สิ้นเสียงการประกาศจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากภาครัฐเพียงไม่กี่วัน เกือบทุกกลุ่มธุรกิจ
ต่างร้องคัดค้านกันแทบทั้งสิ้น มีเหตุผลที่เหมาะสม น่าฟังบ้าง และเหตุผลที่น้ำหนักน้อยบ้าง
ปะปนกันไป แต่มีอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจมองได้ว่า ปฏิบัติการหาเงินเข้ารัฐอย่างเร่งด่วนครั้งนี้ผิดพลาด
เสียมากกว่าได้
28 พฤษภาคม 2540 ที่ผ่านมา ตัวแทนผู้ประกอบการผลิตและจำหน่าย รถจักรยานยนต์ของไทยประกอบด้วยฮอนด้า
ซูซูกิ คาวาซากิ และยามาฮ่า ซึ่งอาจรวมถึงคาจิว่า ที่อยู่ในเครือเคพีเอ็นด้วยกัน
ซึ่งคาจิว่าเป็นรายใหม่และน่าจะกระทบหนักที่สุด ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์
ได้เข้าชี้แจงถึงผลกระทบจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าเพิ่มขึ้น
9 รายการ โดยมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป ซึ่งรถจักรยานยนต์สองจังหวะเข้าข่ายนั้นด้วย
นินนาท ไชยธีรภิญโญ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า หลังจากรับทราบนโยบายของภาครัฐ
กลุ่มผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ได้มาประเมินถึงผลกระทบจากการประกาศจัดเก็บภาษีสรรพสามิตครั้งนี้
ซึ่งผลสรุปออกมาว่า ต้องหารือเพื่อชี้แจงให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหา
โดยสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเห็นว่า การประกาศนโยบายด้านภาษีครั้งนี้
ควรจะมีการบอกให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมทุกประเภทต้องมีเวลาในการเตรียมตัว
ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของภาครัฐ
รถจักรยานยนต์สองจังหวะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้า 9 รายการที่ต้องถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
10% ทั้งที่ก่อนหน้าไม่มีการจัดเก็บมาก่อน โดยภาครัฐตีกรอบว่าเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษ
จากการประกาศจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่า จะส่งผลให้อุตสาหกรรมของประเทศหยุดชะงัก
และก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานี้
ไม่เหมาะสมที่จะทำการจัดเก็บภาษีในอัตราสูง โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
เพราะสินค้าจะมีต้นทุนสูงขึ้น และหากผู้ประกอบการในสามารถแบกรับภาระต้นทุนได้
ผู้บริโภคก็จะต้องเป็นผู้รับแทน ผลก็คือ ทำให้กำลังซื้อตกลงไปด้วย ทำให้ตลาดรวมตกลง
"หากผู้ประกอบการ ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ ผู้บริโภคก็จะต้องเป็นผู้รับแทน"
เป็นคำกล่าวที่ชัดเจนมาก และไม่อาจกล่าวโทษผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียวได้
ก็เพราะต้นทุนสูงขึ้นจริงๆ และการที่คนภาครัฐจะมองว่า การขึ้นราคาคงเกิดยากเพราะจะมีการแข่งขันกันในหมู่ผู้ผลิต
ซึ่งคงต้องบอกว่าประเมินผิด เพราะอุตสาหกรรมนี้ดูเหมือนแข่งขันกันแรง แต่ถ้ามองให้ลึกในส่วนงานอย่างนี้
ผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีอยู่เพียง 4 รายนั้นจับมือกันเหนียวแน่นมาก
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คนภาครัฐคงต้องตามให้ทันในกรณีการขึ้นราคาจำหน่ายว่า
จะเป็นจริงตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งผู้บริโภคก็ไม่อาจมั่นใจได้เลย
ปฏิบัติการของรัฐครั้งนี้ จึงเหมือนเอาเคราะห์กรรมมาโยนใส่ผู้บริโภคโดยแท้
ยังดีที่กลุ่มผู้ประกอบการได้ดิ้นรนในขั้นต้นบ้าง เพราะการขึ้นราคาในประเทศ
ก็ยังไม่ช่วยอะไรได้มาก เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เข้าสู่ยุคการส่งออกมาหลายปีแล้ว
ซึ่งถ้ารัฐไม่ช่วย ก็คงไปแข่งในตลาดโลกได้ยากลำบากขึ้น
"ปัญหาใหญ่ก็คือ แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ กำลังซื้อก็น้อยลง ปีนี้ยอดขายรวมอาจเหลือเพียง
8-9 แสนคัน ระยะยาวยังจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ตลาดรวมคงถดถอยลงอีกแน่นอน
การจัดเก็บภาษีครั้งนี้ค่อนข้างทำให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะไม่มีใครคิดว่าจะทำกันในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ
แต่เป็นที่รู้กันว่ารัฐต้องการรายได้เพิ่ม ซึ่งก็น่าหาทางออกด้านอื่น"
คำกล่าวจากหลายๆ ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกัน และเป็นการชี้ให้เห็นสภาพของตลาดในประเทศ
สำหรับการดิ้นรนของผู้ประกอบการผลิตรถจักรยานยนต์นั้น มีเป้าหมายเดียวคือ
การให้งดเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์สองจังหวะไปชั่วขณะ ไม่ใช่การให้ภาครัฐยกเลิกประกาศ
โดยกลุ่มผู้ผลิตต้องการเวลาในการปรับตัว เพราะอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนด้วยเงินลงทุนสูง
เมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นย่อมได้รับผลกระทบ
"เดิมเราเป็นที่สามรองจากจีนและอินเดีย แต่ล่าสุดอินโดนีเซีย เพิ่งแซงหน้าเรา
ตลาดเขาขึ้นถึง 1.8 ล้านคัน ยิ่งเรามาเจอมาตรการนี้อีก ตลาดส่งออก เราคงไม่มีทางสู้ได้
เพราะมีต้นทุนสูงกว่า ปริมาณผลิตก็น้อยกว่า และการแข่งขันยังมีความรุนแรงอยู่มาก"
ยิ่งดูถึงรายละเอียดในหนังสือที่ยื่นต่อภาครัฐแล้ว ยิ่งน่าเห็นใจผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของไทย
1. อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ
ปัจจุบันมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึง 90% มีการจ้างงานกว่า 50,000 คน รวมถึงยังได้พัฒนาด้านคุณภาพและราคาจนแข่งขันกับต่างชาติได้
โดยมีมูลค่าการส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศต่อปีกว่า 7,000 ล้านบาท
2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไทย กว่า 80% อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
และจักรยานยนต์เป็นพาหนะราคาถูกที่ทดแทนระบบขนส่งมวลชนที่ไม่สามารถตอบสนองได้เพียงพอ
3. ตลาดรถจักรยานยนต์ในไทยเคยมียอดจำหน่ายรวมสูงสุดถึง 1.45 ล้านคัน แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ปี 2539 ตลาดลดลงเหลือ 1.25 ล้านคัน และในปี 2540 มีแนวโน้มว่าจะลดลงจากปี
2539 อีก 12-13%
4. สมาคมมีความตระหนักอย่างดีว่า ทุกฝ่ายมีหน้าที่ในการส่งเสริมการลดมลภาวะด้านต่างๆ
5. อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ได้เตรียมการและดำเนินการผลิตรถจักรยานยนต์ทั้งประเภทสี่จังหวะ
และสองจังหวะ โดยปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับใช้เกี่ยวกับสารมลพิษที่ออกมากับไอเสียตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม
และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
6. ผู้ประกอบการได้พยายามเพิ่มการผลิตรถแบบสี่จังหวะเข้ามาในสายการผลิต
จนปัจจุบันรถจักรยานยนต์สี่จังหวะมีอัตราการผลิตถึง 25% ของกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์โดยรวม
และยังมีแผนที่จะเพิ่มการผลิตให้มากยิ่งขึ้น โดยเตรียมปรับปรุงเครื่องจักรรวมทั้งการสร้างแม่แบบต่างๆ
ซึ่งปกติต้องใช้เวลา 3-4 ปี ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้โดยทันที
7. ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นประชาชนมีรายได้ประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน
การประกาศจัดเก็บภาษีในครั้งนี้จะส่งผลกระทบโดยทันที เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ
ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน อาจทำให้การจ้างงานน้อยลง
จนส่งผลต่อไปยังการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล รวมถึงภาษีเงินได้ที่อาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์
7 หัวข้อหลักนั้น เหมือนภาครัฐคอยกลั่นแกล้งเอกชนโดยแท้
โดยไม่ตั้งใจ หรือ โดยสติปัญญาไม่ต้องคิดให้มากก็มองออก
ยังดีที่กลับใจได้ทัน
บางครั้งการยอมเสียหน้าของคนบางคน ก็ยังดีกว่าที่จะดันทุรังต่อไป