|

แอบมองระบบการศึกษาของสเปน
โดย
ธนิต แก้วสม
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ระดับการพัฒนาประเทศกับระบบการศึกษาของประเทศ น่าจะเป็นสองสิ่งที่ควรไปคู่กัน นั่นก็คือ หากเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ควรจะมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูง สำหรับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ดูเผินๆ เหมือนว่าทุกประเทศจะมีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่อยู่ในระดับเดียวกัน อาจเป็นเพราะภาพของความเป็น "สหภาพ" ทำให้มองเป็นเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละประเทศยังมีระบบการศึกษาที่แตกต่างกันอยู่มาก ความแตกต่างนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของโครงสร้าง หากแต่เป็นความต่างกัน ในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ ข้อเขียนนี้มีข้อมูลยืนยัน ตามที่ปรากฏในรายงานของยูเนสโก้ เกี่ยวกับดัชนีการพัฒนาด้านการศึกษาประจำปี 2004 ของทุกประเทศทั่วโลก (ดีที่สุดจะได้อันดับหนึ่ง) พบว่าอันดับของประเทศในยุโรปนั้นกระจายพอสมควร ไม่ได้อยู่เกาะกลุ่มกัน อาทิ เบลเยียม อันดับ 8 อังกฤษ อันดับ 13 อิตาลี อันดับ 18 สวีเดน อันดับ 14 นอร์เวย์อันดับ 1 ฮอลแลนด์อันดับ 3 กรีก อันดับ 21 สเปนอันดับ 26 โปรตุเกส อันดับ 34
เห็นข้อมูลแล้วก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไม ตัวเลขมันถึงต่างกันขนาดนั้น หรือว่าข้อมูลนี้ขาดความถูกต้องเชื่อถือไม่ได้อย่างนั้นหรือ ประเด็นนี้ก็ถือว่ายกเครดิตให้กับยูเนสโก้ จึง ขอข้ามไปก่อน แล้วลองมาดูตามสภาพที่เป็นจริง จากข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ไปค้นคว้ามาก็พบว่ามีความต่างกันจริงๆ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาพื้นฐานและจำนวนงบประมาณที่รัฐบาลแต่ละประเทศทุ่มให้กับการศึกษา ส่วนในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากเนื่อง จากว่ามีความพยายามและมีความร่วมมือที่ปรับให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาโดยตลอด อีกทั้งระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางวัฒนธรรมประเพณี และค่านิยมของแต่ละประเทศอยู่มาก
กลับมาดูที่ประเทศสเปน เห็นดัชนีตัวเลขแล้วน่าตกใจพอสมควร ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการศึกษาได้ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้มีอันดับต่ำขนาดนั้นเป็นเพราะระดับความล้มเหลวในการศึกษา หรือที่เรียกว่า Fracaso escolar ในสังคมสเปนนั้นมีสูงมาก 1 ใน 4 ของเด็กสเปนประสบปัญหานี้ คือเรียนไม่ได้ ไม่อยากเรียน สอบตกซ้ำซาก ทำให้เรียนไม่จบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ ส่วนปัจจัยอื่นก็เป็นเรื่องของจำนวนนักเรียนต่อห้องมากเกินไป ครูไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ใส่ใจการสอน สื่อการสอนไม่เพียงพอ ฯลฯ
แต่สำหรับ Marta Eugenia หนึ่งในนักเรียนอัจฉริยะหรือเรียกกันว่า Super dotado ที่เพิ่งเขียนหนังสือ Stop fracaso escolar เธอบอกว่าปัญหาความล้มเหลวทางการศึกษานั้นไม่ได้เป็นเพราะเด็กสเปนไม่ฉลาด แต่เป็นเพราะระบบการเรียนไม่เอื้อให้กับเด็กฉลาด เช่น หากชอบแสดงความคิดสร้างสรรค์ ก็จะถูกหาว่าทำตัวโอเวอร์เกินหน้าคนอื่น หรือหากทำตัวอยากรู้อยากเห็นมากๆ ก็จะโดนกล่าวหาว่าเป็นโรคประสาท ทำให้ตัวเธอเองรู้สึกเบื่อ บางที ก็อยากจะสอบให้ตกทุกวิชา เธอก็เลยตัดสินใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี จนในปัจจุบันเธอได้ทำงานวิจัยในโครงการ Spientec (www.spientec.com) เป็นโครงการค้นหาวิธีการการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ (ในสเปนจะรู้จักกันในชื่อ superdotados สำหรับเด็กที่มีไอคิวสูงกว่า 130 ในปัจจุบันแต่ละโรงเรียนจะหาวิธีคัดเด็กเหล่านี้ออกมาเพื่อให้การศึกษาแบบพิเศษเฉพาะ)
ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ปัญหา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้นจากที่เคยได้สัมผัสมาโดยตรงถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเลยทีเดียว ในด้านโอกาสทางการศึกษา เปิดกว้างมาก ถ้าอยากเรียนและมี "ปัญญา ที่จะเรียน" ก็จะสามารถเรียนได้ไปถึงระดับ สูงสุด เพราะทุนการศึกษาที่นี่จะมีลักษณะสองแบบคือทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษา และ ทุนเรียนดี นั่นก็คือ หากนักศึกษาคนใดรายได้ของครอบครัวไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด (วัดจากใบเสียภาษี) ก็จะได้เรียนฟรีทุกคน ส่วนคนเรียนเก่งก็จะมีทุนให้อีกแบบหนึ่ง ในด้านสถานที่เรียน ทั่วประเทศมีมากกว่า 70 มหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในเมืองหลวง เพราะมาตรฐานของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้นใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดมีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัย หรือ Seneca ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยอื่นได้ในประเทศ แห่งละหนึ่งเทอมหรือสองเทอมแถมยังมีเงินสนับสนุนให้ด้วย ในด้านความยืดหยุ่น คือเปิดโอกาสการศึกษาให้กับทุกวัย ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับที่นี่หากจะมีเพื่อนร่วมชั้นวัยสี่สิบหรือห้าสิบปี และยังไม่มีการยึดติดเรื่องของเวลา ใครสะดวกจะจบเมื่อไหร่ก็ไม่มีปัญหาเรียนไปได้เรื่อยๆ
แต่ปัญหาใหญ่ของนักศึกษาสเปนคือ ความอ่อนแอในภาษาต่างประเทศ คำว่าภาษาต่างประเทศนี้หมายเอาภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะภาษาอื่น อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือโปรตุเกส นักศึกษาสเปนจะเชี่ยวชาญอยู่มาก แต่ภาษาอังกฤษเป็นปัญหาอยู่มาก ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤติก็ว่าได้
ภาษาอังกฤษนับเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ที่ทำให้นักศึกษาและมหาวิทยาลัยของสเปนไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระดับแนวหน้าของโลกได้
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้กำลังได้รับการแก้ไขแล้วโดยโครงการ European Higher Education Area ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำการปรับโครงสร้างการศึกษาและโครงสร้างหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาของทุกประเทศในยุโรปให้เหมือนกันหมด เพื่อจะให้ยุโรปมีพื้นที่การศึกษาเป็นหนึ่งเดียวที่มีมาตรฐานและคุณภาพเท่าเทียม กัน และให้เป็นโซนการศึกษาที่ทั้งนักศึกษา ครูอาจารย์หรือนักวิจัย สามารถโยกย้ายการเรียนการสอนได้อย่างอิสระ ชอบประเทศไหนก็ไปเรียนที่นั่น แน่นอนที่สุดโครงการนี้นอกจะเอื้อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือทางวิชาการแล้ว การฝึกทักษะภาษาต่างประเทศก็จะเป็นแบบก้าวกระโดด โครงการนี้มีกำหนดเริ่มดำเนินการในปี 2006 นั้นก็หมายความว่าภายใน 5-7 ปีต่อจากนั้น นักศึกษาในยุโรปส่วนใหญ่ก็จะมีความชำนาญภาษาต่างประเทศอย่างน้อยสองถึงสามภาษา
จะเห็นได้ว่าปัญหาของระบบการศึกษาที่เป็นปัญหาหนักและเป็นปัญหาหลัก นั้นอยู่ที่ระบบการศึกษาด้านพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีปัจจัยเรื่องของสังคม ค่านิยม หรือธรรมเนียมปฏิบัติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นโจทย์ที่แต่ละประเทศต้องหาสูตรที่เหมาะสมให้กับสังคมนั้นๆ ลอกเลียนแบบกันได้ยาก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|