|

Quake data : fake data
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
อุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างอาคารของญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งใหญ่ เป็นความท้าทายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานความปลอดภัย และบทบาทความรับผิดชอบของสถาปนิก ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบด้วย
เหตุอื้อฉาวครั้งใหญ่ในวงการออกแบบก่อสร้างของญี่ปุ่น เปิดเผยขึ้นพร้อมๆ กับชื่อของ Hidetsugu Aneha สถาปนิกใบอนุญาตประเภทชั้นที่หนึ่ง (first-class architect license) ซึ่งก่อนหน้านี้ Aneha อาจเป็นเพียงสถาปนิกหนึ่งในจำนวนหลายแสนคนของญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโดดเด่นหรือได้รับความสนใจจากสังคมเท่าใดนัก
แต่เรื่องราวความเป็นไปของ Hidetsugu Aneha ในวันนี้กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแวดวงการออกแบบและการก่อสร้างของญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ภายใต้เหตุที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง ข้อกำหนดทางกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคาร (Building Standard Law) ได้ระบุให้การก่อสร้างอาคารแต่ละแห่งจะต้องสามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ที่มีความรุนแรงระดับ 6 หรือมากกว่าตามมาตราวัดแบบญี่ปุ่น (Japan Meteorolo-gical Agency's scale of 7)
ขณะที่อาคารโรงแรม คอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ รวมกว่า 21 แห่งที่ Hidet-sugu Aneha เป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง กลับมีระดับความปลอดภัยต่ำกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จนไม่สามารถทนทานต่อแรงดังกล่าวได้ และพร้อมที่จะล้มทลายลงมาได้ หากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง เพียงในระดับที่ 5 หรือต่ำกว่าด้วยซ้ำ
กรณีดังกล่าวส่งผลให้กลไกการตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างอาคารของญี่ปุ่น ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง และเกี่ยวข้องกับมาตรฐานใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปนิกอีกด้วย
เนื่องจากการเป็นสถาปนิกในประเทศญี่ปุ่น จะต้องสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท (First-class, Second-class และ Traditional wooden house design) โดยผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับชาติให้ได้รับใบอนุญาต สถาปนิกประเภทชั้นที่หนึ่งเท่านั้น ที่สามารถ ดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างอาคารได้ในทุกมิติและทุกประเภท
ข้อกำหนดในเชิงทฤษฎีดังกล่าว ส่งผลให้เกิดเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้สถาปนิก first-class license บางส่วนรวบงานทั้งการออกแบบสถาปัตย์ (Architectural design) การออกแบบโครงสร้าง (Structural design) การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร (Equipment design) และการควบคุมการก่อสร้าง (Construction supervision) ไว้ทั้งหมด ซึ่งย่อมเป็นไปได้ยากที่สถาปนิกรายใดจะมีความชำนาญการในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องนี้
ยังไม่นับรวมการคำนวณข้อมูลตัวเลข เพื่อหาค่าความต้าน ทานต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดิน ไหว (quake-resistance data calculation) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญก่อนการออกแบบก่อสร้างอาคารใดๆ ในญี่ปุ่นด้วย
กระนั้นก็ดี งานที่สถาปนิก ในวงการออกแบบและก่อสร้างส่วนใหญ่ให้ความสนใจอยู่ที่การออกแบบสถาปัตย์ เพราะนอกจาก จะเป็นงานที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับสถาปนิกผู้ออกแบบแล้ว architectural designer ยังเป็นประหนึ่งผู้รับเหมางานโดยรวม ที่จะเป็นผู้รับเงินค่าจ้างทั้งหมดจากเจ้าของโครงการ ก่อนที่จะถ่ายโอน ทั้งเงินและงานไปสู่สถาปนิกผู้ชำนาญการในแต่ละด้านในฐานะ sub-contracted architect ต่อไป
Hidetsugu Aneha (48 : born 10 June 1957, Osato, Miyagi) เข้าสู่แวดวงการก่อสร้างด้วยการเริ่มงานกับบริษัทรับเหมา ก่อสร้างขนาดกลางในกรุงโตเกียว หลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอุตสาหกรรมในจังหวัด Miyagi ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดโดย Aneha ได้เรียนรู้วิธีการออกแบบก่อสร้างจากบริษัทดังกล่าว ก่อนที่จะได้รับใบ อนุญาตสถาปนิกประเภทชั้นที่สอง (second- class architect license) หลังจากร่วมงานกับบริษัทแห่งนี้ได้ไม่นาน
ในปี 1988 ด้วยวัยเพียง 31 ปี Aneha เริ่มธุรกิจออกแบบและก่อสร้างของเขาเองภายใต้ชื่อ Aneha Architect Design พร้อม กับการสอบผ่านได้รับใบอนุญาตสถาปนิกประเภทที่หนึ่งในเวลาต่อมา ซึ่งตลอดระยะเวลา 17 ปี หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตชั้นที่หนึ่ง Aneha ได้ออกแบบโครงสร้างอาคารต่างๆ รวมมากถึงเกือบ 400 แห่งหรือเฉลี่ยปีละกว่า 20 อาคาร
เป็นจำนวนอาคารที่ไม่น่าเชื่อว่าสถาปนิกรายใดจะสามารถแบกรับภาระงานออกแบบอาคารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ได้มากกว่า 10 แห่งต่อปีเช่นนี้ แต่สาเหตุที่ทำให้ Aneha มีชื่อเสียงและได้รับงานออกแบบโครงสร้างอาคารเข้ามาอย่างมากมายนี้ อยู่ที่ความสามารถในการออกแบบโครงสร้างอาคารที่เรียบง่าย และมีต้นทุนการก่อสร้างต่ำ ท่ามกลางภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ยาวนาน ควบคู่กับความตกต่ำของธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
ชื่อเสียงของ Aneha ในการเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างที่สามารถลดต้นทุนการก่อสร้าง อาจจะโจษขานกันอยู่เฉพาะในแวดวงการก่อสร้าง และ Aneha อาจได้รับโอกาสให้ออกแบบโครงสร้าง อาคารอีกนับไม่ถ้วน หากข้อมูลการปลอมแปลงเอกสารการอนุมัติ การก่อสร้างและใบรับรองความปลอดภัยด้านโครงสร้างของอาคาร ที่ Aneha สร้างขึ้นไม่ถูกเปิดเผย ออกมา
ข้อมูลเท็จ (fake data) เกี่ยวกับความต้านทานแรงแผ่นดิน ไหว (quake data) ที่ Aneha นำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำให้อาคารเหล่านี้สามารถลดจำนวนวัสดุและต้นทุนในการก่อสร้างได้อย่างง่ายดาย
เรื่องราวแห่งความน่าละอายดังกล่าว ถูกค้นพบและกลายเป็นประเด็นสาธารณะอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ eHomes Inc. บริษัทเอกชนซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์กรท้องถิ่นของรัฐ ในการเป็นผู้ตรวจสอบและให้การรับรองการก่อสร้าง ได้ตรวจสอบข้อมูล ภายใน (in-house inspection) และพบว่าเอกสารที่ Aneha ยื่นขอใบรับรองการก่อสร้าง อาคารในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ถึงตุลาคม 2005 หลายอาคารเป็นเอกสารปลอม
อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า Aneha เริ่มปลอมแปลงเอกสารรับรองความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อใด แต่จากข้อมูลที่ปรากฏในปัจจุบันการปลอมเอกสารอาจย้อนไปได้ไกลถึงปี 1998 เมื่อภาคเอกชนได้รับสิทธิในการออกใบรับรอง การก่อสร้าง หลังจากที่กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร (Building Standard Law) ได้รับการปรับปรุงแก้ไขในปี 1998 จากผลของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ Great Hanshin Earthquake ในปี 1995
กรณีการบิดเบือนข้อมูลการก่อสร้างของ Aneha จึงมิได้เป็นเพียงเรื่องราวของสถาปนิกเท่านั้น หากยังเป็นกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการออกแบบก่อสร้างของญี่ปุ่นทั้งระบบ รวมถึงระบบการตรวจสอบและมาตรการความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากในสังคมอีกด้วย
แม้ว่าอาคารที่ Aneha ออกแบบโครงสร้างภายใต้ข้อมูลเท็จเหล่านี้จะยังไม่มีแห่งใดต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายอย่างฉับพลัน แต่อาคารที่สร้างผิดมาตรฐานเหล่านี้ย่อมอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเกินกว่าจะปล่อยให้มีการเข้าใช้ประโยชน์ได้
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอมาตรการเพื่อจัดการกับอาคารที่มีปัญหาการใช้ข้อมูลเท็จในการก่อสร้าง ด้วยการทุบทำลายอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ก่อนที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิม พร้อมกับให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้พักอาศัย สำหรับการหาที่พัก ชั่วคราวระหว่างรอคอยการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่า อาจจะต้องใช้เงินงบประมาณฉุกเฉินเป็นจำนวนมากถึง 8 พันล้านเยน และถือเป็น มาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างรอบด้านที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกเหนือจากกรณีของผู้ประสบวิบัติภัยทางธรรมชาติ
มาตรการดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้พักอาศัยในอาคารดังกล่าวแล้ว ยังอาจเป็นภัยต่ออาคารและผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งย่อมไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าว ในด้านหนึ่งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากผู้พักอาศัยที่ตกเป็น "เหยื่อ" ของความฉ้อฉล แต่สำหรับบริษัทผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับชั้น ที่นอกจากจะต้องเผชิญกับมาตรการทางกฎหมายแล้ว มูลค่าการลงทุนที่ต้องเสียไปกับอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานและเงินที่ต้องชดใช้คืนให้แก่รัฐบาล อาจทำให้บริษัทเหล่านี้ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก โดยบางบริษัทอาจถึงกับล้มละลายได้เลยทีเดียว
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการของรัฐสภา ญี่ปุ่น ได้ออกหมายเรียกหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำ เพื่อสอบสวนข้อเท็จ จริงของเหตุอื้อฉาวครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง และกำลังนำไปสู่การขยายผลสำหรับการปราบปรามและจัดระเบียบธุรกิจอุตสาหกรรมการออกแบบก่อสร้างทั้งระบบ
ขณะเดียวกัน ท่าทีของกระทรวงที่ดิน โยธาธิการและขนส่ง (Ministry of Land, Infrastructure and Transport : MLIT) ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอยู่เป็น ระยะ จากเหตุที่ปรากฏว่าโครงการก่อสร้าง ของรัฐหลากหลายโครงการมีการฉ้อฉลและเอื้อประโยชน์ภายในกลุ่มเอกชน ผู้เข้าร่วม ประมูลโครงการ (bid rigging) พยายามที่จะ ดำเนินมาตรการเพื่อเรียกศรัทธาของสังคม คืนจากเหตุอื้อฉาวครั้งนี้อย่างเร่งด่วน
MLIT ได้ยื่นฟ้องเพื่อดำเนินคดีกับAneha ในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร พร้อมกับเพิกถอนใบอนุญาตสถาปนิกของ Aneha เกือบจะโดยทันทีที่กรณีดังกล่าวเปิดเผยสู่สาธารณะ
ก่อนที่ MLIT จะเสนอแผนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้ใบอนุญาตสถาปนิก first-class license ให้มีลักษณะของการเป็นผู้ชำนาญการแต่ละด้านแทนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์แบบครอบคลุมทุกมิติดังเช่นที่ผ่านมารวมทั้งการศึกษาเพื่อยกเลิกระบบใบอนุญาตตลอดชีพ (lifelong license) แต่จะใช้ระบบระบุช่วงเวลาในการทดสอบองค์ความรู้ เพื่อการต่ออายุใบอนุญาตในอนาคต
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว แม้จะเป็นสะท้อนความฉับไวในการตอบสนองต่อปัญหา ของหน่วยงานรัฐ แต่นั่นอาจเป็นเพียงมาตรการ เชิงรับ เพื่อดูดซับปัญหาที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันให้กับสังคมได้ และกำลังสะท้อน ภาพความด้อยประสิทธิภาพของกลไกรัฐในการควบคุมและอำนวยประโยชน์สุขให้กับประชาชนในช่วงที่ผ่านมาอย่างเด่นชัดด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรณีดังกล่าวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า กว่าร้อยละ 93 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่าเหตุอื้อฉาวครั้งนี้เป็นเพียง tip of iceberg ของความฉ้อฉลในวงการก่อสร้างที่รอคอยการเปิดเผยออกมาเท่านั้น
ภาวะเสื่อมศรัทธาในความเป็นมืออาชีพและผู้ชำนาญการของภาคเอกชนในวงการออกแบบและก่อสร้างของญี่ปุ่นครั้งนี้ อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยครั้งใหม่ ซึ่งมีต้นทุนทางสังคมที่ต้องจ่ายมากกว่าการคิดคำนวณตัวเลขผลประกอบการอย่างเทียบไม่ได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|