อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยั่งยืน 2ล้านคัน.....ยังไม่ใช่คำตอบ!


ผู้จัดการรายวัน(2 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางภาพอันสวยสดงดงามของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งเรื่องของการผลิตรถได้ครบ 1 ล้านคันต่อปีก่อนกำหนด เช่นเดียวกับมูลค่าส่งออกอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ทะลุ 2 แสนล้านบาทต่อปี หรือการปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตเป็น 2 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2553 ตามแผนยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย อาจจะทำให้เส้นทางสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียของไทยอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่นั่นหาใช่คำตอบของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ยั่งยืนไม่!!

ปลาบปลื้มกันไปทั้งวงการ ไม่ว่าผู้ประกอบการ องค์กรและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรัฐบาล เมื่อปี 2548 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ประเทศ ไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ครบ 1 ล้านคันต่อปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงจุดหมายสู่การเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" (Detroit of Asia) อยู่ข้างหน้าเพียงแค่เอื้อมนี่เอง

ทั้งนี้ เป้าหมายสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ตามแผนยุทธศาสตร์ยานยนต์ของไทย ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีสถาบันยานยนต์เป็นผู้วางแนวทาง ซึ่งเบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายประเทศไทยจะต้องมีการผลิตรถยนต์มากกว่า 1.8 ล้านคันต่อปี โดยเป็นอันดับ 9 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย ส่วนแบ่งการตลาดโลก 3% มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมีการส่งออกรถยนต์มากกว่า 8 แสนคันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาทต่อปี มีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี และมีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศไม่น้อยกว่า 70%

และในระหว่างแผนระยะยาวถึงปี 2553ได้มีการกำหนดเป้าหมายเบื้องต้น ภายในปี 2549 ต้องผลิตรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคันต่อปี มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ มีมูลค่าส่งออกไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมกับมีความสามารถในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน โดยมีมูลค่าเพิ่มในประเทศไม่น้อยกว่า 60%

ดังนั้น การที่ประเทศไทยสามารถผลิตรถ ยนต์ได้ 1 ล้านคัน และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนมีมูลค่าส่งออกไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2548 จึงเป็นการถึงเป้าหมายเบื้องต้นก่อนกำหนดถึง 1 ปี จึงไม่แปลกที่จะมีการไชโยโห่ร้องของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และได้มีการจัดงานฉลองความสำเร็จในการผลิตรถยนต์ครบ 1 ล้านคัน ไปเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ได้ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ถึงกับประกาศปรับเป้าหมายอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยใหม่ ในการประกาศฉลองใหญ่ผลิตรถยนต์ครบล้านคัน........ "การที่ไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ครบ 1 ล้านคัน เร็วกว่าเป้าหมายเฟสแรกที่วางแผนไว้ถึง 1 ปี นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และมีผลสำคัญต่อการก้าวเข้าสู่เฟสที่สองของการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ที่มีเป้าหมายจะต้องผลิตให้ได้ 1.8 ล้านคัน ภายในปี 2553 แต่ดูจากแนวโน้มและทิศทางแล้ว อยากจะให้กลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับเป้าหมายเป็น 2 ล้านคันแทน"

หากดูความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ผ่านมา ไม่ถือว่ายากเย็นจนเกินไปนักที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม จะประกาศปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในไทยขึ้นอีก 2 แสนคัน เพราะหากดูตามแผนงานของบริษัทรถยนต์ค่ายหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า, มิตซูบิชิ, นิสสัน, ฟอร์ด-มาสด้า, ฮอนด้า, เชฟโรเลต และอีซูซุ ล้วนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกทั้งปิกอัพและเก๋ง พร้อมกับมีการลงทุนใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรวมกันกว่าแสนล้านบาท โดยตามแผนการลงทุนใหม่จะเริ่มผลิตและส่งออกตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งตัวเลขยอดผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมกันเป็นหลายแสนคัน ขณะที่ในปี 2548 ที่ผ่านมามียอดการผลิตทะลุ 1.15 ล้านคันไปแล้ว

"การที่ไทยสามารถผลิตรถได้เกิน 1 ล้านคันต่อปี ถือได้ว่าเราได้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกแล้ว เพราะโดยทั่วไปจะให้การยอมรับกับประเทศที่ทำได้ 1 ล้านคัน เพราะฉะนั้นในช่วง 5 ปีนี้ จึงไม่น่าจะเป็นห่วง ในการก้าวสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ยานยนต์ของไทย และเชื่อมั่นว่าในปี 2553 การผลิตรถยนต์ไทยจะทำได้ถึง 2 ล้านคัน สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งกันไว้ 1.8 ล้านคันแน่นอน"
นั่นคือความมั่นใจของรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และถึงประกาศชัดเจนว่า การก้าวสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ตลอดจนผลักดันตัวเลขการผลิตทะลุ 2 ล้านคัน ไม่จำเป็นต้องมีการพึ่งพารถยนต์ประเภทอื่นในการเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนคู่กับปิกอัพด้วย

"เป้าหมายตัวเลข 1.8 ล้านคัน ที่ตั้งไว้ในปี 2553 หรือการปรับเพิ่มเป็น 2 ล้านคัน ไม่ได้รวมถึงการที่จะมีผลิตภัณฑ์อื่น มาเป็นโปรดักต์์แชมเปี้ยนคู่กับปิกอัพอยู่แล้ว แม้แต่รถเล็กประหยัดพลังงาน หรือเอสคาร์ (ACEs Car) แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนเอสคาร์ ยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน เพียงแต่บริษัทรถยนต์ในไทยล้วนเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งต้องรับฟังนโยบายจากบริษัทแม่ การจะมีหรือไม่จึงเป็นเรื่องของความต้องการในตลาดโลก และที่สำคัญเอสคาร์ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษี การจะผลักดันหรือไม่จึงต้องพิจารณาร่วมกับอีกหลายฝ่ายว่าคุ้มหรือไม่"

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์จะสดใส เหมือนดังภาพที่สะท้อนออกมา แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงจากหลายฝ่าย รวมถึงตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เช่นกัน........

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงเห็นจะเป็นหลังจาก 5 ปีไปแล้ว เพราะคู่แข่งโดยเฉพาะประเทศจีน ย่อมมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาเช่นกัน ฉะนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องเร่งร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข็งแกร่งแบบยั่งยืนต่อไป"

พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบปัญหาการย้ายฐานการผลิตด้วย...... "ต่อไปการวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะต้องเน้นไปที่เรื่องของเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องของต้นทุนการผลิต หรือค่าจ้างแรงงานต่ำ เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิต ซึ่งได้เกิดขึ้นมาแล้วกับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ ซึ่งได้มีการย้ายจากประเทศสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย จากนั้นก็มาไทย และรอเวลาที่จะย้ายไปประเทศจีน ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่า"

สำหรับแนวทางที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนา ทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ และบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น โดยภาครัฐเองก็ต้องคอยสนับสนุนเรื่องงบประมาณมากขึ้นด้วย

"นอกจากเรื่องของการพัฒนาการผลิตรถยนต์แล้ว อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นหัวใจหลัก ของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แบบยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนทดแทน(REM) ที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดให้ไทยอีกมาก และสามารถทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนจริงๆ และภาครัฐต้องเพิ่มงบประมาณสนับสนุนเต็มที่"

ความกังวลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์หลังจาก 5 ปีทองไปแล้ว ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรง สอดคล้องกับ "วัลลภ เตียศิริ" ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่วางแผนและดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียตามแผนยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย

"3-5 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป ไทยจะประสบปัญหาการแข่งขันรุนแรง เพราะจะมีการเปิดเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี (FTA) กับหลายประเทศ รวมถึงอนาคตอันใกล้ที่จะต้องเปิดเสรีทางการค้า ตามกรอบขององค์การค้าโลก หรือ WTO เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หากจะสามารถแข่งขันได้ จำเป็นต้องมีจุดเด่นที่สามารถแข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี คุณภาพการผลิตและบุคลากรที่มีฝีมือ ไม่ใช่เป็นเพียงฐานประกอบเช่นทุกวันนี้"

ทั้งนี้ ปัจจุบันคงยังไม่เห็นปัญหามากนัก เพราะเป็นช่วงที่มีการย้ายตลาดและฐานผลิตมาไทย ซึ่งต่อไปเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อนั้นคงจะเห็นการต่อสู้ระหว่างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยกับต่างชาติชัดเจนมากขึ้น และหากไทยไม่วางแผนและกำหนดทิศทางให้ดีแล้ว หลังจาก 5 ปีไปแล้ว อาจจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือมาเลเซีย และอาจจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานผลิตในอนาคตได้

จากข้อกังวลของผู้ที่รับผิดชอบทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโดยตรง การบรรลุเป้าหมายเบื้องต้น 1 ล้านคันต่อปี และเตรียมก้าวสู่ยอดผลิต 2 ล้านคัน ภายในปี 2553 แม้จะเรื่องที่น่าปลาบปลื้ม....... แต่ทั้งหมดยังไม่ไช่คำตอบ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยั่งยืนได้ หากยังไม่เร่งวางยุทธศาสตร์ยานยนต์หลังจาก5 ปีทองผ่านไปแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.