|

อุตสาหกรรมไทยปีจอหืดจับ แบกต้นทุนเพิ่ม-แข่งขันเดือด
ผู้จัดการรายวัน(3 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปี 2549 หรือปีจอถือเป็นปีที่ดุเดือดอีกปีหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมไทย เพราะยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ซึ่งสะท้อนได้จากผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ที่ผู้ประกอบการต่างก็ยังคงวิตกเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญๆ ที่จะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่ารัฐบาลจะประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับ 4.5-5% ก็ตาม โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบการวิตกกังวลในปี 2549 มีดังนี้
1.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีทิศทางที่จะปรับเพิ่มขึ้น อย่างแน่นอนในปี 2549 ซึ่งจะส่งผลต่อกิจการ เนื่องจาก ผู้ประกอบการต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้น และทำให้การบริโภคสินค้าแบบผ่อนชำระของประชาชนลดลง
2.ราคาน้ำมันที่แม้ว่าทิศทางของราคาน้ำมันตลาดโลกช่วงปลายปีจะมีสัญญาณราคาที่แผ่วลงมากเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี และในปี 2549 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทิศทางไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่าปี 2548 แต่ก็ยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไป ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมีการปรับตัวรับมือกับต้นทุนไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ภาระต้นทุนที่แบกรับในช่วงปี 2548 ยังคงไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ครอบคลุมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องประเมินต้นทุนในปี 2549 เพื่อนำมาปรับราคาสินค้าอีกครั้งอย่างแน่นอน และต้นทุนรวมจากภาวะน้ำมัน และค่าไฟฟ้ายังคงเป็นขาขึ้นอยู่
3. ต้นทุนที่มีทิศทางโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปัจจัย อื่นๆ นอกเหนือจากน้ำมันและค่าไฟแล้ว ยังคงเป็นปัญหาของวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำมันแพง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งเหล็ก พลาสติก สินแร่ต่างๆ เป็นต้น
4. แรงซื้อในประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบจากปัจจัยราคาน้ำมันราคาสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนภาพรวมยังคงสูงต่อเนื่องทำให้ประชาชนเริ่มประหยัดเงินในการใช้จ่ายสินค้าลง และแน่นอนว่าภาพรวมสินค้าที่จะได้รับผลกระทบลำดับแรกคือสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยและสินค้าอื่นๆ ที่ตามมาก็จะลดการบริโภคตามไปด้วยในที่สุด
5.สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาแข่งขันและตีตลาดสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพืชทางการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าจากจีนมีราคาที่ต่ำมาก โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดปัญหา ว่าราคาต่ำและมาตรฐานสินค้ายังไม่ดีนักทำให้อุตสาหกรรมไทยมีการแข่งขันที่ลำบากมากขึ้น
6. เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจากการประมาณการพบว่าเศรษฐกิจของโลกภาพรวมเฉลี่ยจะมีการขยายตัวในลักษณะแบบชะลอตัวลงซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาวะการส่งออกของไทยระดับหนึ่ง โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจสหภาพยุโรปหรืออียู และสหรัฐฯชะลอตัวลง
ปัจจัยทั้งหมดทำให้อุตสาหกรรมไทยภาพรวมจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและพบกับภาวะการแข่งขันที่สูงทั้งจากสินค้าต้นทุนต่ำจากประเทศจีน รวมไปถึงการ เปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่รัฐบาลดำเนินการกับประเทศต่างๆ ไว้ทำให้สินค้าจาก ต่างประเทศเริ่มไหลสู่ประตูไทยมากขึ้น ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ปรับตัวท้ายสุดก็จะหนีไม่ พ้นกับการต้องเปลี่ยนกิจการ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่ กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมไทยโดยตรง ได้คาดการณ์ ถึงการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับ ส.อ.ท. ถึงแนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในปี 2549 จะอยู่ที่ 7% แต่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่ายังมีแนวทางที่รัฐบาลจะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้คือ 7% มาเป็น 8.5% ได้ซึ่งจะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป้าหมายที่จะให้โต 8.5% อยู่ภายใต้เงื่อนไข ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเร่งเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนในการหาช่องทางในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง ซึ่งเป้าหมายการส่งออก ของสินค้าอุตสาหกรรมไว้ที่ 25% หรือมีมูลค่าส่งออก ประมาณ 4.1 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น จากมูลค่าการส่งออกประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2547 โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีอัตราการส่งออกสูงได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหารแช่แข็ง ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ยาง
จับทิศ SMEs ไทยยังลำบาก
สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs) ของไทยในปี 2549 พบว่ายังคงมีแนวโน้มที่ลำบากอยู่เนื่องจากภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งการเงินที่ดอกเบี้ย เงินกู้มีทิศทางสูงขึ้น ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง วัตถุดิบต่างๆ ซึ่ง SMEs ไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเรื่องระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพราะยังคงเป็นระบบบริหารแบบครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ สายป่านทางการเงินไม่ยาว
นอกจากนี้ SMEs ไทยยังต้องเผชิญกับสินค้า นำเข้าโดยเฉพาะจากจีนที่ขณะนี้มีต้นทุนต่ำอย่างมากเข้ามาตีราคาจนทำให้ SMEs ไทยที่ผลิตสินค้าระดับล่างจำนวนมากต้องล้มหายตายจากไปพอสมควร และหันไปเป็นผู้นำเข้ามาจำหน่าย แทนจำนวนไม่น้อย ดังนั้น SMEs ไทยในระยะยาวที่จะอยู่รอดแล้ว คงจะต้องหันไปผลิตสินค้าระดับ บน รวมไปถึงการผลิตชิ้นส่วนที่จะป้อนให้กับผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้นซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล จะต้องคำนึงถึงการย้ายฐานการผลิตของต่างประเทศที่ระยะหลังมีการพ่วงเอาบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วน เข้ามาจำนวนมากแทนที่จะหันไป ส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศที่มีอยู่แทน
ภาพรวมในปี 2549 ทิศทางอุตสาหกรรมจะสดใสหรือไม่คงอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวรองรับกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยเพียง ใดเป็นสำคัญด้วย ขณะเดียวกันนโยบายจากภาครัฐก็ถือเป็นกลไกที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมเดินไปในทิศทางใดกันแน่ โดยการทำ FTA ยังคงเป็นดาบสองคมจำเป็นที่ภาครัฐควรมอง ภาพรวมและต้องทำรายละเอียดว่าอุตสาหกรรมใดได้เปรียบ-เสียเปรียบ และหามาตรการรองรับว่าจะให้อุตสาหกรรมที่เสียเปรียบ และแข่งขันไม่ได้ไปอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งไม่ใช่ทิ้งไปเลย
ขณะเดียวกันก็จะต้องแบ่งกลุ่มสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลาง และเล็กที่ต่างกันไม่ใช่ใช้นโยบายเดียวกันไปหมด ซึ่งนโยบายรัฐมีส่วน สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กับการปรับตัวของเอกชน ตัวอย่างของความผิดพลาดนโยบายที่ปัจจุบันมีผลให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาช้า คือ การไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องจักรและโลหะและทำให้อุตสาหกรรมนี้ตายไปก่อนหน้าด้วยการไปทำให้ภาษีนำเข้าจากต่างประเทศถูกแต่วัตถุดิบในประเทศแพง ในที่สุดอุตสาหกรรมนี้ของคนไทยต้องตายไปและรัฐเพิ่งจะเริ่มมาฟื้นฟู
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไทยที่มีอัตราเติบโตส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานมาจากต่างประเทศและมาอาศัยค่าแรงที่ต่ำของไทย เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนฯ เหล่านี้ต้องระวังเพราะท้ายสุดก็จะมีการย้ายฐานออกไปอีกไม่มีความแน่นอน ขณะเดียวกัน ศูนย์กลางการค้าก็เริ่มเปลี่ยนไปจากอดีต ตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ และยุโรป แต่ปัจจุบันเริ่มย้ายมาอยู่ยังจีนและอินเดีย ดังนั้นเอกชนและรัฐบาลจะมัวไปส่งเสริมอุตสาหกรรมที่โต หรือตลาดที่โตในอดีตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|