แบงก์แนะลูกค้าใช้เงินปีจอ รายใหญ่ขยายลงทุน-รายย่อยเลือกออม


ผู้จัดการรายวัน(4 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นายแบงก์เอกชน-รัฐ แนะกลยุทธ์บริหารเงินปีจอให้ลูกค้า เผยหัวใจสำคัญปีนี้อยู่ที่อัตราดอกเบี้ย ขาขึ้น "บัวหลวง-วายุภักษ์" ประสานเสียงดอกเบี้ยทั้งปีเพิ่มขึ้น 1-1.5% เชื่อเป็นโอกาสทอง ของคนออม และนักลงทุนเหตุแบงก์พาณิชย์เข็นหลากผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงจูงใจหวังระดมเงินฝาก ส่วนภาคธุรกิจต้องขยายการลงทุน เพราะผลตอบแทนมากกว่าต้นทุนดอกเบี้ย ขณะนี้ผู้กู้รายย่อยหากรายได้ปีนี้ไม่เพิ่มขึ้น ต้องตัดค่าใช้จ่ายบางตัว

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจเอกชนควรจะต้องปรับตัวเองให้เข้มแข็ง โดยการสร้าง ภูมิคุ้มกันให้กับกิจการ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะในการบริหารความ เสี่ยง การควบคุมต้นทุนการผลิต และการให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ยังมีปัญหาอาจกระทบต่อการส่งออกภาคธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันกับตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดโลก เพราะปัจจุบันแนวโน้มของตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ตลาดของการขายสินค้ามีเพียงจำกัด จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง

"หากไม่มีการปรับตัว ใช้วิธีหรือแผนธุรกิจ เดิมๆ เชื่อว่าอีกระยะ 2 ปีข้าง จะไม่สามารถนำพาธุรกิจอยู่รอดได้ โดยเฉพาะยุคของทุนนิยม ที่ใครมีเงินทุนที่ดีกว่า มั่นคงแข็งแกร่ง จะสามารถ อยู่รอด แต่หากธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ควรที่จะนำเสนอความแตกต่าง เพื่อแข่งขันในรูปแบบอื่นๆ มากกว่ารูปแบบของความแข็งแกร่ง ของเงินทุน"

ในส่วนของประชาชนทั่วไป ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งน้ำมัน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปีระกาที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบกับประชาชนในปีนี้ ดังนั้นจึงควรที่จะต้องระมัดระวังการดำเนินชีวิต ดูแลการใช้จ่าย รวมทั้งต้องวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว หากมีเงินเหลือควรที่จะเก็บออมเงินไว้บ้าง ซึ่งธนาคารกรุงเทพมองถึงแนวโน้มของการออมเงิน ในปีนี้เป็นสำคัญ เตรียมแผนที่จะพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเงินออมเพิ่มมากขึ้น

สำหรับธนาคารกรุงเทพ วางยุทธศาสตร์ไว้ 3 เรื่องหลักๆ 1. การออมของภาคเอกชน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงต้องการที่จะเน้นให้เกิดเงินออมตามนโยบายรัฐบาล จึงเตรียม ออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของเงินออมเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า นอกเหนือจากการ ออมโดยการฝากเงินกับธนาคาร เช่น รูปแบบของกองทุน 2. เน้นการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม เพราะแนวโน้มของรายได้จากอัตราดอกเบี้ยน้อยลง จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาทดแทน และ 3. เน้นคุณภาพ สินเชื่อ ซึ่งธนาคารจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะเน้นการสร้างความสัมพันธ์และมีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด จากที่ผ่านมาธนาคารได้ทำมาตลอด แต่จะเน้นให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเข้าไปดูแลให้บริการทั่วถึงตรงกลุ่มเป้าหมาย และจะเพิ่มโครงการให้ความรู้และคำปรึกษา ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี หรือกลุ่มเกษตร ธนาคารได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มผู้ฝากเงินและนักลงทุนรายย่อย หากมีเงินเหลือเพียงพอที่จะเก็บ เป็นเงินออมที่จะใช้ในอนาคต ปีนี้ถือว่าเป็นโอกาสของผู้ฝากเงินและนักลงทุน โดยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีการขยายตัวต่อเนื่อง ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ จะได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ ที่พัฒนาและสร้างสินค้าบริการใหม่ ให้เป็นทางเลือกกับลูกค้า ประชาชนที่มีเงินออม

"ทางเลือกของการลงทุนและการออมเงิน ในปีนี้จะแตกต่างจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ทำให้ประชาชนหรือนักลงทุนไม่สนใจที่จะออมเงินหรือลงทุน การฝากเงินจะมีผลตอบแทนที่ต่ำมากจึงนำเงินไปใช้จ่าย ขณะที่ นักลงทุนจะชะลอหรือหยุดการลงทุนระยะหนึ่ง เพื่อดูทิศทางของตลาดรวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว บรรยากาศการลงทุน ดอกเบี้ย ขาขึ้นจูงใจและกระตุ้นการออมการลงทุน"

กลุ่มลูกค้าเงินกู้ ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะต้องระมัดระวัง มีการวางแผนการเงินให้มากขึ้น ดูแลเงินสดของตัวเอง จัดสรรเม็ดเงินที่มีอยู่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการผ่อนชำระเงินกู้ หากรายได้ในปีนี้ไม่เพิ่มขึ้น จะต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือต้องเลือกตัดค่าใช้จ่ายบาง ตัวออกไป เพื่อให้รายได้กับค่าใช้จ่ายมีความสมดุลกัน สำหรับผู้กู้ซื้อบ้าน หากเป็นลูกค้ารายเก่า การผ่อนชำระค่างวดของสินเชื่อบ้าน ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะมีการคำนวณอัตราดอกเบี้ย เผื่อไว้ประมาณ 1-2% เข้ามาอยู่ในค่างวดอยู่แล้ว ดังนั้นปีนี้ธนาคารคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะทยอยปรับขึ้นอีก 1-1.5% หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ลูกค้าเงินกู้บ้านของธนาคารจะไม่กระทบกับค่างวดผ่อนชำระเลย เพราะได้มีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเผื่อไว้แล้ว

ส่วนลูกค้าที่มีปัญหาเรื่องของรายได้จริงๆ ไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดบ้านได้ ควรที่จะวางแผนทางการเงินใหม่ หรือเข้ามาปรึกษากับธนาคารพาณิชย์ เพื่อขอยืดอายุการผ่อนชำระออกไป ส่วนลูกค้ารายใหม่ที่มีความต้องการจะซื้อบ้าน จากเดิมที่วางเป้าหมายราคาบ้านไว้สูงๆ ควรที่จะปรับให้ราคาบ้านเล็กลง เพื่อดูแลรายจ่ายสมดุลกับรายได้ หรือบางรายอาจจะต้อง ชะลอการซื้อบ้านไว้ก่อน คือ จะต้องมีการวางแผน และคิดมากขึ้น

แนะภาคธุรกิจอย่าหยุดการลงทุน

สำหรับภาคธุรกิจ ภายใต้ดอกเบี้ยขาขึ้น จะต้องทบทวนหรือมีการวางแผนธุรกิจระมัด ระวังมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ควรที่จะหยุดการลงทุนหรือชะลอการลงทุนออกไปอีก โดยเชื่อว่าผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมามากกว่าต้นทุนของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 1-2% นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีกำลังการผลิตและการตลาดที่ดี ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเล็กน้อยถือว่าไม่กระทบต่อต้นทุนหรือมีผลกับภาคธุรกิจมากนัก นอกจากนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจโดยรวมเอื้อกับการลงทุนอยู่แล้ว

"ผมไม่เชื่อว่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 1-2% จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ที่จะขยายการผลิตหรือการลงทุนหยุดชะงัก มองว่าหากกำลังการผลิตที่เต็ม 100% มีการตลาดที่ชัดเจน การลงทุน จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าต้นทุนของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นแน่นอน"นายอภิศักดิ์กล่าว ออมสินแนะมีออมไม่มีอด

นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารให้บริการกลุ่มลูกค้าระดับรากหญ้าในปีนี้เน้นรณรงค์ให้ประชาชนเน้นการออมเงินเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลระดมเงินออมภาคครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยแนะนำประชาชนบริหารการเงินในปีจอว่า สำหรับคนที่มีรายได้น้อยต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายต้องใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น จริงๆ เพราะดูจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ การออมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และสำคัญที่สุด สำหรับคนที่ยังไม่มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองควรจะต้องเริ่มลงทุนซื้อบ้านก่อน เพราะเป็นการออมที่สำคัญที่สุด และเป็นพื้นฐานที่ทุกประเทศทั่วโลกช่วยเหลือให้คนจนได้มีมากขึ้น

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น หรือเงิน เฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ก็เชื่อว่าคนมีรายได้น้อย ยังสามารถเริ่มต้นออมในบ้านได้ เพราะมีทางออก เช่น อาจจะซื้อบ้านเอื้ออาทรของรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ คือ การสร้างบ้านสำหรับคนมีรายได้น้อย โดยให้ผ่อนชำระเพียงเดือนละ 999 บาทต่อเดือน เมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาที่กำหนด กรรมสิทธิ์ก็จะตกเป็นของตัวเอง ซึ่งการออมในบ้านนี้นอกจากจะทำให้เรามีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว ยังทำให้เรามีวินัยในการ ออมเงินด้วย

ส่วนคนที่มีรายได้พอสมควรและมีความสามารถที่จะเก็บออมได้ อาจจะยึดหลักการลงทุน คือ ในพอร์ตรายได้ 100% ให้หักเป็นเงินออมเลยทันที 25% อาจจะในรูปของเงินฝากธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่เชื่อถือได้ ส่วนอีก 75% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่าย อาจจะแบ่งออกมาอีก 25% สำหรับลงทุนในสิ่งที่ความเสี่ยงสูงขึ้นมานิดหนึ่งแต่ให้ผลตอบแทนสูง และใน 50% ที่เหลือสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายจริงๆ ถ้ายังสามารถใช้จ่ายให้เหลือได้ ก็นำมาลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ วิธีการออมในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ที่พยายามทำให้มีผลตอบแทนสูง เช่นเดียวกับการฝากเงินกับธนาคาร ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเริ่มปรับสูงขึ้น สำหรับคนที่กล้าลงทุนในลักษณะที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ก็สามารถลงทุนให้หุ้นได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และหุ้นในอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ ที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนได้

ธ.ก.ส.แนะทำเงินกู้เป็นเงินทุนตลอดเวลา

นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขอแนะนำให้เกษตรกรขยันทำกิน และรู้จักเก็บออม โดยนำหลักปรัชญาพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ และถ้ามีเวลาอยากให้นึกถึงบัญชีครัวเรือน เพราะการบันทึกรายรับรายจ่าย จะทำให้เห็นวินัยในการ ใช้เงินของตนเอง

สำหรับคนที่เป็นหนี้ ขอให้กำลังใจ และขอให้บริหารเงินทุนเหล่านี้ให้ดี อย่านำเงินทุนไปใช้จ่ายผิดประเภท ซึ่งจริงๆ แล้วถึงแม้จะเป็นสถาบันการเงิน ก็ไม่แนะนำให้เกษตรกรกู้เงิน แต่หากจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อลงทุน จำเป็นต้องบริหารให้เงินทุน เป็นเงินทุนอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้เป็นหนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.