ไอยเรศ เบอร์เด็น ไต่อนาคตไปกับ "ดีวีดี"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับไอยเรศ เบอร์เด็นแล้ว การถือกำเนิดของ "ดีวีดี" นับเป็นเสมือนแสงทองบนเส้นทางธุรกิจที่เขาพร้อมจะเทหน้าตักทั้งหมดไปกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่นี้

ไอยเรศ มั่นใจเต็มเปี่ยมว่าในอีกไม่นานด้วยประสิทธิภาพของดีวีดี จะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่าอย่างวิดีโอและซีดี ดังเช่นเทปคาสเซ็ทที่เข้ามาสร้างตำนานแทนที่ระบบเทปแบบ 8 แทกซ์ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตมาแล้ว

ไอยเรศเป็นเพียงวิศวกรชาวไทย ที่มีเพียงใบปริญญาตรีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ดีไซน์ สาขานิวเคลียร์จากแคลิฟอร์เนียสเตท สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าเขาไม่ใช่มืออาชีพผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในแวดวงไอที แต่ด้วยประสบการณ์ในชีวิตการทำงานอยู่ทั้งในวงการอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ และผ่านงานมาหลายรูปแบบทั้งการเป็นวิศวกรของบริษัทปูนซีเมนต์ในบาร์เรน ก่อนจะบินกลับมาเมืองไทยและผันตัวไปทำงานด้านโรงแรม และเปิดกิจการร้านขายอุปกรณ์ดำน้ำ ก่อนจะมาเปิดบริษัทคอมพิวเตอร์ชื่อเบอร์เดน เอ็นจิเนียริ่งเป็นของตนเอง

กระทั่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ไอยเรศเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทผู้ผลิตทีวีแห่งหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาธุรกิจในฐานะที่ปรึกษาไอยเรศเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับบริษัทแห่งนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มทำให้ไอยเรศก็เริ่มหันให้ความสนใจกับเทคโนโลยีของการผลิตแผ่นซีดี และเป้าหมายของเขาไม่ใช่แค่การเป็นโรงงานที่ปั๊มแผ่นซีดีขายในประเทศ แต่ต้องการเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก

หลังจากไอยเรศใช้เวลาเกือบ 1 ปีในการศึกษาตลาดและสำรวจแหล่งผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากค่ายยักษ์ทั้งญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป เขาก็ค้นพบว่าเป้าหมายที่แท้จริงของผู้ผลิตเหล่านี้ "ดีวีดี" เทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแทนที่ซีดีในยุคหน้า

และจากการศึกษาเขาก็พบว่า "โซนี่" ยักษ์ใหญ่เครื่องไฟฟ้าจากญี่ปุ่น คือเป้าหมายหลักที่ไอยเรศหวังจะมาช่วยสนับสนุนในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เมื่อเขาพบว่าโซนี่มีการจัดตั้งแผนกเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อพัฒนาดีวีดีหลายปีมาแล้ว

ทว่า การได้รับการสนับสนุนจากโซนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ไอยเรศต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเป็นอย่างดีจากโซนี่ เขาเรียกว่าการได้รับ "โกลด์การ์ด" ซึ่งจะเหมือนกับผู้ที่จะได้รับบัตรเครดิตแบบทองของอเมริกันเอ็กซ์เพรส คือจะต้องผ่านการตรวจสอบในเรื่องนโยบาย ความมั่นคงของกิจการ แต่ไม่จำเป็นต้องรวยมหาศาล

แม้จะผ่านขั้นตอนการตรวจสอบไปแล้ว แต่ใช่ว่าอุปสรรคจะหมดลง เมื่อโซนี่ต้องการให้ตั้งโรงงานซีดีไปก่อน และหลักจากนั้นจะอัพเกรดให้เมื่อดีวีดีมาถึง ผลจากข้อเสนอของโซนี่ในครั้งนั้นทำให้ไอยเรศต้องหันหลังให้กับโซนี่ไปพักหนึ่ง และเดินไปหา "นิมบัส" จากอังกฤษคู่แข่งบนสมรภูมิดีวีดีของโซนี่

บริษัทผู้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีดีวีดีมีอยู่ 2 ค่ายสำคัญ คือ ค่ายโซนี่ ฟิลิปส์ ส่วนอีกค่ายคือ โตชิบา ไทม์วอร์เนอร์ และนิมบัส

"เราไม่ยอมทางโซนี่ เรารู้ว่าดีวีดีจะมาแน่ แต่การลงทุนตั้งโรงงานต้องใช้เวลาปีถึง 2 ปี โรงงานยังไม่ทันผลิตเลยก็เปลี่ยนเป็นดีวีดีแล้ว กว่าจะตั้งโรงงานกว่าจะทำตลาดและที่สำคัญเครื่องจักรของซีดีไม่สามารถผลิตดีวีดีได้" สุวิพงศ์ สุริยะกำพลรองประธานบริษัทไฮพรีซีเซียส เรคคอร์ด ชี้แจง

ในที่สุดไอยเรศก็หวนกลับไปหาโซนี่อีกครั้ง เมื่อผู้บริหารคนหนึ่งของโซนี่ที่ดูแลแผนกดีวีดีซึ่งคุ้นเคยกันกับเขาได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมาในตำแหน่งที่สูงกว่าเดิม และต้องการให้การสนับสนุนกับเขา

โรงงานผลิตดีวีดีแห่งแรกของไทยก็ถูกตั้งขึ้น ใช้ชื่อว่า "เมลคอน ดีวีดี โปรดักส์" ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสหพัฒน์ อ.ศรีราชา มีหุ้นส่วนคือไอยเรศและสุวิพงศ์ และกลุ่มสหพัฒน์ที่เข้ามาถือหุ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งโซนี่ไม่ได้เข้ามาถือหุ้น แต่จะให้การสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเวลา 5 ปี

ไอยเรศใช้เงินลงทุน 600-700 ล้านบาทในการสร้างโรงงาน โดยจะเริ่มผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ มีกำลังการผลิต 8 ล้านแผ่นต่อปี ขยายกำลังการผลิต 12 ล้านแผ่นต่อปี เป้าหมายของเขาคือ การส่งไปต่างประเทศเป็นหลักประมาณ 6 ล้านแผ่น ไปสหรัฐฯ ยุโรป ที่เหลือเกือบ 2 ล้านแผ่นจะป้อนตลาดในไทย

ตลอดเวลาของการสนทนา ไอยเรศเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าด้วยคุณสมบัติของดีวีดีที่เพิ่มความจุหลายเท่าตัว และมีระบบป้องกันการก๊อปปี้จะเข้ามาแทนที่วิดีโอเทป และซีดีแน่นอน ที่สำคัญดีวีดีไม่ได้รองรับเพียงแค่ตลาดด้านการบันเทิงเท่านั้น แต่ยังรองรับกับความต้องการของตลาดคอมพิวเตอร์ด้วย เพราะนอกจากความจุของข้อมูลจะมากกว่าซีดีแล้วดีวีดียังก๊อปปี้ไม่ได้

แต่ต้องไม่ลืมว่าแม้เทคโนโลยีดี แต่หากไม่มีซอฟต์แวร์ป้อน โอกาสเกิดของดีวีดีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไอยเรศจึงไม่ได้วางบทบาทแค่การเป็นโรงงานผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตลาดและการผลิตรายการซอฟต์แวร์

ไอยเรศได้ก่อตั้งบริษัทไฮ พรีซิชั่น เรคคอร์ด (เอชพีอาร์) เพื่อทำตลาดแผ่นดีวีดีทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เอชพีอาร์จะซื้อลิขสิทธิ์หนัง หรือไลเซนส์ซอฟต์แวร์มาผลิต และจำหน่ายภายในประเทศ รวมไปถึงการรับจ้างผลิตและบันทึกภาพยนตร์ หรือละครลงในแผ่นดีวีดีด้วย

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งทีมโปรดักชั่นเฮาส์ขึ้นมาเพื่อผลิตรายการบันเทิง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการผลิตร้อยดวงใจไทยลูกทุ่งป้อนให้กับไอทีวีสิ่งที่ไอยเรศต้องการคือ การผลิตซอฟต์แวร์ป้อนให้กับตลาดดีวีดี และต้องการเป็นหนึ่งในผู้ที่ยืนอยู่ในธุรกิจให้บริการด้านความบันเทิงบนเทคโนโลยีของดีวีดี

"ผมไม่นั่งรอให้ใครมาคิดว่าจะทำอะไรกับธุรกิจตรงนี้ ในเมื่อเรามีเทคโนโลยีซัพพอร์ต เรามีระบบการบันทึกที่เหนือกว่าคนอื่น ส่วนที่เราลงทุนนี้เราลงทุนห้องบันทึกห้องตัดต่อ ห้องอัด"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2539 ได้กำหนดให้ดีวีดีแยกออกจากลิขสิทธิ์ของวีดีโอและซีดี (ออลไรท์) ดังนั้นผู้ที่เคยได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์บันทึกลงวิดีโอหรือซีดีจะไม่รวมไปถึงดีวีดี หากต้องการบันทึกลงดีวีดีจะต้องยื่นขอลิขสิทธิ์ใหม่ ซึ่งจุดนี้เองทำให้ไอยเรศเชื่อว่า ผู้ครองลิขสิทธิ์ดีวีดีในวันข้างหน้าอาจจะไม่ใช่รายเดิมที่เคยครองลิขสิทธิ์หนังอยู่ก็ได้ และนั่นคือโอกาสที่ไอยเรศเล็งเห็น

แม้โอกาสจะมา แต่การขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนต์จากต่างประเทศมาผลิต ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ หากไม่มีช่องทางจัดจำหน่ายเพียงพอ

วิธีการแก้ปัญหาของเขาคือ คิดค้นเครื่องเวนดิ้ง แมชชีน ซึ่งเป็นเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ โดยจ้างวิศวกรญี่ปุ่นดีไซน์ ให้เครื่องที่ออกแบบมานี้จะมีทั้งระบบขายและเช่าแผ่นดีวีดี มีทั้งบัตรเครดิต เงินสด สามารถเลือกดูรายการ และสามารถเช่าและคืนในจุดอื่นได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของสถานที่เพื่อตั้งเวนดิ้ง แมชชีนทั่วประเทศ พร้อมกับการขายลิขสิทธิ์การผลิตนี้ในต่างประเทศด้วย

การมาของ "ดีวีดี" จึงไม่ได้แค่เป็นการพลิกโฉมหน้าของอุปกรณ์การบันทึกภาพ เสียงและข้อมูล แต่ยังพัดพาเอาคลื่นลูกใหม่อย่างไอยเรศเข้ามาบนเส้นทางธุรกิจนี้อีกด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.