจะผลักไสบริษัทระดับโลก ต้องพ่ายหนีออกไปจากฮ่องกง

บ้างทำนายว่าระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงจะต้องเข้าสู่ความฟอนเฟะ จากการทำตามอำเภอใจของบรรดาวิสาหกิจจากจีน ซึ่งไม่เคยคิดจะยอมรับกฎเกณฑ์ระเบียบทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ในขณะที่จะไม่มีใครหรือองค์การใดสามารถคุมประพฤติวิสาหกิจเหล่านี้ได้

บ้างเห็นกลียุครออยู่ในอนาคตอันใกล้ เมื่อคลื่นมนุษย์หลั่งไหลเข้าสู่ฮ่องกง สร้างภาระทางสังคมรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความขาดแคลนด้านที่อยู่อาศัย ความไม่เพียงพอทางการศึกษา หรือความโกลาหล ความไม่สงบสุขในชุมชน

บนการวิเคราะห์ ความเชื่อ และสังหรณ์ที่ต่างๆ กัน ผู้คนชาวฮ่องกงได้ลงมือกำหนดอนาคตของตนเองในส่วนที่ตนทำได้มาตลอดระยะ 13 ปีที่ได้รับทราบแน่นอนแล้วว่า ฮ่องกงไม่อาจพ้นเงื้อมมือของจีนไปได้ หลังจากที่จีนประสบความสำเร็จบีบให้อังกฤษยอมลงนามคืนฮ่องกงสู่อธิปไตยของจีน ตามแถลงการณ์ร่วมระหว่างอังกฤษ-จีน ปี 1984


เส้นทางอนาคตเลือกไว้กว่าทศวรรษแล้ว

คนฮ่องกงจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกแนวทางการอพยพออก ซึ่งตกอยู่ในช่วงประมาณปีละ 30,000-65,000 คน นับว่าไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรฮ่องกงปัจจุบัน 6.4 ล้านคน (ดูกราฟแจกแจงการอพยพออกระหว่างปี 1987-1995) ทั้งนี้ ชาวฮ่องกงที่ถือพาสปอร์ต 2 สัญชาติ หรือมีวิธีอพยพอื่นๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวนถึงหนึ่งในสี่ของประชากรฮ่องกงทั้งหมด

ส่วนคนฮ่องกงที่ยังปักหลักอยู่นั้น มีตั้งแต่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม กลุ่มที่ย้ายทุนออกไปบ้างแล้ว แต่ยังรอดูรอหาโอกาสดีๆ ไปจนถึงกลุ่มที่ตั้งเป้าหมายจะแสวงประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ลงทุนไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่

ทุนของคนกลุ่มนี้เองที่แย่งชิงกันซื้อโอกาสแห่งอนาคต ส่งผลให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงเฟ้อขึ้นติดอันดับอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดในโลก อีกทั้งยังทำให้ราคาของหลักทรัพย์ดีดตัวขึ้นทำ New High ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับจากปลายปี 1995 มา ดัชนีฮั่งเส็งทะยานขึ้นกว่า 20% แล้ว สวนกระแสขาลงเรื้อรังของตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในเอเชีย

คนเหล่านี้เป็นเจ้าของเม็ดเงินมหาศาลมากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ ที่หว่านเข้าไปลงทุนในจีน มากมากขณะที่ทำให้ สัดส่วนการลงทุนของฮ่องกงในจีน สูงถึง 54% ของการลงทุนต่างชาติในจีนทั้งหมด

คนกลุ่มนี้เป็นนายจ้างของชาวจีนท้องถิ่นบนแผ่นดินใหญ่จำนวนกว่า 5 ล้านคนซึ่งเกือบเท่ากับประชากรทั้งหมดของฮ่องกง

ร่วมใจสานฝัน สร้างสรรค์ฮ่องกงใหม่

รัฐบาลใหม่ของฮ่องกงที่มี ต่งเจี้ยนหวา เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร แม้ในช่วงที่ยังไม่ได้เข้ารับมอบงานอย่างเป็นทางการ ก็ได้พยายามฉายภาพความเรืองรองที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้อย่างอลังการ เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมสานฝัน สร้างสรรค์อนาคตเฟสใหม่ให้แก่ฮ่องกง

เศรษฐกิจของฮ่องกงได้รับการกำหนดให้ขยายตัวเข้าไปยังตอนในของแผ่นดินใหญ่จีน ตัวเมืองฮ่องกงจะต้องขยายพื้นที่ มหานครฮ่องกงใหม่จะแผ่บริเวณลึกเข้าไปครอบคลุมเมืองใหญ่น้อยในแถบปากแมน้ำจูเจียงที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว จนฮ่องกง กับ กวางโจว ผนึกกลายเป็นเมืองคู่แฝด โดยที่กวางโจว จะเป็นอุปทานตอบสนองตลาดที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่ต้องการบ้านชานเมืองขนาดกว้างขวางไปจนถึงคฤหาสน์หรู เพื่อการพักผ่อนของกลุ่มผู้มีอันจะกิน

ทางด้านอุตสาหกรรม จะสามารถขยับขยายเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในดินแดนตอนใต้ของจีนได้สะดวกถนัดถนี่ยิ่งขึ้น

ปัจจัยอำนวยความสะดวกทุกอย่างล้วนแต่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งขยายความร่วมมือกับทางการฝ่ายมณฑลกวางตุ้งสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไปจนถึงการระดมผุดโรงงงานอุตสาหกรรมครบครันด้วยเทคโนโลยีระดับสูง

ในด้านการศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยี รัฐบาลของต่งเจี้ยนหวา กำหนดจะทุ่มงบประมาณให้เป็นพิเศษ โดยมุ่งเน้นจะตอบสนองการยกระดับ และการขยายตัวของอุตสาหกรรม

ธุรกิจการเงินได้รับการวางตัวให้เป็นแกนของระบบเศรษฐกิจ ทางการฮ่องกงตระเตรียมโครงสร้างที่จะบีบให้วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในฮ่องกง ยอมปรับใช้ระบบบัญชีและระบบการบริหารแบบมาตรฐานสากล ในขณะที่บริษัทข้ามชาติจากโลกตะวันตก ถูกคาดหวังว่ายังมีความพึงใจที่จะใช้ฮ่องกงเป็นฐานระดมเม็ดเงินจากทั่วโลก มาลงทุนกับวิสาหกิจสัญชาติจีนที่มีศักยภาพดี

ความคาดหวังและภาพฝันของฝ่ายที่เชื่อมั่นในอนาคตของฮ่องกง ได้รับการตอบสนองอย่างคับคั่งจากบรรดาบริษัทต่างชาติ ในช่วงระหว่างปี 1990-1995 จำนวนบริษัทข้ามชาติที่ตั้งสำนักงานใหญ่บนฮ่องกงเพิ่มขึ้น 36% คือจากจำนวน 581 รายเป็น 793 ราย ภายในอาคารสำนักงานที่เบียดเสียดในฮ่องกง ล้วนเต็มไปด้วยสำนักงานสาขาของบริษัทชั้นนำของโลก ที่มาตั้งหลักอยู่ในฮ่องกง เพื่อใช้เป็นศูนย์ติดต่อออกไปยังเมืองธุรกิจของประเทศอื่นๆ

ฮ่องกงยังสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางของเอเชียในด้านต่างๆ อย่างเหนียวแน่น ซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ทำให้ตลาดค้าเงินตราฮ่องกงใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และทำให้ตลาดค้าทองคำฮ่องกงใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันนี้การลงทุนของต่างชาติในฮ่องกงมีมูลค่ารวมประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

ทรัพย์ศฤงคารหรือนรกบนดินที่จะได้รับคืนมา

การยืนหยัดขยายการลงทุนในฮ่องกงและจีนตลอด 13 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการตัดสินใจกำหนดให้อนาคตผสานเข้ากับอ้อมแขนของจีนแผ่นดินใหญ่ และการตัดสินใจนี้เองที่ก่อให้เกิดความหวั่นไหวต่ออนาคต

เพราะหลังจากที่เงื้อมเงาของการปกครองเผด็จการสังคมนิยมเข้าปกคลุมทุกหัวระแหงของฮ่องกงอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ก็ถึงเวลารอดูตัวตนแท้จริงของรัฐบาลปักกิ่งว่า จะสามารถอดกลั้นไม่กระทำต่อชาวฮ่องกง อย่างที่ปฏิบัติต่อชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้นานเพียงไร

นอกจากนั้นชาวฮ่องกงยังระทึกใจกับกระแสถั่งโถมเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบของระบบต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการที่ลือเลื่องว่าเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง หนำซ้ำยังมักจะยุ่มย่ามเข้าแทรกแซงกิจการภาคเอกชน อีกทั้งระบบการควบคุมสื่อมวลชนและระบบเศรษฐกิจอันฟอนเฟะกับตลาดหลักทรัพย์ที่ฉ้อฉล

รูปธรรมง่ายๆ ซึ่งเป็นที่กริ่งเกรงของบรรดาผู้ประกอบการ ได้แก่ความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้บ่อยโดยไม่แจ้งหรือประกาศเตือนล่วงหน้า, ลักธิพวกพ้องที่จะบั่นทอนบรรยากาศการแข่งขันเสรี, การไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาคำมั่นสัญญาหรือข้อตกลงในหนังสือสัญญา, อีกทั้งการไม่แยกแยะระหว่างเรื่องการเมืองออกจากการค้า ผลกระทบจากลักษณะเหล่านี้นั่นเองที่ฮ่องกงหวั่นเกรงว่าจะเกิดขึ้น และมาทำลายความคาดหวังทั้งมวล ซึ่งจะส่งผลเป็นการฆ่าทั้งเป็นต่อนครฮ่องกงโดยรวม

ต้นทุนของจีน : ล้มเหลวคือพังครืน

อย่างไรก็ตาม ความวิตกถูกลบล้างบรรเทาด้วยการวิเคราะห์ถึงผลบวกผลลบที่จีนจะต้องแบกเป็นต้นทุน

หากฮ่องกงถูกทำลายไปด้วยน้ำมือของจีน เศรษฐกิจของจีนเองย่อมต้องถูกระทบอย่างรุนแรงไปด้วย ด้วยว่าการลงทุนของจีนได้จมลงไปมากมายในฮ่องกง รัฐบาลปักกิ่งย่อมไม่ต้องการความล้มเหลวในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองอย่างยากจะเยียวยา นอกจากนั้น เกียรติภูมิของจีนในสายตาชาวโลก กับการจูงใจไต้หวันให้โอนอ่อนเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของมหาอำนาจจีน ย่อมขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการผนึกผสานฮ่องกง

ขณะนี้ การพึ่งพิงของจีนต่อฮ่องกงนั้นมหาศาล จีนจำเป็นต้องใช้ฮ่องกงเป็นตัวเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก ความสำเร็จทางเศรษฐกิจในระดับตัวเลขในด้านการธนาคาร ด้านการบริหาร ด้านการบัญชี และด้านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งนับแต่ละทวีขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มวันนี้ยังสดใส

ไม่ว่าความแตกต่างระหว่างฮ่องกงกับจีนจะชัดเจนเพียงไร ความผสมผสานเข้าหากันที่ปรากฏให้เห็นมานานกว่าทศวรรษดูจะดีวันดีคืน แนวโน้มฮ่องกงยุคใหม่ส่อไปในทางโอนอ่อนให้จีนมาก สื่อมวลชนฮ่องกงเพลามือลงไปเมื่อนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับจีน รัฐบาลใหม่ของฮ่องกงหลีกเลี่ยงที่จะแย้งกับจีนต่อหน้าสาธารณะ ในด้านของกฎหมาย ก็เริ่มปรับเพื่อสร้างความพอใจแก่ฝ่ายจีน อาทิ การออกข้อบังคับในเรื่องการชุมนุมประท้วง

แนวโน้มเหล่านี้ถึงกับถูกหลายๆ ฝ่ายเตือนว่า อาจส่งผลให้ฮ่องกงเสียคุณลักษณ์ความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค พ้อมกับการถลำเข้าไปพึ่งพิงแผ่นดินใหญ่มากเกินไป แทนที่จะกระจายออกไปทั่วภูมิภาค นอกจากนั้น ยังจะทำให้เสถียรภาพของฮ่องกง ต้องไปผูกติดอยู่กับความมั่นคงทางการเมืองและสังคมของจีนเกินความจำเป็น

ต่งเจี้ยนหวา ในฐานะหัวหน้าคณะบริหารของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ย่อมเป็นบุคคลสำคัญ ผู้จะประคองดุลยภาพระหว่างเมืองแห่งทุนนิยมเมืองนี้กับมหาอำนาจเผด็จการสังคมนิยม

เขาได้รับเครดิตในด้านความไม่ใฝ่อำนาจ การวางตัวเป็นกลาง เขามีฐานอำนาจการเมืองในฮ่องกงช่วยหนุนหลังไม่มากเลย แต่เขานับว่าเป็นคนของปักกิ่งตัวจริง ในเดือนธันวาคม 1996 เขาสามารถกวาดคะแนนสนับสนุนจากคณะกรรมการสรรหา(ซึ่งเป็นคณะที่แต่งตั้งโดยจีน) ได้อย่างท่วมท้นคือ 320 เสียงจากทั้งหมด 400 เสียง กระนั้นก็ตามบุคคลใกล้ชิดของเขาให้ข้อมูลว่า ณ หลังฉาก เขาเป็นบุคคลประเภทที่กล้าลุกขึ้นต่อกรกับฝ่ายจีน เช่น การทัดทานรัฐบาลปักกิ่งเพื่อช่วยปกป้องรักษาตำแหน่งให้แก่ข้าราชการพลเรือนระดับสูงของฮ่องกงหลายราย

เดิมพันอนาคต แพงเท่าชีวิต

ถ้าเหตุการณ์เป็นไปอย่างราบรื่นผลประโยชน์ลงตัว ผู้ด้อยโอกาสในฮ่องกงพบชีวิตที่ดีขึ้น สภาพการณ์ทางสังคมและการเมืองย่อมไม่มีการเผชิญหน้าท้าทายกับการแทรกแซงควบคุมจากปักกิ่ง แต่หากเป็นตรงข้าม ถ้ามีปัจจัยการเรียกร้องความเท่าเทียมกับฮ่อง เกิดขึ้นในดินแดนกว้างใหญ่ของจีน หรือปัญหาความล้มเหลวที่จะควบคุมวิสาหกิจของลูกท่านหลานเธอ มิให้มาสำแดงอิทธิฤทธิ์ของลักธิพวกพ้องกับลักธิเลือกปฏิบัติในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม หรือถ้าเส้นศีลธรรมของผู้นำปักกิ่งบอบบางเกินกว่าจะยอมรับวัฒนธรรมเสรีนิยมได้ อันจะส่งผลให้เกิดการลงไม้ลงมือขึ้น สัมพันธภาพของฮ่องกงกับจีนจะยังสงบอยู่ได้หรือ อาการศิโรราบต่อนายใหม่จะยั่งยืนไปได้หรือ

อนาคตส่วนที่ยังเหลือให้ชาวฮ่องกงต้องกำหนดตัวเองย่อมจะโดดเด่นขึ้นเรียกร้องคำตอบ อนาคตยังกำหนดได้อีกหลายฉาก แต่ราคาที่ต้องจ่ายนั้นคือ เดิมพันของชีวิตแห่งฮ่องกงทั้งมวล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.