ตลาดหุ้นปีหมาสะท้าน ปัจจัยการเมืองมาแรง


ผู้จัดการรายวัน(3 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บิ๊กตลาดหุ้นเชื่อภาวะการลงทุนปี 2549-ปีจอ ปรับตัวดีขึ้น จากเศรษฐกิจขยายตัว-ส่งออกดี ปัจจัยลบไม่มากเท่าปี 2548 มั่นใจกำไรบริษัทจดทะเบียนโต 30% เตือนคนเล่นหุ้นลงทุนให้ดูปัจจัยพื้นฐานทำกำไรชัวร์กว่าหุ้น หวือหวา โบรกเกอร์จับตาการเมืองไม่นิ่งฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น ค่ายไทยพาณิชย์ คาดดัชนี 687 จุด เหตุปัจจัยกระตุ้นไม่มี อีกทั้งตลาดหุ้นไทยเล็กกว่าตลาดเพื่อนบ้าน กำไรโตช้ากว่า ยูโอบีฯให้กรอบ 640-780 จุด P/E 10 เท่า "ก้องเกียรติ" ชี้สัญญาณควบรวมกิจการมาแรงหลังพบทั่วโลกมูลค่าควบ 80 ล้านล้าน

นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยปี 2549 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2548 เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีปัจจัยลบมากเหมือนกับในปี 2548 อาทิ คลื่นยักษ์สึนามิ ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมัน ก็เริ่มมีการปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายคนประเมินว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกก็ยังคงดีอยู่คาดว่าจะมีการเติบโตใกล้เคียงกับปี 2548 ที่ 3.7-3.8%

โดยหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าของไทยจะมีการเติบโตที่ 5% และจะมีการส่งออกที่มากขึ้นจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียก็มีการเติบโตที่ดี เช่น ญี่ปุ่น จีน ที่จะโต 9% ซึ่งไทยจะหันมาค้าขายกับประเทศในแถบเอเชีย มากขึ้นถึง 70% โดยจะมีการค้าขายกับสหรัฐ-อเมริกาน้อยลง

สำหรับกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ปี 2549 คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% จากที่ปัจจัยลบที่จะไม่มากเหมือนกับปีนี้ ซึ่งกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนปีนี้ก็มีการเติบโตที่ดีทุกไตรมาส คาดว่าไตรมาส 4 ก็จะมีการเติบโตที่ดี โดยมองว่ามูลค่าการซื้อขายปีหน้าประมาณ 20,000 ล้านบาท

"เชื่อว่าภาวะตลาดหุ้นปี 2549 จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 48 เนื่องจากปัจจัยลบไม่มากเหมือนปี 48 ถือว่าดีมากแล้ว และการส่งออกของไทยก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และรัฐบาลก็เริ่มมีการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นไปอีก 4 ปีข้างหน้า กำไรบริษัทจดทะเบียนก็จะโตไม่ต่ำกว่า 30%" นายวิจิตรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปีหน้าจะมีปัจจัยลบที่น้อยลง ก็อยากให้นักลงทุนมีการลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของ บจ.เป็นหลักโดยจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าการลงทุนแบบเก็งกำไร ในหุ้นที่มีราคาการเคลื่อนไหวแบบหวือหวา นั้นก็จะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นในปี 2549 น่าจะอยู่ในเกณฑ์ ดี จากสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้รวมถึงแนวโน้ม เศรษฐกิจที่น่าจะออกมาดี แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้เฉลี่ยปีละ 7-8 เรื่อง เช่น ภัยธรรมชาติ และภัยที่ไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติ

ทั้งนี้ ปีหน้าก็คงมีประเด็นใหญ่ๆ ที่เข้ามาทั้ง บวกและเรื่องลบ ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจโดยโครง สร้างประกอบกับธุรกิจในส่วนของการรับเหมาก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนจะกระจายตัวได้ดี แต่ปัญหาที่ควรจะดูแลให้ดีและควรระมัดระวังคือ ปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP และประธานสภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นในปีหน้าคาดว่าจะยังผันผวน โดยปัจจัยที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดทุนไทยในอนาคต คือ การที่มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น เช่น บริษัทในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 5% ของตลาดทุน โดยสัดส่วนที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ประมาณ 10-20%

ทั้งนี้ ผลกระทบในเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรีน่าจะส่งผลกระทบเพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น และผลกระทบจะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดช่วงเวลา ประกอบด้วย สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่แม้ว่าจะยังมีสัญญาณในการปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 1/49 อัตราดอกเบี้ยจะถึงจุดสูงสุด โดยนักวิเคราะห์ได้มีการประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2549 มีโอกาสที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯหรือ เฟด อาจจะต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการปรับขึ้นค่อนข้างมาก

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าในช่วงไตรมาส 1/49 อัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 6% ก่อนจะปรับลดลงและคาดว่าในไตรมาส 4/49 อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3%

สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ในช่วงครึ่งปีแรกคงเป็นเรื่องโครงสร้างหรือการประมูลงาน และน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง ครึ่งปีหลัง โดยโครงการดังกล่าวจะส่งผลชัดเจนต่อตลาดทุนไทยในช่วงปี 2550, 2551

หวังพีอีหุ้นไทย 12 เท่า

นายก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจโลกคาดว่าอัตราการเติบโตจะเริ่มชะลอตัว ซึ่งอาจจะส่ง ผลต่อประเทศต่างๆ บ้าง แต่หากมีการปรับลดลงต่ำกว่าระดับที่มีการคาดการณ์ก็จะส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อประเทศต่างๆ ในโลก ทั้งนี้ส่วนตัวอยากเห็นราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ(พีอีเรโช) ของตลาด ทุนไทยอยู่ในระดับ 12 เท่าหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% จากระดับปัจจุบันบนพื้นฐานที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยจะต้องเร่งทำงานกันอย่าง หนัก ขณะที่ผลประกอบการ บจ.คาดว่าการปรับขึ้น ในระดับที่ไม่สูงมาก

ส่วนการเพิ่มพีอีเรโชของตลาดหุ้นไทย สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เรื่องจำนวนหุ้นที่หมุนเวียน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ฟรีโฟลต ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทยังมีฟรีโฟลตยังอยู่ในระดับต่ำโดยในเรื่องดังกล่าวคงจะต้องมีการเร่งพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป ขณะที่ บจ.ขนาดใหญ่ทั้งที่อยู่ในและกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯก็ต้องเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลกับนักลงทุนไทยมากขึ้นเนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่คงสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายที่สูงมากกว่านักลงทุนต่างประเทศ

"บจ.ควรมีเหตุผลกับเรื่องต่างๆมากขึ้นโดยเฉพาะการปรับขึ้นหรือลดลงของราคาหุ้นควรจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องเข้ามากระทบ ขณะที่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ก็ควรมีความสร้างสรรค์มากขึ้น"

สำหรับจำนวนหุ้นใหม่ที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า คาดว่าจำนวนบริษัทที่ระดมทุนจะมากขึ้นแต่มูลค่าการระดมทุนและ มาร์เกตแคปของบริษัทต่างๆจะเพิ่มขึ้นไม่มาก

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายมูลค่าตลาดรวมหรือมาร์เกตแคปตลาดหุ้นในระดับ 10 ล้านล้านจากระดับปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 5 ล้านล้านคาดว่าใช้เวลา 5 ปีมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะสามารถ ปรับขึ้นไปในระดับที่ตั้งเป้าไว้

ค่ายไทยพาณิชย์ให้ดัชนี 684 จุด

นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ปี 2549 ปัจจัยภายในประเทศจะไม่มีส่วนกระตุ้น ตลาด มีแต่ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ย โดยบริษัทคาดดัชนีตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ 684 จุด ซึ่งลดลงจากปีนี้ที่อยู่ประมาณ 700 จุดเศษ เนื่องจากปี 2549 ไม่มีปัจจัยบวกภายในประเทศเข้ามากระตุ้น และขนาด ตลาดหุ้นไทยเล็กกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน

โครงการเมกะโปรเจกต์จะมีการก่อสร้างได้ จริงก็ประมาณปลายปี 2549 โดยมองการเติบโตเศรษฐกิจไม่เกิน 5% ซึ่งถือว่าต่ำถึงปานกลาง และจากกำไรของ บจ.ในปีหน้าจะมีการเติบโตอัตราที่ชะลอตัวที่ 4% แต่หากไม่รวมหุ้นพลังงานกำไรของ บจ.จะติดลบ 3-7% โดย บจ.ที่มีกำไรลดลงมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากที่จะมีการจ่ายภาษี โดยกำไรรวมของ บจ.ไทย ถือว่ามีการเติบโตที่น้อย กว่าตลาดหุ้นในหลายประเทศที่โตเร็วเกิน 10%

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน(ไม่นิ่ง) พรรคฝ่ายค้านคง จะมีการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น ในเรื่องการใช้จ่าย ของภาครัฐบาล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็จะมีผลกระทบ ต่อตลาดหุ้นไทย เพราะปัจจัยดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับทางด้านเศรษฐกิจ และจะมีผลต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจากที่จะมีการติดขัดในด้านการลงทุน ก็จะทำให้โครงการเมกะโปรเจกต์ล่าช้า ทำให้นักลงทุนรู้สึกผิดหวัง จึงเชื่อว่าตลาด หุ้นไทยจะมีการปรับตัวลดลงมากกว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวมากกว่า

ส่วนปัจจัยที่จะมาช่วยกระตุ้นตลาดซึ่งคาดว่าน่าจะได้เห็นในช่วงปลายปี 2549 คือ เรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล การเข้าจดทะเบียนของรัฐวิสาหกิจ คือ บมจ.กฟผ. และบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ

สำหรับปัจจัยในเรื่องดอกเบี้ยจะเป็นจุดที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวของเม็ดเงินการลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีความน่าสนใจน้อยกว่าประเทศอื่นจากปัจจัยข้างต้นก็ยังคงได้รับความสนใจด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก็เริ่มมีคนมองว่าอีกไม่นานอัตราดอกเบี้ยจะหยุดขึ้น หลังจากนั้นจะมีการปรับลดลงเร็วกว่าที่คาด โดยมีผู้คาดการณ์ว่าปี 2549 อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.25-0.50% จากปี 2548 ที่มาอยู่ที่ 4.25% ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 13 ครั้ง

ทั้งนี้ หุ้นที่จะได้รับผลดีจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่าซื้อ โดยหากไม่มีปัจจัยบวกในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ก็แนะนำให้นักลงทุนมีการถือครองเงินสด จากปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนภายในประเทศ

สำหรับหุ้นปันผลปี 2549 มีดังนี้ 1. ธนาคาร คือ BAY ที่จะจ่ายสูงสุดที่ 5% 2. วัสดุก่อสร้าง คือ DCC 8% 3. กลุ่มเคมีภัณฑ์ TPC 12% 4.สื่อสาร SHIN 6% 5.อิเล็กทรอนิกส์ คือ แคลคอมพ์ 9% 6. ธุรกิจพลังงาน RPC 11% 7. กลุ่มบันเทิง คือ WORK 9% 8. กลุ่มการเงิน SPL 9% เกษตร CPF 7% 9. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ LPN 8%

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า บริษัทคาดว่าปี 2549 ภาวะตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมองดัชนีฯ ที่ 640-780 จุด โดยมีค่า P/E ที่ 10 เท่า จาก สิ้นปี 2548 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 720 ค่า P/E 9.5 เท่า โดยมองว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.5-5.5% จากปี 2548 ที่ 4-4.5% และคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้น 8-12% จากปี 2548 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น หรือใกล้เคียงกับปี 2548 และตลาดหุ้นเอเชียก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รวมถึงไทย ก็จะปรับตัวดีขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลด้านลบแต่จะทำให้ประชาชนมีอำนาจการซื้อที่สูงขึ้น

ขณะที่โครงการเมกะโปรเจกต์ก็จะเริ่มประมูลงาน และก็จะมีการก่อสร้างได้จริงในครึ่งปีหลัง และการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในปี 2549 ก็จะทำให้การท่องเที่ยว และการขนส่งปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เช่น บมจ.ทีโอที (TOT) บ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง ฯลฯ

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงกดดันตลาดฯ คือ ราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับที่สูง กรอบจะอยู่ที่ 50-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลต่อวัน แต่ก็อาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในบางช่วงหากเกิดภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ คาดว่าการเมืองจะเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีสม่ำเสมอ ซึ่งคาด ว่าต้นปี 2549 จะมีการปรับ 1 ครั้ง ทำให้บุคคลในพรรคมาแทนบุคคลที่ไม่อยู่ในพรรคไทยรักไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่โดยไม่มีผลงาน สำหรับหุ้นที่แนะนำลงทุน คือ

1.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจาก จะได้รับผลดีจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อมีการปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ธุรกิจมีการขยายตัวมากขึ้น รวมถึง NPL ก็จะมีการปรับตัวลดลง

2. กลุ่มพลังงาน ถึงแม้อัตราการทำกำไรจะไม่สูงกว่าปีนี้ แต่จากการที่ราคาน้ำมันยังคงทรง ตัวในระดับที่สูง

3. กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงมามากซึ่งบางตัวมากจนเกินไป และจากที่มีบริษัทเข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในปีนี้ เพื่อนำไปขยายกำลังการผลิตก็จะเริ่มสร้างรายได้ให้กับบริษัท รวมถึงแนวโน้มการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ก็ยังเติบโตที่ดี

ย้ำแนวโน้มควบรวมมาแรง

นายก้องเกียรติ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราการควบรวมของกิจการต่างๆ ในโลกว่า จากสถิติทั่วโลกในปี 2548 พบว่ามีการควบรวมกิจการประมาณ 25,000 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 80 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 2547 มีการควบรวมกิจการประมาณ 21,000 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 65 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จำนวนที่ปรับขึ้นส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 39% ของรายการทั้งหมดและมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 50% โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นการควบรวมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีทั้งในลักษณะที่เข้ามาแบบเป็นมิตรคือมีการติดต่อที่จะเข้ามาซื้อกิจการและเป็นความต้อง การของผู้ขายที่ต้องการขายกิจการ ส่วนการเข้ามา ในลักษณะที่ไม่เป็นมิตร คือการเข้ามาซื้อกิจการต่อจากบุคคลอื่นไม่ว่าผู้ขายจะรู้หรือไม่ จนทำให้อำนาจในการบริหารและกิจการตกเป็นของผู้ที่ต้องการเข้ามาซื้อกิจการ

นายก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า จากกระแสการเข้ามาควบรวมกิจการมากขึ้นทั้งแบบเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร จะส่งผลทำให้ในแง่การทำงานของผู้บริหารบริษัทในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องเร่งสร้างผลงานของบริษัทให้อยู่ในระดับที่ดี โดยผู้บริหารจดทะเบียนก็จะต้องเร่งสร้างผลกำไรให้กับบริษัทเพื่อที่จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับขึ้นสะท้อนผลการดำเนินงาน เนื่องจากหากราคาหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งต่ำกว่าราคาตามมูลค่าโอกาสที่จะถูกผู้ที่ต้องการจะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น

"ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เจ้าของ ผู้บริหาร บริษัทต่างๆ ต้องเร่งสร้างผลงานที่ดีให้กับบริษัทเพื่อเป็นปราการด้านหนึ่งในการป้องกันการเข้า มาเทกโอเวอร์กิจการแบบไม่เป็นมิตร" นายก้องเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการถือว่าเป็นการสร้างความแข็งแกร่งของบริษัท เนื่องจากศักยภาพและความพร้อมของบริษัทต่างๆอาจจะไม่เท่ากัน การควบรวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้สูงขึ้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 บริษัทเพื่อรองรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการอาจจะส่งผลกระทบกับบริษัทขนาดเล็กๆเท่านั้น เนื่องจากไม่มีความพร้อมในหลายเรื่อง ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอาจจะมีความสามารถในการระดมทุนด้วยวิธีอื่นๆนอกเหนือจากการควบรวมกิจการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.