ภารกิจท้าทาย กทช. ปี 2549


ผู้จัดการรายวัน(30 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กว่า 1 ปีของกทช.มีผลงานเป็นรูปธรรมคือการให้ไลเซนส์ทีโอที และกสท รวมทั้งไอเอสพี ในขณะที่เอกชนต่างเฝ้ารอความหวังไลเซนส์ที่ผูกพันความถี่ไม่ว่าจะเป็นมือถือ 3G ดาวเทียมสื่อสาร รวมทั้งบริการคาบเกี่ยวอย่าง VoIP ที่มีความพยายามปลดล็อกอำนาจในการจัดสรรความถี่ในภาวะที่กสช.ยังไม่รู้อนาคต

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่าไลเซนส์โทรศัพท์มือถือ 3G เป็นความหวังของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยมองในมุมที่แตกต่างกัน อย่างเอไอเอสมีเป้าหมายชัดเจนที่จะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท ในการขยายเครือข่ายทันทีหากได้ไลเซนส์ โดยในภาพรวมเอไอเอสตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา 3 บริษัทประกอบด้วย 1. AIS Wireless Communication Networks 2.AIS Wire Network และ 3. AIS International Networks เพื่อขอไลเซนส์ต่างๆที่เห็นว่าเป็นประโยชน์เชิงธุรกิจเนื่องจากเอไอเอส มีข้อผูกพันสัญญาร่วมการงานกับบริษัท ทีโอที ทำให้การขอไลเซนส์ใหม่เป็นไปได้ยาก

ส่วนดีแทคก็พร้อมที่จะขอไลเซนส์ 3G แต่ไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูง เนื่องจากมองว่าบริการ EDGE ที่ครอบคลุม 16 จังหวัดทุกวันนี้สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดีพอสมควรแล้วส่วนกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งหลังจากทำการ synergy มากขึ้นด้วยการฮุบ UBC ด้วยการเข้าถือหุ้นเองทั้งหมด และประสานสายธุรกิจกับทีเอออเร้นจ์ใกล้ชิด เพื่อเตรียมทำบริการที่หลากหลายจากสายธุรกิจเดียวหรือที่เรียกว่า convergence service ก็ยืนยันจะจัดตั้งบริษัทใหม่อย่างแน่นอน แต่ยังขอดูความชัดเจนของเงื่อนไขไลเซนส์ที่จะออกจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก่อน ในขณะที่มอง 3G ในลักษณะจะมาช่วยเพิ่มข้อจำกัดการใช้งานด้านความถี่ เพราะมีเทคโนโลยีทางเลือกอย่าง Wi-Max ที่เป็นการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงแบบไร้สายเช่นเดียวกับ 3G

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ 3G คือองค์กรกำกับดูแลที่ต้องพิจารณาการจัดสรรความถี่ร่วมกันอย่างกสช. ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี เท่ากับทำให้การจัดสรรความถี่ต้องหยุดชะงักถึงแม้กทช.จะออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขได้ภายในกลางปี 2549 ก็ตาม และถึงแม้รัฐบาลจะมีความพยายามที่อยาก จะแก้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ขยายบทบาทกทช.ให้ทำหน้าที่บางส่วนของกสช. ไปก่อน แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะถูกค้านจากหลายฝ่ายของสังคม

"ไลเซนส์ 3G ประเด็นสำคัญคือเรื่องความถี่ หากปลดล็อกไม่ได้ ก็ยากที่จะออกไลเซนส์ได้ ซึ่งรวมไปถึงไลเซนส์ดาวเทียมสื่อสาร หรือ ไลเซนส์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความถี่ด้วย"

แหล่งข่าวกล่าวว่าหากจะคิดถึงไลเซนส์ใหม่ก็คงมีเพียง International Internet Gateway (IIG) ซึ่งปัจจุบันถูกผูกขาดโดยบริษัท กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ให้บริการรายเดียว โดยคาดว่าภายในต้นปี 2549 จะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นขอไลเซนส์ ภายหลังจากที่ กทช.มีมติอนุมัติเปิดเสรีรวมทั้งบริการ VoIP ในลักษณะพีซีทูโฟน เพราะไม่มีเรื่องความถี่มาเกี่ยวข้องซึ่งไอเอสพีเห็นว่าหากมีผู้ให้บริการ IIG หลายรายจะทำให้ต้นทุนค่าเช่าวงจรหรือแบนด์วิดท์ถูกลง ซึ่งส่งผลให้ค่าบริการถูกลงด้วย อย่างไรก็ตาม กทช.ยัง ไม่ได้กำหนดจำนวนที่เหมาะสมสำหรับไลเซนส์ IIG ขณะที่ทีโอทีจะเริ่มดำเนินการ IIG ในต้นปี 2549 เช่นกัน

"ในปี 2549 กทช.ต้องเร่งรัดในเรื่องเงื่อนไข 3G เกตเวย์ ดาวเทียมสื่อสารบริการ VoIP รวมทั้งในเรื่องค่าเชื่อมโครงข่าย ที่ต้องการทำให้เกิดขึ้นและผู้ให้บริการทุกรายเห็นชอบร่วมกันหมด"

นอกจากนี้สิ่งที่ค่ายมือถือ ต่างรอความหวังจากกทช. หนีไม่พ้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันโดยเฉพาะบริษัทมือถือที่อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงาน กสท เพราะมีต้นทุนธุรกิจสูงกว่าเอกชนที่อยู่ใต้สัญญาทีโอที เนื่องจากเอกชนคู่สัญญากสทต้องจ่ายค่าแอ็กเซสชาร์จให้กับทีโอทีด้วย นอกเหนือจากการที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กสทอันเป็นภาระปกติเช่นเดียวกับเอกชนใต้สัญญาทีโอทีต้องจ่ายให้ทีโอทีอยู่แล้ว ประมาณว่าเฉพาะดีแทคในปี 2548 จ่ายค่าแอ็กเซสชาร์จสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เอไอเอสไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้

สิ่งเหล่านี้คือภาระหนักของกทช. ถึงแม้จะเป็นที่รับรู้ว่ากทช.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสัญญาร่วมการงานเดิมได้ แต่ประเด็นสำคัญคือกทช.ต้องวางเงื่อนไขธุรกิจใหม่เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อนำไปสู่การคลายพันธการสัญญาร่วมการงานในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลงานรูปธรรมในการออกใบอนุญาตประเภท 1 บริการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง และใบอนุญาตประเภทที่ 3 คือบริการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายของตัวเองและบริการสู่สังคมในวงกว้างโดยรวมบริการอินเทอร์เน็ตด้วยนั้น ก็เป็นใบอนุญาตที่ยังไม่มีเงื่อนไขหรือไลเซนส์ เฟรมเวิร์ก ซึ่งไม่ได้ทำให้เอกชนเห็นภาพเงื่อนไขของธุรกิจสำหรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเลย

นอกจากนี้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่กทช.กำหนดไม่ว่าจะเป็นค่าใบอนุญาต 3% ของรายได้ค่า USO หรือบริการโทรคมนาคมทั่วถึง 4% ของรายได้ ก็มีข้อโต้แย้งกันอย่างมาก โดยทีโอทีออกมาร้องเป็นรายแรกว่า หากต้องจ่ายตามเงื่อนไขภาระขนาดนี้จะทำให้กำไรสุทธิต่อปีจากราว 1.2 หมื่นล้านบาท ตกลงมาเหลือราว 7 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้หุ้นของทีโอที ที่มีแผนในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดความน่าสนใจลง รวมทั้งกสทและเอกชนต่างเห็นว่าค่าธรรมเนียมที่คิดจากฐานรายได้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้รายได้ในอนาคตของกทช.สูงเกินไปจนผิดหน้าที่การเป็นองค์กรอิสระและอาจนำไปสู่การเป็นองค์กรจัดซื้อจัดจ้างเอง เพราะเงื่อนไข USO ระบุว่าหากไม่ทำ USO ก็ต้องจ่ายตามอัตรา 4%

อย่างไรก็ตาม ถือว่าท่าทีของกทช.ก็เริ่มผ่อนปรนลงมามาก โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต โดยทีโอทีสามารถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตที่ทีโอทีต้องจ่ายสำหรับโทรศัพท์มือถือ 10% และโทรศัพท์พื้นฐาน 2% มาหักลดหย่อนจากฐานรายได้บริษัท ก่อนที่จะคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ซึ่ง กทช. เรียกเก็บ 3% จากรายได้ เนื่องจาก กทช.พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน ค่าภาษีสรรพสามิตก็เป็นรายได้ที่กลับคืนสู่รัฐบาลเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่ลงทุนเพื่อกิจการสาธารณะ และอีกหลายกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เต็มจำนวนเช่นกัน

ด้านนักวิชาการอย่างอนุภาพ ถิรลาภ ก็เห็นว่าการคิดค่าธรรมเนียมจากฐานรายได้จะทำให้เอกชนผลักภาระให้ประชาชน นอกจากนี้กทช.ยังแยกประเภทไลเซนส์ผิด เพราะทำในลักษณะแยกประเภทหรือ stand alone แต่บริการใหม่ๆ ในโทรคมนาคมเป็นการเชื่อมโยง หรือconvergence กันแล้วทำให้ในอนาคตจะต้องมีไลเซนส์มากมายตามแอปพลิเคชันหรือบริการต่างๆที่จะเกิดจากการ convergence ของเทคโนโลยี

"กทช.ควรแยกไลเซนส์เป็นแค่ network license และ service license จะทำให้สามารถพิจารณาและให้ไลเซนส์ง่ายขึ้น ไม่สับสน แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ตามแอปพลิเคชันอย่าง VoIP หากเทคโนโลยีเปลี่ยนก็ต้องให้ไลเซนส์ใหม่ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องนัก"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.