รูดม่านปี48โบรกเกอร์ชิมลางรีแบรนดิ้ง จับทิศปีหน้าเร่งเตรียมพร้อมรับเอฟทีเอ


ผู้จัดการรายวัน(2 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิดฉากปีระกา-2548 ธุรกิจโบรกเกอร์ยังคงแข่งขันกันรุนแรง ท่ามกลางสถานการณ์ ไม่คาดฝันเกิดขึ้น โบรกเกอร์ในเครือแบงก์หนุนกลยุทธ์บริการครบวงจรตามนโยบาย ยูนิเวอร์แซลแบงก์ โบรกเกอร์รายย่อยวอลุ่มหดหลังกลุ่มนักลงทุนสถาบันเพิ่มสัดส่วนโบรกเกอร์บินเดี่ยวชูกลยุทธ์หุ้นจองกวาดรายได้วาณิชฯและมาร์เกตแชร์ "ก้องเกียรติ" ส่องกล้องปีหน้าธุรกิจค้าหุ้นปีหน้าต้องเร่งปรับตัวพร้อมรับเปิดเอฟทีเอ โดยเฉพาะโบรกเกอร์เล็กต้องเร่งเพิ่มฐานทุนให้แกร่ง

ตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2548 ที่เพิ่งรูดม่านปิดฉากไปพบว่ามีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นกรณีที่หุ้นกฟผ.ถูกเบรกขายหุ้นกะทันหัน ทั้งที่เตรียมการต่างๆ แล้ว ทั้งการโรดโชว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศแต่ไม่สามารถขายหุ้นได้ เนื่องจากศาล ปกครองสั่งระงับการเสนอขายหุ้นชั่วคราว หรือ กรณีที่หุ้นเก็งกำไรหลายบริษัทที่ราคาขึ้นมาอย่างหวือหวาและมีกระแสข่าวว่านักลงทุนรายใหญ่เข้าไปไล่ราคาจนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องงัดมาตรการดับความร้อนแรงโดยห้ามซื้อขายด้วยเน็ตเซตเทิลเมนต์และมาร์จินออกมาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นสีสันของตลาดทุนไทยเสมอมา

2โบรกฯชิมลางรีแบรนดิ้ง

อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านพ้นไปนั้นอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ได้มีการเปลี่ยนโฉม หน้าไปพอสมควร โดยจะเห็นทั้งการรีแบรนดิ้ง หรือ การปรับภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรีอยุธยา ที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ในค่ายของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ได้ประกาศการปรับภาพลักษณ์อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ เพิ่มมากขึ้นรวมถึงตัวเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งเองก็จะต้องมีความเข้าใจในสไตล์การลงทุนของลูกค้า

เช่นเดียวกัน บล.โกลเบล็กก็เป็นอีกบริษัท หลักทรัพย์หนึ่งที่พยายามปรับภาพลักษณ์ให้คนภายนอกรู้จักมากขึ้น และสร้างความโปร่งใส เพราะบล.โกลเบล็กถือได้ว่าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในกลุ่มบริษัทโกลเบล็ก จึงต้องการสื่อให้คนภายนอกได้เห็นว่านอกจากบล.โกลเบล็กแล้ว ก็ยังมีบริษัทโกลเบล็ก โฮลดิ้งแมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนและยังมีบริษัทลูกอีก 1 แห่งคือบริษัท โกลเบล็กแอ๊ดไวเซอรี่ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน

ในช่วงปี 2548 นอกเหนือจากการรีแบรนดิ้งของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แล้วก็พบว่าอันดับมาร์เกตแชร์ของโบรกเกอร์มีการเปลี่ยน แปลงพอสมควร ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพตลาดหุ้นโดยรวมที่สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนทั่วไปกลับลดลง จึงส่งผลทำให้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานเป็นนักลงทุนสถาบันเป็นหลักจะมีมาร์เกตแชร์เพิ่มขึ้น เช่นบล.ไทยพาณิชย์,บล.ภัทร เป็นต้น ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นนักลงทุนรายย่อยทั่วไปเช่นบล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย),บล.ซีมิโก้ปรากฏว่ามาร์เกตแชร์ลดลง จึงทำให้บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องปรับกลยุทธ์ ใหม่โดยพยายามเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเพิ่มมากขึ้น

โบรกค่ายแบงก์ชูบริการครบวงจร

ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาแบ่งบริษัทหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยจะพบมีการแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนการทำธุรกิจจากธนาคารเป็นอย่างดีเพราะเป้าหมายธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้วางตำแหน่งไว้ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร ดังนั้น จึงต้องมีบริษัทหลักทรัพย์ที่จะคอยให้บริการแก่ลูกค้าที่สนใจเข้ามาลงทุนในการซื้อขายหุ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้จะประกอบด้วย บล.ไทยพาณิชย์, บล.กสิกรไทย, บล.บัวหลวง, บล.ทีเอ็มบี แมค-ควอรี(ประเทศไทย), บล.กรุงศรีอยุธยา, บล. เอเซียพลัส, บล.บีที, บล.ธนชาต, บล.ทิสโก้ และบล.เกียรตินาคินเป็นต้น

ส่วนอีกด้านจะบริษัทหลักทรัพย์ที่มีสถาบันต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะประกอบด้วย บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย), บล.ยูโอบีเคย์เฮียน(ประเทศไทย), บล.เจ.พี.มอร์แกน (ประเทศไทย, บล.ยูบีเอส(ประเทศไทย), บล. เคจีไอ(ประเทศไทย) และบล.เครดิตสวิส เฟิร์ส บอสตัน

การแข่งขันยังแรงชูกลยุทธ์หุ้นจอง

อย่างไรก็ตาม ก็มีบริษัทหลักทรัพย์บางส่วนที่ไม่ได้มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์และต่างประเทศ เช่น บล.ภัทร, บล.ยูไนเต็ด, บล.แอ๊ดคินซัน, บล.ทีเอสอีซี, บล.ทรีนีตี้, บล. อินเทลวิชั่น, บล.ฟาร์อีสท์, บล.โกลเบล็ก, บล. ซีมิโก้, บล.พรูเด้นสยาม, บล.ฟินันซ่า, บล. เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เป็นต้น ธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมามีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงซึ่งแต่ละบริษัทต่างก็งัดกลยุทธ์ต่างๆ เข้ามาห้ำหั่นกันทั้งการนำหุ้นจองซึ่งเคยมีเสน่ห์ สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนมาล่อให้นักลงทุนเพื่อหวังให้นักลงทุนเปิดพอร์ตซื้อขายซึ่งมีการมองว่าการแข่งขันจะรุนแรงไปจนถึงปีหน้าโดยเฉพาะจะมีการเปิดเสรีการค้า ซึ่งจะเปิดกว้างให้ต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ภายในปีหน้าตลาดอนุพันธ์จะเปิดทำการซื้อขายซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้านหนึ่ง เพราะในปัจจุบันนี้รายได้หลักส่วนใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์จะมาจากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ประมาณ 80-90% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10-20% นั้นจะมาจากรายได้จากวาณิชธนกิจและอื่นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์ของต่างประเทศที่จะไม่พึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น แต่จะเป็นการกระจายรายได้ไปยังส่วนอื่นๆ เช่น ด้านการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ เป็น ต้น ซึ่งทำให้สัดส่วนรายได้มีความสมดุลกัน

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)จึงพยายามที่จะผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์ของไทยมีรายได้ที่สมดุลเช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ดังนั้นสำนักงาน ก.ล.ต.จึงพร้อมที่จะเปิดทางให้บริษัท หลักทรัพย์มีรายได้ด้านอื่นๆ เพิ่ม เช่น การทำธุรกรรมด้านการยืมหุ้นและการให้ยืมหุ้น(SBL) เป็นต้น

เปิดศึกแย่งตัวนักวิเคราะห์ส่งท้าย

สิ่งที่จะต้องจับตามองภายในปี 2549 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ได้แก่ การดึงตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ซึ่งจะเห็นสัญญาณในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่ามีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จำนวนมากที่ย้ายค่าย เช่น นายพิชัย เลิศสุพงษ์กิจ ที่ย้ายจากบล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ย้ายไปอยู่กับ บล.พรูเด้นท์สยาม, นางสาวอรุณรัตน์ จิวางกูรและทีมงานที่ลาออกจาก บล.นครหลวงไทย เพื่อไปซบอกกับ บล.ทีเอสอีซี หรือล่าสุดในกรณี นายสาธิต วรรณศิลปินที่ยก ทีมลาออกจากบล.พัฒนสิน และย้ายไปอยู่กับบล.นครหลวงไทย

ดังนั้น จึงมองว่าโอกาสเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์จะโยกย้ายมีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งต่างให้ความสำคัญแก่งานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าในปี 2550 จะมีการทบทวนการกำหนดค่าคอมมิชชัน ว่าจะเปิดเสรีหรือไม่จึงทำให้หลายแห่งมีการเตรียมความพร้อมในด้านงานวิจัยไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาการแย่งชิงตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์คงจะไม่รุนแรงเท่ากับการแย่งตัวเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งเพราะการดึงตัวเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งนั้นจะเกี่ยว ข้องลูกค้าของบริษัทเพราะจะทำให้ลูกค้าย้ายตามเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งไปด้วย และทำให้บริษัทหลักทรัพย์สูญเสียรายได้ จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาขัดแย้งกันเกิดขึ้น

พันธมิตร ตปท. ทางออกก่อนเสรี

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ของไทยในอนาคต มีโอกาสที่จะหาพันธมิตรจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพราะอย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งมีความต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าสถาบันมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงปี 2548ที่ผ่านมาจึงได้เห็นกรณีของ บล.ธนชาตที่ได้จับมือกับกลุ่มพิริกรีนพาริบาร์ส โดยเป็นในลักษณะของพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในด้านธุรกิจหลักทรัพย์,วาณิชธนกิจและงานวิจัยดังนั้นจึงมองว่าในปีหน้าคงจะมีโอกาสที่จะได้เห็นบริษัทหลักทรัพย์ของไทยที่หันไปจับมือกับบริษัทจากต่างประเทศในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นดัชนีชี้นำธุรกิจหลักทรัพย์คือสภาพตลาดหุ้นโดยรวมในปี 2549 ว่าเป็นอย่างไรบ้างซึ่งถ้าสภาพตลาดหุ้นมีทิศทางที่สดใสจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์ตื่นตัวที่จะรุกธุรกิจมากขึ้นทั้งในแง่ของการเปิดห้องค้าหลักทรัพย์ที่จะเกื้อหนุนในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์หรือการนำหุ้นเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งจะเกื้อหนุนในงานวาณิชธนกิจโดยเฉพาะการนำหุ้นขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนถือเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะยังมีหุ้น กฟผ.ที่ยังรอคำสั่งของศาลปกครองว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงหุ้นบริษัทไทยเบฟเวอเรจหรือเบียร์ช้างที่จะต้องรอพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาเสียก่อนซึ่งถ้ามีหุ้นขนาดใหญ่ดังกล่าวเข้าจดทะเบียนเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้ตลาดหุ้นกลับมาคึกคักได้แต่ถ้าสภาพตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย มูลค่าการซื้อขายซบเซา ก็อาจจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าธุรกิจหลักทรัพย์ภาย ในปี 2548 จึงเป็นปีที่บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งปรับกลยุทธ์ ปรับภาพลักษณ์ หรือรีแบรนดิ้งตามเป้าหมายของตนเอง รวมถึงเป็น ปีที่มาร์เกตแชร์ของบริษัทหลักทรัพย์เปลี่ยน แปลงไปจนทำให้บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งหันไปให้ความสำคัญต่อนักลงทุนสถาบันเพิ่มมากขึ้น

ส่วนทิศทางธุรกิจหลักทรัพย์ในปีหน้านั้นสิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นโดยรวมว่าเป็นอย่างไรและการแข่งขันคงจะรุนแรงเหมือนเดิม ดังนั้น คงจะต้องจับตามองว่าบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งจะงัดกลยุทธ์ออกมาอย่างไร หรือจะมีการควบรวมระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ด้วยกันเองหรือไม่เพื่อทำให้เกิดความแข็งแกร่งเพื่อที่จะได้สู้กับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ก็ได้แต่หวังว่าการแข่งขันที่รุนแรงนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่ยุติธรรมและไม่มีการเล่นใต้โต๊ะเช่นแอบลดค่าคอมมิชชันหรือการแย่งชิงตัวเจ้าหน้าที่

มาร์เกตติ้งจนทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวมต้องได้รับผลกระทบ

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทยตลาด ทุนไทย กล่าวถึงการแข่งขันของธุรกิจในตลาดทุนที่จะได้รับผลกระทบกับการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ว่า ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว กลุ่มที่จะได้รับคงเป็นบริษัทขนาดเล็กทั้งในส่วน ของธนาคาร, บริษัทประกันภัย, บริษัทหลักทรัพย์(บล.), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)เป็นต้น

ทั้งนี้ การปรับตัวเพื่อให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และมีฐานะลูกค้าในกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะเข้ามาเจาะฐานลูกค้าที่มีความแข็งแกร่งคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

ในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ในไทยจากจำนวนทั้งหมด 37 แห่งมีถึง 1 ใน 3 ที่เป็นของ ต่างชาติ ซึ่งในส่วนที่เหลือก็คงจะต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจน และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในด้านของขนาดทุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.