|

ปี49อุตสาหกรรมส่งออกเนื้อไก่ยังร่อแร่
ผู้จัดการรายวัน(2 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปี 2549 อุตสาหกรรม ไก่เนื้อยังร่อแร่ เจอปัจจัยเสี่ยงรุม "สมาคมผู้ส่งออกไก่" กัดฟัน ขยายตัว 30% ยอดส่งออก 3-3.5 แสนตัน "สหฟาร์ม" ฟันธงทรงตัว ขณะที่ "เบทาโกร" คิดแง่บวกอาจส่งออกได้ถึง 4 แสนตัน แต่ต้องจับตาประเทศคู่แข่ง จากบราซิลที่จะเข้ามาแย่งตลาดอียูมากขึ้น
นพ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกไก่เนื้อปี 2549 ว่า ทางสมาคม ตั้งเป้าการส่งออกไก่เนื้อใว้ 3-3.5 แสน ตัน จากปี 2548 ที่ส่งออกได้ประมาณ 2.65 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรม ไก่เนื้อขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในปี 2549 เป็นผลมาจากสินค้าไก่ปรุงสุกของไทยเริ่มติดตลาดมากขึ้น ประกอบกับบริษัทต่างๆ ก็มีการขยาย กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการจากต่างประเทศที่มีมากขึ้น
ส่วนอุปสรรคที่สำคัญคือ การส่งออกไก่สดแช่แข็งที่ยังไม่มีสัญญาณ ที่ดีขึ้นว่าจะสามารถส่งออกได้ ซึ่งที่ผ่านมาหลังกรมปศุสัตว์เอกซเรย์ทุกรอบก็ยังเจอโรคอยู่ตลอด แต่อย่างไรก็ตาม หากต่างประเทศยอมรับในเรื่องของการผลิตแบบแยกส่วน (Compartment) ก็อาจจะทำให้มีความหวังในการส่งออกไก่สดแช่แข็งขึ้นมาบ้าง
"สหฟาร์ม" คาดทรงตัว
นายปัญญา โชติเทวัญ ประธาน กรรมการบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด อดีตผู้ส่งออกไก่สดแช่แข็งอันดับหนึ่ง ของประเทศ กล่าวว่า ในมุมของสหฟาร์มการส่งออกไก่เนื้อในปี 2549 ไม่น่าจะแตกต่างจากปี 2547 เท่าใดนัก เนื่องจาก รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหา ให้สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้
ขณะที่การส่งออกไก่ปรุงสุกนั้น ปัจจุบันทุกบริษัทก็ผลิตกันเต็มกำลังการผลิตแล้ว แต่มีปัญหาสำคัญคือสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อในการจัดซื้อเครื่องจักรเพื่อนำมาขยายการผลิต เพราะอุตสาหกรรมไก่เนื้อยัง อยู่ในอุตสาหกรรมเสี่ยงจากปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก
ส่วนความต้องการสินค้าไก่เนื้อจากไทยในตลาดสหภาพยุโรปก็ไม่น่า จะเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก หรืออาจจะลดลงด้วย จากปัญหาไก่อบเกลือจากประเทศบราซิลเข้ามาแย่งตลาด โดยถ้าเปรียบเทียบอัตราภาษีของไก่แต่ละชนิดจะพบว่า ไก่อบเกลือจากบราซิลมีอัตราภาษีต่ำมาก ประมาณ 15% ใกล้เคียงกับภาษีไก่ปรุงสุกของไทย ประมาณ 10.9% ทำให้ผู้ประกอบการจากยุโรปเลือกนำเข้าไก่อบเกลือเพื่อแปรรูปเป็นไก่ปรุงสุกในกลุ่มประเทศ ของตนเองแทน
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก รัฐบาลจะต้องจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกอย่างเต็ม ที่ ขณะเดียวกันต้องพยายามผลักดันการส่งออกไก่สดแช่แข็งให้ได้โดยเร็ว ซึ่งโอกาสก็พอมีบ้างจากการจัดทำระบบ การผลิตแยกส่วนหรือคอมพาร์ตเมนต์ ที่ทางสหภาพยุโรปก็เห็นด้วยกับการผลิตระบบดังกล่าว แต่ปัญหาคือทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
นายปัญญากล่าวทิ้งท้ายว่า การ แก้ไขปัญหาไข้หวัดนกในอนาคต สิ่งที่น่ากังวลคือหากภาครัฐตัดสินใจใช้วัคซีนไข้หวัดนก เพราะในกรณีของ ประเทศจีนก็เห็นได้ชัดว่า ทางประเทศ ญี่ปุ่นเขายกเลิกไก่จากประเทศจีนทั้งหมด ที่สำคัญญี่ปุ่นคือตลาดส่งออก ไก่ที่ใหญ่ที่สุดของไทย
"เบทาโกร"คาดขยายตัวเพิ่มขึ้น
นายนพพร วายุโชติ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่สายพัฒนาธุรกิจเครือเบทาโกร กล่าวว่า การคาดการณ์การส่งออกไก่เนื้อความคิดเห็นอาจแตก-ต่างกันบ้างเพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ในส่วนของเบทาโกรคาดว่าจะสามารถ ส่งออกได้ประมาณ 4 แสนตัน โดยจะต้องมีไก่เนื้อรองรับการผลิตประมาณ 15-16 ล้านตัวต่อสัปดาห์
สาเหตุที่ทางเบทาโกรคาดการณ์ ว่าการขยายตัวของการส่งออกจะเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าราคาไก่ปรุงสุกในตลาดโลกที่น่าจะไม่ต่ำกว่า 3,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการขยาย กำลังการผลิตมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มต่ำลง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการขยายการผลิตมากขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ นโยบายการทำการผลิตแบบแยกส่วน หรือคอมพาร์ตเมนต์ของภาครัฐยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร บริษัทที่มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าวยังน้อยอยู่ ขณะเดียวกันต้องจับตาประเทศคู่แข่ง อย่างบราซิล ที่อาจจะเข้ามาแย่งตลาด ไก่ปรุงสุกในกลุ่มอียูมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|