แด่…ปรีดิ์บุรณศิริ


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผู้จัดการรายเดือน" พบปะผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนหลายรายเมื่อวันงานมหกรรมบ้านและคอนโด97 ซึ่งหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายรายพูดถึงปรีดิ์ บุรณศิริ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติด้วยความเป็นห่วงในเรื่องที่ถูกบอร์ดการเคหะแห่งชาติปลดออกจากตำแหน่ง โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าในขณะนี้ปรีดิ์ป่วยถึงขั้นต้องผ่าตัดหัวใจ และแพทย์ให้ลาพักยาวไปจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2540

ปรีดิ์ไม่เคยทำงานในบริษัทจัดสรรที่ดินของภาคเอกชน แต่มีเพื่อนฝูงหลายคนในวงการพัฒนาที่ดิน เพราะชั่วระยะเวลายาวนานประมาณ 24 ปี ในการเคหะแห่งชาตินั้นปรีดิ์ได้เข้าร่วมวางแผนทางด้านนโยบายที่อยู่อาศัยหลายครั้งกับผู้ประกอบการภาคเอกชน

คำสั่งปลดผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ จึงเกิดคำถามในใจขึ้นมาหลายๆ คำถาม แต่เป็นคำถามที่พนักงานการเคหะฯอาจจะชาชิน และมีคำตอบ

นับตั้งแต่มีการเคหะแห่งชาติเกิดขึ้นเมื่อปี 2516 นั้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะฯ นั้น ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ส่งมาจากพรรคการเมือง เพราะที่นี่จะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก ปีหนึ่งหลายหมื่นหน่วย อย่างเช่นในช่วงแผน 8 คือปี 2540-2544 นี้ วงเงินลงทุนรวมมีสูงถึง 94,890 ล้านบาท ต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยถึง 200,000 หน่วย การสร้างผลงานให้เกิดขึ้นที่นี่ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองสามารถโชว์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ และถ้าจัดการดีๆ คะแนนเสียงหลายหมื่นเสียงก็สามารถตุนเก็บเอาไว้ได้เหมือนกัน

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช เป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติในปี 2518-2521 เป็นผู้ว่าคนแรกที่ถูกส่งมาจากพรรคการเมืองในรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ก็เป็นบุคคลที่มีความสามารถ โครงการใหญ่ของการเคหะฯ ได้เกิดขึ้นในช่วงสมัยนั้น

ดำรง ลักธพิพัฒน์มาจากการเมืองสายประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2524-2526 ส่วนดร.สุเชษฐ สิทธิชัยเกษม มาจากสายของพรรคกิจสังคม ในช่วงปี 2528-2530

ส่วนผู้ว่าฯคนอื่นๆ หลายคนถูกขึ้นมาแค่เพียงขัดตาทัพหรือพรรคการเมืองยังหาคนลงที่เหมาะสมไม่ได้เช่นผู้ว่าฯ รตยา จันเทียร เป็นผู้ว่าหญิงคนแรกของการเคหะฯ ที่ขึ้นตำแหน่งอย่างสวยงาม เพราะความเหมาะสมหลายอย่างคือ ไม่อยู่ในพรรคการเมืองและเป็นข้าราชการเก่าแก่ของการเคหะฯ ที่ไต่เต้าตำแหน่งมานาน รตยาสามารถทำงานอยู่จนเกษียณอายุราชการ

ส่วนผู้ว่าปรีดิ์ ก็เป็นลูกหม้อเก่าแก่ของการเคหะฯ อีกคนหนึ่ง เพราะเริ่มเข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2516 ในตำแหน่งหัวหน้ากองวางแผนและวิเคราะห์โครงการฝ่ายวิจัยและวางแผน ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าเมื่อเดือนเมษายน 2537

เมื่อลูกหม้อเก่าแก่ของการเคหะฯ ได้โอกาสขึ้นตำแหน่งนี้อีกครั้ง ชาวเคหะฯทั่วไปก็อาจจะคิดว่าคงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่การเคหะฯ จะปลดเปลื้องพันธนาการบางอย่างได้เสียที แต่เวลาเพียงผ่านไปไม่นานก็ถูกพิสูจน์ออกมาว่า เป็นการรอเวลาเท่านั้น

การเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเคหะฯ เพราะการเมือง และออกไปเพราะการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับการถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการซื้อที่ดิน หรือการประมูลงานรับเหมาก่อสร้าง เพราะงานของการเคหะฯ มักจะเกี่ยวข้องกับการซื้อที่ดินแปลงใหญ่เพื่อทำที่อยู่อาศัยอยู่ตลอดเวลา

เมื่อปรีดิ์ไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ยอมประนีประนอมกับข้อต่อทางอำนาจของการเมือง ประเด็นในเรื่องความบกพร่องในเรื่องการจัดซื้อที่ดินที่ลำลูกกาคลอง 11 จำนวน 832 ไร่ ในราคาที่สูงจึงได้ถูกนำมาใช้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสืบสวนที่มี ฮึกหาญ โตมรศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานได้สรุปผลสอบสวนไว้ว่า คณะกรรมการมีความเห็นเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายแรกมองว่าเป็นราคาซื้อที่ค่อนข้างสูง ฝ่ายที่ 2 เห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ส่วนฝ่ายที่ 3 มีความเห็นว่า คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาได้ว่าทุจริตหรือไม่ เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการสอบสวน เห็นควรส่งเรื่องนี้ไปให้ทางป.ป.ป.ต่อไป

แต่ในที่สุดจากการประชุมลับของคณะกรรมการการเคหะฯ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ก็มีผลให้ เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทยมีคำสั่งให้ ปรีดิ์ บุรณศิริไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2540

พลิกปูมหลังของ สกุล "บุรณ ศิริ" จะพบว่ามีบรรพบุรุษต้นตระกูล ที่สืบเชื้อสายกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนใหญ่จะรับราชการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด

ปรีดิ์ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของประยูร และหม่อมหลวงประสาระนี (มาลากุล) มีพี่น้องร่วมท้อง 5 คนคือ ศ.นพ.ปัญญา บุรณศิริ อาจารย์ภาควิชาอายุรกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล นิยดา กนิษฐรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย นันท์ บุรณศิริ ทำงานอยู่ในสโมสรราชกรีฑา และพิม ฮั่นตระกูล เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลรามคำแหงเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ปิยา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือภรรยาคู่ชีวิต ที่ทนดูสามีถูกรังแกไม่ได้จนต้องออกมาร้องขอพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมโดยมีนนท์และธาร ลูกชายทั้ง 2 คอยร้องขอให้ใจเย็นๆ

ในขณะเดียวกันทางพนักงานการเคหะแห่งชาติก็ได้ยื่นเรื่องถวายฎีกาในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง จะได้ผลอย่างไรหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องรอคอย แต่อย่างน้อยคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งที่คาดว่าจะเข้าประชุมครม.เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 นั้น ได้เลื่อนออกไปครั้งหนึ่งแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ขวากหนามบนเส้นทางแห่งผลประโยชน์ในการเคหะฯ ได้ถูกตระเตรียมถากถางไว้ส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อให้คนของใคร? ก้าวมาเดินเป็นคนต่อไปต้องจับตาดู !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.