น้ำมัน-ดอกเบี้ย-การเมือง ปัจจัยศก.2549ฟื้นไม่ฟื้น...


ผู้จัดการรายวัน(3 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หากจะกล่าวถึงเศรษฐกิจปี 2548 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัจจัยลบต่างๆ ที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี ทั้งมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ที่สร้างความเสียหายให้กับหลายธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มาจนถึงวิกฤตราคาน้ำมันแพงจากผลของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อเนื่องให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ที่รุนแรง และยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ปัญหาความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้ของประเทศที่ยืดเยื้อก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาไข้หวัดนกที่กลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 ซ้ำร้ายยังส่งผลต่อการส่งออกไก่สด แช่แข็งของไทยด้วย เมื่อประกอบกับการอุตสาหกรรมส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เกิดปัญหาชะลอตัว เพราะเข้าสู่วัฏจักรช่วงขาลงอิเล็กทรอนิกส์โลก จึงทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยในครึ่งแรกของปีไม่สวยหรู

เมื่อภาคการส่งออกของไทยที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองขนาดใหญ่ ในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเช่นในอดีตไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่การนำเข้าพุ่งพรวดตามมูลค่าการนำเข้าน้ำมัน และการเร่งเพิ่มสต๊อกวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ทำให้ประเทศไทย ต้องประสบกับการขาดดุลการค้าและ ดุลบัญชีเดินสะพัดอีกครั้ง หลังจาก ที่เกินดุลมาตลอดภายหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 โดยขาดดุลสูงถึง 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐในครึ่งแรกของปี และส่งผล ให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกของปีตกต่ำลง โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงเหลือเพียง 3.9%

"เงินเฟ้อ"ฉุด ศก.ครึ่งปีหลัง

สำหรับในครึ่งหลังของปี ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ก็ยังคงไม่คลี่คลายลง จากปัญหาฝนแล้งซึ่งกระทบภาคการผลิตมาตั้งแต่ต้นปี ภาคการเกษตรของไทยต้องประสบเคราะห์กรรมอีกครั้งจากฝน ที่ตกหนักในช่วงปลายฤดูฝน จนเป็นปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมหนักในทุกภาค ส่วนอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเดือนตุลาคมที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวสูงขึ้นถึง 6.2% ส่งผลให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้อง ใช้วิธีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ให้สูงขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ

ในช่วงท้ายของปี ยังมีเหตุการณ์ที่รัฐบาลเองคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคเดียวที่คุมเสียงมากเป็นประวัติการณ์ 377 เสียง เมื่อมีการตรวจสอบรัฐบาล โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้ง หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ เป็น "Talk of the town(" ด้วยการนำเสนอข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ปรากฏการณ์ สนธิ" ดังกล่าวได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับเสถียรภาพของรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมือง ตลาดหุ้น และสร้างความหวั่นวิตกต่อนักลงทุนในประเทศและต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ตามการประมาณการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย มองในแง่ดีว่า แม้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบจำนวนไม่น้อย แต่จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง และการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น รวมทั้ง การใช้พลังงานอย่างประหยัดตาม นโยบายของรัฐ ได้มีส่วนช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยปีใน ที่ผ่านมาผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยทำให้สิ้นปี 2548 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4.5% ของจีดีพีในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.5-5.5% และยังมีแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจปี 2549 ขยายตัวได้ต่อเนื่องด้วย

ธปท.ชี้ ศก.ปี 49 โต 4.5-6.0%

คาดว่าเศรษฐกิจปีจอจะขยาย ตัวสูงขึ้นจากผลของเศรษฐกิจของไทยในครึ่งหลังของปีไก่เริ่มกระเตื้อง โดยปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา รวมถึงความไม่แน่นอนของปัจจัยเสี่ยงในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2549 นั้นจะขยายตัวที่ระดับ 4.5-6.0% รวมทั้งยังได้ปรับประมาณการแนวโน้ม เงินเฟ้อในปี 2549 ว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5-5.0% เนื่องจากราคาน้ำมันที่เร่งตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบไปยังราคาสินค้าอื่นๆ ให้เร่งสูงขึ้นด้วย ซึ่งราคาน้ำมันที่เร่งตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ ธปท. ให้ความสำคัญ โดยตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบของปี 2549 อยู่ที่ 57.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

"แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจ ไทยจะขยายตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบ เช่น ราคาน้ำมันที่มีความผันผวน ความ เชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ลดลง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาจจะเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจากการประเมินพบว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเอเชียปรับตัวดีขึ้น แต่สหรัฐฯและยุโรป ปรับตัวลดลง"นางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจภายในประเทศ ธปท. ระบุ

"ราคาน้ำมัน-ดอกเบี้ย" ปัจจัยเสี่ยงปี 2549

นายอำพน กิตติอำพน เลขา ธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงในปี 2549 มีทั้งปัจจัยภายนอก คือ ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เพราะความต้องการ น้ำมันของโลกยังมีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้น ประมาณ 2.0% ขณะที่กำลังการผลิตยังคงตึงตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนได้ง่ายต่อผลกระทบด้านการผลิต รวมทั้งการปรับเพิ่มความ ต้องการใช้และการสะสมสต๊อกของ วัตถุดิบ

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจ โลกที่ชะลอตัวและการปรับตัว ของประเทศต่างๆ ในเรื่องการประหยัดพลังงานคงจะช่วยลดแรงกดดันลงได้บ้าง ประกอบกับในปีนี้ อัตรากำลังการผลิตส่วนเกิน จะอยู่ที่ระดับวันละ 2.0-2.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่า 1.0-1.5 ล้านบาร์เรลในปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ยังไม่นับปัญหาความไม่สงบทางภาคใต้ การระบาดของไข้หวัดนก และอุบัติภัยต่างๆ ยังนับว่าเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ต้องระมัดระวัง

ขณะที่ความไม่แน่นอนทางเสถียรภาพทางการเมืองมีแนวโน้ม สั่นคลอนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะท่าทีอันแข็งกร้าวของผู้นำรัฐบาล ที่เป็นที่วิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย ในขณะนี้

อีกปัจจัยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว นำโดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ เข็มงวดมากขึ้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อลด แรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 4.50% ภายในกลางปี 2549 และอยู่ในระดับดังกล่าวจนถึงสิ้นปี ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ต่างๆ เช่น การขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาก และผันผวนได้

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ คือ แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา จะยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการใช้จ่ายครัวเรือน และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ แต่คาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะลดลงในครึ่งหลังของปีนี้

ปี 2549 ยังมีปัจจัยการปรับขึ้น ของอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่กระทบความสามารถ ในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป และอาจกดดันหนี้เสียให้กลับมา ลุ้นเมกะโปรเจกต์การลงทุนเอกชน ดัน ศก. ปี 49

เศรษฐกิจไทยปี 49 จะ ขยายตัวได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับ เงินที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศ (เมกะโปรเจกต์) ซึ่งคาดว่าจะมีเงินลงทุนจริงประมาณ 200,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีหน้า คือ "การลงทุนภาคเอกชน" ในภาค อุตสาหกรรมการส่งออกที่มีคำสั่งซื้อ ต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตเกินกว่า 80-100% เช่น หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์กระดาษ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์

นอกจากนั้น การท่องเที่ยวไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นฟูสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาจนเกือบเป็นปกติ จะช่วยสร้างรายได้กลับเข้าประเทศจำนวนมหาศาล และช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น ส่วนภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทั้งในด้านราคาและปริมาณผลผลิตที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นภายหลังประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา

แม้ว่าปัจจัยที่เข้ามารุมเร้าดูเหมือนจะคลี่คลายลง และมีสัญญาณ ว่าเศรษฐกิจปีใหม่นี้น่าจะไปได้สวย แต่ทางการยังต้องใช้ความพยายาม อีกมาก และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างแท้จริง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.