สายสัมพันธ์ วิพรรธ์ เริงพิทยาดึง "อานันท์" ตั้งมหาวิทยาลัยจากอังกฤษ


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

หากเอ่ยชื่อ บริษัท อิมพีเรียลเทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บางคนอาจรู้จักบริษัทตั้งใหม่แห่งนี้ในฐานะเป็นผู้บริหารโครงการมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ Asian University of Science and Technology (Asia UST) โดยใช้หลักสูตรของ Imperial College จากอังกฤษ อันเป็นธรรมดาของมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศที่ต่างหันเข็มมุ่งเข้าจัดตั้งสาขาสถาบันแห่งใหม่ร่วมกับฝ่ายไทย ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วกับหลายสถาบัน

แต่หากเข้าไปดูถึงรายชื่อของคณะกรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัทแห่งนี้ จะพบว่าเป็นการร่วมกันของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะประธานโครงการมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชียคือ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยผู้ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากที่สุดคนหนึ่ง

ตัวกลางประสานงานจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารงานมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้คือ ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา ซึ่งในอดีตเคยทำงานร่วมกับอานันท์ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการว่า ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของ Imperial College of Science, Technology and Medicine

หลังจากที่ได้มีโอกาสพบกับ ศาสตราจารย์ เซอร์ โรนัลด์ อ๊อกซ์เบิร์ก อธิการบดีของ อิมพีเรียล คอลเลจ เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้านี้ก็ได้เสนอแนวคิดดังกล่าว และได้รับความสนใจและพร้อมร่วมมือกันจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ โดยให้ดร.วิพรรธ์เป็นผู้ประสานงานทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษ

ดร.วิพรรธ์เองนั้นเคยร่วมงานเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท อิตาเลี่ยนไทย อุตสาหกรรม จำกัด เครืออินตาเลี่ยนไทย ของน.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต และลาออกมาเมื่อปี 2526 เพื่อมาตั้งบริษัท วิพเทล จำกัด ซึ่งต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัท ชิน พูนอินดัสเตรียล จำกัดของไต้หวัน เพื่อตั้งบริษัท คาร์โก้ พี.ซี.บี. ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า หรือแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีดร.วิพรรธ์ เป็นประธาน

การร่วมงานกับน.พ.ชัยยุทธทำให้สามารถดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านก่อสร้าง และอุตสาหกรรมแห่งนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น และก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัย

ในฐานะที่เป็นผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมและร่วมเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ ในยุคที่อานันท์เป็นประธานสภาฯ ทำให้ดร.วิพรรธ์รู้จักคุ้นเคยกับอดีตนายกรัฐมนตรี "ดรีมทีม" ผู้นี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดอานันท์เมื่อปี 2534 ดร.วิพรรธ์ก็เป็นที่ปรึกษาของดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ความไว้ใจที่ "ดร.โกร่ง" ให้กับดร.วิพรรธ์มีมากพอที่จะตั้งให้ร่วมเป็นคณะกรรมการปุ๋ยแห่งชาติ และแม้การเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ

ดร.วีรพงษ์จึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีรายชื่อในการเข้าเป็นกรรมการของมหาวิทยาลัย

สายสัมพันธ์ที่แนบแน่น ยังมีส่วนดึงบุคคลสำคัญในแวดวงการเงิน การธนาคาร อุตสาหกรรมมาร่วมอีกหลายท่าน เพราะยังมีชื่อของ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เปรมชัย กรรณสูต วิโรจน์ ภู่ตระกูล คุณหญิงนิรมล สุริยสัตย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช มานพ นาคทัต พิไลจิตร เริงพิทยา และขัติยา ไกรกาญจน์ รวมอยู่ในคณะกรรมการฯด้วย

สำหรับ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นศิษย์เก่าของอิมพีเรียล คอลเลจด้วย จึงมีส่วนร่วมที่น่าสนใจในการทำให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และโชติ โสภณพนิช เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น

สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้สามารถดึงผู้ร่วมทุนจากบริษัทชั้นนำได้นั้น ดร.วิพรรธ์ กล่าวว่าหลังจากได้มีการเสนอโครงการให้รับทราบ เพราะหลายคนเมื่อเห็นชื่อว่าอดีตนายกฯ อานันท์ร่วมเป็นประธานอยู่ด้วย ก็ไว้ใจว่าจะมีการตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติขึ้นมาจริง แม้กระทั่งเครือเจริญโภคภัณฑ์อย่าง ซีพี ที่ถือหุ้นในนามบริษัท เทเลคอม โฮลดิ้ง จำกัด กับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

อีกด้านหนึ่งนั้นก็มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กับกระทรวงการคลัง อันเป็นหลักประกันสร้างความมั่นใจให้กับโครงการ

กระทรวงการคลังสมัยที่สุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการฯได้มีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปี 2539 ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นในบริษัท อิมพีเรียลฯ 10% หรือประมาณ 100 ล้านบาท โดยสัดส่วนที่คลังมีชื่อในทะเบียนหุ้นปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 14% นับได้ว่าเป็นจำนวนที่มากพอ และเป็นหลักประกันได้ว่าสถาบันแห่งนี้มีรัฐบาลเข้าร่วมลงทุนด้วย

ผู้ถือหุ้นเหล่านี้ล้วนได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้ก่อตั้ง ซึ่งรู้จักสนิทสนมกับพร.วิพรรธ์ ทั้งสิ้น "เมื่อตกลงใจว่าจะตั้งมหาวิทยาลัย ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีในการหาผู้ถือหุ้นมาร่วม จนตอนนี้เรามีผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว 21 ราย ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ จึงประกันได้ว่าสถาบันแห่งนี้จะมีคุณภาพดี ไม่เช่นนั้นคงไม่เข้ามาร่วม"

ความพยายามยกระดับมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรด้านเทคนิคป้อนตลาดแรงงานด้านอุตสาหกรรมที่กำลังขาดแคลน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย Asian UST ตั้งอยู่ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บนเนื้อที่ 500 ไร่ ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท บนความเชื่อมั่นว่าส่วนหนึ่งจะสามารถสนับสนุนให้กับอุตสาหกรรมในย่านอีสเทิร์น ซีบอร์ดได้เต็มที่

และที่สำคัญความต้องการของดร.วิพรรธ์ก็คือให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ สามารถติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาคเอเชียด้วย

หลักสูตรการสอนแบ่งออกเป็น 3 คณะ คือคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและการจัดการ ซึ่งจะสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ประมาณว่าจะเริ่มรับนักศึกษาได้ในปี 2541

อิมพีเรียลคอลเลจจะรับหน้าที่เป็นผู้เขียนหลักสูตรหาอาจารย์ และเป็นผู้รับรองวิทยาฐานะของผู้จบการศึกษาจากสถาบันนี้

ขณะนี้มหาวิทยาลัยแห่งใหม่กำลังเริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ด้วยมูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น 400 ล้านบาท และระยะแรกจะเป็นตัวอาคารเรียนวิทยาศาสตร์ และอาคารหอพักนักศึกษา

ในยุคที่เศรษฐกิจถดถอยการลงทุนในกิจการหลายอย่างต้องหยุดชะงัก แต่การลงทุนด้านการศึกษาเป็นการลงทุนที่หวังผลระยะยาว ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งจากฝ่ายผู้ลงทุนและผู้เข้าไปรับบริการ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.