แอร์โรว์เพิ่มตลาดผู้หญิง ทุ่ม50ล.ลุย


ผู้จัดการรายวัน(6 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แอร์โรว์เตรียมทุ่มงบตลาดปีนี้กว่า 50 ล้านบาท เน้นเข้าสื่อสารที่ตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมหวังสร้างธุรกิจในระยะยาว ปีนี้เน้นรุกตลาดสินค้าสำหรับผู้หญิง ด้วยการออกสินค้าให้ครอบคลุมทุกไลน์ เล็งเปิดตัวเครื่องหนังปีนี้เผยไม่มีแผนขยายช่องทางขายเพิ่ม จากปัจจุบันมี 166 แห่งทั่วประเทศ ระบุสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาในตลาดมากขึ้นมีทั้งผลดีและผลเสียแต่มั่นใจคุณภาพแอร์โรว์สามารถสู้ต่างชาติได้

นางรมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผน การทำตลาดปีนี้ของแบรนด์เครื่องแต่งกายแอร์โรว์ บริษัทฯเตรียมทุ่มงบการตลาดไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทในการทำตลาดแอร์โรว์ตลอดทั้งปี โดยจะเน้นการเลือกใช้สื่อโฆษณาที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าโดยตรง และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายรวมถึงการเน้นทำกิจกรรม เพื่อสังคมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาแอร์โรว์ ได้เข้าร่วมอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการช่วยช้างและโครงการคิดถึงสมเด็จย่า โดยได้เชิญศิลปินหรือผู้มีชื่อเสียงในวงการมาร่วมวาดภาพในแนวคิด "ศิลปินคิดถึงสมเด็จย่ากับการช่วยเหลือสวนสมเด็จย่า" จากนั้นนำภาพวาดมาทำเป็นลายเสื้อยืดของแอร์โรว์

สำหรับคอลเลกชันเสื้อผ้าแอร์โรว์ในแต่ละปีจะออกสินค้าใหม่ อย่างน้อย 2 คอลเลกชันหลัก คือในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว โดยในปีนี้บริษัทฯจะให้ความสำคัญกับตลาดเสื้อผ้ากลุ่มผู้หญิงมากขึ้น หลังจากทดลองทำตลาดมา 1 ปีแล้วพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ดังนั้นบริษัทฯมีแผนผลิตสินค้าแอร์โรว์ให้ครอบ คลุมทุกไลน์ เช่น กระโปรง กางเกง สูท และเครื่องประดับอื่น หรือเครื่องหนัง ฯลฯ ในระดับราคาสินค้าประมาณ 300-2,000 บาท

"การที่รุกตลาดผู้หญิงมากขึ้น เพราะผู้หญิงมีความถี่ในการซื้อสินค้าสูงกว่าผู้ชาย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้ชายส่วนใหญ่จะมาซื้อสินค้า แอร์โรว์เดือนละ 2 ครั้ง และค่าใช้จ่ายของลูกค้าจะมีคนละ 2,000 บาทต่อครั้ง"

ปัจจุบันช่องทางการขายแอร์โรว์มีทั้งหมด 166 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งชอปล่าสุดที่เปิด คือ ที่สยามพารากอน ในปีนี้บริษัทฯไม่มีแผนขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่ม ทั้งนี้ เป็นเพราะการขยายตัวห้างสรรพสินค้ามีน้อย ขณะที่ช่องทางดิสเคานต์สโตร์บริษัทฯก็ไม่มีแผนที่จะไปเปิดชอป เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายนี้ไม่ตรงกับโพซิชันนิ่งสินค้าแอร์โรว์

นางรมิดากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการที่มีเสื้อผ้ายี่ห้อดังหรือสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้นนั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย ในส่วนผลดี คือ แบรนด์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาในตลาด ไทยจะมีราคาสูงกว่าสินค้าที่ขายในประเทศ 5 เท่า ซึ่งหากแข่งกันที่คุณภาพแล้วบริษัทฯสามารถสู้ได้ ซึ่งการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ๆ ถือเป็นโอกาสดี เพราะจะทำให้เห็นความแตกต่างด้านราคากันอย่างชัดเจน ขณะที่คุณภาพจะมีใกล้เคียงกันส่วนข้อเสีย คือ สินค้าแบรนด์เนมที่เข้ามาจะมีมากขึ้นและคนที่ติดแบรนด์จะซื้อสินค้าได้ง่ายและมากขึ้น

สำหรับยอดขายในสิ้นปีนี้ของผลิตภัณฑ์แอร์โรว์คาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยแบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายเสื้อผ้าผู้หญิง คิดเป็น 10% จากเดิมมี 5% และที่เหลือป็นสัดส่วนของสินค้ากลุ่มผู้ชาย 90%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.