จิตติมาศ เกตุวรวิทย์ คนรุ่นที่ 2 ของกรีไทย


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2539 มีการสรุปกันว่าเป็นปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำอย่างไม่กระเตื้อง ทำให้การลงทุนในด้านนี้จึงเน้นที่การชะลอโครงการกันไว้ และประหยัดต้นทุนให้มากที่สุด ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ทำกำไรกันไม่ได้มากนัก และมีอยู่มากกว่า 50% ที่ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

แต่บริษัท กรีไทย จำกัด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในห้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็สามารถทำยอดรายได้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ คือมีรายได้ถึง 6,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ถ้ากรีไทย ตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปเมื่อปี 2539 ถึงวันนี้กรีไทย คงไม่จัดเป็น 1 ใน 5 บริษัทชั้นนำของธุรกิจนี้อีก

"พอดีช่วงที่เรามีแผนจะเข้าตลาด ที่ปรึกษาของบริษัทแนะนำว่าให้ไปจัดหมวดหมู่ธุรกิจในเครือมาก่อน ว่าอะไรอยู่หมวดไหนแยกให้ชัด โรงแรม ที่พักอาศัย ธุรกิจก่อสร้าง พอเริ่มตั้งเป็นโฮลดิ้ง แบ่งเป็นกลุ่มโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ ธุรกิจก่อสร้างส่วนที่เกินก็ตัดออกไป เช่น พลาซ่า ที่เรายกให้กลุ่มสหวิริยาที่เคยเป็นหุ้นส่วนกันไปทำ"

จิตติมาศ เกตุวรวิทย์ รุ่นที่ 2 ของกรีไทย ผู้หญิงอีกคนที่จะมีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจก่อสร้าง ในฐานะกรรมการรองผู้จัดการบริษัท กรีไทย จำกัดกล่าว

นอกจากตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการของกรีไทย ซึ่งต้องช่วยบริหารให้รุ่นพ่อในยุคที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นตัวแปรหลักของธุรกิจก่อสร้างไม่ดีแล้ว

จิตติมาศ ยังเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท กรีไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทลูกของกรีไทย ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ "ริเวอร์ฟร้อนท์" เมื่อประมาณต้นปี 2539 อีกอย่างหนึ่งด้วย

"ตอนแรกริเวอร์ฟร้อนท์ เราร่วมหุ้นกับทางสหวิริยา ลงทุนเริ่มแรก 135 ล้าน แต่ตอนหลังจัดหมวดหมู่ธุรกิจในกลุ่มใหม่ ในโครงการสหวิริยาซิตี้ซึ่งตอนแรกจะทำให้ส่วนของพลาซ่าด้วย ก็เลยแยกกันแล้วยกส่วนของพลาซ่าให้สหวิริยาไป กรีไทยจะได้ทำธุรกิจที่มีอยู่ให้ชัดเจนเป็นอย่างๆ ไป" จิตติมาศ กล่าว

ภายหลังจากแยกตัวกับสหวิริยา กรีไทยได้ลงทุนซื้ออาคารริมน้ำเพื่อทำเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ ริเวอร์ฟร้อนท์ ในวงเงิน 600 ล้านบาท ใช้ค่าตกแต่งแบบโรงแรมชั้นนำ 300 ล้านบาท กู้เงินบางส่วนจากซิตี้แบงก์มาจำนวน 400 ล้านบาท เพื่อใช้ในการบริหารงาน

ริเวอร์ฟร้อนท์ ได้กลุ่มแอคคอร์ภายใต้บริษัทแอคคอร์ เอเชีย แปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น มาบริหารเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ 35 ชั้นแห่งนี้ จำนวน 184 ยูนิต ขนาดห้องตั้งแต่ 38-88 ตารางเมตร ราคาตั้งแต่ 36,000-72,000 บาทต่อเดือน เริ่มเปิดบริการไปเมื่อเดือนมีนาคม 2540 ที่ผ่านมา

กลุ่มแอคคอร์ เป็นบริษัทผู้ดำเนินการบริหารงานโรงแรมนานาชาติและการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมโซฟิเทล โนโวเทล เมอร์เคียว และไอบิส

ส่วนของรายได้ภายใต้การบริหารของกลุ่มแอคคอร์ ในปีแรก ซึ่งภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์แห่งนี้จึงมุ่งกลุ่มผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในย่านกลางใจเมือง โดยคาดว่าจะมีรายได้ในปีนี้ประมาณ 50-60 ล้านบาท

รายได้ดังกล่าว เป็นรายได้ทางเดียวที่จะเกิดกับกรีไทย ดีเวลลอปเม้นท์ ในปีนี้

ส่วนปี 2541 คาดว่าน่าจะมีรายได้จากริเวอร์ฟร้อนท์ที่ 180 ล้านบาทต่อไป โดยคิดจากเปอร์เซ็นต์การเข้าพักทั้งหมด 80% ของจำนวนห้องพัก 184 ยูนิต และหากกรณีที่มีการเข้าพักเต็มจะมีรายได้วันละ 9 ล้านบาทต่อวัน แต่ถ้ารายได้เป็นไปตามเป้าหมายปีละ 180 ล้านบาท ต้องใช้เวลา 7 ปี จึงจะคืนทุน

นอกเหนือจากโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ริเวอร์ฟร้อนท์ แล้วทั้งกรีไทย และกรีไทยดีเวลลอปเม้นท์มีโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานภัตตาคารโมเว่นทิก ซึ่งจะเปิดที่อาคารพรพัฒนบริเวณสี่แยกอโศก ในปลายปีนี้

"ที่เราสนใจธุรกิจนี้ เพราะการลงทุนด้านภัตตาคาร เป็นการลงทุนที่ไม่สูงมาก แต่สามารถทำให้ภาพของกรีไทย มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง แม้ธุรกิจจะไม่ดีนัก ซึ่งเราจะมีบริษัทยูเคเอ็ม ซึ่งทำธุรกิจเบเกอรี่ และอาหารมาร่วมด้วย" จิตติมาศกล่าว

โครงการที่ดำเนินงานก่อสร้างอยู่ที่กรีไทยมีหุ้นในฐานะผู้ลงทุน ไม่ใช่บริษัทรับเหมาก่อสร้างอย่างเดียว ก็ยังมีอีกเช่นโครงการแกรนด์หลังสวน รวมทั้งโครงการที่รอจังหวะเกิดอีกมาก อาทิ โครงการบริเวณถนนนางลิ้นจี่ ซึ่งได้ใบอนุญาตก่อสร้างโรงแรมมาแล้ว แต่ยังไม่มีแผนการก่อสร้าง เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

"ที่นางลิ้นจี่ เดิมเราตั้งใจจะทำเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์เหมือนกัน เพราะตลาดนี้แนวโน้มดี แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ก็มีที่ดินที่ร่วมกับซัน แถวขนส่งสายเหนือ ซึ่งเป็นโครงการอีกนานกว่าจะเกิดเพราะต้องรอสถานีรถไฟฟ้าขึ้นก่อน" จิตติมาศ กล่าว

สำหรับบทบาทด้านธุรกิจก่อสร้าง ของจิตติมาศ ซึ่งกรีไทยมีรายได้อยู่ถึง 6,000 ล้านบาท ในปี 2539 นั้น ปีนี้คาดว่าน่าจะมีรายได้เพียง 5,000 ล้านบาท เมื่อคำนวณจากสภาพเศรษฐกิจ และถ้าลูกค้าจ่ายเงินตามเวลา โดยมีเป้าหมายการรับงานเพียง 5 โครงการ

งานที่กรีไทยมีอยู่ตอนนี้คือ โครงการบ้านสวนทรัพย์ของกลุ่มอัมรินทร์หรือกลุ่มน้ำตาลมิตรผล อาคารสำนักงานและโรงแรมคอนลาด์ค เป็นอาคารสูง 50 ชั้น โครงการของ อ.ส.ม.ท. และเดิมมีอีก 1 โครงการมูลค่า 4,000 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียมระดับสูงย่านใจกลางเมือง แต่เจ้าของหยุดโครงการไปเสียก่อน

"เป้ารายได้ของเราเป็นไปได้ ถ้าลูกค้าจ่ายเงินตรงเวลา เพราะที่ผ่านมาเรามีปัญหาหนี้เก่าค้างชำระอยู่มาก ต้องตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อไปเจรจาเพื่อให้ความเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บางรายก็ไม่มีจ่าย แต่บางรายก็จงใจเหนียวหนี้ รวมหนี้เก่าที่มีอยู่แล้วก็เกือบ 1,000 ล้านบาท"

จากตัวเลขรายได้ต่อปีในขณะนี้ ซึ่งหากเทียบกับยุคอสังหาริมทรัพย์รุ่งเรืองแล้ว รายได้ปัจจุบันเป็นเพียงตัวเลขที่ต่ำกว่าในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ถึง 10 เท่า แต่กรีไทยก็จัดเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทก่อสร้างสัญชาติไทย ซึ่งภายใต้การดำเนินงานของคนรุ่นลูกอย่างจิตติมาศ ได้จัดระบบงานให้เป็นระเบียบ

"เราเป็นบริษัทแรกที่เริ่มนำระบบการจ่ายเงินผ่านธนาคาร เบิกผ่านเอทีเอ็ม ให้กับคนงานก่อสร้าง ซึ่งมีการหมุนเวียนเข้าออกสูง แต่เราก็ทำได้สำเร็จจาก 16 ไซต์งานที่มีอยู่ มีเพียงอีก 3 ไซต์ที่เหลือยังไม่เรียบร้อย ก็จะเป็นการจ่ายเงินผ่านเอทีเอ็มได้ครบทุกไซต์"

จากเดิมระบบการจ่ายเงินคนงานก่อสร้างจะใช้วิธีจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งจะต้องมีการขนเงินนับล้านๆ บาท เพื่อแจกจ่ายให้กับคนงานก่อสร้างนับร้อย ๆ คน ทำให้บริษัทก่อสร้างต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งเงิน ทำให้ขั้นตอนยุ่งยากเพื่อลดปัญหาดังกล่าว จิตติมาศจึงคิดให้คนงานเบิกเงินโดยผ่านเอทีเอ็ม เช่นเดียวกับบริษัท หรือระบบโรงงานทั่วไป

"ตอนแรกธนาคารก็ไม่ยอมเปิดบัญชีให้ เพราะคิดว่าคนงานก่อสร้างฝากร้อยเบิกร้อย จะไม่มีเงินเหลือในบัญชีไม่คุ้มกับทางธนาคาร แต่พอลองทำดู ปรากฏว่าคนงานจำนวนมากที่มีเงินเหลือค้างอยู่ในบัญชี คนหนึ่งนับพันบาท โดยเราจ่ายผ่านบัญชีทุกอาทิตย์ ซึ่งได้ผลดีหลายอย่างทำให้คนงานก่อสร้างมีระบบการเก็บเงินที่ปลอดภัยขึ้น จากเดิมที่ถือเงินสด แล้วยัดเก็บไว้ใต้หมอนหายง่ายก็มาฝากไว้ในแบงก์ ซึ่งปลอดภัยกว่า"

และที่สำคัญนอกเหนือจากผลงานชิ้นนี้ จิตติมาศยังมีแผนพัฒนาระบบงานของกรีไทยอย่างต่อเนื่องในทุกด้านซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่ายาก แต่ที่ทำก็เพื่อว่าสักวันหนึ่งอาจจะได้รับ ISO 9000 เป็นเครื่องการันตี เมื่อถึงตอนนี้กรีไทยก็จะได้ยกระดับของบริษัทก่อสร้างไทยขึ้นไปให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกชั้นหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.