|
ธปท.ส่งสัญณาณเข้มรักษาเสถียรภาพศก.
ผู้จัดการรายวัน(30 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"แบงก์ชาติ" ย้ำแนวนโยบายปี 2549 จับตาอัตราเงินเฟ้อ ส่งสัญณาณนโยบายเข้มรักษาเสถียรภาพ เผยเงินเฟ้อล่าสุดเดือน พ.ย.อยู่ที่ ระดับ 5.9% กระทรวงการคลังชี้เมกะโปรเจกต์ยังไม่นิ่ง ยันตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น ขาดดุล 0.1% เทียบ 2.3% ในปีนี้จีดีพีโต 5% เงินเฟ้อไตรมาสแรกเฉลี่ย 5.3% เชื่อดุลบัญชีฯ เดือน พ.ย.สมดุล ส่วนเศรษฐกิจโดยรวมยังดีกว่าเดือนก่อนหน้า
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงที่สุด โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 5.9% ลดลงจากเดือนตุลาคมที่อยู่ที่ระดับ 6.2% และการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้ออาจต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2549 แต่เชื่อว่าหลังจากนั้นอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง หากไม่มีสถานการณ์ที่เกินความคาดหมายมากระทบ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอยู่ โดยเฉพาะต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง ธปท.จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป
"แนวทางการดำเนินนโนบายการเงินในปีหน้า ธปท.จะยังคงให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพื่อรักษาเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยเชื่อว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงหลังผ่านจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีไปแล้ว" นายบัณฑิต กล่าว
สำหรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้น เมื่อพิจารณาดูตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมี 2 ปัจจัยหนุนมาจากแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการส่งออก ที่ยังขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคของประชาชนในประเทศที่น่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้
ทางด้านปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ถึงแม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ภาวะแวดล้อมยังมีความไม่แน่นอน ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายจุดที่ต้องระวังใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ เศรษฐกิจโลกที่อาจจะยังมีความผันผวนได้ ถึงแม้ว่าในระยะอันสั้นจะดี โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่อาจจะอยู่ในเกณฑ์ขาขึ้นในปีหน้า รวมทั้งปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้อาจจะผกผันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยและในแถบภูมิภาคอาเซียนได้
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ 2 คือการที่เศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการลงทุน แต่การลงทุนที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลให้มีการนำเข้าวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่าในปีหน้าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังมีอยู่ ซึ่ง ธปท.ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต้องดูแลด้วยความระมัดระวัง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงประการสุดท้าย คือ การลงทุนในประเทศ ซึ่งเท่าที่ติดตามดูปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มีความเอื้ออำนวยต่อการลงทุน ซึ่งปัจจัยความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศก็มีความสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและไม่ประมาทในปีหน้า
"แนวทางการดำเนินนโนบายการเงินในปีหน้า ธปท.จะยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพื่อรักษาเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยเชื่อว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงหลังผ่านจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีไปแล้ว" นายบัณฑิต กล่าว
คลังชี้เมกะโปรเจกต์ยังไม่นิ่ง
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเป็นห่วงว่าดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะขาดดุลเกินกรอบโดยมีโครงการ ลงทุนภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญว่า ขณะนี้ภาพการลงทุนเมกะโปรเจกต์ยังไม่นิ่ง ทำให้นำมาเป็นสมมติฐานในการประมาณการได้ยาก ดังนั้น สศค.จึงยืนยันประมาณการเดิม คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้จะโตได้อย่างต่ำ 4.3% และปีหน้าจะโตในระดับ 5% โดยเม็ดเงินเมกะโปรเจกต์ที่เข้าระบบในปีหน้าจะอยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาท หากไม่ลงทุนทั้งหมดก็ทำให้เสียโอกาส แต่ก็อาจจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลง
สำหรับประมาณการที่ สศค.แถลงไว้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะดีขึ้น โดยคาดว่าทั้งปีจะขาดดุลประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.1% ของจีดีพี จากปี 2548 ที่คาดว่าจะขาดดุล 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.3% ของจีดีพี เงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัวลดลงอยู่ที่ 3.5% จาก 4.5% ในปี 2548
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยอัตราการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น 375,200 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรเป็นตัวหลัก ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% ลดลงจาก 1.8% ในเดือนก่อน
ภาคการบริการโดยรวมชะลอตัวลง โดยการจ้างงานภาคการบริการเดือนพฤศจิกายน ลดลงร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นผลจากหดตัวของภาคการค้า ภาคขนส่ง และภาคการเงิน ขณะที่ภาคก่อสร้าง และภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านท่าอากาศยานกรุงเทพในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 34,007 คน เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง ได้แก่ กลุ่มตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ญี่ปุ่น และจีน ขยายตัว 41.8% 20.0% 18.5% และ 17.0% ตามลำดับ
การบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัว โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากรายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มการบริโภคในประเทศในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 5.7% ลดลงจากเดือนก่อน แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้จัดเก็บที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนจากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
การลงทุนภาคเอกชนในด้านเครื่องจักรและสินค้าทุนชะลอตัวลง ขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น โดยการลงทุนเพื่อขยายและปรับปรุงกำลังการผลิตสะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 10.7% ลดลงจาก 19.7% ในเดือนก่อน ขณะที่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพิจารณาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินจากธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 20.9% แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีทิศทางที่ทรงตัวตามแรงกดดันของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อัตราการขยายตัวของการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ขยายตัวดี โดยขยายตัว 14.5% เป็นมูลค่า 9,842 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 23.6% โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 30.2% แผงวงจรไฟฟ้าขยายตัว 32.6% เป็นผลจากช่วงขาขึ้นของอิเล็กทรอนิกส์โลก และยานยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 31.5% โดยเฉพาะรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 136.9% ขณะที่สินค้าเกษตรพบว่ามีปริมาณการส่งออกลดลงแต่ได้รับผลบวกด้านราคา ช่วยให้มูลค่าส่งออกขยายตัว 3.9%
มูลค่าการนำเข้าชะลอตัวลงต่อเนื่องกันจากเดือนก่อน และมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบปี โดยมีการนำเข้ามูลค่า 9,787 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีการขยายตัว 14.7% โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัวลดลง ได้แก่ สินค้าทุนยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ซึ่งหดตัว 30% และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่ขยายตัว 52.8% ลดลงจาก 62.7% ในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าที่เคยขยายตัวสูงทั้งเหล็กและทองคำ พบว่าขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก โดยขยายตัว 0% และ 3.4% ตามลำดับ ทั้งนี้การชะลอตัวของการนำเข้าส่งผลบวกให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุล 55.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
เงินเฟ้อขยายตัวในอัตราที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปี 2548 จากปัจจัยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลงซึ่งได้แก่ น้ำมันเบนซิน 95 และ 91 ลดลง 3 ครั้งรวม 1.30 บาท และน้ำมัน ดีเซลลดลง 3 ครั้งรวม 1.10 บาท รวมถึงสินค้าอื่นที่มีราคาลดลง ได้แก่ ไก่สด ไข่ ผักสดและผลไม้ โดยอัตราเงินเฟ้อขยายตัว 5.9% ต่อปีในเดือนพฤศจิกายน ลดลงจาก 6.2% ต่อปีในเดือน ตุลาคม ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานขยายตัว 2.4% ต่อปี คงที่จากเดือนก่อน
ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนตุลาคมเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แต่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนพฤศจิกายนจะอยู่ในระดับที่สมดุล เนื่องจากดุลการค้าตามระบบศุลกากรเกินดุลเล็กน้อย ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมการนำเข้าเครื่องบิน ขณะที่ภาคบริการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยเฉพาะภาคท่อง เที่ยวที่อยู่ในช่วง High Season สำหรับทุน สำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 50.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 5.2 เดือนของมูลค่าการนำเข้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|