|
สื่อการเรียนการสอน Tsunami
โดย
มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ขอสวัสดีปีใหม่ด้วยการรำลึกถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนนับแสนชีวิตไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หนึ่งปีผ่านไป หลายหน่วยงานหลายกลุ่มองค์กรทั่วโลกต่างตื่นตัวกับมหันตภัยธรรมชาตินี้กันอย่างถ้วนหน้า... สำหรับอเมริกา โทรทัศน์เป็นอีกสื่อหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกฝังเยาวชนให้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ และความเป็นไปของธรรมชาติที่มีทั้งคุณและโทษนานัปการ
NOVA เป็นรายการสารคดีทางวิทยาศาสตร์ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ PBS มานานกว่า 20 ปี ได้ผลิตรายการและเว็บไซต์สื่อการสอนว่าด้วยเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ 1 ขวบปีที่ผ่านมา ชื่อว่า "Wave That Shook the world" หรือ "คลื่นเขย่าโลก" โดยรวบรวมภาพเหตุการณ์และคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของการเกิดสึนามิในครั้งนั้น มีการทำแอนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์จริงพร้อมคำสัมภาษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ศูนย์เตือนภัยสึนามิ ในคาบสมุทรแปซิฟิกที่ฮาวาย และคำสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากคลื่นมรณะ นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงผลกระทบของการขาดระบบการเตือนภัยและการศึกษาที่ยังมีเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับสึนามิ
เว็บไซต์คลื่นเขย่าโลกเป็นสื่อหนึ่งที่พยายามแสดงให้เยาวชนในอเมริกาเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติชนิดนี้ที่สามารถเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรโลกจำนวนถึง 25% ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งที่มีความเสี่ยงสูง โดยยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือเท่าที่ควรเลย หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากผู้บริหารของประเทศที่จะเพิ่มงบประมาณในการเตรียมความพร้อมในพื้นที่นั้นๆ เช่น หากภูเขาไฟ Cumbre Vieja ในหมู่เกาะ Canary ของสเปนเกิดระเบิดขึ้นในระดับที่รุนแรงมาก ความเสี่ยงในการเกิดสึนามิก็เป็นไปได้สูง และพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนคือ ชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา และตอนเหนือของแอฟริกา...
ภายในเว็บไซต์บรรจุคู่มือการสอนสำหรับเด็กตั้งแต่ระดับเกรด 5 ขึ้นไป โดยเริ่มตั้งแต่กิจกรรมก่อนชมรายการไปจนถึงหลังชมรายการแล้ว ซึ่งก่อนชมรายการครูเริ่มปูพื้นฐานความรู้ให้กับนักเรียนด้วยการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเรียนว่า สึนามิคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร จากนั้นมีการอธิบายถึงความหมายของคำศัพท์ที่นักเรียนจะต้องทำความคุ้นเคย เพื่อความเข้าใจในการชม เช่น คำว่า Epicenter ที่หมายถึงพื้นดินที่อยู่เหนือจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว เป็นต้น และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ใช้แผนที่โลกแสดงให้เห็นจุดที่เกิดเหตุการณ์นี้ นอกจากนี้ วาดตารางแสดงการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคลื่นที่เกิดจากแรงลมธรรมดา กับคลื่นที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ภูเขาไฟระเบิดทั้งบนบกและในน้ำ หรือแผ่นดินถล่มลงในมหาสมุทร ต่อไปแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อทำกิจกรรม "Tsunami Quest" โดยแต่ละกลุ่มมีหน้าที่ค้นหาข้อมูลตามบทบาทที่ได้รับแตกต่างกันไป คือ กลุ่มแรกรับผิดชอบเรื่องทางกายภาพของสึนามิ กลุ่มที่สองรับผิดชอบเรื่องความตระหนักและความปลอดภัย กลุ่มที่สามรับผิดชอบเรื่องสถานที่ที่เกิดสึนามิ และกลุ่มสุดท้ายดูแลเรื่องผลกระทบต่อชีวิต โดยนักเรียนในแต่ละกลุ่มต้องตั้งคำถามและเก็บบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ตนรับผิดชอบ เพื่อมาอภิปรายหลังจากชมรายการจบแล้ว รวมทั้งนักเรียนควรตอบคำถามต่อไปนี้ได้ เช่น คุณลักษณะใดของคลื่นสึนามิที่ทำให้เกิดความสูญเสียแบบทำลายล้างได้ ซึ่งคำตอบก็ต้องเกี่ยวกับขนาดและความแรงเร็วของคลื่นและความสั่นสะเทือน อีกคำถามคือ ลักษณะของความแตกต่างของชายฝั่งทำให้ระดับความเสียหายไม่เท่ากันได้อย่างไร คำตอบคือ พื้นที่ริมฝั่งที่เป็นลักษณะผาชัน จะมีโอกาสเสียหายน้อยกว่าริมฝั่งที่มีลักษณะเปิด เพราะน้ำที่ไหลทะลักเข้ามาจะเบาแรงลงก็ต่อเมื่อกระทบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หน้าผาก็เปรียบเสมือนกำแพงกั้นน้ำ ส่วนโรงแรม สิ่งก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่เปิดไม่สามารถกั้นความแรงของน้ำได้จึงก่อให้เกิดความสูญเสียมากกว่า และที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่คนรวมตัวอยู่กันมากที่สุด อีกคำถามที่สำคัญคือ ระบบการเตือนภัยสามารถแสดงบทบาทสำคัญในเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร คำตอบก็คือสามารถ ลดจำนวนการสูญเสียชีวิตได้...
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาบางส่วนเท่านั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยสามารถรับชมรายการนี้ได้หรือไม่ (รายการทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ และมีข้อแม้ว่าต้องใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น) หากสถาบันการศึกษาใดต้องการสั่งซื้อดีวีดีชุดนี้ สามารถอีเมลติดต่อโดยตรงได้ที่ wgbh@ordering.com หรือโทรศัพท์ติดต่อที่เบอร์โทร 888-255-9231 เบอร์แฟกซ์ 802-864-9846 ใครที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ก็สามารถชมออนไลน์ได้สบายๆ แต่ต้องคอยเช็กตารางการออกอากาศว่าจะมีอีกเมื่อไร หรืออาจเลือกชมรายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เรื่องอื่นก็ได้ ถือเป็นแหล่งอาหารสมองที่ไม่ต้องลงทุน แต่ได้ผลตอบแทนสูง
บทเรียนครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพงที่ธรรมชาติลงมือสั่งสอนเอง มนุษย์ผู้อยู่กับธรรมชาติมีหน้าที่ต้องทำความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติ และเตรียมพร้อมรับมืออย่างมีสติ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินไป หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
แด่...ผู้สูญเสียและผู้ที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิทุกท่าน
ข้อมูลจาก : http://www.pbs.org/wgbh/nova/tsunami/
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|