|

เมื่อชาวจีนเริ่มถวิลหา 'ดัชนีความสุข'
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เงินใช่ว่าจะบันดาลอะไรได้ทุกสิ่ง แต่ถ้าไม่มีเงินอะไรๆ ก็ทำไม่ได้
Chinese saying
ในข่าวภาคค่ำของวันหนึ่ง กลางเดือนสุดท้ายของปี 2548 โทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนรายงานว่า บัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) ประมาณการไว้ว่าในปี 2549 (ค.ศ. 2006) นี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจะชะลอตัวลง เหลือราวร้อยละ 9 เท่านั้น!
หากเป็นบ้านเรา เศรษฐกิจเติบโตปีละร้อยละ 9 รัฐบาลคงได้ทีตีฆ้องร้องป่าวประกาศความสำเร็จในการบริหารประเทศไปได้อีกหลายสมัย แต่สำหรับประเทศจีนแล้วกลับมิใช่เช่นนั้น
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา หากคำนวณแล้วโดยเฉลี่ยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้น สูงถึงร้อยละ 9.3 ต่อปีรวมแล้วก็เป็นเวลาถึง 20 กว่าปี
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ แม้ในทางหนึ่งจะนำพาความร่ำรวย สะดวกสบาย ความก้าว หน้าทางเทคโนโลยีมาสู่ชีวิตชาวจีนอย่างมากมาย แต่ในอีกทางหนึ่ง ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นนี้ก็ซุกซ่อนไว้ด้วยปัญหา มากมายด้วยเช่นกัน
ปัญหาที่ดูจะน่าหนักอกที่สุด ณ ปัจจุบันของสังคมจีนก็คือ ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีน มีปรากฏ การณ์หลายประการที่บ่งชี้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาวะมลพิษในอากาศที่เมืองใหญ่ๆ ของจีน ต่างต้องแข่งขันกันอยู่ทุกสัปดาห์ว่า อากาศของเมืองใครสะอาดกว่ากัน อากาศแปรปรวน น้ำเสีย ขยะมูลฝอย ฯลฯ
ส่วนปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น ตามรายงานการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติประจำปี 2548 ระบุว่า ปัจจุบันค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ของประเทศจีนนั้น อยู่ที่ระดับ 0.447 (ตัวเลขยิ่งมากยิ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะการกระจายรายได้ของประเทศนั้นๆ ไม่เท่าเทียมกันมาก ขณะที่ตัวเลขของไทยนั้นอยู่ที่ 0.432) ตัวเลขดังกล่าวส่งให้นักวิชาการและสื่อมวลชนของจีนเริ่มตระหนักว่า หากเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ของประชากร จะนำไปสู่สภาวะไร้เสถียรภาพ ของสังคมในที่สุด
ปัญหาที่เกิดจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ยิ่งถูกตอกย้ำโดยศาสตราจารย์ Ruut Veenhoven นักวิชาการด้านจิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Erasmus ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ศึกษาถึงสภาวะความสุข ของประชาชนในประเทศจีนผ่านดัชนีที่เรียกว่า ดัชนีความสุขแห่งชาติ (Gross National Happiness : GNH)
ผลการศึกษาของศาสตราจารย์ Ruut Veenhoven ชี้ให้เห็นว่า จากตัวเลขเต็ม 10 ดัชนีความสุขของชาวจีนในปี 2533 (ค.ศ.1990) นั้นอยู่ที่ 6.64 ต่อมาอีก 5 ปี ในปี 2538 (ค.ศ. 1995) ดัชนีความสุขของชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็น 7.08 อย่างไรก็ตามเมื่อก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ปี 2544 (ค.ศ.2001) ดัชนีความสุขของชาวจีนกลับลดลงเหลือเพียง 6.60 ต่ำกว่าเมื่อปี 2533 เสียอีก
ตัวเลขดังกล่าว พูดอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็เป็นเหมือนกับการตบหน้าเตือนสติผู้วางนโยบายของจีน ให้หันกลับมาทบทวนถึงความหมายที่แท้จริงของ "การพัฒนา" ที่จริงๆ แล้วมิได้มีความหมายตรงกับ "การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" เสียเลยทีเดียว
ทั้งนี้ในการศึกษาของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ในระดับนานาชาติชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง "ความสุขของประชากร กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" นั้น มีความ สัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะซับซ้อน หากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยตัวหัว (GDP per capita) ของประชากรในประเทศนั้นๆ อยู่ในระดับต่ำ ความสุขของประชากรกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะแนบแน่นมาก แต่เมื่อจีดีพีต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นไปสูงกว่าระดับ 3,000-5,000 เหรียญสหรัฐ (ขึ้นอยู่กับประเทศใด) แล้ว ความสัมพันธ์ของความสุขของประชากรกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะลดน้อยถอยลง
หากจะให้อธิบายถึงภาพสะท้อนจากปรากฏการณ์ข้างต้น ก็คงกล่าวได้ว่าเมื่อเศรษฐกิจพัฒนามาได้ระยะหนึ่งแล้ว คนเริ่มกินอิ่ม-นอนอุ่น (ส่วนประชากรที่อยู่ในเขตร้อน เช่น บ้านเราต้องใช้คำว่า กินอิ่ม-นอนหลับ) แล้ว คนก็เริ่มแสวงหาความสุขใส่ตัวมากขึ้น โดยการแสวงหาความสุขดังกล่าวก็คือ การสละรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อแลกกับเวลาและการได้ทำสิ่งที่สร้างความสุขให้กับตัวเอง เช่น การได้พักผ่อน ได้ท่องเที่ยว ได้อยู่กับครอบครัว ฯลฯ
สำหรับการศึกษาในเรื่องนี้ ดัชนีความสุขโดยนักวิชาการชาวจีนนั้น มีการเริ่มต้นมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง โดยได้รับแนวคิดมาจากนักวิชาการตะวันตก ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พยายามทำการศึกษาเรื่องดัชนีความสุขแห่งชาติของประเทศภูฏาน ที่ริเริ่มโดยกษัตริย์ของภูฏานในช่วงต้นทศวรรษ 1970
ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนคนแรกๆ ที่นำเสนอและทำการศึกษาเรื่องนี้คือ ศาสตรา จารย์เฉินฮุ่ยสง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจการคลังเจ้อเจียง (Zhejiang University of Finance and Economics) ที่เริ่มเขียนถึงทฤษฎีความสุขมาตั้งปลายทศวรรษ 1980
ล่าสุดระหว่างเดือนกันยายน 2546 ถึง กันยายน 2548 ที่ผ่านมา ศ.เฉินได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับดัชนีความสุขของชาวจีนอย่างจริงจัง แต่ทั้งนี้ได้จำกัดวงของการศึกษาไว้เฉพาะประชากรกลุ่มต่างๆ ในมณฑลเจ้อเจียงเท่านั้น โดยใช้หัวข้อของการวิจัยว่า "การวิจัยดัชนีความสุขของประชากรกลุ่มต่างๆ ในมณฑลเจ้อเจียงกับต้นแบบการพัฒนาสังคมแห่งความปรองดอง"
ศ.เฉินเปิดเผยถึงการศึกษาของเขาว่า เป็นการสอบถามเพื่อหาต้นตอของ "ความทุกข์" ที่ถือเป็นขั้วตรงข้ามของ "ความสุข" โดยเขาแบ่งประชากรชาวเจ้อเจียงแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชากรในตัวเมือง และประชากรในชนบท จากนั้นจึงลำดับความทุกข์หลักๆ ของคนแต่ละกลุ่มว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง
โดยเขาพบว่า ประชากรในเมืองมีความทุกข์หลักๆ ตามลำดับจากมากไปน้อยดังนี้คือ ปัญหาสุขภาพ การงาน รายได้ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น เวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ในขณะที่ลำดับความทุกข์หลักๆ ของประชากรในชนบทนั้น มาจากปัญหารายได้ สุขภาพ การงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความเหงาหงอย เป็นต้น
จากผลการสำรวจดังกล่าว ศ.เฉินชี้ว่า เนื่องจากปัญหารายได้เป็นปัญหาที่ก่อความทุกข์ให้ประชากรชนบทของเจ้อเจียงมากที่สุด ย่อมแสดงให้เห็นว่า ประชากรในชนบทของมณฑลเจ้อเจียงนั้น ยังคงมีรายได้ไม่เพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งมีรายได้เพียงพอแล้ว คนเมืองจึงหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องสุขภาพ และการงาน มากกว่าเรื่องรายได้
ขณะที่เมื่อพิจารณาจากดัชนีความสุขแล้ว ผลสำรวจของ ศ.เฉินระบุว่า กลุ่มประชากร ที่ดัชนีความสุขอยู่ในระดับสูงที่สุดก็คือข้าราชการ ผู้จัดการบริษัท โดยตัวเลขดัชนีความสุขของคนกลุ่มนี้อยู่ที่ 0.72 (บ่งบอกได้ว่าข้าราชการของจีนมีเงินเดือนและสวัสดิการค่อนข้างดี) ขณะที่กลุ่มประชากรที่ดัชนีความสุขอยู่ในระดับต่ำที่สุดก็คือ ผู้เกษียณอายุและคนตกงาน โดยตัวเลขดัชนีความสุขอยู่ที่ 0.63 (ตัวเลขยิ่งสูงยิ่งดี)
ผลการสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า มลฑล เจ้อเจียงแม้จะเป็นมณฑลที่เศรษฐกิจดีมาก ประชากรมีรายได้ต่อหัวติดอันดับต้นของประเทศ ติดต่อกันมาเป็นเวลานับสิบปี แต่เจ้อเจียงก็ยังคงประสบปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ระหว่าง เมืองกับชนบท รวมถึงการดูแลด้านสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุและคนตกงานอยู่มาก
ทั้งนี้ เมื่อมองจากสภาวะของมณฑลเจ้อเจียง ขยายไปมองถึงประเทศจีนในภาพรวม แม้แต่มณฑลเจ้อเจียงก็ยังคงมีสภาวะเช่นนี้ ดังนั้นเมืองและมณฑลอื่นของจีนที่ด้อยพัฒนากว่า สถานการณ์ย่อมต้องรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ไม่เพียงแต่ดัชนีความสุข (GNH) ที่ในแวดวงวิชาการและหมู่สื่อมวลชนจีนเริ่มมีการกล่าวถึงอย่างหนาหูในรอบปี 2548 แต่ยังมีดัชนีอื่นๆ อย่างเช่น จีดีพีเขียว (Green GDP) และ Measure of Domestic Progress (MDP) อีกด้วยที่ก็เริ่มมีการพูดถึงเช่นกัน
เมื่อต้นปี 2548 ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ประกาศว่านับจากนี้เป็นต้นไป อันหมายถึงแผน พัฒนาห้าปีฉบับที่ 11 ที่จะเริ่มแผน ในปี 2549 (ค.ศ.2006) นี้ เป้าหมายในการพัฒนาของจีนจะมุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้สโลแกนของ "สังคมแห่งความปรองดอง หรือสังคมแห่งความกลมกลืน "
อีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสังคมแห่งความปรองดองของจีน ที่ค่อนข้างจะขัดแย้งกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแนวตลาดเสรี ในที่สุด 'ดัชนีความสุข' ของจีนจะสามารถคลอดออกมาให้ชาวโลกได้เห็นหรือไม่? เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|