เร่งวางฐานการตลาดโจตัน รอเศรษฐกิจฟื้น


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่ปี 2511 ที่กลุ่มบริษัท โจตัน ประเทศนอร์เวย์เข้ามาเปิดโรงงานผลิตสีในประเทศไทยภายใต้บริษัท โจตันไทย จำกัด โดยกลุ่มโจตันนอร์เวย์ ถือหุ้น 96% อีก 4% ถือโดย มร.บยอน์ แน็กเลสตาด กรรมการผู้จัดการ โจตันไทย จากนั้นในปี 2521 ได้สร้างโรงงานผลิตสีผงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้ชื่อ บริษัท คอร์โรโค๊ท เอ็นโอเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด โดยกลุ่มนอร์เวย์ถือหุ้น 60%, 20% ถือโดยโจตันไทย และอีก 20% ถือโดยเอ็นโอเอฟ ประเทศญี่ปุ่น

จากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบันทำให้ธุรกิจสีได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นบริษัทผลิตสีต่างพากันงัดกลยุทธ์ออกมาเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าตลาด กลไกที่บริษัทเหล่านี้นำออกมาใช้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคขายของลำบากมากขึ้น นอกจากกลยุทธ์เดิมๆ คือ ลด แลก แจก แถม แล้วยังต้องเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น เช่น กลุ่มทีโอเอ ได้โปรโมตด้วยการออกสินค้าสีรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายทีมงานขายออกไป ด้านสีไอซีไอจะเน้นการออกแบบพัฒนา การผลิตและจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้ทำการควบกิจการ โดยการรวม 3 ธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันเพื่อขยายตัวสู่ความก้าวหน้าในแง่ขอบข่ายธุรกิจการลงทุนในอนาคตและยอดรับรู้รายได้ ส่วนสองบริษัทพี่น้องโจตันและคอร์โรโค๊ทได้งัดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอและการปรับทีมงานจัดอบรมพนักงานอย่างหนัก

สาเหตุที่บริษัทสีต่างๆ ต้องทำเช่นนี้ เพราะมองว่าศักยภาพการเติบโตของตลาดในเมืองไทยยังไปได้อีกไกล เพราะความต้องการบริโภคสีของคนไทยปัจจุบันยังมีน้อยคือ อยู่ที่ระดับ 0.6 ลิตรต่อคนต่อปี ในขณะที่มาเลเซีย บริโภคกันที่ 2 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนอเมริการบริโภคที่ระดับ 15 ลิตรต่อคนต่อปี

ดังนั้นโจตันไทยจึงตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตสีแห่งที่ 2 ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง บนเนื้อที่ 48 ไร่ โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ประกอบด้วย 2 โรงงานหลักคือ โรงงานสำหรับผลิตสีน้ำและสีผง ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุนถึง 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มผลิตได้ในกลางปี 2542 โดยได้ว่าจ้างบริษัท เลนด์ ลีซ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

"ที่เรากล้าลงทุนสูงถึงเพียงนี้กับภาวะเศรษฐกิจวิกฤตของไทยครั้งนี้ถือเป็นความสมัครใจ และเพื่อเสริมสร้างอาณาจักรที่เปี่ยมด้วยพลังขับเคลื่อนในวันหน้า เราเชื่อว่าภาวะตกต่ำนี้จะคงอยู่เพียงชั่วคราว เพราะประเทศไทยคือประเทศศูนย์กลางของภูมิภาคขอบแปซิฟิกนี้ หนทางข้างหน้าจึงไม่มีทางเป็นอื่นใดได้เลย นอกจากการนำไปสู่การเจริญเติบโตที่แข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งขึ้น และเมื่อโอกาสหวนคืนมาอีกครั้ง โจตันก็จะเป็นผู้ที่ยืนอยู่แถวหน้าเพื่อจัดหาวัตถุดิบซึ่งจำเป็นต่อการก่อสร้างทั้งสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยในประเทศไทย" มร.กุนนาร์ ยาร์ดแลนด์ ประธานและผู้บริหารระดับอาวุโสกลุ่มบริษัทโจตัน ของนอร์เวย์ กล่าวถึงเหตุผลสำคัญในการขยายการผลิตออกไปในครั้งนี้

สำหรับปริมาณการผลิตของโรงงานแห่งใหม่นี้จะมีอัตราสูงขึ้นอีก 2 เท่าของกำลังการผลิตในปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์สีน้ำจะมีกำลังการผลิต 30 ล้านลิตรต่อปี และสีผงจะมีกำลังการผลิต 10,000 ตันต่อปี

"โรงงานแห่งใหม่นี้จะเป็นโรงงานที่มีระบบควบคุมความปลอดภัยและมาตรฐานในระดับสูงตามแบบของโจตันในนอร์เวย์ นอกจากตัวโรงงานแล้วเรายังจะสร้างอาคารสำนักงาน ห้องทดลองและการผลิต อาคารวัตถุดิบ คลังสินค้า อาคารบริการและบำรุงรักษา โรงกำจัดของเสีย" มร.แน็กเลสตาด กล่าว

สาเหตุที่ต้องสร้างอาคารใหม่เกือบทั้งหมดนั้น เนื่องจากบริเวณโรงงานเดิมทางการมีนโยบายให้เป็นแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยมากกว่าการพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดังกล่าวบริษัทจึงจำเป็นต้องย้ายมาอยู่ที่โรงงานแห่งใหม่

"หน่วยงานของเราทั้งหมดจะย้ายมาอยู่ที่โรงงานใหม่ ยกเว้นคลังสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว แผนกเซลล์และเทคนิค เพราะต้องการให้ความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาติดต่องาน" มร.แน็กเลสตาด กล่าว

ผลิตภัณฑ์สีน้ำที่จะทำการผลิตจากโรงงานแห่งใหม่จะอยู่ภายใต้การดูแลของโจตันไทย โดยเน้นสำหรับ 3 กลุ่มหลักคือ สีทาอาคาร สีอุตสาหกรรมและสีทาเรือ โดยมุ่งจับตลาดระดับบน และจะเน้นตลาดภายในประเทศ ส่วนคอร์โรโค๊ทจะเข้ามาผลิตสีผงเพื่อเคลือบชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ติดตั้งไฟฟ้า เครื่องเรือนโลหะ ส่วนประกอบรถยนต์ ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซและอะลูมิเนียม

"เราคือผู้นำตลาดสีผงในเมืองไทย โดยปกติจะส่งสีผงให้โรงงานผลิตเครื่องใช้ภายในประเทศต่างๆ และหลังจากที่เราได้สร้างรากฐานภายในประเทศแล้ว เรายังได้ขยายฐานสู่ธุรกิจส่งออกอย่างรวดเร็ว ในวันนี้ได้ส่งออกสีผง 35% ของการผลิต ตลาดเราจะอยู่ที่ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น" มร.ออยวินด์ เฟนส์การ์ด กรรมการผู้จัดการ คอร์โรโค๊ท เล่า

ในปีที่ผ่านมาโจตันไทยมียอดขายสูงถึง 1,100ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ระดับประมาณ 8-10% ในขณะที่มูลค่าตลาดสีในประเทศไทยทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดว่ายอดขายจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดขายผลิตภัณฑ์สีน้ำไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์สีผงประมาณ 600 ล้านบาท

"ความจริงแล้วกระแสธุรกิจซบเซาเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเราเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดูได้จากผลประกอบการเราไปได้สวยทีเดียว และในปีนี้ยังจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20% ทำให้การเริ่มต้นของเราเป็นไปได้ด้วยดีอย่างค่อนข้างได้เปรียบ เพราะเราได้ดำเนินงานด้วยการมองระยะยาว ระยะเศรษฐกิจที่ตกต่ำคือช่วงเวลาที่เราใช้ในการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ๆ ปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรให้สมบูรณ์จนกว่าจะถึงวันที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอีกครั้ง" มร.เฟนส์การ์ด กล่าว

ด้านความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรมสีในช่วงปีที่ผ่านมาปรากฎว่าแนวโน้วยังสดใส แม้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์สีทาอาคารชะลอตัว แต่ผลิตภัณฑ์สีอุตสาหกรรม เช่น สีอุตสาหกรรมในรถยนต์ สีที่ใช้ในโครงการสาธารณูปโภค และสีที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในปี 2540 ธุรกิจสียังคงจะขยายตัวต่อไป โดยเฉพาะสีอุตสาหกรรมโดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 30-40% เนื่องจากยังมีโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างสะพาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สีอุตสาหกรรมมาเป็นส่วนประกอบในการป้องกันสนิม รวมไปถึงตลาดรถยนต์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้สีพ่นรถยนต์เพิ่มขึ้น ในขณะที่คาดว่าตลาดสีทาอาคารจะมีอัตราขยายตัวไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัวคาดว่าจะขยายตัวประมาณไม่เกิน 15% ส่วนการแข่งขันจะยังคงรุนแรงไม่แพ้ปี 2539



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.