ธุรกิจรับสร้างบ้าน เคยบูมสุดๆ พร้อมกับธุรกิจอื่นๆ เมื่อสมัยยุคทองของอสังหาริมทรัพย์
คราวนั้นบรรดานักลงทุนที่รวยหุ้นจากการเป็นนายหน้าขายที่ดินหรือ รวยจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เก็งกำไรต่างต้องการสร้างบ้านเองที่สวยงามหรูหราไม่ซ้ำแบบใครกันทั้งนั้น
เมื่อเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนต่ำและการดำเนินงานไม่ยุ่งยากมากนัก ธุรกิจรับสร้างบ้านจึงผุดโผล่กันอย่างมากมายในปี
2531-2533 โดยมีการขยายตัวสูงถึงปีละ 25%
แต่เมื่อภาวะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจโดยทั่วไปซบเซา ก็กลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
เหมือนกัน
สุเทพ บูลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทสตาร์บล็อค บริษัทรับสร้างบ้านอันดับต้นๆ
ของเมืองไทย เป็นบริษัทหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่เห็นชัด เพราะหลังจากแจ้งยอดรายได้ประจำปีเมื่อ
2539 พบว่ามียอดติดลบถึง 2,227 ล้านบาท ปัญหาหลักของบริษัทสตาร์บล็อคเกิดจากภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา
ไม่มีงานก่อสร้างใหญ่ๆ เข้ามาเพราะในช่วงหลัง รายได้สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการรับงานก่อสร้าง
การรับเฉพาะงานสร้างบ้าน ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของบริษัทที่เกิดขึ้น ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยก็ตามมา
พร้อมๆ กับมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก
ทางออกของสตาร์บล็อคที่คาดการณ์กันไว้ก็คือ บริษัทต้องขายทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือตัวเองและในเดือนมีนาคม
2540 ที่ผ่านมา บริษัทได้ขายหุ้นจำนวน 2.9 ล้านหุ้นในบ.เอส จี. สตาร์พร็อพเพอตี้
ให้แก่บริษัทสุวิทย์และเสรีเป็นเงิน 111 ล้านบาท เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540
ขายที่ดิน 7 ไร่กว่าในจังหวัดนครปฐมเป็นเงิน 42 ล้าน ขายอาคารพาณิชย์ ย่านบางกอกน้อยได้เงินมา
10 ล้านบาท รวมทั้งปิดสาขาย่อยบางแห่ง สำหรับทางออกของบริษัทในเรื่องหาผู้ร่วมทุนคงเป็นไปได้ยาก
เพราะหนี้สินสูงมากและยังหาทางทำกำไรได้ยากมาก
กรณีของบริษัทสตาร์บล็อค เป็นอุทาหรณ์ให้กับหลายๆ บริษัททีเดียว เพราะทุกวันนี้
ยังมีบริษัทหน้าใหม่อีกหลายรายที่ผันตัวเองจากบริษัทรับเหมาขนาดกลาง แต่ปัจจุบันมีงานที่รับอยู่น้อย
และต้องการหาช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะในธุรกิจตลาดรับสร้างบ้าน
คณะอนุกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัย คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
มีตัวเลขยืนยันระบุว่า ปัจจุบันบริษัทรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ที่ได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคล และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมีประมาณ 100
บริษัท นอกจากนั้นจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่รับสร้างบ้านโดยไม่ได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลอย่างชัดเจนอีกจำนวนมาก
ปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางที่ผู้รับเหมาส่วนหนึ่งกำลังเฝ้ามอง
เพื่อจะลงสนามนี้ด้วยหลังจากธุรกิจบ้านจัดสรรหลายโครงการชะลอตัวก็คือ มีการตัดราคาด้วยกันเอง
ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ว่ากันว่ากำไร ณ วันนี้ของธุรกิจรับสร้างบ้านเหลือเพียงร้อยละ
5-10 เท่านั้น
ปัญหาบุคลากร แรงงานที่มีคุณภาพยังขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผลงานที่ออกมามีปัญหากับลูกค้า
ปัญหาการเงิน ธุรกิจรับสร้างบ้าน และผู้สร้างบ้านหลังแรกต้องกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูง
และยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเหมือนกับผู้ซื้อบ้านหลังแรก ปัญหาในเรื่องการประสานกับหน่วยงานราชการ
ที่ค่อนข้างล่าช้าไม่ว่าในเรื่องของการขออนุญาต ปลูกสร้างหรือการติดต่อขอสาธารณูปโภคต่างๆ
บริษัทรับสร้างบ้านที่ยังคงยืนหยัดอยู่ในวันนี้ จึงจำเป็นต้องพลิกค้นกลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่อความอยู่รอด
การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับงานก่อสร้างในปัจจุบันนั้นต้องประสบปัญหาว่าเป็นที่นิยมของตลาดหรือไม่
ลูกค้ายอมรับหรือเปล่า และที่สำคัญต้นทุนจะสูงในขณะที่ปรับราคาบ้านให้สูงขึ้นได้ยาก
ส่วนการขยายสาขาออกต่างจังหวัดนั้น บริษัทรับสร้างบ้านใหญ่ๆ บางรายที่มีความพร้อมก็อาจมองตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น
ส่วนการขยายเครือข่ายของบริษัทรับสร้างบ้านในรูปแบบของแฟรนไชส์นั้นปัจจุบันบริษัท
ซีคอน จำกัดกำลังศึกษารูปแบบซึ่งหากมีการเปิดสาขาในต่างจังหวัดได้จริง ก็จะช่วยสร้างตลาดใหม่ให้กับทางบริษัทเช่นกัน
นอกจากนั้นการขยายไปสู่การรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่หรือการกระจายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ
ก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านกำลังหาช่องทางมาโดยตลอด แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากในภาวะเช่นนี้
สำหรับการกระตุ้นการขายโดยวิธีการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ นั้นบริษัทรับสร้างบ้านเคยใช้งบประมาณมากที่สุดเมื่อปี
2538 ทั้งทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แมกาซีน โฆษณากลางแจ้ง รวมกัน 153 ล้าน
บริษัทที่ใช้งบประมาณสูงสุดในปี 2539 คือ บริษัท ซีคอน จำกัด(มหาชน) ประมาณ
13 ล้านบาท ซึ่งใช้สื่อเพียง 2 สื่อเท่านั้นคือหนังสือพิมพ์ประมาณ 11 ล้าน
และแมกาซีนอีกประมาณ 2 ล้าน (ดูรายละเอียดในตาราง)
สำหรับแนวโน้มในปี 2540 นี้คาดว่างบประมาณในการโฆษณาก็คงต้องลดลงมาเช่นกัน
แต่บริษัทรับสร้างบ้านจะพยายามรักษาคุณภาพทั้งก่อนและหลังการส่งมอบงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ลูกค้า
เพื่อให้ลูกค้าเก่าช่วยประชาสัมพันธ์ปากต่อปากเป็นเรื่องที่สร้างภาพพจน์และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าด้วย
อย่างไรก็ตามในวงการของบริษัทรับสร้างบ้านยังมีความหวังว่า ในปี 2540 นั้นอาจจะกระเตื้องขึ้นบ้างเพราะในช่วง
2-3 ปีที่ผ่านมานั้น บริษัทพัฒนาที่ดินหลายบริษัท ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์
ได้ตัดขายที่ดินแปลงเปล่าในโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้บริษัทรับสร้างบ้านที่ดำเนินกิจการมานานจะสามารถใช้ลูกค้าเก่าเป็นฐานในการรักษาส่วนแบ่งตลาด
พร้อมทั้งพัฒนาสินค้า สำหรับบริษัทใหม่ๆ จะใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาและเงื่อนไขที่ลูกค้าต้องการเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงเดิมที่มีอยู่
เพื่อตอบสนองให้ลูกค้าเกิดความพอใจสูงสุด