ประธานาธิบดีคลินตันกล่าวว่า เขาต้องการให้เด็กอเมริกันอายุ 8 ขวบทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้
เด็กอายุ 12 ขวบทุกคนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ทุกคน และเด็ก 18 ขวบทุกคน
สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
นี่เป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ในเมืองไทยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 มีผู้ให้บริการหรือ
ISP กว่า 12 บริษัท และยังมีอีก 6 บริษัท ที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยอนุมัติให้ดำเนินการได้
และอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดให้บริการ
อย่างไรก็ตาม การให้บริการอินเตอร์เน็ตในไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด
ในเรื่องของค่าบริการที่แพงเกินไป และคุณภาพที่ยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ใช้
หน่วยงานที่ตกเป็นจำเลยใหญ่คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ไอเอสพี และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.)
ต่างก็โยนความผิดกันไปมา นี่เป็นเหตุให้สององค์กรคือ ชมรมนักข่าวไอที (ITPC)
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ
(NITC) ร่วมมือกันจัดสัมมนาเรื่อง "สภาพการแข่งขันและราคาค่าบริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย"
ณ ห้องประชุมการสื่อสารแห่งประเทศไทย เมื่อต้นเดือนมิถุนายน
ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เข้าร่วมงานคับคั่งเป็นจำนวนถึง 150 คน ไฮไลท์สำคัญคือ
การเสนอผลวิจัยของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย
(ทีดีอาร์ไอ) โดยมีผู้วิจารณ์คือ ตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการบริษัทอินเตอร์เน็ต
ประเทศไทย, วิวัฒน์วงศ์ วิจิตรวาทการ กรรมการผู้จัดการบริษัทล็อกซ์อินโฟ
และพิศาล จอโภชาอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและพัฒนา การสื่อสารแห่งประเทศไทย
นักวิจัยหนุ่มแห่งทีดีอาร์ไอให้ความเห็นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี)
เป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญในการอธิบายความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ต หากจีดีพีเพิ่มขึ้น
1 พันล้านดอลลาร์จะมีผลทำให้ประเทศหนึ่งมีจำนวนโฮสต์ (HOST) เพิ่มขึ้นประมาณ
439 เครื่อง
จากการวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีอัตราแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตต่ำกว่าประเทศอื่นๆ
ที่มีขนาดจีดีพีใกล้เคียงกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแล้ว
อินเตอร์เน็ตของไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ สิงคโปร์และมาเลเซียได้เข้าสู่ยุคแห่งการ
"ทะยานบิน" ในการเติบโตของอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ปี 1995 และ 1996
ตามลำดับ
การที่อินเตอร์เน็ตในไทยยังไม่ถึงยุคทะยานบินก็เพราะยังเป็นธุรกิจผูกขาดของกสท.
เมื่อเปรียบเทียบประเทศสองประเทศที่มีจีดีพีเท่ากันประเทศที่มีการผูกขาดตลาดการสื่อสารระหว่างประเทศ
จะมีความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตน้อยกว่าประเทศที่ไม่มีการผูกขาด 557.2 เครื่องต่อจีดีพีทุกหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นี่เป็นประเด็นที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและผู้ใช้ทั้งแบบบุคคลและองค์กร
เห็นด้วยออกจะเป็นเอกฉันท์ โดยวัดจากการแสดงความเห็นในที่สัมมนา
นักวิชาการหนุ่มจากทีดีอาร์ไอ ยังรุกคืบต่อไปว่า อัตราค่าบริการรายเดือนของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ
(ยกเว้นญี่ปุ่น) ตั้งแต่ร้อยละ 20 ในกรณีของอินโดนีเซีย ไปจนถึงร้อยละ 63
ในกรณีของมาเลเซีย
ส่วนในบริการสายเช่าขนาด 64 Kbps อัตราค่าบริการรายเดือนโดยเปรียบเทียบของไทยยิ่งสูงขึ้นไปอีกโดยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศประมาณ
50-80%
สาเหตุที่ทำให้ราคาสูงคือ 1) กสท. ซึ่งผูกขาดการให้บริการครึ่งวงจร (half
Circuit) คิดค่าบริการวงจรในระดับที่สูงกว่าระดับทั่วไป
2) กสท. เข้าแทรกแซงตลาดในด้านราคา เช่น การกำหนราคาขั้นสูงและราคาขั้นต่ำ
ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง
3) กสท. เข้าแทรกแซงการบริหารของไอเอสพี เช่น เข้าไปถือหุ้นลม และแทรกแซงการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ดร.สมเกียรติยอมรับว่าเท่าที่ตรวจสอบดู ในความเป็นจริงยังไม่พบว่ากสท.แทรกแซงการบริหารของไอเอสพีแต่ประการใด
และการถือหุ้นลมก็ยังไม่ได้ทำให้กสท.ได้เงินปันผลอย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากไอเอสพีแต่ละรายก็เพิ่มเริ่มต้นธุรกิจ
และขาดทุนกันทั้งนั้น
งานนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกสท. ใจคอกว้างขวางทีเดียว
เพราะแม้จะรู้ว่ากสท.จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วง แต่กสท.ก็ยังยินดีอำนวยความสะดวก
และให้ความสนับสนุนทุกอย่างแก่ผู้จัดงาน
การชี้แจงของพิศาล จอโภชาอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและพัฒนา ของกสท. ก็ดำเนินไปอย่างมีเหตุมีผลไม่ก้าวร้าว
และให้เกียรติแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างสูง แทบไม่น่าเชื่อว่าท่ามกลางเสียงวิจารณ์ในบ้านของกสท.เอง
พิศาลแทบจะต้องยืนหยัดอยู่เพียงคนเดียว
ที่ผ่านมา ก็ใช่ว่ากสท.จะไม่ฟังเสียงใครเลย
กสท.ก็มีการประกาศลดค่าบริการวงจรระหว่างประเทศลงร้อยละ 10 และลดอัตราค่าบริการพิเศษให้แก่ไอเอสพีร้อยละ
25 ทำให้ค่าบริการอินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับที่เหมาะสมพอสมควร คือเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาครึ่งวงจรที่บริษัทผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศให้บริการแก่ไอเอสพีไทย
และยังใกล้เคียงกับราคาที่ไอเอสพีในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ซื้อจากหน่วยงานของรัฐ
แต่ผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอก็ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ปัญหายังคงเหลืออยู่ 3
ประการคือ
1)การลดราคาดังกล่าวของกสท. ไม่มีการออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ไอเอสพีไม่มีความมั่นใจว่าจะลดได้จริงหรือไม่
2) ราคาที่ประกาศลดให้กับวงจรขนาดใหญ่มีอัตราส่วนลดน้อยกว่าวงจรขนาดเล็ก
ซึ่งทำให้ไอเอสพีไม่มีแรงจูงใจในการขยายวงจร
3) กสท.ยังไม่มีหลักประกันถึงการลดราคาวงจรอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการเปิดเผยถึงสูตรในการปรับราคาแต่ละครั้งว่า
ปรับลดตามต้นทุนที่ลดลงของกสท. หรือใช้หลักเกณฑ์อื่น
ข้อสรุปของการสัมมนาครั้งนี้คือ กสท.ต้องเลิกควบคุมราคาทั้งสูงสุดและต่ำสุด
โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด กสท.ควรถอนตัวออกจากการถือหุ้นลมในไอเอสพีทั้งหลาย
เพราะเท่ากับเป็นต้นทุนที่ทำให้ไอเอสพีจำเป็นต้องคิดค่าบริการแพงขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการบิดเบือนตลาด
อันที่จริง เรื่องค่าบริการอินเตอร์เน็ตแพงนั้น เท่ากับทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน
เพราะลูกค้าในไทยย้ายฐานหรือ HOST ไปยังต่างประเทศที่มีค่าบริการถูกกว่า
ดังเช่นปรากฏในกรณีของ บางกอกโพสต์ และแม้กระทั่งหน่วยงานราชการ เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก
จากการวิจัยพบว่า จีนเป็นประเทศที่อัตราการย้ายฐานของโฮสต์สูงสุดคือ ร้อยละ
80 รองลงมาคือกลุ่มอาเซียนและประเทศไทย อัตราค่าเช่าสายที่สูงทำให้ไอเอสพีในไทยเสียโอกาสทางธุรกิจไปถึงร้อยละ
26 และมีแนวโน้มว่าจะพ่ายแพ้ในการแข่งขันธุรกิจด้านนี้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
การระดมความคิดครั้งนี้ เป็นการประสานเสียงที่หนักแน่นของทุกฝ่าย ที่น่าเห็นใจคือ
ประดาไอเอสพีที่ครวญว่า ทำธุรกิจอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้ ขาดทุนจนไม่อยากทำอยู่แล้ว
แต่ที่ทำก็เพราะยังมีความหวัง แค่นั้นเอง