ดูปองท์เสริมเขี้ยวเล็บเน้นลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

คงไม่มีผู้ประกอบการรายไหนกล้าปฏิเสธว่าตลาดยุโรปและอเมริกาคือแหล่งเงินแหล่งทองสำหรับการทำธุรกิจ แต่ในปัจจุบันจากสภาพเศรษฐกิจทั้งยุโรปและอเมริกากำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวประกอบกับการแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายของบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายต่างชะลอตัวไปตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ในทางตรงกันข้ามภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลับเป็นตลาดที่กำลังเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการแถบยุโรปและอเมริกาด้วยการขยายการลงทุนเข้ามาเปิดโรงงานกันมาก

สาเหตุเนื่องจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคกำลังพัฒนา ฉะนั้นอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจึงมีค่อนข้างสูงประมาณ 8% ขึ้นไป ประโยชน์ที่ได้เมื่อขยายการลงทุนเข้ามาแล้วคือ ค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำสิ่งที่ตามมาคือต้นทุนการผลิตก็อยู่ในระดับที่ต่ำด้วย และสิ่งสุดท้ายที่ได้ก็คือผลประกอบการจะสูงขึ้นอย่างมหาศาลเพียงแต่นำเทคโนโลยีเข้ามาเท่านั้น

บริษัท ดูปองท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกาที่ดำเนินงานครอบคลุมธุรกิจแทบทุกประเภทตั้งแต่การบินและอวกาศ ยานยนต์ ก่อสร้าง การเกษตร พลังงาน สิ่งทอ เวชภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ ก็เป็นบริษัทข้ามชาติบริษัทหนึ่งที่ได้เข้ามาขยายกิจการในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และไทย

สำหรับประเทศไทยนั้นดูปองท์ดำเนินงานภายใต้ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเปิดในปี 2514 โดยได้นำผลิตภัณฑ์เข้ามาจำหน่าย และในปี 2526 ได้เปิดโรงงานผลิตและบรรจุสารกำจัดวัชพืชขึ้นที่บางปู นอกจากนี้ยังได้นำผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร สีพ่นรถยนต์ ฟิล์ม พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ส่วนประกอบอีเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี เข้ามาจำหน่าย

ปัจจุบันดูปองท์ในประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของ ธีระชัย องค์มหัทมงคล ในฐานะประธานกรรมการซึ่งถือว่าเป็นลูกหม้อของดูปองท์อย่างแท้จริงเพราะทำงานในบริษัทมาแล้วกว่า 20 ปี

เขากล่าวไว้ว่าสาเหตุที่ตั้งโรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เคมีด้านการเกษตร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตร ดังนั้นความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านนี้จึงมีสูง ซึ่งสินค้าที่ดูปองท์ผลิตออกมาจำหน่าย ได้แก่ อัลไลย์. ไฮวาร์เอกซ์, แลนเนท และเวลปาร์

"ปัจจุบันเรามีส่วนแบ่งการตลาดด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ด้านการเกษตรในระดับต้น ๆ คู่แข่งของเรานั้นมีทั้ง ICI, Monsanto, Ciba Geigy, Rhone Poulence และ AgreEvo"

นอกจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ด้านการเกษตรแล้ว ในปี 2540 ดูปองท์จะเน้นหนักผลิตภัณฑ์ในหมวดเส้นใยและเคมีภัณฑ์เป็นธุรกิจหลักในการทำยอดขาย "ที่เราเน้นกลุ่มนี้เพราะเส้นใยของเราเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ซึ่งเส้นใยของเราเป็นชนิดพรีเมี่ยมที่สอดคล้องกับธุรกิจสิ่งทอในยุคปัจจุบัน ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง เพื่อแข่งขันในตลาดโลก" ธีระชัย เล่า

โดยตลาดสิ่งทอในเมืองไทยกำลังเปลี่ยนจากตลาดล่างไปสู่ตลาดกลางและตลาดบน ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี การตลาด แต่การปรับปรุงคงจะต้องใช้เวลามากพอสมควร ฉะนั้นความได้เปรียบของดูปองท์สำหรับการเปลี่ยนแปลงจึงมีค่อนข้างสูง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ สิ่งทอก็จับตลาดระดับกลางและบนอยู่แล้ว

"การปรับตัวเราจะค่อย ๆ แทรกเข้าไปทำงานกับพันธมิตรบริษัทผู้ผลิตผ้า เสื้อผ้า และในที่สุดเมื่อตลาดปรับตัวเข้าสู่ระดับบนได้แล้วตลาดก็จะใหญ่ขึ้นตามไปด้วย" ธีระชัยกล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ (Polyester) ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายนั้นจะเน้นหนักอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ Dacron เป็นเส้นใยเหมาะสำหรับตัดชุดกีฬา เสื้อผ้าชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์, Nylon เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับดูปองท์เป็นอย่างมาก ปัจจุบัน Nylon มีผู้นำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น หลอดยาสีฟัน เสื้อผ้า และ Lycra เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้กับเนื้อผ้าที่ถักทอผสมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ้าย ไหม ลินิน วิสโคส เป็นต้น ทำให้เนื้อผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใย Lycra นุ่ม มีความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับตัดเย็บชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ถุงน่อง ถุงเท้า

นอกจากนี้ดูปองท์ยังได้เตรียมแผนการลงทุนในประเทศไทยไว้ในระยะยาวด้วยการตั้งเป้าลงทุนไว้สูง 2,500 ล้านบาท ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยจะเน้นใน 3 ธุรกิจหลักคือ อุตสาหกรรมที่ตอบสนองคุณภาพชีวิต อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเรียลเอสเตท

"แต่ขณะนี้เรายังบอกชัดเจนอะไรไม่ได้ เพราะเราต้องศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของเมืองไทยกับประเทศที่มีลักษณะสภาพเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันกับเรา เช่นโครงการอุตสาหกรรมที่ตอบสนองคุณภาพชีวิตต้องเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย โครงการอุตสาหกรรมรถยนต์เทียบกับมาเลเซีย" ธีระชัย กล่าว

อีกทั้งลักษณะการลงทุนของดูปองท์จะแตกต่างไปจากอดีตอย่างมาก เพราะในอดีตเวลาลงทุนจะเข้าไปในลักษณะเต็ม 100% แต่ปัจจุบันดูปองท์ได้เปิดโอกาสให้บริษัทท้องถิ่นเข้ามาร่วมลงทุนด้วยแต่บริษัทร่วมลงทุนจะต้องมีนโยบายใกล้เคียงกับดูปองท์ อย่างไรก็ตามดูปองท์ก็ยังรักษารูปแบบการลงทุนเดิมๆ อยู่ คือ พยายามหาพันธมิตรให้น้อยที่สุด

"อย่างเช่นในปัจจุบันที่เรากำลังดำเนินโครงการอยู 2-3 โครงการ ก็ได้มีการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นอยู่ 2 รายซึ่งเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจทางด้านปิโตรเคมี แต่เราก็ยังไม่สรุปว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เราอาจจะลงทุนเองหรือในลักษณะร่วมลงทุน" ธีระชัย เล่า

เมื่อบริษัทแม่ได้ตั้งความหวังสำหรับการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไว้มากขนาดนี้แล้ว ย่อมหมายความว่าการตั้งความหวังด้านยอดขายของบริษัทลูกในแถบภูมิภาคนี้รวมทั้งในประเทศไทยย่อมมีสูงเช่นเดียวกัน และเพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ 200 ปีของการก่อตั้งบริษัทในปี 2002 ได้ตั้งยอดขายไว้สูงถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปัจจุบันมียอดขายเพียง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดขายประมาณ 10% ของยอดขายทั้งหมดจะมาจากบริษัทลูกในแถบเอเชีย-แปซิฟิก

"บริษัทแม่ตั้งเป้ายอดขายไว้ในปี 2002 ว่าต้องเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แต่เราเชื่อว่า ยอดขายของบริษัทดูปองท์ในประเทศไทยจะโตขึ้นประมาณ 3 เท่าโดยปีนี้เราคาดว่ายอดขายจะโตขึ้นประมาณ 20% ส่วนยอดขายทั้งเอเชีย-แปซิฟิกคาดว่าจะโตขึ้นประมาณ 20% เช่นเดียวกัน "ธีระชัย กล่าว

คงจะต้องจับตาดูว่าดูปองท์จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคในการทำธุรกิจไปได้ตามหวังที่ได้ตั้งเป้าไว้หรือไม่ กับสภาพเศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่และไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.