รัฐบาลใช้แบงก์เฉพาะกิจจนเพี้ยน ธอส.ดอกเบี้ยแพงสุด หวั่น ธ.ก.ส.ซ้ำรอย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเต็มสูบ หลังแบงก์กรุงไทยสะดุด เปิดทางทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ หวั่นหากเกิดปัญหาหนีไม่พ้นเอาเงินภาษีประชาชนอุด ขณะที่โครงสร้างเริ่มเปลี่ยน ธอส.กลายเป็นแบงก์ที่ดอกเบี้ยกู้บ้านลอยตัวสูงสุด ขัดหลักการส่งเสริมคนมีรายได้ปานกลาง-น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เกรงเข้าสูตรยิ่งจนยิ่งจ่ายแพง

ภายใต้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่บริหารประเทศในปี 2544 แม้ปีนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทำได้เพียง 2.2% ทั้ง ๆ ที่โหมกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจหลากรูปแบบ และเริ่มเห็นผลชัดเมื่อสิ้นปี 2545 เศรษฐกิจโตขึ้นมาเป็น 5.3% ต่อยอดมาถึงปี 2546 ไทยรักไทยดันเศรษฐกิจโตมาได้ถึง 7% ก่อนลดลงมาเล็กน้อยในปี 2547 ที่ 6.2%

ครั้งนั้นนอกจากมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลักแล้ว รัฐบาลยังมีกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประสบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วได้แก่สถาบันการเงินของรัฐ อย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีแบงก์

ช่วงนั้นการเป็นหนี้ถือเป็นสิ่งที่มีเกียรติ รัฐบาลใช้หลักการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้ ผ่านการให้บริการของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ที่มาตรการการควบคุมต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ผู้ที่ยังไม่ฟื้นจากพิษเศรษฐกิจ ว่างงาน แผนการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยแก้ปัญหา โดยมีเอสเอ็มอีแบงก์เป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุน

ธนาคารกรุงไทยที่แม้ยังบาดเจ็บจากพิษลอยตัวค่าเงินบาท แต่ด้วยความที่เป็นธนาคารของรัฐ ปัญหาเรื่องหนี้สินต่าง ๆ จึงไม่สาหัสเท่ากับธนาคารพาณิชย์เอกชน แบงก์กรุงไทยจึงถูกใช้เป็นหัวหอกในการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่แบงก์อื่นไม่เหลียวแล และเป็นแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นรายแรก ๆ

วิโรจน์ นวลแข ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลถึง 1 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายก็ต้องประสบปัญหาจากการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย จนทำให้ไม่สามารถต่ออายุกรรมการผู้จัดการใหญ่เทอมที่ 2 ได้

"โชติศักดิ์"ชิ่งรับตำแหน่ง AOT

ในด้านของเอสเอ็มอีแบงก์หลังจากได้โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ ขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สามารถให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการได้หลากหลายรูปแบบ ตอบสนองแนวทางของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นธนาคารแห่งปี 2547

แต่หลังจากพรรคไทยรักไทยได้เข้ามาบริหารประเทศเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2548 ทิศทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไป มุ่งเน้นที่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์แทน

ดังนั้นโครงการเดิม ๆ ที่เคยถูกลดบทบาทลง คนที่เคยขอสินเชื่อจากเอสเอ็มแบงก์ก็ขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ยากขึ้นกว่าเดิม ตามมาด้วยตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปี 2547 ที่เพิ่มขึ้นสะท้อนจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ต้องตั้งเพิ่มจากปี 2546 อีกกว่า 45% ซึ่งหลายฝ่ายยังเป็นห่วงสถานะของ SME BANK ในปี 2548 ว่าหนี้ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่ง SME BANK เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าหนี้เสียอยู่ในเกณฑ์สูง

ขณะเดียวกันกรรมการผู้จัดการ SME BANK ก็กำลังเตรียมไปรับตำแหน่งใหม่ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อีกในไม่ช้า จึงเป็นที่จับตากันว่าใครจะก้าวขึ้นมาสานต่อนโยบายต่อจากผู้บริหารเดิม

ตอนนี้บทบาทของ SME BANK ลดลงไปค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากทิศทางของรัฐบาลได้เปลี่ยนไป และธนาคารพาณิชย์อื่นเริ่มลงมาปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม SME มากขึ้น ดังนั้นธุรกรรมต่าง ๆ ของธนาคารนี้จึงค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ

ออมสินลูกรัก

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงไทยที่ปัจจุบันมีอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เข้ามาทำหน้าที่บริหาร แต่ธุรกรรมทางด้านสินเชื่อของแบงก์ไม่หวือหวาเช่นในอดีต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ภาครัฐเปลี่ยนเป้าไปใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจแทนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เป็นสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะตามแต่ที่จะได้กำหนดไว้ในกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐเพื่อพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจ ซึ่งทำงานประสานกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ระบบเศรษฐกิจ

ธนาคารออมสินถือว่าเป็นธนาคารเฉพาะกิจที่มีบทบาทสูงที่สุดในรัฐบาลไทยรักไทย เนื่องจากได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาดำเนินงานในเชิงพาณิชย์มากขึ้น มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าตลาดอย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ที่ลูกค้าของ ธอส.ไหลเข้ามาใช้บริการของแบงก์ออมสินมากขึ้น ด้วยจุดเด่นที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า ครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริหารของ ธอส.ถึงเรื่องบทบาทที่ทับซ้อนกัน

แบงก์ออมสินยังปล่อยสินเชื่อประชาชนให้กับพ่อค้าแม่ค้าในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สร้างชื่อเสียงให้กับแบงก์ออมสินเป็นอย่างมากในนามธนาคารประชาชน นอกจากนี้ยังสัญจรไปตามภูมิภาค ปล่อยสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อไทรทอง

ที่ผ่านมาแบงก์ออมสินยังได้รับความไว้วางใจให้หาวิธีการออกสลากออมสินอายุ 5 ปี เพื่อนำเงินที่ได้ไปให้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์เตรียมปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล

"ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่มีความมั่นคงมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง" ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว พร้อมทั้งกำชับแบงก์ออมสินให้พร้อมเป็นแหล่งเงินทุนแบงก์รัฐอื่นด้วย

เนื่องจากมีสินทรัพย์รวมประมาณ 6.6 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2548 และมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงประมาณร้อยละ 27.5 นับว่ามีสัดส่วนสูงมากเนื่องจากธนาคารโดยทั่วไปจะมีเงินกองทุนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-12 และคาดการณ์ว่าจะมีกำไรในปี 2548 ประมาณ 12,040 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณร้อยละ 4 ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือโครงการธนาคารของรัฐ

ดังนั้นในระยะที่ผ่านมาแบงก์ออมสินจึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกำไรที่สูงของนับหมื่นล้านของออมสิน

ธ.ก.ส.เปิดเอกชนถือหุ้น

ไม่ใช่แค่ธนาคารออมสินเท่านั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทในการให้บริการเช่นกัน นอกจากนี้ยังแก้ไขพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส. เพื่อเปิดทางเอกชนถือ 25% พร้อมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการด้านสินเชื่อ ไม่จำกัดเฉพาะเพียงเกษตรกรเท่านั้น ลูกหลานเกษตรกรก็สามารถใช้บริการของ ธ.ก.ส.ได้ ผู้ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรก็สามารถขอสินเชื่อได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดให้บริการในต่างประเทศอีกด้วย

รับเละทุกเหตุการณ์

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารกล่าวว่า คงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องความมั่นคงของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลก็รับผิดชอบกับข้อผิดพลาดที่เกิดจากการดำเนินตามนโยบายของรัฐอยู่แล้ว เช่น การมุ่งเน้นปล่อยกู้ของ SME BANK หนี้บัตรเครดิตและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมธนาคารออมสินรับผิดชอบ ธ.ก.ส.รับภาระเรื่องหนี้เกษตรกร

หากเกิดผลเสียขึ้นเงินที่ต้องไปชดเชยต่อธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้ คือ ภาษีอากรของประชาชน และก็ไม่ทราบว่าภาระหนี้เสียดังกล่าวจะระเบิดออกมาในปีใด หากถูกหมกไว้จนมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ถือเป็นโชคร้ายของรัฐบาลใหม่ที่เข้ามา ย่อมต้องมาเร่งแก้ปัญหาที่ค้างคากับธนาคารเฉพาะกิจอีก เพราะไม่ใช่นั้นรัฐบาลใหม่ก็จะไม่มีเครื่องมือที่จะสนับสนุนนโยบายที่จะทำอีกต่อไป

"เรามองว่าที่ผ่านมารัฐเคยใช้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่จะสนับสนุนนโยบายการทำงาน แต่ธนาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องใช้หลักเกณฑ์การปฏิบัติเดียวกับธนาคารพาณิชย์เอกชน ถูกตรวจสอบจากสื่อมวลชนและธนาคารแห่งประเทศไทยง่าย การใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมาเป็นหัวหอกแทนหลังจากเกิดเรื่องขึ้นที่ธนาคารกรุงไทย"

แน่นอนว่าด้วยข้อจำกัดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่สามารถทำธุรกิจได้กว้างขวางเท่าธนาคารพาณิชย์ รัฐจึงต้องแก้กฎเกณฑ์ เพิ่มขอบเขตการทำธุรกิจ ที่เห็นได้ชัดคือธนาคารออมสิน ที่ทุกวันนี้สามารถทำธุรกิจได้ไม่แพ้ธนาคารพาณิชย์เอกชน แถมยังสามารถระดมทุนด้วยต้นทุนต่ำผ่านการออกสลากออมสิน ที่แบงก์อื่น ๆ ไม่สามารถทำได้

ถือว่าแบงก์ออมสินเป็นแบงก์ที่ทำกำไรมากที่สุดในบรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กำไรปีนี้ที่ประเมินว่า 1.2 หมื่นล้านบาทนั้นเทียบได้กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย ในอนาคตแบงก์ออมสินจะเป็นคู่แข่งสำคัญกับธนาคารพาณิชย์เอกชนหากเปิดบริการในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

ธอส.เพี้ยนแล้ว

ใกล้เคียงกับ ธ.ก.ส.ที่สามารถออกสลากได้เช่นเดียวกับธนาคารออมสิน ก็เริ่มเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเช่นกัน เฉพาะรับชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ก็สร้างรายได้ให้กับ ธ.ก.ส.มากกว่า 200 ล้านบาทแล้ว ยิ่งเปิดให้บริการสินเชื่อมากขึ้นยิ่งเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้มากขึ้น

แม้กระทั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก็ยังมีการแก้กฎหมายเพื่อให้ ธอส.ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าได้

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่เกือบทุกแห่งสนองนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ อะไรที่ติดขัดรัฐก็แก้กฎหมายให้ เพื่อให้ขยายธุรกรรมได้มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความบิดเบี้ยวของธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้ ที่อาจไม่สามารถให้บริการกับฐานลูกค้าเดิมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกต่อไป

"เราเริ่มเห็นแล้วว่ากรณีของ ธอส. จากการที่ธนาคารมีต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อสูง ทำให้ไม่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ วันนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสำหรับผู้กู้ซื้อบ้านทั่วไปอยู่ที่ 7% สูงที่สุดในระบบ แตกต่างจากอดีตและไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของธนาคารที่ส่งเสริมให้ผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง"

หรืออย่างธนาคารออมสินที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการออมของประชาชนก็เพิ่มมาเริ่มรณรงค์ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเตรียมเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ ธ.ก.ส.มุ่งช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรก็เริ่ม แตกไลน์การให้บริการออกไป ยิ่งขยายมากก็ต้องระดมทุนมาก เมื่อต้นทุนทางการเงินสูงก็ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามไปด้วย เมื่อนั้นลูกค้าดั้งเดิมจะกลายเป็นผู้แบกรับในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.