|

K-BANKไม่มี"ยุทธศาสตร์บนกระดาษ"บัณฑูรทำนายมิติเวลาอาจทำแบงก์สูญพันธ์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"บัณฑูร ล่ำซำ"ซีอีโอค่ายแบงก์รวงข้าวหรือ K-BANK เปรียบเปรยให้เห็นถึงการระดมสรรพกำลังเพื่อให้บริการทางการเงินในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ต้องคิดและเสร็จเร็ว ไม่ใช่ "ยุทธศาสตร์บนกระดาษ" เพราะโลกที่ถูกเลาะตะเข็บ ไม่มีพรมแดนขวางกั้น มี "มิติเวลา"เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งถ้าทำไม่เข้าขั้น ก็มีโอกาสที่แบงก์ต่างๆจะสูญพันธุ์ได้โดยง่าย...
หากบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ดูคลุมเครือเพราะตัวแปรหลักคือ เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะกดให้ภาวะเศรษฐกิจชะงักลงบ้าง แต่สำหรับ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ธนาคารกสิกรไทย กลับมองว่า ถ้าผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ว่าด้วยวิธีไหนได้ เช่น ต้องแก้ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด หรือเงินเฟ้อ โดยดูว่ากดปุ่มไหนเพื่อให้เกิดผลบวก ภาวะเศรษฐกิจก็คงไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ต้องขบคิด
ในสายตาบัณฑูร เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีมุมบวก จากนักท่องเที่ยวและการลงทุนตรงจากต่างประเทศ ที่เห็นชัดเจนก็คือ การลงทุนตรงจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่เข้ามาพร้อมกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ทำให้ไทยได้เปรียบเพื่อนบ้านแถบอาเซียน เพราะชิ้นส่วนจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการผลักดันโครงการ "ดีทรอยต์ แห่งตะวันออก"ให้เป็นจริง
" ทุกวันนี้ทั้งฝรั่งและญี่ปุ่นต่างก็ใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถเพื่อส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก"
เมื่อมองในมุมบวก ปัญหาเศรษฐกิจสำหรับบัณฑูรจึงมีทางออกเสมอ แต่ที่มองในมุมลบกลับเป็นเรื่องการค้าไร้พรมแดนหรือ การเปิดเสรี FTAที่บัณฑูรเห็นว่า ภาคธนาคารพาณิชย์ต้องปรับความสามารถในการให้บริการทางการเงินเพื่อให้ลูกค้ายอมรับ โดยที่ใครจัดการสรรพกำลัง คิดเร็วและเสร็จเร็ว โดยไม่ใช่ "ยุทธศาสตร์บนกระดาษ" ก็จะมีโอกาสได้ยืนอยู่อย่างแข็งแกร่ง
เพราะทั้งหมดนี้มีเงื่อนไข คือ "มิติเวลา" คอยควบคุมอยู่ "ถ้าทำไม่เข้าขั้น แบงก์ก็มีโอกาสสูญพันธ์แน่นอน" บัณฑูร ทำนายความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นหากแบงก์ต่างๆยังไม่กระโดดออกจากร่างโครงการในกระดาษ
สิ่งสำคัญที่น่าจะเหนียวรั้งไม่ให้แบงก์ต่างๆหายหน้าหายตาไปจากแวดวงการนี้ จึงน่าจะอยู่ที่การลงทุนในเรื่องใหญ่และสำคัญ นั่นก็คือ การวางระบบไอที ที่ต้องนำมาผนวกกับธุรกิจ ลูกค้า การให้บริการ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีอยู่ในมือ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่สถาบันการเงินทุกแห่งต้องคิด
" ไอทีนี่ ไม่มีคงไม่ได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ว่ามีตังค์ก็หาซื้อมาได้ แต่การลงทุนไอทีต้องนำมาผนวกกับครรลองธุรกิจ ระบบการให้บริการและการสร้างสินค้าใหม่ๆ ป้อนสู่ตลาด"
บัณฑูรบอกว่า การแข่งขันในเวทีโลกที่เปิดกว้าง หากบอกว่าพร้อม 100% คงไม่มี แต่ที่ผ่านมาก็พยายามทำตัวไม่ให้ไม่พร้อมนานจนเกินไป การปรับเปลี่ยนองค์กรก่อนหน้านี้อาจเรียกว่า พร้อมในขั้นหนึ่ง ซึ่งก็หยุดไม่ได้ แต่ต้องทำให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ
เคแบงก์ ของตระกูล "ล่ำซำ" น่าจะเป็นตัวอย่างของการปฏิรูปองค์กรสถาบันการเงินที่รื้อเอาผังเดิม การทำงานแบบเก่าๆเดิมๆออกไป จนไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสาขาที่ทันสมัย กะทัดรัด เจาะเข้าถึงชุมชนทุกระดับ การให้บริการด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้า จนแบงก์อื่นๆต้องขยับตัวตามให้ทัน
" การให้บริการสำหรับเคแบงก์ ก็เช่น การโอนเงิน การถอนเงินที่ง่าย สะดวก หรือบริการอะไรก็แล้วแต่ที่มีส่วนทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวก รวดเร็วขึ้น"
บัณฑูร บอกว่า ทิศทางสถาบันการเงินต่อจากนี้น่าจะเคลื่อนไปในทางการพัฒนาบุคลากร การลงทุนระบบไอที การพัฒนาการให้บริการ และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยลูกค้าจะเป็นคนตัดสินใจ เพราะไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่การให้บริการก็ยังสำคัญต่อลูกค้ามากที่สุด
ขณะที่บรรยากาศการยื้อแย่งช่วงชิงเงินฝากในปีนี้ ยังไม่เข้าขั้นรุนแรงมากนัก แต่แบงก์ทุกแห่งก็จำเป็นต้องบริหารต้นทุนอย่างระมัดระวัง ส่วนการขยายสินเชื่อก็ต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้ภาวะที่ค่อนข้างยากกว่าเดิม
ภายใต้มิติแห่งเวลา แบงก์ไหนที่มัวแต่ร่างโครงการสวยหรูบนแผ่นกระดาษ ก็อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก จนวิ่งไล่หลังเจ้าอื่นไม่ทัน...
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|