|

เตือน "นักลงทุน-ภาคธุรกิจ" รับมือดบ.ครึ่งปีแรกทะยาน
ผู้จัดการรายวัน(4 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แนะนักลงทุน-รายย่อย-ภาคธุรกิจ ยึดหลักเศรษฐกิจ พอเพียง ผู้ว่าฯแบงก์ชาติแนะทางเลือก ลงทุนหุ้นกู้และตราสารหนี้แทนฝากเงินแบงก์อย่างเดียว เหตุผลตอบแทน ดีกว่า ย้ำการออมช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่นักวิชาการเตือนภาคธุรกิจเน้นเสถียรภาพ พร้อมติดตามภาวะเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายจากราคาน้ำมัน แต่ต้นทุนอื่นยังเพิ่ม ส่วนผู้ส่งออกต้องทำประกันและซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แนะนำผู้ออมเงินทั้งประชาชนทั่วไป และนักลงทุนสถาบันว่า ควรระดมเงินออมผ่านการลงทุนที่เป็นหุ้นกู้ พันธบัตร ตราสารหนี้แทนการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียว เพราะจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการออมมากขึ้น ที่สำคัญควรดำรงชีวิตภายใต้แนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นหัวใจในการบริหารเงินของตัวเอง เนื่องจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จะเป็น ขาขึ้นต่อไป
ธปท. ยืนยันแล้วว่าจะยังคงรักษาทิศทางอัตราดอกเบี้ยให้เป็นขาขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อยที่สุดไปจนถึงกลางปีนี้ เนื่องจากต้องการให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก นั้นก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ในระดับสูงกว่า อัตราเงินเฟ้อ เพื่อจูงใจให้เกิดการออม เพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่ 3.0% เนื่องจากปริมาณการออมในประเทศลดลงอย่าง ต่อเนื่องจาก 35.2% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เหลือ 30.5% ขณะที่การออมภาคครัวเรือนสุทธิลดลงจาก 14.4% ในปี 2532 เหลือ 3.8% ในปี 2546 และที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราการออมของผู้มีรายได้น้อยกลับลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น ฉะนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จะปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 0.5-1.0%
"การระดมเงินออมเป็นสิ่งจำเป็น ในแก้ไขปัญหาการดุลบัญชีเดินสะพัด ที่คาดว่าจะขาดดุลมากขึ้นในอนาคต เพราะยังคงมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ของภาครัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอย่างมหาศาลรออยู่ ดังนั้นจึงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อส่งสัญญาณให้อัตราดอกเบี้ยที่ แท้จริงในตลาดเป็นบวก และเพื่อช่วย กระตุ้นให้เกิดการออมเพิ่มขึ้นเพราะที่ผ่านมาการออมภาคครัวเรือนของไทย ชะลอตัวลงมาก" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงที่การออมยังไม่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างของประเทศไทยกับสหรัฐฯเพื่อดึงเงินทุนให้ไหลเข้ามาภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากสหรัฐอเมริกามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วถ้าประเทศไทยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามจะส่งผลให้มีเงิน ลงทุนเข้ามาในประเทศไทยได้ยากลำบากด้วย
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำผู้ประกอบการว่า การปรับตัวต่อภาวะเศรษฐกิจของปี 2549 ผู้ประกอบการต้องดูแลธุรกิจของตัวเองอย่างใกล้ชิด ซึ่งปีนี้เป็นปีที่มีความไม่แน่นอนสูงกว่าปีที่ผ่านมาว่า ดังนั้น จึงไม่ควรเร่ง ขยายธุรกิจให้เติบโตเพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นเสถียรภาพและความยั่งยืนมากกว่า รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศอย่างจริงจัง เพราะเศรษฐกิจปีนี้จะมีตัวแปรทั้งระดับจุลภาคและมหภาค เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ที่ต้องยอมรับว่ายังถูกปลดล็อกแค่น้ำมันเพียงตัวเดียว แต่ต้นทุนด้านอื่นยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการคงแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ไม่นาน นอกจากนี้ จะต้องไม่ตกเป็น เหยื่อข้อมูลเพียงด้านเดียว โดยต้องประเมินสถานการณ์และกลั่นกรองข้อมูลอย่างรอบคอบ
สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่งออกในปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของ ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้ม อ่อนค่าลงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ เอง ซึ่งค่าเงินบาทก็มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดยคาดว่าการขยายตัวของภาคการส่งออกจะโตได้มากกว่า 10% ในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจการส่งออกก็ควรรับมือต่อความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อประกันความเสี่ยงและทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของพื้นฐานประเทศให้เข้าสู่การขยายตัวอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปภาคธุรกิจ ปรับโครงสร้าง เพิ่มการลงทุนในองค์ ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เร่งลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน และการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาล กับเอกชน ในการลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพราะหากการบริหารของไทย ยังมีคุณภาพต่ำ เศรษฐกิจไทยคงขยายตัวต่อไปได้ยากลำบาก
สรรพากรยึดพระราชดำรัส
นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือยึด ปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ในการดำรงชีวิต ดำรงชีวิตด้วยความรอบคอบ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ไปจำกัดความคาดหวัง หรือความทะเยอทะยาน การมองตัวอย่างที่ดีเป็นมาตรฐานสำหรับตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็นต้องดูความเหมาะสมของตัวเองด้วย ไม่ใช่ทำตามแบบไม่คิดหน้า คิดหลัง ในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวน เพราะอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่น ในปัจจุบัน ทุกคนต้องตื่นตัว เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ ซึ่งในส่วนของตัวเอง ได้ยึดคำโบราณที่ว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท"
"การอดออมไว้ส่วนหนึ่ง เป็นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งจะเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าทุกคนวางตัวอย่างระมัดระวัง รู้จักประหยัด รอบคอบ ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ก็อยู่ได้ไม่ว่าจะเป็นปีหน้า หรือปีไหนๆ" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|