อาหารสมองของนักลงทุน:โบรกเกอร์คือใคร ?


ผู้จัดการรายวัน(5 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โบรกเกอร์ คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลโบรกเกอร์ด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจที่ระดับหนึ่งว่า โบรกเกอร์ทั้งหลายที่ประกอบธุรกิจอยู่นั้นมีความน่าเชื่อถือสามารถให้ความคุ้มครองดูแลลูกค้าและทรัพย์สินของลูกค้าได้ นอกจากนี้ โบรกเกอร์ยังต้องเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ และปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือข้อบังคับที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดอีกด้วย

หน้าที่ของโบรกเกอร์มีอะไรบ้าง

โบรกเกอร์มีหน้าที่รับคำสั่งจากลูกค้าแล้วส่งคำสั่งเข้าระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นตัวแทนของลูกค้าในการชำระราคา ส่งมอบหลักทรัพย์ รับฝากหลักทรัพย์ รวมทั้งติดตามสิทธิประโยชน์ของลูกค้าในเรื่อง เงินปันผล หุ้นเพิ่มทุน การจองซื้อหุ้นใหม่ ให้บริการข่าวสารและข้อมูลการวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยที่โบรกเกอร์จะได้รับค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (brokerage fee) จากลูกค้าเป็นการตอบแทน เพราะว่าโบรกเกอร์จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนและดูแลผลประโยชน์ของท่านในหลายๆ เรื่อง ดังนั้น การเลือกโบรกเกอร์ที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

มีการกำกับดูแลโบรกเกอร์อย่างไร ?

โบรกเกอร์ถูกกำกับดูแลโดยหลักใหญ่อยู่ที่การต้องมีความสามารถในการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Requirement-NCR) ตามเกณฑ์ที่กำหนด และการถูกตรวจสอบโดยทีมผู้ตรวจสอบจาก ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่เป็นประจำ หากโบรกเกอร์ไม่สามารถดำรง NCR ได้หรือประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจก็จะถูกสั่งให้จำกัดขอบเขตการทำธุรกิจ หรือถูกสั่งการให้แก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนดต่อไป นอกจากนี้ผู้บริหารของโบรกเกอร์ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ทำการติดต่อกับท่าน (marketing officer) ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.อีกด้วย

การเลือกโบรกเกอร์ ควรพิจารณาอะไรบ้าง ?

ต้องเป็นโบรกเกอร์ที่ได้รับใบอนุญาต ท่านควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าโบรกเกอร์ที่สนใจอยู่มีใบอนุญาตหรือไม่โดยอาจสอบถามจากบริษัทโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อโบรกเกอร์ได้จาก ก.ล.ต.โดยผ่าน www.sec.or.th ซึ่งมีข้อมูล สถานที่ติดต่อ และเบอร์โทรศัพท์ของโบรกเกอร์แต่ละแห่ง

ดูข้อมูลพื้นฐานของโบรกเกอร์ท่านอาจพิจารณาจากรายงานทางการเงินของบริษัท ดูแลประกอบการของบริษัท หรืออาจสอบถามประวัติเกี่ยวกับการดำรง NCR ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาด้วยก็ได้

พิจารณาขอบเขตการให้บริการของโบรกเกอร์

ท่านควรติดต่อสอบถามโบรกเกอร์โดยตรงเกี่ยกวับรายละเอียดการให้บริการต่างๆ เพื่อประเมินว่า ตรงกับสิ่งที่ท่านกำลังมองหาอยู่หรือไม่ เช่น นโยบายการดูแลให้ความคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า และกระบวนการดำเนินการของบริษัทเมื่อได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการ เป็นต้น

สอบถามความเห็นจากคนรอบข้างหรือเพื่อนของท่านในกรณีที่ท่านมีเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน หรือญาติที่เคยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาก่อนอาจขอความเห็นหรือฟังประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับจากการซื้อขายหลักทรัพย์กับโบรกเกอร์รายต่างๆ ซึ่งก็จะสามารถช่วยในการตัดสินใจได้อีกทางหนึ่ง เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ข้างต้นแล้ว ท่านก็จะมีข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอในการเลือกโบรกเกอร์ที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.