|
แผนแม่บทตลาดทุนเน้น 7 จุด "ก้องเกียรติ" ทำเฮียริ่งม.ค.49
ผู้จัดการรายวัน(29 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ก้องเกียรติ" เปิดร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับ 2 หลัง "ทนง" ขุนคลังไฟเขียวในหลักการ เตรียมส่งให้ปลัดกระทรวงการคลังตรวจทานปรับปรุงแก้ไขก่อนทำเฮียริ่งกลางเดือน ม.ค.ปีหน้า เน้น 7 เรื่องหลัก เพิ่มนักลงทุนสถาบันในตลาดทุนเป้าหมาย 5 ปี 40%, สร้างนักลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้, เพิ่มความแข็งแกร่งผู้เกี่ยวข้องตลาดทุน "บจ.-บล.-บลจ.", ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัย
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทยตลาดทุนไทย ได้ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" ถึงร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2549-2553 ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2548 สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะนำร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับดังกล่าวให้แก่นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ปรับปรุงและแก้ไขอีกครั้ง ก่อนจะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงประมาณกลางเดือนมกราคม ปี 2549
นายก้องเกียรติกล่าวต่อไปว่า สำหรับรายละเอียดในร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 แบ่งการพัฒนาออกเป็น 7 เรื่องประกอบด้วย ประการแรก การเร่งสร้างนักลงทุนสถาบันให้มีสัดส่วนที่มากขึ้นในตลาดทุน โดยปัจจุบันสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันอยู่ที่ประมาณ 25% โดยตั้งเป้าจะเพิ่มให้เป็น 40% ใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 75% จะลดลงเหลือประมาณ 60%
ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียน สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น และจะเป็นเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ พี/อี เรโช ตลาดทุนไทยสามารถปรับขึ้นได้ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันจะลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นและพี/อีของหุ้นแต่ละกลุ่มหรือบริษัทสามารถปรับขึ้นได้ตามพื้นฐานที่แท้จริง ขณะที่นักลงทุนไทยมักจะลงทุนในหุ้นที่พี/อีอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว
ประการที่สอง การเร่งสร้างนักลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนสถาบันเป็นกลุ่มหลักที่ซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมาตรการในการเพิ่มจำนวนนักลงทุนรายย่อยอาจจะต้องมีการเพิ่มกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อ ให้สอดคล้องกับตลาดรองมากขึ้น เช่นในประเทศจีนเปิดโอกาสให้ตราสารหนี้สามารถเปลี่ยนมือกันได้โดยไม่มีการเก็บภาษีส่วนต่าง
นอกจากนี้ ตลาดทุนควรจะเข้าไปมีบทบาทกับเศรษฐกิจมากขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 67% เป็น100% ในอนาคต ขณะที่ตราสารหนี้จากระดับ 48% เป็น 80% ของจีดีพีประเทศ
ประการที่สาม นวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น ตลาดอนุพันธ์ ที่จะเปิดให้มีการซื้อขายครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายน 2549 โดยธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในขาลง หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต
ประการที่สี่ การเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ ในอนาคตภายหลังมีการเปิดการค้าเสรีทางการเงินขึ้น โดยอาจจะต้องมีการเพิ่มทุน ควบรวมกิจการ หรือระดมทุน เป็นต้น
ประการที่ห้า การสนับสนุนบรรษัทภิบาลให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.), บริษัทหลักทรัพย์ (บล.), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มากขึ้น โดยอาจจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือกฎเกณฑ์ในเรื่องต่างๆ เช่น กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจะต้องผ่านการอบรมทดสอบกับมาตรฐานบรรษัทภิบาล
ประการที่หก การขยายความรู้ ความเข้าใจในการลงทุนที่ถูกต้องกับนักลงทุนในต่างจังหวัดมากขึ้น แม้ว่าจุดศูนย์รวมของการลงทุนจะกระจุกตัวในกรุงเทพฯและจังหวัดขนาดใหญ่เป็นหลัก
ประการที่เจ็ด การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งจะต้องมีการหารือและประสานงานในการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยน แปลงกฎเกณฑ์กฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดทุนยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาตลาดทุนไทย จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่ายงานทุกฝ่ายเพื่อประสานการทำงานให้สอดคล้องกัน
สำหรับเป้าการเพิ่มมูลค่าตลาดรวมของตลาดทุนไทยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลังได้มอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล โดยตั้งเป้ามาร์เกตแคปไว้ที่ 10 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลา 5 ปี หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากปัจจุบันอยู่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|