|
'โทรีเซน' แปลงกลยุทธ์บริหาร กรุยเส้นทางโตเหนือน่านน้ำ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- พลิกโมเดลแปลงกลยุทธ์สู่การบริหาร "โทรีเซน"
- ยกเครื่ององค์กรผ่านกลไก VMV สืบสานภารกิจ
- กรุยทางโตเหนือน่านน้ำ ประกาศก้องเพิ่มมูลค่าบริษัท 10 ปี 10 เท่า
- ผู้นำวางนโยบายชัด พัฒนาคนเต็มตัว สร้างความแข็งแกร่งพร้อมเผชิญทุกสภาพธุรกิจ
โทรีเซน เป็นกลุ่มบริษัทขนส่งทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงสำคัญ และเติบโตขึ้นไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ทั้งด้านยอดขายและสินทรัพย์
นโยบายและวิธีการเดิมๆ อย่างที่แล้วมา ไม่เอื้อต่อการก้าวไปสู่สถานภาพองค์กรขนาดใหญ่ นอกเหนือจากการเพิ่มทุนทางธุรกิจ โทรีเซนอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนองค์กร กำหนดค่านิยมใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ VMV : Values, Mission and Vision เพื่อเป็นรากฐานกำหนดทิศทางเติบโตครั้งใหม่
ปรับกระบวนทัศน์ผ่าน VMV
ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า แนวทางบริหารองค์กรได้ดำเนินการมาอย่างชัดเจน และกล่าวได้ว่าเป็นบริษัทของมหาชนอย่างแท้จริงในความหมายของสังคมตะวันตก โดยปัจจุบันบริษัทมีผู้ถือหุ้นมากกว่า 2.3 หมื่นคนทั่วโลก
การเติบโตอย่างรวดเร็วในธุรกิจพาณิชย์นาวี 2-3 ปีที่ผ่านมา โทรีเซนได้เพิ่มจำนวนกองเรือจาก 25 ลำ ขึ้นมาเป็น 48 ลำ และมีปริมาณบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ภายใต้ธุรกิจในเครือที่เชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร ไม่ว่าเป็นธุรกิจผู้แทนเรือ ธุรกิจนายหน้า ซ่อมบำรุง และธุรกิจพาณิชย์นาวีนอกชายฝั่ง
"หลายปีมานี้ทุกคนในกรรมการเริ่มมองว่าวิธีการ แนวคิดในเรื่องบริหารที่ใช้ตลอด อาจไม่เหมาะสมเท่าไหร่กับสถานปัจจุบัน และถ้าบริษัทจะขยายต่อไปในอนาคต จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องบริหารงาน
เพราะวิธีบริหารที่ใช้ปัจจุบันจะไม่ค่อยเต็มประสิทธิผลแล้ว คนที่ควบคุมการตัดสินใจวันหนึ่งทำงานเยอะไป ศักยภาพการทำงาน การตัดสินใจถึงที่สุดแล้ว เพิ่มไม่ได้ ก่อนหน้านี้การตัดสินใจอยู่ในมือไม่กี่คน และควบคุมกิจการเต็มไปหมด วันหนึ่งก็เลยมีเวลาคิดเรื่องธุรกิจน้อยลงๆ การขยับขยายการลงทุนในธุรกิจ ทั้งเรื่องเวลา และเงิน ก็ยากขึ้น"
ม.ล.จันทรจุฑาเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นการเข้ามารับภารกิจวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย ว่าการขยายตัวของโทรีเซนนับจากนี้อะไรคือความเหมาะสม อะไรที่ควรลงทุนเพิ่ม อะไรที่ควรหยุดนิ่ง และอะไรที่สมควรเดินหน้าต่อ
"กรรมการพยายามหาคนที่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้มากที่สุด ซึ่งลักษณะงานตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอด 17 ปีในวงการธนาคาร จึงเป็นจุดสำคัญที่บอร์ดมอบหมายให้ผมมารับหน้าที่ตรงนี้ จุดที่ 2 การบริหารต้องเปลี่ยนแปลง เนื่องจากกลุ่มกว้างขวางขึ้นเยอะ บริษัทอยากจะหาคนที่ทำงานในบริษัทขนาดใหญ่มาก่อน จะได้มีไอเดียคิดใหม่ เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การบริหารได้ซึ่งพื้นฐานประสบการณ์ผมก็ผ่านงานยักษ์ใหญ่มา อย่าง เจพีมอร์แกน มอร์แกนแสตนลีย์ ก็สอดคล้องตรงกัน
จุดที่ 3 ธุรกิจเดินเรือเป็นธุรกิจนานาชาติมาก มีฝรั่งมีชาวต่างชาติ 50-60 คนในกลุ่ม ต้องหาคนที่ติดต่อได้กับทั้งฝรั่งและคนไทย พอมองจากหลายจุดแล้วก็เลยคิดว่าเลือกผมเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด ผมเข้ามาทำความเข้าใจธุรกิจ และวางแผนว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร? เพื่อให้องค์กรไปต่อได้นับจากนี้"
โทรีเซนปรับกระบวนทัศน์ธุรกิจใน 4 ขั้นตอนหลักคือ 1. มองถึงเส้นทางเติบโตธุรกิจในอนาคต ผลที่ได้จากตรงนั้นคือ VMP จากการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผน แนวคิด ค่านิยมองค์กร การกำหนด VMP เป็นการเชิญผู้บริหารทั้งหมดในกลุ่ม 13 คน มาดำเนินการทำแผนปฏิบัติการ สรุปออกมา เน้นคุณธรรม ทีมสปิริต ความเป็นเลิศ และยึดมั่นในพันธะ
"พันธกิจของเราคือ need and meet customer expectation ในธุรกิจพานิชย์นาวี เราต้องตอบสนองความต้องการลูกค้า และให้มากกว่าลูกค้าคาดหวัง เน้นในธุรกิจพานิชย์นาวี เราไม่ข้ามไปทำแบบแบงก์ ไม่ไปทำอสังหาริมทรัพย์หรอก เราคิดว่าในธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มที่จะขยายอีกเยอะ ดังนั้นเราจึงกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่า
1. เป็นกลุ่มเดินเรือครบวงจรที่ได้รับการชื่นชมที่สุด 2. เราจะเพิ่มมูลค่าบริษัท 10 เท่าภายใน 10 ปีข้างหน้า"
2. พัฒนากลยุทธ์ธุรกิจภายใต้ VMV มีการวางแผนธุรกิจในระดับแผนกต่างๆ และบริษัทในเครือทั้งหมดอย่างเป็นทางการ ปีงบประมาณบริษัทตั้งแต่ 1 ต.ค-30 ก.ย.โทรีเซนวางแผนธุรกิจเสร็จเรียบร้อยแล้วสำหรับปี 49 และกระบวนการวางแผนธุรกิจแบบนี้จะมีทุกปีในอนาคต ทุกไตรมาสจะนำเอาความคืบหน้าของแผนธุรกิจ มาไล่กับผู้บริหารระดับสูงอย่างเข้มงวด
"ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเดินเรือเราอยากจะเพิ่มจำนวนการขนส่งสินค้า 15 เปอร์เซ็นต์ นี่คือสิ่งที่เราวางแผนไว้อยู่ และเราก็วางทุกแผนก ทุกบริษัทในเครือ ต้องใช้เวลาวางแผนพอสมควร"
3. พัฒนาระบบประเมินผลงานให้ชัดเจน มีการวิเคราะห์งาน ลักษณะงาน คุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานนั้น เวลาประเมินงานก็จะมีดัชนีชี้วัดออกมา จากนั้นจะประเมินพนักงานทุกคนโดยใช้เครื่องมือชี้วัดเหล่านี้ ซึ่งครอบคลุม 200 ตำแหน่งงานของทุกธุรกิจในเครือ
"ผมเน้นเรื่องคนเต็มตัว สิ่งที่อยากทำเราต้องสร้างองค์กรที่ยืนอยู่ได้ยาวนาน ไม่ว่าเจอสภาพธุรกิจอะไรบ้างไม่ว่าขึ้นหรือลง มีความแข็งแกร่ง ว่องไวที่จะเผชิญกับทุกสภาพธุรกิจ ผมดูภายในเยอะ ต้องวางระบบถูกต้อง จะทำอย่างไรกับคน กับผลตอบแทนของคน"
และขั้นที่ 4. สนับสนุนการใช้แนวคิด VMV กับพนักงานทุกคน เน้นนโยบายอิงผลตอบแทนกับผลงานมากขึ้นในอนาคต รวมถึงเพิ่มการฝึกอบรมด้วยการตั้งศูนย์ฝึกอบรม ให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของภาวะผู้นำ การบริหารการเงิน ตลอดจนการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร แนวคิดที่ถือปฎิบัติกับพนักงานใหม่ "ใครอยากเก่ง โยกย้ายงาน ก็ให้ความรู้เพื่อให้ย้ายไปตำแหน่งใหม่ได้"
อย่างไรก็ดี แนวคิดการพัฒนาองค์กรจะต้องปรับปรุง ค่อยคิดค่อยทำไปเรื่อยๆ เพราะทำออกมาตอนแรก คงไปได้ไม่ดี การพัฒนาเปลี่ยนแปลงในองค์กรจะไม่มีวันสิ้นสุด ในอนาคตความคาดหวังของบริษัทย่อมสูงขึ้นแน่นอน ทำอย่างไรคนถึงจะปรับสภาพเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้
ผงาดเส้นทางโตเหนือน่านน้ำ
ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวว่า ธุรกิจโทรีเซน 90% ของรายได้รวมทั้งหมดมาจากธุรกิจการเดินเรือ และ 97% ของกำไรรวมก็มาจากการเดินเรือ รายได้และกำไรจะอิงโดยตรงกับค่าระวางเรือที่ทำได้ ขนาดธุรกิจที่ยังเล็กอยู่ของโทรีเซนทำให้ยังมีโอกาสอีกมากมายที่จะเติบโต ขณะที่ตลาดเรือเป็นตลาดเสรีค้าขายไปทั่วโลก ช่วงที่ความต้องการเรือสูงมาก ค่าระวางเรือจะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนในปีสองปีที่ผ่านมา ค่าระวางเรือวันต่อวันจะสูงขึ้นเหมือนกับอัตราแลกเปลี่ยน
"ความสำเร็จของธุรกิจต้องมีเครือข่ายที่ดี เพราะเรามีเรือเยอะ เรือที่ไม่มีสินค้าลงเรือ คือขาดทุนแน่นอนเพราะค่าใช้จ่ายมีแน่นอน ถ้าหาสินค้าลงเรือไม่ได้เสร็จแน่ เครือข่ายลูกค้าต้องดีมาก
เรามีธุรกิจเดินเรือเส้นประจำทาง ต้องหาลูกค้าตลอดเวลา แต่มองระยะสั้น หาลูกค้าเรื่อยๆ แต่ค่าระวาง 2 ปีที่ผ่านมาสูงมาก และเซ็นสัญญาเช่าเรือเราระยะกลาง 1-3 ปี ปีนี้เรามี 36% ของกองเรือปล่อยเช่าระยะกลาง ที่เหลือทำทรานสปอร์ตเทรดดิ้ง หรือธุรกิจเดินเรือเส้นประจำทาง วิธีบริหารพยายามสร้างสมดุลให้เกิดสูงสุดกับเรือทุกลำที่มี"
โทรีเซนดำเนินธุรกิจเดินเรือแบบเทกอง รับขนส่งสินค้าหลากประเภททั้งเหล็ก เยื่อกระดาษ ปุ๋ย ซึ่งถ้ามองผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก จะมีเพียง 15 บริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเพียง 20% หรือเฉลี่ยแต่ละบริษัทมีส่วนแบ่งเพียง 1.3% เท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าตลาดพาณิชย์นาวีเป็นตลาดค่อนข้างกระจัดกระจาย และมีโอกาสอีกมากที่จะผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่
ในเมืองไทยบริษัทนี้อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนัก เพราะเป็นบริษัทเดินเรือนานาชาติดำเนินกิจการอยู่ในอุตสาหกรรมหนัก แต่จัดเป็นบริษัทคนไทยขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการดีต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา
ม.ล.จันทรจุฑา เป็นผู้นำที่มีสไตล์การทำงานแบบตรงไปตรงมา ชอบคุยทุกอย่างบนพื้นฐานความเป็นจริง ผนวกประสบการณ์ในแวดวงการเงิน ทำให้เขาพยายามผลักแนวคิดสร้างมูลค่าเพิ่มทุกวิถีทาง เพื่อให้โทรีเซนแกร่งกล้าเหนือน่านน้ำสากล...
*****************
ไปตามเส้นทางอนาคตความคิดต้องเปลี่ยน
"เราทำหลายอย่างค่อนข้างเร็ว เพราะว่า ดูจากวิสัยทัศน์ พันธกิจของเรา เพื่อให้บรรลุให้ได้ภายใน 10 ปีเราจำเป็นต้องขยายธุรกิจออกไป เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปถึงวิสัยทัศน์นั้นได้กับธุรกิจปัจจุบัน หลายธุรกิจเราเล็กมาก เราอาจจะเลือกลงทุนเพิ่มกับบริษัทที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่กำลังวิเคราะห์และพิจารณาอยู่ เรามีแผนที่จะไปอีกยาว แง่ขนาดธุรกิจ จำเป็นที่จะต้องมีระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ไม่งั้นขยายไปแล้วต้องบริหารความเสี่ยง หรือว่าวิเคราะห์ โครงการไม่แม่นเท่าที่ควร ซึ่งจุดนั้นก็ไม่เหมาะสม
เราจะเพิ่มการลงทุนในบริษัทปัจจุบัน หรือว่าลงทุนในบริษัทใหม่ ผมจะไม่แปลกใจว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า จำนวนพนักงานเราเพิ่มเท่าตัว ฉะนั้นโอกาสพนักงานความก้าวหน้าจะมีการเติบโตไปพร้อมกับบริษัท แต่ว่าพนักงานคนไหนที่เหมาะสมลงตำแหน่งไหน ผมไม่ทราบถ้าระบบประเมินไม่ชัดเจน เพราะสิ่งที่อยากได้ เป็นเรื่องพูดง่าย ทำยาก right man per right job คนที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งงานนั้น ทุกคนชอบพูดมากเลย แต่ขอโทษทำยากมากเลย
ผมต้องวางระบบให้ชัดเจน แข็งแกร่ง จากเดิมที่เหมือนระบบครอบครัว คนละแบบคนละลักษณะกัน ผมเชื่อเหมือนที่หลายๆ คนก็เชื่อว่า ถ้าเราจะไปตามเส้นทางเราในอนาคต ความคิดสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเปลี่ยน ไม่งั้นเราจะไม่มีทางถึงหรอกตามวิสัยทัศน์ที่เราวางไว้"
ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|