แนะกลยุทธ์บริหารเงินธุรกิจยุคใหม่ รู้ก่อนรวยก่อน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- การบริหารเงินเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของการจัดการทางธุรกิจ
- ผู้เชี่ยวชาญมองกิจการเหมือนกับชีวิตมนุษย์ ต้องหาเงินให้เป็นและใช้ให้ถูกต้อง
- SMEs ที่จะอยู่รอดและก้าวถึงเส้นชัยต้องใส่ใจการเงินอย่างถึงแก่น
- มาเรียนรู้สภาพคล่อง งบการเงิน และเครื่องมือการวางแผนเงินสดอย่างเป็นระบบ เหมือนเรียนรู้การทำงานและดูแลหัวใจเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง

เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้จัดสัมมนา เรื่อง “กลยุทธ์การบริหารจัดการทางการเงินสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี” โดยมี ดร.ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์ รองหัวหน้าภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินอย่างเป็นขั้นตอน “ผู้จัดการรายสัปดาห์” จึงขอนำมาเสนอ ในฉบับส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเก่าได้ทบทวนตนเองและรายใหม่ได้เรียนรู้ก่อนลงมือ

เรียนรู้ก่อนลงมือ

ดร.ธนัยวงศ์ กล่าวว่า กิจการก็เหมือนกับชีวิตมนุษย์ มี 2 สิ่งที่ต้องบริหารคือ การหาเงินให้เป็นและใช้เงินให้เป็น การเงินเป็นเรื่องของตรรกะ เงินที่หามาได้คือเงินทุน ส่วนการใช้เงินคือการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ทำให้มีรายได้กลับคืนมา หากเปรียบเทียบ การเงินก็เหมือนกับหัวใจที่ต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย

สำหรับการบริหารจัดการการเงิน ขั้นแรกที่ต้องทำคือการวางแผนการเงิน โดยเรียนรู้เกี่ยวกับเงินกู้ ซึ่งโดยทั่วไปแน่นอนว่าเงินกู้ที่ต้นทุนต่ำที่สุดคือการกู้จากคนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน เพราะมักจะได้ดอกเบี้ยต่ำและมีความยืดหยุ่นในการใช้คืนมาก ในขณะที่การกู้จากสถาบันการเงินนอกจากดอกเบี้ย สิ่งสำคัญที่มักจะไม่ค่อยคิดถึง คือ ค่าธรรมเนียม ซึ่งหากคิดโดยละเอียดถือเป็นต้นทุนทางการเงินอีกตัวที่ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม ภารกิจที่สำคัญทางการเงิน คือ การทำให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะสั้นให้ได้ก่อน เหมือนชีวิตมนุษย์แต่ละวันต้องอยู่ได้ก่อน การทำงานต้องมีเงินเพื่อกินและอยู่ แต่การกินอยู่ของกิจการเรียกว่า “สภาพคล่อง” คือการมีเงินหมุนเวียนอยู่ในกิจการเสมอ สามารถนำเงินก้อนนี้มาใช้ประโยชน์เมื่อฉุกเฉินได้

ดังนั้น สิ่งแรกที่จะทำให้กิจการอยู่รอดคือ การบริหารสภาพคล่อง สิ่งที่สองคือการทำให้กิจการเติบโต โดยมีการเติบโต 2 แบบ คือ 1. ค่อยๆ เติบโต ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของ SMEs ทุกกิจการ และ2. การก้าวกระโดด ซึ่งจะทำได้เมื่ออยู่บนฐานที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เพราะหากทำเกินตัว แล้วจ้างมืออาชีพที่เก่งมาช่วยในขณะที่ตนเองยังไม่รู้จักธุรกิจที่ทำอยู่มากพอ ย่อมต้องสูญเสียประโยชน์ให้กับพวกมืออาชีพที่จ้างมา

ผู้ประกอบการที่ดี จึงต้องรู้ธุรกิจที่ตนเองทำให้ดีก่อน จากนั้นต้องสร้างระบบของตนเองขึ้นมา แล้วต้องบริหารความเสี่ยงให้เป็น เหมือนกับชีวิต ที่ต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด เติบโต และรอดพ้นความเสี่ยงที่รุมเร้าในแต่ละวันได้

ในด้านความเสี่ยง มีความสัมพันธ์กับการจัดการทางการเงิน เพราะจุดมุ่งหมายในการจัดการทางการเงินไม่ใช่การทำกำไรต่อหุ้นสูงสุด แต่เป็นการทำให้ธุรกิจมีมูลค่าสูงสุด หรือทำให้เจ้าของธุรกิจมีความมั่งคั่งสูงสุด

ทำไมจึงไม่ใช่กำไรสูงสุด ? คำตอบคือ ถ้ากิจการใดที่ต้องการกำไรมากๆ หมายถึงการมีความเสี่ยงมาก เพราะจะเกิดการทุ่มทุนเพื่อหวังกำไรซึ่งเป็นเรื่องอนาคต ขณะที่ผลตอบแทนที่ได้อาจจะผิดพลาดเพราะไม่มีใครรู้อนาคต คือ ความเสี่ยงขาลงนั่นเอง

นอกจากนี้ ความเสี่ยงจะมากเมื่อไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของมาตรฐานทางบัญชี มูลค่าของเงินตามเวลาที่เปลี่ยนไป และอิทธิพลของนโยบายเงินปันผล สิ่งที่ต้องรู้คือ เมื่อจ่ายเงินปันผลมาก ๆ ทำให้กำไรสะสมต่ำลง โอกาสที่จะขยายกิจการน้อยลง และการขอกู้เงินจากธนาคารยากขึ้น รวมทั้ง กำไรทางบัญชีไม่ใช่กำไรที่แท้จริง เพราะกำไรที่แท้จริงคือ “กระแสเงินสด” ดังนั้น การดูงบการเงินจึงเป็นการดูกรอบการเงินของกิจการเท่านั้น แต่ต้องดูงบกระแสเงินสดเป็นหลักเสมอ

ทำไมต้องทำงบการเงิน ?

หัวใจของงบการเงิน มี 4 ข้อ 1. คุณภาพ 2.มาตรฐาน มีการทำตามมาตรฐานหรือหลักการทางบัญชี และคำนึงถึงความเหมาะสมของกิจการด้วย 3.ความโปร่งใส และ4.ความเสมอภาค ผู้ประกอบการต้องไม่มีการตกแต่งตัวเลขทางบัญชี ซึ่งมีการทำกันมากเพราะต้องการหลอกให้นำเงินมาลงทุนโดยแสดงกำไรสูงๆ

การจัดทำงบการเงิน ในส่วนการจัดหาเงินทุนซึ่งนำไปลงบัญชีงบดุล มีการแบ่งเป็น 2 ข้าง ด้านขวาคือ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ หมายถึงเงินที่ไปกู้มาและเงินที่เรามี ด้านซ้ายคือสินทรัพย์ หมายถึงสิ่งที่กิจการมี เพราะฉะนั้น เมื่อได้เงินจากข้างขวา จะวิ่งไปที่ข้างซ้าย สินทรัพย์ต้องทำให้เกิดรายได้กลับคืนมา อยู่ในงบกำไรขาดทุน นี่คือเหตุผลว่าทำไม 2 ข้างต้องสมดุล เกิดการจัดหาเงินลงทุน เมื่อนำสินทรัพย์มาใช้ในการผลิต ก็เกิดการขาย มี 2 ชนิด คือขายสดและขายเชื่อ

การขายสด มีทั้งแบบ Cash on delivery เกิดการส่งมอบและได้เงินทันที กับแบบ Cash in advance ผู้ซื้อจ่ายเงินก่อนได้ของทีหลัง ส่วนการขายเชื่อ คือให้สินค้าไปใช้ก่อนแล้วเก็บเงินทีหลัง

สำหรับส่วนลด มี 2 แบบ คือ Trade discount (ส่วนลดการค้า) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการขายเป็นเงินสด และจำนวนมากเพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อมากๆ และแบบ Cash discount (ส่วนลดเงินสด) จะเกิดขึ้นเมื่อมีการขายเชื่อเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้จ่ายหนี้ก่อนถึงกำหนด เช่น จะได้ส่วนลด 2% เมื่อจ่ายภายใน 10 วัน จากเครดิตเทอมที่ให้ 30 วัน

อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำสำหรับ SMEs ในช่วงเริ่มต้นกิจการ ถ้าไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถทำงบการเงินอย่างง่าย เพื่อให้เห็นการไหลของเงินว่ามีสินทรัพย์อยู่เท่าไร มีรายรับรายจ่ายเท่าไร มาจากไหนและมาอย่างไร ง่ายๆ คือ ข้างซ้ายรายได้ ข้างขวารายจ่าย หักเงินก้อนหนึ่งเพื่อฝากธนาคารเสมอ เพื่อจ่ายให้ตัวเอง แตะต้องไม่ได้ จะใช้เมื่อฉุกเฉินเท่านั้น แต่เมื่อกิจการลงตัวจึงทำงบการเงินเต็มรูปแบบ

การทำงบการเงิน ควรมีลักษณะหลายขั้น เพราะทำให้รู้รายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละขั้น เช่น งบกำไรขาดทุน จะเป็นยอดขายลบต้นทุนขาย ออกมาเป็นกำไรขั้นต้น ลบด้วยค่าใช้จ่าย ออกมาเป็นกำไรจากการดำเนินการ ลบด้วยดอกเบี้ย ออกมาเป็นกำไรก่อนหักภาษี ลบด้วยภาษี ออกมาเป็นกำไรสุทธิ แต่ที่สำคัญ ต้องนำไปให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องหรือไม่

การดูงบการเงินของกิจการใดก็ตาม ที่สำคัญ ยังต้องดู 1.หมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งแสดงข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลข แต่เป็นประโยชน์ เช่น ผู้บริหาร ระยะเวลาดำเนินกิจการ และ2. รายงานผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งจะมีการแนะนำว่างบการเงินนี้ถูกต้องหรือไม่

ที่สำคัญต้องรู้ว่า งบดุลและงบกำไรขาดทุน เป็นการลงบัญชีแต่ยังไม่ได้รับเงินที่แท้จริง ในขณะที่ งบกระแสเงินสด จะเห็นสถานะทางการเงินชัดเจน ว่าเมื่อขายสินค้าได้เดือนนี้ แต่กว่าจะรับเงินได้เดือนหน้า ปัจจุบันจึงติดลบอยู่ ซึ่งการมีกระแสเงินสดติดลบมากๆ แปลว่าผลการดำเนินของกิจการไม่มีสภาพคล่อง

ทำอย่างไรจึงจะมีสภาพคล่อง ?

เงินทุนหมุนเวียนสุทธิเป็นอีกคำที่ต้องรู้ ซึ่งก็คือ สภาพคล่องของกิจการนั่นเอง หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์หรืออะไรก็ได้ให้เป็นเงินสดได้ง่าย โดยไม่เสียมูลค่า เช่น หากต้องการขายโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ในราคา 1,000 บาท แต่ขายได้จริงเพียง 800 บาท เพราะต้องลดราคาให้ลูกค้า แบบนี้แสดงว่าไม่มีสภาพคล่องที่แท้จริง เพราะขายไม่ได้ตามราคาที่ตั้งไว้ เกิดการเสียมูลค่า และการลดเป็นการทำให้เกิดสภาพคล่องเทียม

ในทางทฤษฎี การจับคู่ทางการเงิน มีการแบ่งสินทรัพย์เป็น 2 ประเภท คือ สินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์หมุนเวียน สำหรับสินทรัพย์ถาวรควรใช้เงินกู้ระยะยาว เพราะการกู้ระยะสั้นได้เงินน้อยและคืนเงินเร็วย่อมเกิดความเสี่ยงทางการเงินสูง ส่วนสินทรัพย์อายุสั้น เช่น สินทรัพย์หมุนเวียน ควรกู้เงินระยะสั้นมาลงทุน เมื่อได้สินทรัพย์อายุสั้นกลับมาก็นำรายได้นี้ไปใส่ในหนี้สินระยะสั้น

แต่ถ้าต้องการให้ปลอดภัยจริงๆ ควรกู้เงินระยะยาวมาบริหารสินทรัพย์อายุสั้น เพราะในโลกความเป็นจริง ต้นทุนของการกู้ระยะสั้นอาจจะสูงกว่าการกู้ระยะยาว เพราะอัตราดอกเบี้ยสามารถปรับสูงขึ้น และถ้าเครดิตไม่ดีจ่ายดอกเบี้ยไม่ตรงเวลา มีโอกาสที่ดอกเบี้ยระยะสั้นจะไต่ระดับขึ้นมาเท่ากับดอกเบี้ยระยะยาว และอาจจะขอกู้เงินไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ การกู้ระยะยาวยังได้เงินก้อนใหญ่ และมีระยะเวลานานในการหาเงินคืน

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อไป คือ สินทรัพย์หมุนเวียน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. สินทรัพย์หมุนเวียนที่มีลักษณะประจำ หมายถึง สินค้าที่อยู่ในคลังหรือสินค้าเพื่อปลอดภัย และเงินสดขั้นต่ำเพื่อความปลอดภัย ในการทำกิจการ ต้องถูกบริหารจัดการด้วยเงินก้อนแบบยาวๆ เพราะเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่อยู่กับเราเป็นประจำ

2. สินทรัพย์หมุนเวียนที่มีลักษณะชั่วคราว ยังแบ่งเป็นสองส่วน คือ 2.1 ช่วงปกติที่ขายได้จำนวนหนึ่งต้องมีเงินสดสำรองและลูกค้าประจำทุกเดือน หากต้องกู้เงินทุกเดือนมาบริหารจัดการย่อมมีความเสี่ยงสูง จึงควรใช้เงินกู้ระยะยาวมาบริหาร 2.2 ช่วงที่ขายดีเป็นพิเศษ เช่น 3 เดือนช่วงเทศกาลปีใหม่ ควรใช้เงินกู้สั้นๆ มาบริหาร ดังนั้น สภาพคล่องเกิดขึ้นเมื่อนำเงินกู้ระยะยาวมาบริหารจัดการสินทรัพย์ระยะสั้น

สิ่งที่ต้องวิเคราะห์คือ นำเงินสดและลูกหนี้การค้าซึ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนมาเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนที่มี ถ้าสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าแปลว่ากิจการมีสภาพคล่อง ส่วนสินค้าคงคลังกับค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเป็นสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดช้าหรือเปลี่ยนไม่ได้ไม่นำมารวม

โดยสรุป นโยบายการบริหารเงินทุนหมุนเวียน มี 3 ประเภท คือ แบบเสี่ยง แบบระมัดระวัง และแบบปานกลาง ซึ่งแบบที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนิยมใช้มากที่สุดคือ แบบปานกลาง โดยการบริหารสินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีลักษณะประจำด้วยเงินกู้ระยะยาว ส่วนสินทรัพย์ที่มีลักษณะชั่วคราวบริหารด้วยเงินกู้ระยะสั้น

รู้ลึกเครื่องมือการวางแผนเงินสด

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ งบประมาณเงินสด ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวางแผน และควบคุมเงินสดรับ-เงินสดจ่าย การทำงบประมาณมี 3 ขั้นตอน ขั้นแรก ทำงบประมาณเงินสดรับ ขั้นสอง ทำงบประมาณเงินสดจ่าย และขั้นสาม ทำงบประมาณเงินสดจริง

งบประมาณคือการประมาณการไปในอนาคต ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้น การประมาณการยอดเงินสดรับ คือการประมาณการยอดขายในอนาคตเพื่อให้รู้กำไรขาดทุน โดยใช้ผลวิจัยทางการตลาดเพื่อคาดการณ์ หรือดูจากส่วนแบ่งการตลาดว่าจะดึงมาจากคู่แข่งได้เท่าไร หรือเมื่อกิจการดำเนินการไปแล้วดูได้จากผลการดำเนินงานในอดีต แต่สิ่งที่เป็นอันตราย ไม่ควรทำ คือดูจากเป้าที่คู่แข่งตั้ง เพราะคู่แข่งมีปัจจัยแตกต่างจากเรา เช่น อาจจะมีเงินทุนมากกว่า

ดังนั้น การทำงบประมาณเงินสดรับเพื่อหายอดขาย จากนั้นดูว่าขายเป็นเงินสดและเงินเชื่อในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็น รวมทั้งการดูเงินได้จากการกู้ยืม และการขายเครื่องจักรเก่า โดยนำไปใส่ตามช่องรายการในแต่ละเดือน แล้วนำมารวมกัน

จากนั้น ทำงบประมาณเงินสดจ่าย โดยนำยอดซื้อเชื่อ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในครบ เช่น ค่าแรง ค่าใช้จ่ายดำเนินการ ชำระค่าซื้อเครื่องจักรใหม่ จ่ายเงินปันผล และจ่ายภาษี โดยใส่เฉพาะในเดือนที่มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงๆ แล้วรวมกัน

ส่วนขั้นที่สาม นำเงินสดรับลบด้วยเงินสดจ่าย ออกมาเป็นเงินสดสุทธิซึ่งถ้าเป็นบวกแปลว่าดี ถ้าเป็นกิจการเก่าจะมีเงินต้นงวดนำมารวมด้วย ออกมาเป็นเงินสดก่อนการจัดการ ที่สำคัญ สมมุติว่า เงินสดก่อนการจัดการมีอยู่ 5 แสนบาท แต่เงินสดขั้นต่ำที่กิจการต้องมีคือ 6 แสนบาท แปลว่าเงินไม่พอ ทำให้ต้องไปกู้ 1 แสนบาทเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ แต่สมมุติว่า หากมีเงินเหลือในปีก่อนแล้วมีการนำไปลงทุนในพันธบัตรหรือตั๋วเงินคลัง เพราะฉะนั้นปีนี้จะนำออกไปขายแทนการกู้ธนาคาร

ข้อควรระวังในการจัดทำงบประมาณเงินสด คือ ต้องไม่นำค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เป็นเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา มาลงบัญชีในงบประมาณเงินสด ถ้าเงินก่อนการจัดการไม่พอ ให้กู้ แต่ถ้ามีเงินเหลือให้นำไปซื้อหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพราะการเก็บเงินไว้ในกิจการเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ นอกจากนี้ การกำหนดเงินสดขั้นต่ำต้องไม่กำหนดตามใจชอบ หาง่ายๆ จากค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายแต่ละเดือนของกิจการเดิม ส่วนกิจการใหม่ต้องใช้การลองผิดลองถูกไปก่อน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ยากที่สุดของ SMEs

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนการลงทุนกับความเสี่ยง ในปัจจุบันเปลี่ยนการเข้าใจใหม่ว่า การลงทุนสูง หวังว่าจะได้ผลตอบแทนสูง เพราะในโลกความเป็นจริงอาจจะไม่ได้มากตามที่หวัง กิจการอาจจะเจ๊งได้ เป็นแค่ High Risk High Expected Return ไม่ใช่ High Risk High Return อย่างที่พูดกันในอดีต

การลงทุนของกิจการ คือ สินทรัพย์ถาวรนั่นเอง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก มาจากเงินของเจ้าของกิจการและกู้จากธนาคารเป็นระยะเวลายาว ซึ่งหัวใจของการกู้ยืมคือความเชื่อใจ โดยการประเมินค่าโครงการลงทุนนั้น วิธีที่นิยมใช้ที่สุดคือระยะเวลาคืนทุน (Payback Period)

ดร.ธนัยวงศ์ กล่าวถึงเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารเพื่อปิดท้ายการสัมมนาว่า ประกอบด้วย 1. บุคลิกลักษณะและคุณสมบัติของผู้กู้ หรือดูประวัติของกิจการ เช่น สินค้า คู่แข่ง 2. การเคลื่อนไหวของเงินทุนในบัญชี เพื่อให้ธนาคารเห็นว่ามีรายได้จริงหรือไม่ รู้การใช้จ่าย ซึ่งธนาคารจะนำมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ 3. ความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ถ้าเป็นกิจการจะดูความสามารถในการขายสินค้า 4. หลักประกัน คืออสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่จดทะเบียน เช่น ที่ดิน รถยนต์ ใบหุ้น 5. เงื่อนไข และสภาพแวดล้อม เช่น เศรษฐกิจดี ย่อมอยากปล่อยกู้ และ6. ประเทศคู่ค้า (กรณีค้าขายต่างประเทศ) ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

เมื่อผู้ประกอบการมีความรู้ในการบริหารจัดการการเงินย่อมหล่อเลี้ยงกิจการอยู่รอดและเติบโตไปได้ แต่จะยั่งยืนเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับจริยธรรมหรือบรรษัทภิบาลที่ต้องยึดถือ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.